เทคโนโลยี‘ทำลายซากสัตว์’ อีกสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียม โดย รศ.ดร.กานต์ สุขสุแพทย์

พูดถึงการระบาดของโรค ASF ในสุกร มหันตภัยที่คนเลี้ยงหมูไทยหวาดกลัวกันมาก ถึงวันนี้แม้ประเทศไทยจะมีความตื่นตัว เตรียมพร้อมและป้องกันทุกวิถีทางที่จะไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาถึงประเทศไทย ดังที่ได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อย ได้เห็นการยกระดับปัญหา ASF ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ประเทศต้องเตรียมรับมือ แข่งกับเวลาที่มันระบาดเข้าใกล้ไทยมากขึ้นทุกที ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยกลับมีการจัดการปัญหาได้ไม่ดีนัก ยังปล่อยให้มีซากหมูตายลอยมาตามแม่น้ำ

ยิ่งตอกย้ำให้ไทยรับรู้ว่า “ขั้นตอนการทำลายซากสัตว์” เป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่เราต้องจัดการอย่างรอบคอบรัดกุมที่สุด

แนวทางการปฏิบัติในการกำจัดซากสัตว์ที่กรมปศุสัตว์วางไว้ ประกอบด้วย การจำกัดให้ทำลายซากเฉพาะในบริเวณฟาร์มที่เกิดโรค หลุมที่จะฝังซากสัตว์ต้องลึกเพียงพอ ส่วนบนสุดของซากสัตว์ทับกันสูงไม่เกิน 2.5 เมตร และใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 ซม. รวมถึงต้องพูนดินกลบหลุมให้สูงกว่าผิวดินไม่น้อยกว่า 50 ซม. จากนั้นให้โรยปูนขาว และโซเดียมคาร์บอเนตเพื่อฆ่าเชื้อโรค กำจัดกลิ่น พร้อมทั้งล้อมรั้วกั้นบริเวณ ห้ามเข้าในพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งถือเป็นการทำลายซากสัตว์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม ASF เป็นโรคระบาดสัตว์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย หากพบหมูตายจำนวนมาก การทำลายซากสัตว์ด้วยวิธีเดิมอาจไม่ทันการณ์และไม่สามารถตอบสนองกลุ่มเสี่ยงอย่างฟาร์มขนาดเล็กของเกษตรกรรายย่อยได้ รวมถึงวิธีทำลายซากด้วยแรงงานคนนี้อาจมี Human Error จึงทำให้ประเด็นการทำลายซากสัตว์ในรูปแบบอื่น เช่น “รถทำลายซาก (Mobile Incineration)” ซึ่งเป็นที่นิยมในสหภาพยุโรปก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง

Advertisement

รถดังกล่าวจะทำลายซากสัตว์ทีละ 40-100 ตัวได้ด้วยการบดละเอียดและเผาที่ความร้อน 1,100 องศาเซลเซียส ย่อยสลายซากสัตว์ทุกชนิดให้ออกมาเป็นขี้เถ้า ด้วยความรวดเร็วและไม่มีมลพิษด้านควันหรือกลิ่น ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดขั้นตอนการฝังกลบ รวมทั้งแก้ปัญหาพื้นที่ฟาร์มเต็มเกินกว่าจะฝังสัตว์ทั้งตัวได้หมด หากประเทศไทยมีการเตรียมรถแบบนี้ให้พร้อมก็จะสามารถวิ่งออกไปให้บริการ ณ ฟาร์มที่พบการระบาดได้ทันที

ที่ผ่านมา หลายประเทศประสบความสำเร็จในการกำจัดซากสัตว์ เพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาด อาทิ ประเทศบัลแกเรีย โดย บัลแกเรีย ฟู้ด เซฟตี้ เอเยนซี่ (BFSA) ใช้วิธีกำจัดซากสัตว์ จากเคส ASF ด้วยรถโมบายนี้ ซึ่งสามารถกำจัดซากได้อย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ด้านกระทรวงเกษตร เอสโตเนีย ก็ใช้เครื่องทำลายซากสัตว์นี้ เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรคระบาดในสัตว์ รวมถึงโรมาเนียก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน

“รถทำลายซาก (Mobile Incineration)” ถือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะสามารถเข้ามาช่วยจัดการควบคุมการระบาดของ ASF ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยนี้ถือเป็นสิ่งที่กรมปศุสัตว์ควรเร่งศึกษาและลดขั้นตอนการจัดซื้อ เพราะนี่คือความเร่งด่วนก่อนที่ ASF จะมาถึง…

Advertisement

อย่าลืมว่าการทำลายซากสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและทันเหตุการณ์ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะขีดวงจำกัดความเสียหายได้อย่างทันท่วงที และที่แน่ๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย ตลอดจนคนไทยทั้งประเทศได้ว่าเรา “เอาอยู่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image