ก่อนที่เราจะถูกเลือกให้สูญพันธุ์ หลังจากพะยูน : โดย กล้า สมุทวณิช

ภาพที่น่ากลัวที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ “โลกแตก” ทั้งหลายที่ยังติดตรึงและระลึกได้เสมอ โดยส่วนตัวแล้วคือสภาพของโลกในเรื่อง Interstellar ที่เป็นหนังของปี 2014

ความน่ากลัวของมันอยู่ที่ว่า ภาพในหนังนั้นคือสภาพของโลกที่แตกสลายที่มีความเป็นไปได้จริงสูงที่สุด โลกที่ไม่ได้วินาศลงเพราะถูกอุกกาบาตพุ่งชน สัตว์ประหลาดยักษ์ล้างโลกโผล่ขึ้นมาจากใต้ทะเล หรือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากดาราจักรอันไกลโพ้นเดินทางมาเพื่อหมายยึดครองโลก

แต่เป็นภาพของพื้นดินที่กลายเป็นฝุ่นสีแดง ปลูกพืชพันธุ์ใดก็ไม่ขึ้น สภาพอากาศแปรปรวนเป็นอันตรายที่ไม่รู้จะหลบหนีไปทางไหน โลกที่ผุพังเป็นซาก เหลือเพียงที่ให้เรายังคงยืนอยู่ แต่ไม่อาจอาศัยได้

โลกที่ถูกทำลายลงด้วยมือของเราเอง โดยที่เราก็ยังไม่อาจหลบลี้หนีไปไหนได้

Advertisement

รายงานจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ล่าสุดชี้ว่า หากมนุษย์เราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือพยายามแก้ไขใดๆ เกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สภาพแวดล้อมของโลกและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ จะไปสู่จุดที่ไม่อาจเรียกคืนหรือฟื้นฟูในทางใดได้อีก เป็น Point of no return ที่ไม่อาจกลับตัวได้ตลอดกาล ในอีก 12 ปีข้างหน้า

หรือถ้าพูดให้มันดราม่าวรรณกรรมหน่อย คือลูกเราที่เพิ่งเข้าเรียนประถมหนึ่งในเทอมนี้ จะต้องอยู่ในโลกที่เป็นเหมือนในหนัง Interstellar ในตอนที่พวกเขาและเธอจะขึ้นชั้นมัธยม

ข้อพิสูจน์นั้นสัมผัสได้ด้วยตัวของเราเอง อย่างที่ทุกคนคงสัมผัสกันแล้วว่าปี 2019 นี้โลกส่งสัญญาณเตือนที่รุนแรงที่สุด หากเปรียบเป็นระดับสัญญาณไป คือเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นโทนอมส้มอย่างชัดเจนขึ้น

Advertisement

ภาพของน้ำแข็งขั้วโลกในประเทศต่างๆ ละลายลงแบบชัดเจน สัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำล้มตายลงด้วยสาเหตุที่ไม่ต้องเถียงกันว่าเกิดจากพิษในธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ภาพของปลาแซลมอนที่ตายเป็นแพในแม่น้ำ ด้วยมันขึ้นไปวางไข่ตามสัญชาตญาณ โดยไม่อาจตระหนักได้เลยว่าท้องน้ำนั้นเปลี่ยนไปโดยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าตอนที่มันว่ายลงไปใช้ชีวิตในทะเล หรือแม้แต่ตัวเราเองก็คงสัมผัสได้ว่า ปัจจุบันนี้อากาศร้อนขึ้นแบบที่แทบจะใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศไม่ได้เอาเสียเลย

ล่าสุด ความตายของลูกพะยูน “มาเรียม” ก็เป็นอีกประจักษ์พยานอันชัดเจนต่อหน้าต่อตาพวกเราทุกคน

จริงอยู่ที่เราอาจจะมองว่า มาเรียมนั้นเป็นลูกพะยูนที่ธรรมชาติคัดสรรแล้วว่ามันไม่น่าจะอยู่รอดเติบโตเต็มวัยได้ ด้วยสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมันต่ำอย่างน่าสงสารจนเราอาจจะรู้สึกว่ามนุษย์ไปแทรกแซงและฝืนการคัดสรรโดยธรรมชาตินั้นอยู่หรือไม่

แต่การตายของมันก็เป็นเพราะการกินกลืนถุงพลาสติกเข้าไปอุดตันลำไส้ ส่งผลให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นสาเหตุที่ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาสัญชาติญาณในการอยู่รอดของมันเลย เพราะแม้แต่พะยูนที่แข็งแรงที่สุดในธรรมชาติ ก็ยังอาจจะตายได้ด้วยสาเหตุเช่นนี้

มันตายเพราะขยะพลาสติกที่เราทิ้งกัน ไม่ว่าจะทิ้งลงทะเลหรือไม่ก็ตาม

ความตายของมาเรียมทำให้ความตื่นตัวเรื่องการลดขยะพลาสติกกลับมาสู่ความสนใจของสังคมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแม้คุณไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายเกินไปนัก ก็คงจะทำใจว่ามันก็คงจะวูบขึ้นมาอีกครั้งก่อนจะดับไป

แนวทางการลดขยะพลาสติกโดยผู้ประกอบการรายใหญ่เช่นห้างสรรพสินค้านั้นได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งหนักและเบามาตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่การรณรงค์ไม่รับถุงของห้างสะดวกซื้อรายใหญ่ กำหนดวันที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะงดแจกถุงพลาสติกเดือนละสองครั้ง หรือห้างสรรพสินค้าเครือยักษ์ใหญ่ตัดสินใจงดแจกถุงพลาสติกในทุกกรณี หรือหากประสงค์หรือต้องการ จะต้องจ่ายเงิน ซึ่งแม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากแต่ก็ต้องจ่าย

นโยบายหรือแนวทางนี้ก็แน่นอนว่าจะต้องมีผู้วิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งจะบอกว่าไม่มีเหตุผลหรือหาเรื่องก็คงไม่ได้ เพราะในทางหนึ่งมันก็จริง นั่นคือในการรณรงค์หรือกำหนดมาตรการเช่นนี้ เป็นฝ่ายผู้ประกอบการนั่นแหละที่ “ได้ประโยชน์” ไปเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนถุงพลาสติกที่ต้องแจกลูกค้า หรือแม้แต่การได้เงินจากผู้ต้องการถุงพลาสติก ที่แม้ว่าผู้ประกอบการจะเอาเงินนั้นไปบริจาคเพื่อสาธารณกุศล แต่นั่นก็เป็นผลดีกลับมาสู่ภาพลักษณ์ขององค์กรในรูปของการทำ CSR อย่างหนึ่ง

เช่นนี้คนคิดเล็กคิดน้อย ก็ไม่ค่อยอยากจะร่วมมือกับการลดถุงพลาสติกภายใต้การนำของห้างร้านเหล่านี้สักเท่าไร ซึ่งมันก็เข้าใจได้ในมุมมองนี้

และสำหรับในทางปฏิบัติก็ยังมีความอิหลักอิเหลื่อ หรืออาจจะเรียกว่าเป็น Pain point ของผู้บริโภคได้อยู่ กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ ถุงพลาสติกที่ได้รับมาเมื่อซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ นั้นจะถูกนำมาใช้เป็นถุงใส่ขยะเหลือใช้ โดยเฉพาะคนที่อยู่คนเดียวหรือครอบครัวเล็กๆ แล้ว ถุงขยะที่เป็นการนำถุงที่ได้รับจากการซื้อของนี้ จะเต็มพอดีรอบกับการที่ต้องออกไปจับจ่ายซื้อของในรอบต่อไป เรียกว่าถุงพลาสติกที่ได้มานั้นก็ไม่เชิงว่าจะเป็นขยะอันเปล่าประโยชน์ เพราะมันยังสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งนอกเหนือจากหน้าที่ของมันซึ่งสำเร็จไปแล้ว

แต่ในระยะหลัง เห็นได้ชัดในช่วงห้าถึงสิบปีมานี้ ห้างและร้านต่างๆ พยายามลดต้นทุนในการผลิตถุงพลาสติกเหล่านี้ลงไป เช่นการลดขนาดมาตรฐานของถุงที่จะแจกลูกค้าลงเป็นถุงใบเล็กจนไม่พอดีต่อการครอบลงไปบนถังขยะได้เหมือนแต่ก่อน หรือที่แย่ที่สุด คือการลดคุณภาพของถุงที่แจกลง เป็นถุงที่บอบบางจนอย่าว่าแต่ใส่ขยะเลย หลายครั้งที่แค่ใส่สินค้าที่ซื้อตามปกติซึ่งไม่มีเหลี่ยมมีคมอะไร ถุงก็ขาดแล้ว ลำบากให้ต้องซ้อนถุง เพิ่มขยะเข้าไปอีก

ในที่สุดถุงพลาสติกที่ได้รับแจกมาจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าที่ลดต้นทุนนี้ ก็ได้กลายเป็นขยะโดยแท้ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางใดได้อีก

เรื่องนี้บางคนอาจจะค้านได้ว่า ถุงขยะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องซื้อหา จะมาหวังของฟรีจากถุงแจกจากห้างได้อย่างไร แต่หากลองทบทวนดูว่าคำถามคือเราต้องการลดการใช้ถุงพลาสติกใช่หรือไม่ การใช้ถุงขยะที่ซื้อหา มันก็คือการที่เราจะต้องใช้ถุงพลาสติกหนึ่งใบอยู่ดี มันจะดีกว่าไหมถ้าไหน ๆ ก็มีถุงพลาสติกเกิดขึ้นในโลกมาหนึ่งใบ แต่มันสามารถทำประโยชน์ได้อีกครั้งหนึ่งก่อนกลายเป็นขยะ

เราจะลองมาพบกันครึ่งทางในรูปแบบการแบ่งความรับผิดชอบกันได้หรือไม่ หากทางผู้ประกอบการห้างร้านจะเรียกร้องให้ลูกค้าลดการใช้ถุงพลาสติก แต่ทางผู้ประกอบการเองก็อาจจะต้อง “ลงทุน” ด้วยว่าถุงที่ตัวเองผลิตออกมานั้นจะต้องเป็นถุงที่เหมาะกับการใช้ซ้ำได้ ไม่ว่าจะใส่ของอีกรอบหรือใช้เป็นถุงขยะ เพราะการนำกลับมาใช้ซ้ำได้ก็คือการลดขยะในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้ทำยากเลย แต่ “ไม่ลดต้นทุน” ของถุงพวกนี้ ไปใช้มาตรฐานขนาดและคุณภาพความทนทานแบบเดียวกับที่พวกท่านเคยใช้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็พอ

ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ หากจะเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้ซื้อก็อาจจะไม่มีใครรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบว่าถูกห้างลดต้นทุนซ้ำซ้อน เพราะอย่างน้อยคุณก็ไม่ได้ขาย “ขยะ” อีกชิ้นให้เรา

รวมถึงถ้าเป็นไปได้ คือการหาวิธีนำถุงกระดาษ (แบบที่ห้างร้านให้ลูกค้าในสมัยยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว) กลับมาใช้ในสินค้าที่ไม่เปียกไม่เปื้อน หรือการออกแบบถุงที่ลดการใช้ถุงได้ เช่นในการซื้ออาหารสำเร็จรูป นอกจากเราจะได้รับถุงพลาสติกที่ใส่อาหารที่เราซื้อมาแล้ว เรายังได้รับ “ถุงซ้อน” มาอีก ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะออกแบบถุงใส่อาหารในลักษณะนี้ให้มีใบเดียวได้ไม่ต้องซ้อน (เช่นถุงพลาสติกใส่ลูกชิ้นซึ่งเป็นถุงร้อนที่มีหูหิ้วในตัว หลายท่านที่เคยเห็นคงนึกออก)

และเรามาทบทวนกันดูดีไหมว่า เราจำเป็นต้องใช้ “พลาสติกเชิงพิธีกรรม” บางอย่างจริงหรือไม่ เช่นธรรมเนียมใหม่ซึ่งเพิ่งจะเห็นมีกันในช่วงห้าถึงสิบปีหลัง ที่เราต้องห่อหุ้มแม้แต่หลอดกาแฟที่ยังไม่ได้ใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะเป็นคนแรกที่หยิบจับสัมผัสมัน เราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเศษพลาสติกอีกชิ้นหนึ่งให้แก่โลกเพื่อซื้อความสบายใจหรือสุขอนามัยลมๆ แล้งๆ นั้นหรือไม่ หากยังจำเป็น ทีนี้ฝ่ายผู้ประกอบการอาจจะใช้กระดาษในการห่อคลุมหลอดกาแฟเหล่านี้ได้หรือไม่

ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เราจำเป็นที่จะต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทบทวนร่วมกันทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายที่ชอบเรียกตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายก้าวหน้า” ด้วย เพราะถ้าจะขอกล่าวอย่างไม่เกรงใจกัน ผมพบว่าคนที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือเสรีนิยมหลายคนนั้น “ไม่พยายามร่วมมือ” ในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก อาจเพียงเพราะมองว่าการไม่ยอมรับถุงพลาสติกนี้จะไปเข้าทางฝ่ายนายทุน หรือรู้สึกว่าการทำอะไรตามที่สังคมเรียกร้องนั้นจะทำให้ตัวเองเสียความเป็นเสรีชน ดังนั้น สังคมเขาทำอะไรกันเราต้องทำตรงข้ามไปหมด หรือแม้แต่การมองว่า การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (หรืออย่างน้อยก็ลดภาระแก่โลก) นั้นเป็นเรื่องของพวก “สลิ่ม” ที่ตัวเองไม่อยากข้องแวะด้วย

หรือแม้แต่การแสดงความเห็นอันปลดปลงว่า ต่อให้เราในฐานะปัจเจกชนแต่ละคนนั้นจะทำอะไรลงไปแค่ไหน หากนโยบายและการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของรัฐนั้นยังไม่จริงจัง การจัดการภาครัฐล้มเหลว หรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แค่เราลดหลอดลดถุงกันคนละชิ้นสองชิ้นก็ไม่ช่วยอะไร … ถ้าอย่างงั้นก็ไม่ช่วยเลยดีกว่า

เรื่องนี้คือสิ่งที่พวกท่านต้องปรับวิธีคิด เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเผด็จการหรือประชาธิปไตย ก้าวหน้าหรือล้าหลัง มีความคิดหรือดัดจริต แต่มันเป็นเรื่องของพวกเรา ในฐานะของเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปี้ยน ซึ่งเป็นผู้ก่อปัญหานี้ และเป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้

“เรา” ในฐานะของปัจเจกชนแต่ละคนต้องเริ่มที่ตัวเรา ไปพร้อมกับเรียกร้องและติดตามการดำเนินการที่จริงจังจากภาครัฐและองค์กรธุรกิจไปพร้อมกัน แต่มันก็ต้องเริ่มต้นจากเราก่อนด้วย

อย่าให้ในที่สุด เผ่าพันธุ์ของเราซึ่งตอนนั้นคงเป็นรุ่นลูกหลาน จะได้ถูกธรรมชาติคัดสรรให้เป็นเผ่าพันธุ์ที่ต้องสูญพันธุ์ เพราะพฤติกรรมในการไม่รู้จักรักษาสภาพแวดล้อม ที่มาจากความถือทิฐิมานะบ้าบอของเรานี่เอง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image