เดินหน้าชน : ถนนยางอลเวง : โดย สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมการทำถนนยางเพื่อช่วยแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ ไปไม่ถึงไหนซะที

ทั้งที่เชื่อกันว่าจะเป็นวิธีช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้ และรัฐบาลนี้ก็พูดกันมานาน ตั้งแต่รัฐบาลบิ๊กตู่สมัยที่แล้ว ยันสมัยนี้ ก็ยังไปไม่ถึงไหน

สาเหตุเพราะมีผู้เสียประโยชน์บางราย พยายามขัดขวางไม่ให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้ใช่หรือไม่

ทำให้บรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่กล้าทำงานต่อ เพราะกลัวผลกระทบตามมา

Advertisement

โครงการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (พาราซอยล์ซีเมนต์) มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อมาคุมมาตรฐานให้น้ำยางที่นำไปทำถนนได้คุณภาพ

หากบริษัททำน้ำยางบริษัทไหนอยากมาตรวจมาทดสอบคุณภาพก็มาได้ เพราะภาครัฐเปิดให้มีการแข่งขันเต็มที่ ภายใต้การควบคุมคุณภาพของคณะกรรมการ เพราะหากไม่ควบคุม อาจเกิดปัญหากับถนนในอนาคต

ที่ผ่านมามีบริษัทใหญ่หลายบริษัท มาตรวจแล้วไม่ผ่าน แต่ก็กลับไปพัฒนาสูตร แล้วยื่นตรวจใหม่ ก็ไม่มีบริษัทไหนโวยวาย

Advertisement

แต่มีแค่บริษัทเดียวร้องเรียน ไปที่นายกฯ และหน่วยงานต่างๆ กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณภาพยาง ทุจริต

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพื่อต้องการล้มโครงการไม่ให้เดินหน้าต่อใช่หรือไม่

ความจริงการร้องเรียนเป็นเรื่องปกติของงานรัฐ

หากเห็นว่ามีข้อสงสัยหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการตรวจสอบให้ละเอียด อย่าให้เกิดการทุจริต เพื่อให้ประโยชน์ถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มที่

หากเห็นว่าใครทุจริต ก็ต้องลากคอมาลงโทษให้ได้

แต่ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดการเตะตัดขาไม่ให้เดินต่อได้แบบนี้ เพราะคนที่เดือดร้อนคือเกษตรกรชาวสวนยางอีกหลายล้านคน กำลังรอความช่วยเหลืออยู่

ที่สำคัญการร้องเรียนเป็นการร้องอยู่ฝ่ายเดียว เป็นเพราะไม่ยอมรับกติกา หวังเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ต้องการล้มคู่มือสำหรับคุณภาพน้ำยางที่ใช้ในการทำถนนใช่หรือไม่

เพื่อต้องการให้น้ำยางไม่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน เพราะไม่สามารถผลิตตามคุณสมบัติที่กำหนดได้ เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขาย ใช่หรือไม่

มีการตั้งข้อสังเกตว่า วิธีแบบนี้ ล้วนมาจากตัวละครที่เปิดหน้าออกมาให้เห็นว่า ทำเป็นขบวนการหรือไม่

เพราะหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ ออกมาบอกว่าการไปเก็บตัวอย่างน้ำยางพาราจากบริษัท เพื่อนำมาทดสอบไม่เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์

ทำไมส่งไปตรวจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ไม่ตรวจที่ห้องปฏิบัติการของกรมทางหลวง เหมือนจะเอื้อให้กลุ่ม 3 บริษัทที่ผ่านการทดสอบคุณภาพ

ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีหนังสือจากกรมทางหลวง แนะให้ใช้หน่วยงานอื่นหรือมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมกว่า เพราะแล็บกรมทางหลวงไม่พร้อม

และที่สงสัยกันว่าทำเป็นขบวนการ ก็เพราะมีเครือข่ายสื่อออกมาร่วมวงไพบูลย์ พยายามช่วยสกัด จนทำให้ตอนนี้เจ้าหน้าที่ขวัญหนีดีฝ่อไปตามๆ กัน

เพราะไม่อยากเปลืองตัว ทั้งที่ทุกอย่างมีกฎระเบียบข้อบังคับชัดเจนอยู่แล้ว

แต่ก็ไม่กล้าเดินต่อ เพราะแค่ร้องเรียน บรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ก็เหนื่อยแล้ว

เรื่องนี้ทำท่าจะลุกลามบานปลาย เพราะนอกจากไม่สามารถเดินหน้าช่วยเหลือชาวสวนยางได้ตามแผนแล้ว

ขบวนการที่มาเคลื่อนไหวกำลังจะกลายเป็นเหยื่อให้กับผู้เสียผลประโยชน์นี้ ลามปามไปสู่การฟ้องร้อง เมื่อมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ดังนั้นรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ การยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะเร่งสะสางเรื่องนี้

อย่าให้มีปัญหากับชาวสวนยางอีกเลย เพราะที่ผ่านมา ใช้เวลามาเนิ่นนานก็ยังไปไม่ถึงไหน

ถ้าข้องใจว่าไม่โปร่งใส ก็เปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกันเต็มที่

อย่าให้มีขบวนการล้มโครงการ จนทำให้ชาวสวนยางเดือดร้อนอยู่อย่างนี้อีกต่อไป

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image