คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน บูรณาการเพื่อเป้าหมายเดียวกัน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ท่านรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้ให้นโยบายที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการและอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังอย่างพร้อมเพรียง

ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอนหนึ่ง ความว่า “อว. และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีความสำคัญ ในการผลิตกำลังคนรองรับความต้องการของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เพียงพอและไม่ตรงกับความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น และเร็วๆ นี้ประเทศเกาหลีใต้กำลังจะเข้ามา ดังนั้น ขอให้มหาวิทยาลัยหารือกันว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้มีพลังในการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้สำนักงบประมาณไปแล้วว่าถ้ามหาวิทยาลัยใดผลิตงานวิจัยไม่ตอบโจทย์ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศก็อาจจะไม่ได้งบ โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมากขึ้น จึงต้องไปคิดว่าจะทำอะไรให้สอดคล้องได้บ้าง”

ท่านรองนายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อว่า “อว.มีภารกิจหลักในการสร้างกำลังคน ให้ตรงตามความต้องการ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลเน้น ‘อุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 S-Curve’ และ ธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่ต้องผลิตให้ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องไปคิดว่าจะผลิตอะไรได้บ้าง ในสัดส่วนเท่าไร ในระบบผลิตได้กี่คน นอกระบบผลิตได้กี่คน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าฯ จะต้องทำงานร่วมกันบอกความต้องการกำลังคนในแต่ละสาขาว่าต้องการจำนวนเท่าไร เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้ผลิตได้ถูกทาง โดยขอให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน ทำงานร่วมกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพอยู่แล้ว อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จะต้องเป็นความหวัง ส่วน มรภ. อยากให้เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและการเกษตร เพราะเป็นอนาคตของประเทศ ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนเอง ก็สามารถของบจากรัฐได้หากผลิตและทำวิจัยในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ”

ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำในตอนท้ายว่า “ตอนนี้ผมอยากให้ทุกคนเอาจริงเอาจัง อยากให้ทุกคนโฟกัสว่า ด้านไหนที่เราต้องการให้เป็นอนาคตข้างหน้า เราเอาทุกอย่างไว้ไม่ได้ งบประมาณมีอยู่แค่นี้ รัฐมนตรีว่าการ อว.ต้องเข้ามาช่วยดูแลใกล้ชิด ให้เอกชนเข้ามาช่วย ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว เอกชนจะต้องมีสัดส่วนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ขอให้ทุกภาคส่วนคุยกันหารือกัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ขอให้คุยกัน ยิ่งคุยยิ่งได้งบ ไม่คุยกันไม่ได้ ตอนนี้เรื่องการผลิตกำลังคนสำคัญที่สุด ขอให้เร่งทำ ไม่เช่นนั้นไม่ทันการณ์”

Advertisement

“4-5 ปีที่ผ่านมาเรารู้ดี ว่าโอกาสอยู่ที่หัวบันไดบ้าน ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้ฮ่องกงเกิดปัญหาคิดหรือว่าฐานการค้าการผลิตต่างๆ จะไม่ย้ายมาที่ไทย ยังไม่รวมกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง แต่ทั้งหมดถ้าเราไม่มีคนรองรับทุกอย่างจอด ผมอยากให้ทุกคนทำตัวเป็นฐานหลัก ดึงต่างประเทศเข้ามาต่อแต้ม แล้วเรียนรู้จากเขา เพราะอนาคตของประเทศ คือ นวัตกรรม และอองเทรอเพรอเนอ ซึ่งของไทยเราก็คือ สตาร์ตอัพ”

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ได้ตอกย้ำถึง “การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ” ด้วยการที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องประชุมหารือกันในเรื่องของ “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” และต้อง “บูรณาการ” การทำงานกันอย่างจริงจังเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image