จิตอาสาอาเซียน : เรียนรู้ เข้าใจ และก้าวไปด้วยกัน : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

วันที่ 8 สิงหาคม 2562 การรวมตัวกันในนาม “อาเซียน” ได้ดำเนินมาถึงปีที่ 52 โดยแนวคิดเรื่องอาเซียนส่วนมากเป็นการเชื่อมโยงระดับมหภาพในรูปแบบของนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกทั้งความเป็นอาเซียนก็มีความท้าทายอยู่ เนื่องจากเป็นหน่วยทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมา ด้วยความพยายามหลอมรวมความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองของประเทศในภูมิภาคนี้เข้าไว้ด้วยกัน

คำถามที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเชิงมหภาพแล้ว มีคุณค่าใดที่สามารถเชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคอาเซียนเข้าไว้ด้วยกันได้อีก ซึ่งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ความห่วงใยและการแบ่งปัน (Caring and Sharing) เป็นคุณค่าสำคัญที่เชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคอาเซียนซึ่งจากข้อค้นพบนี้นำมาสู่การดำเนินโครงการวิจัยจิตอาสาในอาเซียนภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากมองว่าประเด็น “จิตอาสา” สะท้อนถึงความห่วงใยและการแบ่งปัน อีกทั้งเป็นประเด็นที่เชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคอาเซียนที่มีความหลากหลายเข้าด้วยกันได้

ผลการศึกษาจากโครงการวิจัยนี้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ “จิตอาสาอาเซียน” ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจเรื่อง “จิตอาสา” ในประเด็นนิยามความหมาย พัฒนาการ บทบาทของภาครัฐและภาคประชาสังคมต่องานจิตอาสา จาก 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา ไทย บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา ลาว เวียดนาม สิงคโปร์และอินโดนีเซีย

ประเด็นคำถามที่น่าสนใจและชวนคิดต่อหลังจากเข้าใจว่า “จิตอาสา” เป็นชุดคุณค่าร่วมที่สำคัญในการเชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกันแล้ว คือทิศทางในอนาคตของการใช้พลังจิตอาสาเชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นอย่างไร

Advertisement

จากคำถามดังกล่าว ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ “จิตอาสาอาเซียน : เรียนรู้ เข้าใจ และก้าวไปด้วยกัน” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนจิตอาสาในอาเซียน และทิศทางในอนาคต รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้จากหนังสือ “จิตอาสาอาเซียน” สู่สาธารณะ

ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาประเด็น “อาเซียนในฐานะผู้สร้างสรรค์สันติภาพ” โดยกล่าวถึงจุดเริ่มของอาเซียนว่า เกิดจากความต้องการสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ ท่ามกลางบริบทของภูมิภาคที่มีการขยายตัวของแนวคิดคอมมิวนิสต์ และการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยเหตุนี้ สันติภาพจึงเป็นประเด็นหลักในการเกิดขึ้นของอาเซียน และเมื่อมุ่งหวังสร้างสันติภาพท่ามกลางภูมิภาคที่มีความหลากหลาย “ความเป็นอาเซียนที่สร้างขึ้นนั้นจึงเป็นในรูปแบบของวิถีอาเซียน ที่เน้นความไม่เป็นทางการ เน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่เน้นตัวบทกฎหมาย เพื่อสร้างระบบนิเวศแห่งสันติภาพ”

คุณสุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) แลกเปลี่ยนประเด็น “อาสา-อาเซียน” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคประชาชนในการเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน ตามที่กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) หรือธรรมนูญอาเซียนระบุให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพบว่าในทางปฏิบัติแล้วยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

คุณสุภาวดียกตัวอย่างโครงการ “Volunteer journey” ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่เปิดรับสมัครเยาวชนจาก 10 ประเทศอาเซียนมาร่วมทำกิจกรรมอาสาสมัคร เพื่อทำให้เห็นว่าความเป็นอาสาสมัครเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน และใครก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้ โดยกระบวนการเริ่มจากการให้เยาวชนจาก 10 ประเทศอาเซียนเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ลดอคติที่มีต่อกัน เกิดความเป็นเพื่อน “ภายใต้จิตอาสามีคุณค่าซ่อนอยู่ คือคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้ความเป็นจิตอาสานั้นสมบูรณ์แบบ”

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เสวนาในประเด็น “จิตอาสา : หัวใจของมนุษย์ที่สมบูรณ์ในสังคมพหุวัฒนธรรม” โดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของภูมิภาคอาเซียนที่มีพัฒนาการมายาวนาน มาจนถึงปัจจุบันที่ประเด็นพหุเจเนอเรชั่น เพิ่มความสำคัญมากขึ้น คนที่มีความหลากหลาย คนต่างรุ่น คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่ง “แทนที่จะมองหาปัญหา ต้องเปลี่ยนมามองถึงเรื่องบวก คิดถึงความร่วมมือ เพราะความร่วมมือกันคือคุณธรรม ต้องสร้าง Social dialogue ที่คนที่เห็นต่างกันมาพูดคุยกันได้”

ในประเด็นความท้าทายและก้าวต่อไปของอาเซียนนั้น ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามคนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียน โดย ผศ.ดร.ธีระชี้ให้เห็นความท้าทายของภูมิภาคอาเซียนว่าอยู่ที่ คนในภูมิภาคนี้ยังสำนึกของการเป็นคนภูมิภาคเดียวกัน ประเด็นที่ต้องคิดกันต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสำนึกของการเป็นภูมิภาคนิยม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มจากผู้นำ แต่ต้องมาจากรากฐานของประชาชน อาเซียนจึงจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี เกิดสันติสุข

ขณะที่คุณสุภาวดีมองก้าวต่อไปของจิตอาสาอาเซียนว่า ควรจะเน้นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันที่เคารพในความเท่าเทียม (Collective) สร้างความเข้าใจวัฒนธรรมและเชื่อใจแบบลึกซึ้งผ่านการปฏิบัติร่วมกัน (Trust) รวมถึงการสร้างมิตรภาพที่เชื่อมโยงกันในอาเซียน (Friendship) อาสาสมัคร คือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆ มากขึ้น จากการเปิดใจเรียนรู้

รศ.นพ.สุริยเดว หรือคุณหมอเดว วิเคราะห์สังคมไทยว่ามีจุดแข็ง คือความมีน้ำใจ และมีความเป็นเพื่อนในฐานะพลเมืองอาเซียนเป็นทุนเดิม มีโอกาส คือการมีพลังบวก การหนุนเสริมพลังจิตอาสาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ แต่ยังมีจุดอ่อน คือขาดการจัดการเรื่องจิตอาสาอย่างเป็นระบบ และมีอุปสรรคคือคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่เป็นปัจเจกนิยม (Individualism) ซึ่งต้องนำเรื่องจิตอาสามาเชื่อมโยง และขับเคลื่อนให้เกิดพลังในการก่อการดี ก้าวต่อไปของจิตอาสาจึงต้องสร้างการส่วนร่วมที่มีความหมาย (Meaningful participation) ทำให้ใจเปิด เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเอง เมื่อตนเองเปลี่ยนแปลง จะแผ่พฤติกรรมไปสู่คนที่ใกล้ชิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนรอบข้าง ขยายไปสู่ครอบครัว สังคม และโลก (We change, world change)

ประเด็นร่วมที่เกิดจากการเสวนาครั้งนี้ คือการทำให้เห็นว่าการเชื่อมร้อยภูมิภาคอาเซียนด้วยจิตอาสานั้น ภาคประชาชนคือภาคส่วนสำคัญของการขับเคลื่อน และในเวทีเสวนานี้ยังเป็นการร่วมกันให้ความหมายของจิตอาสาในมิติที่ลึกซึ้ง ตั้งแต่ระดับบุคคลที่กระบวนการจิตอาสานำไปสู่การพัฒนามิติด้านในที่มีผลต่อจิตสำนึกของบุคคลที่คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์และส่วนรวม ไปจนถึงระดับสังคมที่กิจกรรมจิตอาสาเปิดพื้นที่ของการเรียนรู้ร่วมกัน และยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image