รายงาน : ทิศทาง การเมือง พลังประชารัฐ ชูธงรบ ขบ ประชาธิปัตย์

เหมือนกับการปรับทัพครั้งใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐด้วยการชู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์

เป้าหมายจะอยู่ที่ 1 พรรคเพื่อไทย 1 พรรคอนาคตใหม่

อาจเป็นเช่นนั้น เพราะว่าพรรคเพื่อไทยมีจำนวน ส.ส. 136 มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่มีจำนวน ส.ส. 81 อาจยังน้อยกว่า

แต่ก็มีความจำเป็นต้องเอาชนะพรรคเพื่อไทย และกำราบพรรคอนาคตใหม่

Advertisement

กระนั้น โดยธรรมชาติทางการเมืองมิได้มีแต่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ เท่านั้นที่จะเป็นคู่ต่อกรกับพรรคพลังประชารัฐ

ตรงกันข้าม ภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็มี

นั่นก็คือ 53 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นั่นก็คือ 51 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย นั่นก็คือ 10 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา

Advertisement

ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งมากด้วยความแหลมคม

ถามว่าเหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 อย่างชนิดหมดรูป

เป็นการพ่ายต่อพรรคเพื่อไทย เป็นการพ่ายต่อพรรคอนาคตใหม่ อย่างนั้นหรือ

หากพรรคประชาธิปัตย์เปิดหัวใจให้กว้างก็จะประจักษ์ว่า ความพ่ายแพ้ใน กทม.มาจากพรรคใด ความพ่ายแพ้ในภาคใต้มาจากพรรคใด

เป็นความพ่ายแพ้ต่อพรรคพลังประชารัฐ

เป็นความพ่ายแพ้เพราะความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ส่วนหนึ่งไปจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย

พรรคพลังประชารัฐอาศัยจุดอ่อนนี้ทะลุทะลวงเข้าไป

ประเด็นอันแหลมคมอย่างยิ่งก็คือ พรรคพลังประชารัฐสนองตอบต่อความต้องการของมวลมหาประชาชนที่เติบใหญ่จากรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ได้มากกว่า

จึงเทให้พรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์

หากดูจากฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย

จะเห็นว่าฐานเดิมของพรรคไทยรักไทยยังแข็งแกร่ง

จะเห็นว่าบางส่วนที่เพิ่มเข้ามากลับเป็นฐานใหม่อันเป็นการสะสมคะแนนและความนิยมผ่านพรรคอนาคตใหม่

เด่นชัดว่า การแยกขั้ว แบ่งข้าง ยังดำรงอยู่

เด่นชัดว่า การแปรเปลี่ยนที่เกิดขึ้นด้านหลักสะท้อนการรุกคืบไปขยายเครือข่ายผ่านคนรุ่นใหม่โดยพรรคอนาคตใหม่

ความแข็งแกร่งของพรรคพลังประชารัฐด้านหนึ่งอาจสะเทือนพรรคเพื่อไทย

แต่แนวโน้มและความเป็นไปได้ที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้นจะกลายเป็นการแย่งยื้อและพังทลายฐานเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนามากกว่า

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จึงต้องสังวรณ์

ไม่ว่าเจตนาของ คสช.จะต้องการสร้างสภาวะกระจัดกระจายในทางการเมืองเพื่อมิให้การเมืองดำเนินไปอย่างที่เกิดในยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

แต่ทิศทางทางการเมืองจะเริ่ม “ขมวดปม”

เป็นการสร้างปมระหว่าง พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ กับ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

ในที่สุด การเมืองก็จะยังเป็น 2 ขั้วเหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image