พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : พรรคสืบสานเผด็จการในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย

ประเทศไทยเข้าสู่ประชาธิปไตยครั้งล่าสุดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผ่านกระบวนการเลือกตั้งซึ่งแม้ว่าจะมีการร้องเรียนอยู่ไม่ใช่น้อยกับความไม่ค่อยปกติของการเลือกตั้ง (irregularities) แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธได้ยากว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้นเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในระดับที่พอจะเดินหน้ากันไปได้ แม้ว่าฝ่ายที่เรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้พอใจกับสภาพทางการเมืองไทยในวันนี้ไปเสียทั้งหมด

ตัวชี้วัดสำคัญในเรื่องนี้ไม่ใช่มีแต่การยอมรับจากประเทศมหาอำนาจ แต่ก็เห็นได้จากการที่พรรคฝ่ายค้านนั้นก็มุ่งหน้าต่อสู้กับรัฐบาลในสภา แม้ว่าผู้นำฝ่ายค้านบางท่านจะยังไม่ได้เข้าสภา แต่ก็เห็นได้ว่าประชาชนเองก็เริ่มพึ่งพากลไกการเมืองในระบอบรัฐสภาอย่างเต็มรูปแบบในการเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ มากกว่าการลงถนนมาต่อสู้กัน

เมื่อเร็วๆ นี้มีการตีพิมพ์งานทางรัฐศาสตร์ชิ้นใหม่จากทีมงานระดับซุป’ตาร์ของวงการการเมืองเปรียบเทียบ ที่ยังเกาะติดกับปรากฏการณ์ล่าสุดในกลุ่มงานด้านการสร้างประชาธิปไตย (democratization) ซึ่งพยายามอธิบายการก่อตัวของการถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะการดำรงอยู่และสืบสานอำนาจของเผด็จการ

จากเดิมที่การศึกษาเรื่องของการสร้างประชาธิปไตยเมื่อเกือบสามสิบปีก่อนมุ่งหน้าทำความเข้าใจการเบ่งบานของการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการกลับสู่ประชาธิปไตย (democratic transition) ปัจจุบันงานด้านการสร้างสรรค์จรรโลงประชาธิปไตยกลับสนใจเรื่องใหญ่สองเรื่องคือ การถดถอยของประชาธิปไตย ทั้งในเรื่องของการทำความเข้าใจการกลายพันธุ์ของประชาธิปไตยสู่รูปแบบผสม และการย้อนกลับมาของระบอบเผด็จการซึ่งรวมไปถึงเรื่องของการที่เผด็จการนั้นสืบสานอำนาจต่อเนื่องแทนที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

Advertisement

งานชิ้นล่าสุดที่ผมอยากจะนำมากล่าวถึงนี้คืองานที่ชื่อว่า ชีวิตหลังเผด็จการ: พรรคการเมืองแบบสืบสานอำนาจเผด็จการทั่วโลก (Life after Dictatorship: Authoritarian Successor Parties Worldwide) ของกลุ่มนักวิชาการการเมืองเปรียบเทียบที่นำโดย James Loxton และ Scott Mainwaring. (Cambridge University Press, 2019) ซึ่งเป็นงานรวมดาวทีมนักวิชาการสำคัญคนอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็น Steven Levitsky Dan slater หรือกระทั่ง Daniel Ziblatt และอีกหลายท่านทั่วโลก

การค้นพบสำคัญของงานชิ้นนี้ก็คือการรวบรวมปรากฏการณ์และแนวคิดเรื่องของ “พรรคสืบสานเผด็จการ” ในฐานะสิ่งที่เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย

อธิบายง่ายๆ ก็คือ พรรคแบบพลังประชารัฐนี่แหละครับ กลายเป็นพรรคที่มีความน่าสนใจในฐานะส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์สร้างสรรค์จรรโลงประชาธิปไตย ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ หรือจะเชื่อแค่ว่าพรรคนี้ไม่ใช่พรรคที่แท้จริงหรือไม่ก็ตาม

Advertisement

ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างพรรคสืบสานเผด็จการกับการสร้างประชาธิปไตยจะต้องเป็นไปในทิศทางบวกหรือสร้างสรรค์เท่านั้น เพียงแต่ต้องการบอกว่าปฏิเสธได้ยากว่าในการเปลี่ยนผ่าน/เปลี่ยนไม่ผ่าน และการสร้างประชาธิปไตย เราไม่ได้จะเจอแต่พรรคมวลชน พรรคคนรุ่นใหม่ หรือพรรคที่อยู่มาได้ทุกระบอบ แต่เราจะพบพรรคสืบสานเผด็จการรวมอยู่ด้วยและมีบทบาทสำคัญด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐก็ซัดเข้าไปซะสามเรื่องที่เป็นข่าวใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องของพี่ใหญ่ของคณะรัฐประหารที่ย้ายเข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค (เสียที) ข่าวการพยายามย้ายเข้าพรรคของคุณไพบูลย์ ผู้เปิดเกมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก่อนที่พลังประชารัฐจะตั้งพรรคด้วยซ้ำ และข่าวที่สมาชิกพรรคท่านหนึ่งไปมีเรื่องกับตำรวจนอกเขตพื้นที่เลือกตั้งของตนจนเป็นดราม่ากันทั้งโลกออนไลน์

คำจำกัดความพื้นฐานของพรรคสืบสานเผด็จการ ก็คือพรรคที่มีรากฐานสำคัญมาจากระบอบเผด็จการก่อนหน้านั้น คือก่อตั้งขึ้นมาในช่วงที่ระบอบเผด็จการเรืองอำนาจ และเมื่อระบอบเผด็จการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ผ่าน (แต่อ้างว่าเปลี่ยน) เข้าสู่ประชาธิปไตย พรรคเหล่านี้ก็กลายเป็นตัวแสดงสำคัญในการเมืองเลือกตั้ง หรือการเมืองประชาธิปไตยหลังจากนั้น (ไม่นับพวกพรรคจิ๋วๆ แต่นับพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นกอบเป็นกำมากกว่า)

พรรคสืบสานเผด็จการเหล่านี้อาจจะมาในสองรูปลักษณะสำคัญ หนึ่งคือ เป็นพรรคที่มีอยู่เดิมในระบอบเผด็จการและยังคงเป็นพรรคที่อยู่ต่อเนื่องมาในยุคที่เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแต่อาจจะเปลี่ยนชื่อไปบ้าง กับสองคือ พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่จากคนสำคัญๆ ของรัฐบาลเดิมเพื่อสืบสานอำนาจเมื่อระบอบเผด็จการตัดสินใจเปิดให้มีการเลือกตั้ง

หัวใจสำคัญของคำจำกัดความนี้คือ อย่างน้อยพรรคสืบสานเผด็จการเหล่านี้ก็ทุ่มเทเล่นเกมเลือกตั้งและประชาธิปไตยในระดับที่ไม่ได้ขี้เหร่ไปเสียทั้งหมด หมายถึงไม่ได้โกงขนาดที่คนอื่นไม่ได้เลย เอาง่ายๆ ก็คือฝ่ายอื่นก็ยังชนะกันเป็นกอบเป็นกำ ขนาดที่พรรคอื่นๆ เขารับได้ที่จะเล่นในเกมใหม่นี้แม้ว่าจะไม่ได้ชอบใจไปเสียทั้งหมด อย่างรอบล่าสุดนี้แม้ว่าพลังประชารัฐจะถูกกล่าวหาแค่ไหน แต่สุดท้ายก็เหนื่อยไม่น้อยที่จะต้องไปดึงเอาประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยมาเข้าร่วมละครับ แถมยังอยู่ในสภาพปริ่มน้ำอีกต่างหาก แม้ว่าจะมี ส.ว.มาช่วยจากระบอบเก่าแล้วก็ตาม (มิพักต้องนับไปถึงการพยายามอยู่นานสองนานในการสร้างปรากฏการณ์พรรคเก้าอี้เสริมมาค้ำยันระบอบเอาไว้ และก็ยังต้องปวดหัวกับพรรคเหล่านี้ไปอีกนาน)

อธิบายอีกอย่างก็คือ จะชอบไม่ชอบอย่างไร พลังประชารัฐเองก็ใจคอตุ๊มๆ ต้อมๆ กับการตัดสินใจเลือกของประชาชน มากกว่าพวกพรรคการเมืองในระบอบเผด็จการแข่งขัน (competitive authoritarianism) และเผด็จการเลือกตั้ง (electoral authoritarian) ที่มักเป็นพรรคการเมืองจากรัฐบาลประชาธิปไตยที่กลายพันธุ์ไปเป็นเผด็จการผ่านการแทรกแซงการเมืองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ที่เคยเป็นหัวข้อหลักในการศึกษาทางรัฐศาสตร์ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

พรรคสืบสานเผด็จการนี้ไม่ใช่ข้อยกเว้นในพัฒนาการของการสร้างประชาธิปไตยอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่มีการค้นพบกันว่า พรรคเหล่านี้ใน 65 ประเทศที่เปลี่ยนเข้าสู่ประชาธิปไตยในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา (ในภาษาของการเมืองเปรียบเทียบคือ การเข้าสู่คลื่นลูกที่สามประประชาธิปไตย) มีพรรคสืบสานเผด็จการที่ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยถึง 47 ประเทศ แล้วเอาเข้าจริงมีถึง 35 ประเทศ ที่พรรคเหล่านี้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลในกติกาประชาธิปไตยเข้าไปอีก คือพูดง่ายๆ ว่าเกินครึ่งละครับที่ประชาชนโหวตให้พรรคสืบสานเผด็จการกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลสืบสานอำนาจต่อจากสมัยระบอบเผด็จการ

คำถามถัดมาก็คือ เจ้าพรรคสืบสานเผด็จการเหล่านี้มีดี และมีปัญหาอะไรทำไมถึงสามารถกลับมาได้ในระบอบประชาธิปไตย

ในส่วนของจุดเด่นของพรรคเหล่านี้ก็คือ พรรคพวกนี้มีมรดกเผด็จการ (authoritarian inheritance) บางอย่างช่วยให้พวกเขากลับมาได้ในการเลือกตั้งที่อย่างน้อยก็ถูกยอมรับในระดับพอรับได้แม้คนอีกฝ่ายจะไม่ชอบมาก แต่ก็ไม่ถึงกับบอยคอตไปทั้งหมด นั่นคือพรรคสืบสานเผด็จการมักจะอ้างผลงานบางอย่างในช่วงที่เผด็จการปกครองประเทศมาเป็นผลงานของตน เช่น การอ้างชื่อพรรคแบบเหมือนเป็นยี่ห้อที่คนจำได้ การเชื่อมโยงกับองค์กรต่างๆ ที่ตนจัดตั้งไว้ในพื้นที่ เช่น ถ้าพรรคนั้นเป็นพรรคที่ปกครองอยู่เดิมก็จะมีสาขาอยู่ หรือถ้าตั้งใหม่โดยทีมงานตัวใหญ่ๆ ของเผด็จการก็อาจจะเชื่อมโยงกับองค์กรภาครัฐที่จัดตั้งกับชาวบ้านที่มีอยู่เดิม หรือเชื่อมโยงกับเครือข่ายอุปถัมภ์เดิมๆ ที่มีอยู่ (อาจจะรวมไปถึงนักการเมืองมุ้งเดิมๆ ในแต่ละพื้นที่เข้าไปด้วย) และยังจะหมายถึงการที่พรรคสืบสานเผด็จการจะรู้ช่องทางในการระดมทุนและเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ได้ง่ายกว่า เพราะอยู่กันมานานในระบอบเดิม

รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญสุดท้ายก็คือความสามารถในการผนึกกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนของพรรคสืบสานเผด็จการในการสร้างเงื่อนไขของการแบ่งขั้ว เป็นพวกเขา-พวกเรา อย่างชัดเจน ยิ่งถ้าได้ผู้นำเดิมในระบอบเผด็จการมานำหรือเป็นศูนย์กลางของพรรคแล้ว พรรคเหล่านี้จะสามารถนำพากลุ่มคนที่ยังเลื่อมใสแนวทางเดิม หรือไม่ชอบพรรคฝ่ายตรงข้ามให้ยังรู้สึกว่ามีอะไรเกาะเกี่ยวกันได้

ในอีกด้านหนึ่ง พรรคสืบสานเผด็จการก็มีเวรกรรมของตัวเองติดตัวมาจากระบอบเผด็จการด้วย (authoritarian baggage) อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือความไม่เข้าท่าในการบริหารเศรษฐกิจ แต่พวกเขาก็มีกลยุทธ์ที่สำคัญในการเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จในเกมประชาธิปไตย ด้วยการเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่บ้าง ด้วยการไม่อ้างถึงส่วนที่เคยแย่มาก่อน เช่น แยกจากพรรคใหญ่พรรคเดิมมาสร้างพรรคใหม่ก่อนจะเลือกตั้งไม่นาน หรือกระทั่งเปลี่ยนชื่อให้ดูมีความเป็นประชาธิปไตย หรือมีประชาชนอยู่ในชื่อซะหน่อย (ไม่ได้ตั้งชื่อว่าพรรคเผด็จการแน่นอน) หรืออาจจะเลือกโทษหรือหาแพะรับบาปไปซะคนแล้วก็ชูคนที่ประชาชนรับได้มาแทน และที่สำคัญประการสุดท้ายก็คือ อ้างว่าพรรคตนและผู้นำของตนเป็นพวกที่สร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศสามารถมาถึงจุดนี้ได้ โดยหยิบเฉพาะส่วนดีๆ มาพูด หรือตัดเอาบางส่วนมาพูดเป็นผลงาน

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสืบสานอำนาจของพรรคสืบสานเผด็จการก็คือ การสร้างความชอบธรรมในเชิงลบ (negative legitimacy) ซึ่งหมายถึงการที่พรรคสืบสานเผด็จการอาจจะไม่ได้มีผลงานโดดเด่น แต่พวกเขาสืบสานอำนาจได้ผ่านการอ้างอิงว่าอย่างน้อยพวกเขาก็สกัดกั้นไม่ให้อีกขั้วอำนาจหนึ่งได้กลับเข้าสู่อำนาจได้ มากกว่าที่เขาจะทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันของตัวเองด้วยซ้ำ หรือกล่าวง่ายๆ ว่าอาจไม่ได้ “ทำอะไร” เป็นชิ้นเป็นอัน แต่อ้างความชอบธรรมว่าพวกเขาอยู่มาเพื่อ “ต่อต้านอะไร” เสียมากกว่า

เมื่อพูดถึงคำจำกัดความ ความสำคัญของปรากฏการณ์ทั่วโลก และการสืบสานอำนาจของเผด็จการแล้ว สิ่งที่ควรพูดถึงต่อมาก็คือ พรรคสืบสานอำนาจเหล่านี้ไม่ใช่พรรคที่จะมีชีวิตรอดได้ในระดับเดียวกันทั่วโลก เพราะมีเงื่อนไขหลายข้อที่จะทำให้พรรคสืบสานอำนาจอยู่รอด และประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว เพราะประชาธิปไตยเลือกตั้งไม่ได้ให้หลักประกันการอยู่รอดของกลุ่มเหล่านี้ไปเสียทั้งหมด

เงื่อนไขของการอยู่รอดของพรรคเผด็จการขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ผลงานเดิมในระบอบเผด็จการทำไว้ดีจริงไหมทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ และความมั่นคง รวมไปถึงว่าระบอบประชาธิปไตยมีสมรรถนะที่ดีพอไหม ในหลายกรณีในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่ พรรคสืบสานเผด็จการอาจจะได้รับความนิยมในพื้นที่ยากจน ถ้าประชาธิปไตยใหม่แก้ปัญหาไม่ได้ หรืออาจจะได้รับความนิยมในพื้นที่ร่ำรวย ถ้าประชาธิปไตยใหม่ทำให้คนรวยรู้สึกว่าตนเดือดร้อนจากนโยบายกระจายความมั่งคั่งที่พวกเขาไม่พอใจ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะและล่าถอยด้วยวิกฤตที่เผด็จการเดิมแก้ไขไม่ได้ แต่หมายถึงเผด็จการควบคุมกระบวนการเปลี่ยนผ่านเอง การศึกษากลับพบว่า เผด็จการกลับอยู่รอดและรุ่งเรืองอีกครั้งในประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่านมากกว่าประเภทที่เผด็จการถูกกดดันไล่ลง

นอกจากนั้นแล้ว เงื่อนไขที่พรรคสืบสานเผด็จการและเผด็จการเองจะอยู่รอดในประชาธิปไตยใหม่ก็อาจจะขึ้นอยู่กับความสามารถของเผด็จการในการได้ประโยชน์จากกฎกติกาการเลือกตั้งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการร่างกติกาที่จะเปลี่ยนคะแนนเลือกตั้งให้เป็นเก้าอี้ด้วยอภินิหารของการคำนวณผลคะแนนที่ทำให้มีเก้าอี้ในฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ และพรรคสืบสานอำนาจเผด็จการเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งชนิดของระบอบเผด็จการก่อนการเปลี่ยนเข้าสู่ประชาธิปไตยก็มีผลทำให้พรรคสืบสานเผด็จการประสบความสำเร็จในระบอบใหม่เช่นกัน บางกรณีพรรคสืบสานเผด็จการประสบความสำเร็จมากกว่าถ้าในการเปลี่ยนผ่านนั้นสามารถดึงเอาขาใหญ่ในแต่ละท้องถิ่นเข้ามาร่วมงานได้ แต่ในหลายกรณีนี่ก็คือจุดจบเหมือนกัน ถ้ามุ้งหลายมุ้งซัดกันเอง

ประการสุดท้ายที่กำหนดเงื่อนไขความสำเร็จของพรรคสืบสานเผด็จการก็คือ ถ้าสนามการแข่งขันเต็มไปด้วยความขัดแย้งซึ่งอาจจะประหลาดใจว่าพรรคสืบสานอำนาจจะประสบความสำเร็จได้ดีในกรณีที่ฝ่ายต่อต้านระบอบเดิมมีความเข้มแข็งมากกว่าอ่อนแอ และในกรณีที่สังคมมีความแตกแยกมาก เพราะยิ่งฝ่ายค้านเข้มแข็ง บรรยากาศการแบ่งขั้วจะชัดเจนขึ้น และฝ่ายที่ไม่เอาพวกประชาธิปไตยก็จะยิ่งรวมตัวกัน และไม่กล้าที่จะแตกแถวมากขึ้น รวมทั้งคนที่เลือกตั้งเองก็จะรู้สึกถึงภัยถ้าแตกแยกกันเองอีกฝ่ายจะต้องได้เปรียบแน่ๆ พรรคที่เป็นพรรคที่สืบสานอำนาจเผด็จการตัวจริงก็จะได้เปรียบ

อีกมิติหนึ่งที่สำคัญในการดำรงอยู่ของพรรคสืบสานเผด็จการก็คือคำถามว่า ตกลงพรรคสืบสานอำนาจเผด็จการส่งผลอย่างไรต่อการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว พรรคสืบสานเผด็จการอาจส่งผลทั้งบวกทั้งลบต่อประชาธิปไตย ที่เรียกว่า พรรคสืบสานเผด็จการมีลักษณะที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในแบบดาบสองคม

แน่นอนว่า คงคิดได้ไม่ยากว่าพรรคสืบสานประชาธิปไตยสามารถส่งผลลบต่อการสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะประวัติในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการไม่ยอมให้เกิดกระบวนการแสวงหาความยุติธรรม เพราะส่วนหนึ่งก็เนรเทศตัวเองไปแล้ว นอกจากนั้นพรรคสืบสานเผด็จการอาจจะธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจและร่องรอยของเผด็จการในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ เช่น การสกัดกั้นไม่ให้เกิดการปฏิรูปบทบาทของกองทัพในทางการเมือง และงบประมาณรวมทั้งภารกิจของกองทัพที่เคยมีส่วนสำคัญในระบอบเผด็จการเดิม รวมกระทั่งพรรคสืบสานเผด็จการอาจจะนำพาสังคมถอยกลับสู่เผด็จการได้ด้วย เพราะพวกนี้ไม่ได้มีศรัทธากับประชาธิปไตยในแก่นแท้อยู่แล้ว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พรรคสืบสานเผด็จการก็อาจมีส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยได้ เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็เล่นในเกมประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง การที่พวกเขาเล่นในเกมนี้และแบ่งให้คนอื่นมาเล่นด้วยก็ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองในระดับที่ประชาชนได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งความต้องการในการเลือก เพราะยังเลือกไม่เอาได้ (แม้จะยังยากลำบากอยู่ไม่น้อย) และอย่างน้อยก็ทำให้เกิดการซักถามตรวจสอบในสภาได้จากฝ่ายค้าน

ที่สำคัญการดำรงอยู่ของพรรคสืบสานเผด็จการส่งผลดีต่อการทำให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้มแข็งขึ้น คือคนเริ่มเชื่อมั่นว่าพรรคการเมืองและเกมสภาเป็นเกมที่ยังสามารถสู้กันได้ ความสนใจของประชาชนต่อทุกพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองมีเพิ่มขึ้น (ภาษาทางรัฐศาสตร์เรียกว่า ทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันขึ้น) เพราะพรรคทุกพรรคถูกวิจารณ์ได้ และเกิดบรรยากาศต่อสู้ต่อรองที่เปิดกว้างกว่ายุคเผด็จการ รวมกระทั่งการนำเอาคนที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบเดิมที่ต้องสู้นอกระบบเข้ามาสู้ในเกมสภาและพรรคการเมืองมากขึ้น มากกว่าเน้นไปที่การล้มระบอบ รวมไปถึงพวกที่มีอำนาจในระบอบเดิมก็เริ่มรู้สึกว่าหากสามารถคำนวณสถานการณ์ได้แม่นยำ พวกเขาอาจจะรู้สึกว่าการที่พวกเขายอมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยผ่านการมีพรรคสืบสานเผด็จการ ก็ทำให้พวกเขาปลอดภัยและสามารถมีอำนาจต่อได้ด้วยแรงกดดันที่น้อยลง

ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ก็ไม่ได้ต้องการจะฟอกขาวให้พรรคสืบสานเผด็จการนะครับ แต่อย่างน้อยอาจจะต้องยอมรับสภาพความจริงว่าการศึกษาระบอบเผด็จการนั้นไม่ใช่มีแต่เรื่องของการเน้นแต่การโค่นล้มเผด็จการเท่านั้น พวกเขารอดมาเกินครึ่งในระบอบประชาธิปไตย การเข้าใจกลยุทธ์และประสบการณ์แต่ละกรณีที่ระบุไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในงานชิ้นใหม่ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังนี้จะทำให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนไม่ผ่านของประชาธิปไตยมากขึ้น และทำให้เข้าใจว่ากว่าจะล้มเผด็จการได้นั้นมันมีเรื่องราวมากมายที่ควรเข้าใจ

รวมทั้งเข้าใจการกลับมาของพวกเขาได้ หากประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งและมีคุณภาพครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image