เดินหน้าชน : ประกันราย (รั่ว) ได้ : สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเร่งผลักดันโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าว-ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน-มันสำปะหลัง-ข้าวโพด

ทำไมต้อง “ประกันรายได้” ไม่เรียกว่า “ประกันราคา”

ทั้งนี้ เพราะหากใช้คำว่า “ประกันราคา” จะถือว่าเป็นการอุดหนุนทางการเงินโดยตรงจากภาครัฐ ซึ่งผิดกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่อาจถูกประเทศอื่นฟ้องร้องได้

จึงเลี่ยงว่าเป็นเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ “ประกันรายได้” แทน แต่นำราคามาเป็นตัวอ้างอิง

Advertisement

เหตุที่องค์การการค้าโลกห้ามการอุดหนุนทางการเงิน ก็เพราะเห็นว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

หากประเทศที่มีเงินมากแล้วมาทุ่มอุดหนุนราคาสินค้า ก็จะได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง เพราะสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนจะมีราคาถูกกว่าความเป็นจริง ส่งออกไปแข่งได้ดีกว่า

กลับมาที่การประกันรายได้ของรัฐบาล ที่จะนำร่องพืชเกษตร 3 ตัวก่อนคือ ข้าว-ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน คาดว่าอีกไม่นานจะเริ่มเปิดดำเนินการ

Advertisement

สำหรับข้าว คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติเห็นชอบการประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด

ได้แก่ 1.ข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 2.ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน 3.ข้าวเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละ 30 ตัน 4.ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน และ 5.ข้าวเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน

ส่วนยางพารา จะประกันรายได้ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่

ปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18 เปอร์เซ็นต์ รายละไม่เกิน 25 ไร่

แม้การประกันรายจะมีทั้งข้อดี คือรัฐบาลจะจ่ายเงินให้เฉพาะส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงกับราคาเป้าหมาย เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ที่รัฐบาลตั้งราคาประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท ขณะที่ราคาอ้างอิง อยู่ที่ตันละ 8,000 บาท รัฐบาลก็จะจ่ายชดเชยให้ตันละ 2,000 บาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นคนจ่ายเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง

นอกจากนี้ รัฐบาลก็ไม่ต้องมีภาระเรื่องการเก็บและดูแลสต๊อก เพราะเกษตรกรขายสินค้าให้กับพ่อค้าตามกลไกปกติ

เมื่อไม่มีภาระเรื่องสต๊อก ก็ลดโอกาสการที่นักการเมืองจะเข้าไปหากินได้ เหมือนโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา

แต่กระนั้นการประกันรายได้ก็มีช่องโหว่ที่อาจมีการทุจริตได้

เริ่มตั้งแต่การขึ้นทะเบียนของเกษตรกร หากไม่มีการตรวจสอบที่เข้มงวด อาจมีเกษตรกรเก๊สวมรอยมาร่วมโครงการ แล้วก็สมคบกับพ่อค้าที่จะออกใบเสร็จว่ามีการซื้อขายสินค้ากัน แต่ไม่มีสินค้าส่งมอบกันจริง เพื่อเอาเงินชดเชยฟรีๆ จากรัฐบาล

หรือหากเป็นเกษตรกรจริงก็อาจแจ้งข้อมูลเท็จเรื่องพื้นที่ทำกิน อย่างทำสวนยาง หรือสวนปาล์มแค่ 10 ไร่ ก็แจ้งว่ามี 25 ไร่ตามขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด แล้วหาผลผลิตที่อื่นมาขายเพื่อรับเงินชดเชยเพิ่ม หรืออาจจะร่วมกับพ่อค้าให้ออกใบเสร็จรับซื้อเกินจำนวนที่เป็นจริง

นอกจากนี้ พ่อค้าอาจรวมหัวกันกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรให้ต่ำลง ซึ่งจะทำให้การกำหนดราคาอ้างอิงต้องต่ำไปด้วย นั่นหมายความว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยมากขึ้น

อีกทั้งการกำหนดราคาประกันรายได้นั้นอาจจะเป็นการกดราคาสินค้าเกษตรเสียเอง ในภาวะที่เป็นตลาดขาขึ้น เพราะพ่อค้าอาจรับซื้อสินค้าเกษตรสูงสุดตามราคาที่รัฐบาลประกาศประกันรายได้ ทั้งที่ราคาตลาดที่แท้จริงสูงกว่านั้น

อาจจะมองแง่ร้ายไปหน่อย แต่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น ก็หวังว่าจะมีการกำกับดูแลให้ดีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่แท้จริงได้ ไม่ใช่รั่วไปเข้ากระเป๋าพวกฉวยโอกาส

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image