วีรสตรีบนบาทวิถีเอ๋ย, เธอต่อสู้กับอะไร : โดย กล้า สมุทวณิช

คันแรกไม่เป็นไร คันที่สองใครเห็นก็คิดแล้วว่าต้องเป็นไวรัล และก็แน่นอน เป็นจริงๆ ด้วย

ก็มันครบองค์ประกอบเสียขนาดนั้น นักศึกษาหญิงหยัดยืนต่อสู้กับศัตรูตัวร้ายของชาวเมืองหลวง คือบรรดาจักรยานยนต์ซึ่งบังอาจขึ้นไปแล่นบนฟุตปาธ ละเมิดทั้งกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของสังคม เธอยืนเด่นกล้าท้าทาย ไล่จักรยานยนต์นอกกฎหมายนั้นลงไปจากทางเท้าให้กลับลงถนนไป ทีละคัน ทีละคัน ยิ่งได้ทราบภายหลังว่าเธอเป็นชาวญี่ปุ่นที่หลงรักและมาศึกษาเล่าเรียนในเมืองไทยเราก็ยิ่งเต็มปลื้ม ไปพร้อมกับความรู้สึกอับอายแทนพวกคนไทยมักง่ายผู้ขับขี่บนทางเท้า

หากมีคำอธิบายว่าที่เราชอบอ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์แนวผู้กล้าซุปเปอร์ฮีโร่นั้นเป็นเพราะยอดมนุษย์เหล่านั้นทำในสิ่งเหลือวิสัยที่เราไม่อาจทำได้ ทั้งๆ ที่เราเองก็อยากทำหรือควรทำ เรื่องของคุณ

เมกุมิ โมริโมโตะ (ชื่อไทยว่าคุณจันทร์หรือมะลิ) ก็เข้าตำรานั้นทุกอย่าง คือเราทั้งหลายล้วนแต่อึดอัดใจกับการที่จักรยานยนต์มักง่ายขึ้นมาขับขี่กันบนทางสำหรับการเดินเท้าของผู้คน เบียดเบียนพื้นที่เดินหรือยืนรอรถ หลายครั้งก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุหนักบ้างเบาบ้าง ที่เป็นข่าวอย่างที่ชนเด็กนักเรียนก็มีการดำเนินคดีกันไปให้เข็ดหลาบมิเป็นเยี่ยงอย่าง แต่แล้วห่างจากสถานีตำรวจหรือแม้แต่อาคารศาลออกไปก็แล่นกันมาอีกหกคันแปดคันราวกับจะมาเย้ยสภาวะนิติรัฐที่อ่อนบ้างแข็งบ้างตามแต่บุญกรรมของเรา

Advertisement

เชื่อว่าทุกคนที่ประสบปัญหาน่ารำคาญนี้อยากที่จะยืนขวางแบบคุณเมกุมิ แล้วไล่พวกนี้ลงไปขับขี่ในที่ทางอันควรเสียให้หมด หรืออย่างน้อยๆ ก็จงใจยืนเดินตามปกติโดยไม่นำพากีดขวางไม่ให้พวกมักง่ายไปได้เร็วนัก หากน้อยคนนักที่จะกล้าลงมือกระทำการเช่นนั้น และส่วนมากในส่วนน้อยของผู้กล้านั้น ก็มีราคาความเสี่ยงจากการถูกทำร้ายร่างกายหรือสถานเบาก็ด่าผรุสวาทจากผู้ใช้ทางพิเศษเหล่านั้น

ซึ่งต้องยอมรับว่าการลุกขึ้นต่อต้านมีความเสี่ยง และหลายคนก็มองว่าความเสี่ยงนั้นไม่คุ้มค่าเท่าไรกับการยอมอดทนรับความไม่สะดวกสบายหรือหงุดหงิดโมโห

ใคร่ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่อาจจะใกล้เคียงกับเรื่องไว้เสียหน่อย แม้ระดับความกล้าหาญจะแตกต่างกันลิบ นั่นคือครั้งหนึ่งที่ผมเหลืออดเหลือทนกับบรรดาผู้ขับรถแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารโดยไม่มีเหตุอันควร อย่างเรื่องไปไกล แก๊สหมด ส่งรถอะไรแบบนี้พอเข้าใจได้ แต่ประเภทเปิดกระจกถามที่หมายเราก่อนค่อยตอบว่าจะไปหรือไม่ไปนั้น แสดงให้เห็นเจตนาเลือกเส้นทางหรือเลือกผู้โดยสาร (อย่างที่เรารู้กันว่าพวกเขามองหาผู้โดยสารต่างชาติด้วยเหตุผลเชิงผลประโยชน์) ซึ่งกรณีพวกนี้แหละที่ผมโยนลงไปในกล่องความเห็นว่าปฏิเสธผู้โดยสารโดยไม่มีเหตุผลอันควร จากนั้นก็โทรศัพท์หา 1584 สายด่วนรับเรื่องร้องเรียนของกรมการขนส่งทางบกเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป

Advertisement

ผลประกอบการปัจจุบันมีความสำเร็จอยู่ที่ 2 ต่อ 3 ซึ่งก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะหลายครั้งก็เป็นเพราะเลขทะเบียนที่แจ้งไปนั้นไม่มีหรือไม่ตรงกับรูปพรรณรถในระบบ คาดว่ามาจากความผิดพลาดของความจำระยะสั้น ส่วนที่การแจ้งประสบความสำเร็จนั้นก็มีตั้งแต่การรับเรื่องไว้ ระงับการต่อใบอนุญาต เรียกมาปรับและตักเตือน ใช้เวลาเฉลี่ยราวสองถึงสามเดือนนับแต่วันที่แจ้งก็รู้ผล… หรือถ้าเกินกว่านั้นแล้วไม่ได้รับการแจ้งผลก็แปลว่าเรื่องเงียบไปซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะสัดส่วนโดยรวมที่ได้รับการตอบสนองก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ครั้งหนึ่งที่ผมหงุดหงิดถึงขนาดแจ้งร้องเรียนรถที่ไม่รับคันก่อนหน้าบนรถคันใหม่ที่เรียกได้สำเร็จ ก็ทำให้ผมได้ฟัง “ข้อมูล” จากอีกมุมหนึ่ง หากตัดเรื่องความเยิ่นเย้อดราม่า และการอ้างหลักศาสนาแบบจับแพะชนแกะ แต่ข้อมูลส่วนหนึ่งที่เขาระบายออกมานั้นก็ทำให้เข้าใจเหตุผลของฝ่ายคนขับแท็กซี่ที่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารอยู่ด้วยว่า เหตุเพราะอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ตามกฎหมายในปัจจุบันนั้นยังไม่ได้รับการปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ควรจะเป็น ในหลายเส้นทางหรือบางสภาวะ การยอมรับจ้างไปยังจุดหมายนั้นทำให้ขาดทุนจริงๆ ทั้งต้นทุนเชิงค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่ารถหรือค่าแก๊สที่ต้องเติม และต้นทุนเชิงการประกอบการได้แก่ความเหนื่อยล้าและความเครียด พูดง่ายๆ คือ ไปก็ไม่คุ้ม

เหตุผลท่อนนี้พวกเราคนทำงานเป็นอาชีพหรือมีรายได้ประจำอาจจะแย้งว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนทำงานไม่ว่าจะงานไหนตำแหน่งไหนก็ต้องเจอ หลายครั้งที่เราต้องเจองานยากเกินปกติหรือผิดความคาดหมายโดยเรายังได้รับรายได้หรือเงินเดือนเท่าเดิม บางงานก็ทำให้เราขาดทุน แต่เราก็ต้องทำในฐานะมืออาชีพ กระนั้นก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ถ้าเป็นไปได้เราก็ไม่อยากทำงานที่ยุ่งยากหรือหนักหนาเกินกว่าความคาดหมายหรือสภาพการตามปกติ ต่อให้ได้เงินหรือค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะไม่ได้คุ้มค่ากับความเหนื่อยยาก เช่นแม้การทำงานล่วงเวลาอาจจะทำให้เราได้ค่าจ้างสองแรง แต่ถ้าทำทุกวันต่อเนื่องก็เป็นการทำลายคุณภาพชีวิตเกินสมควร

ในกรณีนั้นสำหรับคนขับรถแท็กซี่แล้ว ความไม่เป็นธรรมในเชิงค่าตอบแทนที่ถูกกดไว้โดยกฎเกณฑ์กฎหมายและกลไกของรัฐก็เป็นแอกหนักภาระต่อพวกเขา ซึ่งถ้าจะให้ไล่สาเหตุไปก็เป็นเรื่องยาวและเรื่องใหญ่ระดับโครงสร้าง

ถ้าใครเคยไปเที่ยวหรือใช้ชีวิตในต่างประเทศคงจะทราบว่าบ้านเมืองอื่นส่วนใหญ่นั้น รถแท็กซี่ไม่ใช่ตัวเลือกหลักของการเดินทาง เรียกไม่ได้ว่าเป็นขนส่งมวลชน รถแท็กซี่เป็นรถรับจ้างส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการยกระดับความสะดวกสบายในการเดินทาง เหมือนเป็นความฟุ่มเฟือยในชีวิตระดับหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้น รถแท็กซี่ก็เป็นเหมือนบริการกวาดกองเฉพาะกิจ สำหรับผู้ที่เดินทางนอกเหนือจากเวลาทำการของขนส่งมวลชนสาธารณะ เช่นคนที่ทำงานล่วงเวลาจนดึก หรือไปปาร์ตี้ซึ่งเลิกเกือบสว่าง

แต่สำหรับประเทศไทย (หรือจริงๆ คือกรุงเทพมหานคร) การใช้รถแท็กซี่เกือบจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นสำหรับคนชั้นกลางทั่วไป เนื่องจากการขนส่งมวลชนสาธารณะไม่ครอบคลุมถึงหรือมีสภาพแย่เกินไป เราต้องขึ้นแท็กซี่กันอย่างเป็นระบบขนส่งมวลชนแบบรองวิธีหนึ่งที่หลายคนใช้เป็นประจำ ไม่ใช่ตัวเลือกเพื่อความสะดวกสบายเป็นพิเศษ หรือการเดินทางในกรณีเฉพาะกิจเป็นครั้งคราวเช่นในต่างประเทศ

ด้วยความที่รถแท็กซี่กลายเป็นเหมือนบริการขนส่งมวลชนสาธารณะที่จำเป็นสำหรับคนส่วนหนึ่ง ทำให้การปรับเพดานค่าบริการซึ่งผูกอยู่กับกฎหมายและนโยบายของรัฐนั้นทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนทั่วไปกลุ่มใหญ่ที่ต้องโดยสารรถแท็กซี่ หรือแม้แต่เพิ่มต้นทุนสำหรับบางกิจการด้วยซ้ำ และเมื่อสภาวะการณ์ในทางความเป็นจริงทำให้รถแท็กซี่กลายเป็นการขนส่งมวลชนเช่นนี้แล้ว จำนวนของรถจึงมีมากตามอุปสงค์อุปาทานตามหลักเศรษฐศาสตร์และการปล่อยเสรีของรัฐ (ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้นตามเหตุผลข้างต้น) ที่หากอยู่ดีๆ รัฐเกิด “หักดิบ” ยอมให้ขึ้นค่ารถในอัตราที่สูงจนทำให้การโดยสารแท็กซี่กลายเป็นวาระพิเศษเช่นในต่างประเทศกันจริง ๆ แล้ว รถแท็กซี่จำนวนมหาศาลก็จะกลายเป็นอุปาทานที่ล้นเกิน โดยพวกเขาอาจจะได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ไม่มีผู้โดยสารหรือต้องแย่งผู้โดยสารกันเอง

กลไกเรื่องเพดานค่าแท็กซี่จึงเป็นเรื่องอิหลักอิเหลื่องูกินหางกันไปเช่นนี้ ปัญหาการไม่รับผู้โดยสารในเหตุจำเป็นโดยเฉพาะกรณีที่ไปไกลหรือรถติดเป็นพิเศษก็พอเข้าใจได้ แต่เรื่องนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า จำนวนหนึ่งของรถที่ไม่รับผู้โดยสารนั้นก็มาจากความเอาง่ายเข้าว่าเลือกไปแต่เส้นทางขับง่ายได้เงินดี หรือความโลภที่มุ่งจะรับแต่คนต่างชาติเพื่อหวังโขกสับหลอกลวง หรือมุ่งหมายผลประโยชน์อื่นนอกเหนือจากค่าโดยสาร

ที่ต้องยกตัวอย่างเรื่องรถแท็กซี่เสียยืดยาวทั้งๆ ที่เปิดเรื่องมาด้วยปัญหาการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้านั้น ก็เพราะว่าเรื่องของคนขับรถแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารนี้มันเป็นกรณีที่ชัดเจนกว่า ในแง่ของการที่ความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐที่สร้างข้อจำกัดให้คนกลุ่มหนึ่งหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อตกลงของสังคมเพราะมันสร้างภาระเกินสมควรให้พวกเขา

ส่วนในเรื่องของการขับขี่บนทางเท้านั้นอาจจะต้องยอมรับว่าเหตุผลอันน่าเห็นใจนั้นบางเบากว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความมักง่ายแบบล้วนๆ ของผู้ฝ่าฝืน แต่มันก็มีความเป็นไปได้หรือกรณีที่น่าเห็นใจอยู่ว่า การออกแบบถนนหรือกำหนดเส้นทางจราจรของภาครัฐนั้นพิจารณาแต่จากผู้ขับขี่รถยนต์เป็นหลัก เสียจนหลายครั้งไม่ได้คำนึงไปว่าสำหรับคนขี่รถเล็กเช่นจักรยาน สามล้อ หรือมอเตอร์ไซค์นั้นเขาใช้ทางนั้นได้ด้วยโดยสะดวกหรือไม่ เขาต้องไปกลับรถไกลกว่าที่ควร หรือต้องใช้เส้นทางที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่

หรือแม้แต่กรณีการขึ้นมาบนฟุตปาธเพราะปัญหาจราจรบนพื้นผิวทางถนน นั่นก็เป็นปัญหาที่ทางภาครัฐหรือผู้รับผิดชอบมิได้แก้ไขแบ่งเบา ซ้ำยังอนุมัติก่อสร้างนี่นั่นโน่น ตัดสินใจในกระดาษโดยไม่สนใจภาพรวมว่ามันเป็นเหมือนการวางหมากปิดลมหายใจถนนเส้นไหนจนแทบจะไม่มีทางหนีทางออกแล้ว

และนอกจากนั้น ต่อให้เราไม่อาจยอมรับได้ว่าการต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนที่ว่ามานั้นเป็นข้ออ้างที่ยอมรับได้ต่อการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ก็เป็นภาครัฐอีกนั่นแหละ ที่ปล่อยปละละเลยการบังคับใช้กฎหมายเสียจนทำให้คนที่เลือกฝ่าฝืนกฎหมายเข้าใจได้ว่ากระทำได้ถูกต้อง และย่ามใจไปจนทำร้ายหรือด่าทอเอาแก่ผู้ที่เรียกร้องให้ตัวกระทำตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็รู้อยู่ว่าทางเท้าที่ไหนที่คนขึ้นมาขับขี่จักรยานยนต์กันอย่างเป็นทางพิเศษ หรือตรงไหนจุดไหนเป็นที่ชุมนุมของเหล่าแท็กซี่ที่เลือกรับแต่คนต่างชาติ

แต่พวกเขา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ปล่อยปละดูดาย แล้วให้ประชาชนอย่างเราๆ ที่อดรนทนไม่ไหวไปตบตีกันเอาเอง ไปยืนขวางทางรถบนทางเท้ากันเอง ทะเลาะกับแท็กซี่กันเอง เอาไว้เมื่อมีกรณีดังๆ ขึ้นมาเมื่อไร ฝ่ายรัฐที่ต้องรับผิดชอบค่อยแหกหูแหกตาลงมาเหมือนกับไม่เคยรู้ว่าแต่ก่อนมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

หรือไม่ก็ชื่นชมใน “จิตสำนึก” เมื่อมีผู้ใดหาญกล้าท้าสู้กับความไม่ถูกต้องหรือการละเมิดกฎหมายในสิ่งที่พวกเขานั่นเองแหละบ่มเพาะปัญหาเอาไว้ จากความดูดายทั้งปวงที่ไม่เคยสำเหนียกเห็น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image