เดินหน้าชน : แผลรัฐธรรมนูญ : โดย สัญญา รัตนสร้อย

กรณีคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปที่กำลังกลายเป็นอดีต เมื่อสิ้นกระบวนการยื่นขอเลิกพรรค

คุณไพบูลย์มุ่งหน้าเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่ความน่าประหลาดใจอะไรนัก เพราะรับรู้รับทราบโดยทั่วกันว่าเจ้าตัวเหนียวแน่น ส่งแรงเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ชนิดแฟนพันธุ์แท้

แต่สิ่งที่ยากจะดูเบา ไม่ใช่เรื่องแค่ ส.ส. 1 คนไปเติมเสียงให้กับพรรคการเมือง หรือการยุบเลิกพรรคขนาดเล็ก 1 พรรค พ้นจากสารบบพรรคการเมืองไทยเท่านั้น

ความน่าสนใจอยู่ที่คุณไพบูลย์พกสถานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหนึ่ง ไปยังอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ถูกต้องเหมาะสม ชอบธรรมตามกติกาเพียงใด

Advertisement

ต้องไม่ว่า ทุกหนึ่งคะแนนที่โหวตให้ประชาชนปฏิรูป น่าจะสรุปเจตนาของผู้มีสิทธิออกเสียงได้ 2 ทาง

หนึ่ง ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรค

หนึ่ง ลงคะแนนให้ในฐานะพรรคการเมือง

Advertisement

เพราะฉะนั้นกว่า 4.5 หมื่นเสียงที่ลงคะแนนให้ประชาชนปฏิรูป จึงไม่ใช่ใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว แม้แต่คุณไพบูลย์หัวหน้าพรรคก็ตาม

เพียงแต่คุณไพบูลย์ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเรื่องทางเทคนิคเท่านั้น

สมมุติมีช่องอนุโลมใดเปิดทางให้ (ซึ่งผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะมีช่องทางไหน) ก็ยังเจอปัญหาข้อกฎหมายตามมาอีกมากมาย

คุณไพบูลย์เข้าไปอยู่พรรคพลังประชารัฐในฐานะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไปเข้าคิวในบัญชีอย่างไร ในเมื่อพลังประชารัฐก็มีบัญชีรายชื่อของตัวเองอยู่เดิมแล้ว

หรือคุณไพบูลย์จะตั้งอยู่ลอยๆ นอกบัญชีพรรค กลายเป็น ส.ส.พันธุ์ใหม่

เป็น ส.ส.พันธุ์อมตะ แบบที่ “สติธร ธนานิธิโชติ” จากสถาบันพระปกเกล้าให้ข้อสังเกต หากอยู่นอกบัญชีรายชื่อ 150 คน จะเกิดปรากฏการณ์ว่า ส.ส.ที่มาจากระบบย้ายเข้า กลายเป็น ส.ส.อมตะไม่มีวันตาย คือสำหรับคนอื่นๆ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีการทุจริตการเลือกตั้ง จะต้องมีการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ คนอื่นมีโอกาสหลุดออกจากความเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ แต่คนที่ลอยมาจากพรรคอื่นอยู่นอกบัญชี แปลว่าสถานะ ส.ส.คงที่ตลอดไป

เคสคุณไพบูลย์ยังชวนให้คิดต่อไปอีก

หาก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคขนาดเล็ก 1 เสียง เดินตามรอยนี้บ้าง ทั้งหลักการ ทั้งระบบ ที่วางไว้คงวุ่นวายเอาเรื่อง

ที่สำคัญจะกลายเป็นการสบช่องหลบเลี่ยงและขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พยายามป้องกันพรรคใหญ่ฮุบพรรคเล็ก กำหนดห้ามควบรวมพรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง จะทำได้ต้องภายหลังสภาสิ้นวาระหรือสภาถูกยุบเท่านั้น

บทสรุปกรณีคุณไพบูลย์ น่าจะได้ข้อยุติในการวินิจฉัยของคณะกรรมการเลือกตั้งในสัปดาห์นี้

การสละเรือเล็กประชาชนปฏิรูปโผขึ้นเรือเหล็กพลังประชารัฐ นับเป็นหนึ่งความท้าทายกติกาการเมือง เชื่อว่าจะมีตามมาอีก อันมีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560

ไม่ว่า การออกแบบจนยากจะมีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเด็ดขาด ส่งผลให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก ในที่สุดพรรคการเมืองที่มีเสียงพอสมควรตนเองกวาดต้อนพรรคเล็กอื่นจัดตั้งรัฐบาล ที่มีผลต่อเสถียรภาพอย่างที่เห็นกันวันนี้

ไม่ว่า จะเป็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม ซับซ้อนพิลึกพิลั่นน่ากังขา

ไม่ว่า บทเฉพาะกาลให้ ส.ว. 250 เสียงจากการแต่งตั้ง มีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

และอีกหลายปมซุ่มซ่อนตามจุดต่างๆ ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ

กรณีคุณไพบูลย์จึงเท่ากับเติมความชอบธรรมให้ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านผลักดันอย่างเอาการเอางานในขณะนี้

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image