การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่น และการพัฒนาประเทศ (1) : โดย คณิต ณ นคร

1.ข้อความนำ

บัดนี้องค์กรที่เรียกชื่อว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “คสช.” หมดอำนาจหน้าที่ไปแล้ว เพราะได้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญและได้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว แต่เนื่องจากองค์กรดังกล่าวในขณะที่ยังอยู่ในอำนาจได้กล่าวถึงการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่นไว้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นการสำรวจว่าองค์กรดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการตามที่กล่าวไว้เมื่อมีการยึดอำนาจรัฐหรือไม่อย่างไรและเพียงใด เพราะการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่นนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศชาติด้วย

ก่อนที่ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนต้องขอย้อนไปกล่าวถึงเรื่องในอดีตด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้บทความเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับบทความเรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ในอดีตที่ผู้เขียนได้เขียนไว้และได้กล่าวถึง “คสช.” ในเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่นไว้ด้วยในบทความเรื่องนั้น

ในงานครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดกิจกรรมขึ้นหลายอย่าง เกี่ยวกับกิจกรรมของวันที่ 28 มิถุนายน 2557 มหาวิทยาธรรมศาสตร์ได้เชิญผู้เขียนให้เข้าร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อเรื่องว่า “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 2 คน คือ คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กับผู้เขียน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

Advertisement

สำหรับผู้เขียนเองนั้น ได้เตรียมตัวไปพูดในวันดังกล่าวเยอะเลย แต่เนื่องจากเวลาในการเสวนามีจำกัดมาก ดังนั้น หลังจากการเสวนาได้ผ่านไปผู้เขียนจึงได้นำเรื่องที่ได้พูดไปแล้วตลอดจนเรื่องที่ยังไม่ได้พูดมาเขียนเป็นบทความออกเผยแพร่ โดยใช้ชื่อบทความตามหัวข้อเรื่องของการเสวนา กล่าวคือ “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ที่ฝ่ายผู้จัดได้ตั้งขึ้นนั้น แล้วผู้เขียนได้จัดพิมพ์รวมกับบทความอื่นๆ ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ก่อนแล้วอีก 5 เรื่อง คือ

– งานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 18
– อำนาจฟ้องคืออำนาจศาล
– เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
– อัยการกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และ
– อัยการกับความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน

หนังสือ “อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ดังกล่าวนี้ ได้จัดพิมพ์ควบคู่กันกับหนังสือ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ที่ได้มีการตีพิมพ์ไว้แล้วครั้งหนึ่ง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนธันวาคม 2552

Advertisement

หนังสือที่จัดพิมพ์ควบคู่กันของ “อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” กับ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ดังกล่าวมาได้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 แล้ว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชนเมื่อเดือนตุลาคม 2557

2.เรื่องราวของ “คนมีกรรม”

ผู้เขียนได้กล่าวเสมอมาทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นว่าผู้เขียนเป็น “คนมีกรรม” เพราะเมื่อมีการเสียชีวิตของคนจำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศเราครั้งใด ก็จะมีการนึกถึงผู้เขียนและใช้ผู้เขียนให้ทำงานตรวจสอบความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ที่เรียกกันทั่วไปว่า “พฤษภาทมิฬ” เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคมนั้นเองซึ่งเป็นวันหยุดราชการ นายวิษณุ เครืองาม รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้โทรศัพท์ถึงผู้เขียนที่บ้าน และกล่าวกับผู้เขียนว่าอยากเชิญผู้เขียนร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมดังกล่าว ผู้เขียนได้ถามกลับไปว่า ทำไมต้องเป็นผู้เขียน ทำไมไม่เป็นอัยการสูงสุด (ขณะนั้นผู้เขียนดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด) นายวิษณุ เครืองาม ได้ตอบผู้เขียนว่า “ท่านอาจารย์นะดีแล้วเพราะเป็นกลางดี”

คณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่คณะรัฐมนตรีชุด พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี จะจัดตั้งขึ้นนั้น มีอาจารย์โสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ หลังจากพูดคุยกันต่อพอสมควรผู้เขียนก็จำต้องยอมรับการทาบทามดังกล่าว เพราะขณะนั้นผู้เขียนยังรับราชการอยู่

รายละเอียดในติดต่อและทาบทามท่านผู้อ่านจะพบได้ใน “บันทึกประธาน คอป.” ในหนังสือ ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อมีนาคม 2556 หน้า 323-360

อนึ่ง หนังสือ “ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม” เล่มนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็น “บันทึกประวัติศาสตร์” ทีเดียว ผู้เขียนจึงได้จัดพิมพ์โดยการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ เพื่อจ่ายแจกอีก 4 ครั้ง ดังนั้น ทุกคนจึงหาอ่านได้จากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ และห้องสมุดของโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาต่างๆ รวมทั้งจากกับห้องสมุดประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร

ในที่สุด “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและสำรวจความเสียหายเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535” ซึ่งมีอาจารย์โสภณ รัตนากร เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการก็เกิดขึ้น และต่อมาคณะรัฐมนตรีชุด
นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการดังกล่าวมานี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยปรับปรุงกรรมการบางคนที่ขอลาออกหรือมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง

เมื่องานของคณะกรรมการดังกล่าว และงานของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่คณะกรรมการได้แต่งตั้งขึ้นเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนสิงหาคม รายงานต่างๆ ได้ถูกส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2535 และรายงานต่างๆ ก็ถูกเก็บไว้ที่กระทรวงกลาโหม โดยไม่ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ และผู้เขียนเองก็ไม่มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้แม้แต่ชุดเดียว จนเมื่อผู้เขียนต้องทำงานใน “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” (คอป.) ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่สงบที่เกิดจากการชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงและฝ่ายเสื้อเหลืองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ผู้เขียนจึงได้ขอสำเนารายงานจากท่านอาจารย์โสภณ รัตนากร มาประกอบการทำงานของ
คอป.

ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องราวของการเป็น “คนมีกรรม” ครั้งแรกของผู้เขียน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2550 หลังจากผู้เขียนได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีการเสียชีวิตของคนจำนวนมากเกิดขึ้น และเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้เขียนอีก เหตุการณ์ที่ว่านี้คือ เหตุการณ์การเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนพันๆ คนอันเนื่องมาจากการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษไปปฏิบัติ

ในครั้งนี้ผู้เขียนได้รับการทาบทามจากรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการคณะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน” เรียกโดยย่อว่า คตน.

และ คตน. ก็ได้ทำงานอย่างได้ผลแม้จะมีเวลาในการทำงานน้อยมาก

กล่าวคือ คตน. สามารถชี้ชัดว่ากรณีน่าเชื่อว่า “ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” (Crime against Humanity) ได้เกิดขึ้นแล้ว และ คตน. ได้นำเสนอรายงานต่อรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งความผิดฐานดังกล่าวนี้เป็น “ความผิดอาญาระหว่างประเทศ” ที่ในที่สุดจะต้องดำเนินการโดย “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” (International Criminal Court) ที่ได้จัดตั้งขึ้นตาม “ธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ” (Rome Statute of the International Court) ที่ประเทศไทยเราก็ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งศาลดังกล่าวด้วย

รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้จัดพิมพ์ในหนังสือที่ใช้ชื่อว่า “วิสามัญฆาตกรรมคดียาเสพติดในประเทศไทย : ชอบด้วยกฎหมายหรือจงใจฆ่าทิ้ง?” พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 และหนังสือดังกล่าวนี้ได้พิมพ์โดยมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์อีกด้วย

เกี่ยวกับรายงานของ คตน. ดังกล่าวนี้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้อนุญาตให้ คตน. แพร่หลายรายงานดังกล่าวนี้ได้ เพราะการแต่งตั้ง คตน. เกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาคมโลก

และแล้วต่อมาก็ได้มีผู้นำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษและจัดพิมพ์จำหน่ายด้วย ดังนั้น กรณีจึงสามารถกล่าวได้ว่า รายงานของ คตน. ได้แพร่หลายสู่สาธารณะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สรุปว่า รายงานของคณะกรรมการอันมีอาจารย์โสภณ รัตนากร เป็นประธาน และผู้เขียนเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยผู้หนึ่งเกี่ยวกับการเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2535 นั้น ไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ แต่รายงานของ คตน. ที่ผู้เขียนเป็นประธานกรรมการนั้น ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องราวของการเป็น “คนมีกรรม” ครั้งที่ 2 ของผู้เขียน

ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ได้เกิดการชุมนุมของฝ่ายคนเสื้อแดงกับฝ่ายคนเสื้อเหลือง และการเสียชีวิตของคนจำนวนมากได้เกิดขึ้นอีก

วันหนึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้โทรศัพท์ขอพบและเดินทางไปพบผู้เขียนที่บ้าน และได้ขอให้ผู้เขียนช่วยทำงานตรวจสอบเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในครั้งนี้

ในชั้นแรกผู้เขียนก็ยังไม่รับปากว่าจะดำเนินการให้ และแล้วต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ได้โทรศัพท์ไปถึงผู้เขียนด้วยตนเองและขอให้ผู้เขียนช่วยทำงานเกี่ยวข้องกับความไม่สงบและมีผู้คนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากครั้งนี้ด้วย เมื่อเช่นนี้ผู้เขียนจึงไม่มีหนทางที่จะปฏิเสธได้ และได้ตัดสินใจรับทำเรื่องดังกล่าว โดยผู้เขียนได้วางเงื่อนไขให้ผู้เขียนได้เลือกผู้ร่วมงานด้วยตนเอง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้เห็นชอบตามที่ผู้เขียนเสนอ

ในที่สุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ได้ลงนามแต่งตั้งให้ผู้เขียนเป็นประธานใน “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” (คอป.) เพื่อทำงานชิ้นนี้

และผู้เขียนก็ได้แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นกรรมการ คือ (1) นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (2) รองศาสตราจารย์จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (3) รองศาสตราจารย์เดชา สังขสุวรรณ (4) นายมานิจ สุขสมจิตร (5) ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ (6) นายสมชาย หอมลออ (7) นายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ และ (8) รองศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

สำหรับฝ่ายเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการนั้น ผู้เขียนก็ได้แต่งตั้งนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นเลขานุการ นายวิทยา สุริยะวงศ์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และนายพิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้ช่วยเลขานุการ

ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องราวของการเป็น “คนมีกรรม” ครั้งที่ 3 ของผู้เขียน

ในการทำงานที่ยากๆ ทั้งสองครั้งของผู้เขียน คือ งาน คตน. และงาน คอป.นั้น แม้ผู้เขียนจะกล่าวว่าผู้เขียนเป็น “คนมีกรรม” ก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็พบว่าผู้เขียนเองก็เป็น “คนมีบุญ” ในขณะเดียวกันด้วย เพราะผู้ร่วมงานทั้งสองครั้งของผู้เขียนนั้น เมื่อผู้เขียนไปทาบทามต่างก็ยินดีช่วยเหลือผู้เขียนในการที่จะทำงานทั้งสองครั้งทุกคน ยิ่งกว่านั้นบางคนยังเสนอตัวร่วมทำงานกับผู้เขียนด้วยตนเองด้วยความเต็มใจอีกด้วย

กรณีจึงทำให้งานทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง

3.งานรับใช้ส่วนรวมของผู้เขียนไม่เคยยุติ

ในการทำงานของผู้เขียนแต่ละครั้งนั้น โดยที่ผู้เขียนเป็นนักวิชาการ ผู้เขียนจึงได้ใช้หลักวิชาการในการทำงานทั้งสิ้น พร้อมทั้งได้ค้นคว้าและตีแผ่หลักวิชาการอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้มีหลักในการทำงาน นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้เขียนบทความเพื่อประกอบในการทำงานด้วยหลายบทความ เช่น บทความเรื่อง

– การก่อการร้าย
– คอป. และ อสส. กับการก่อการร้าย
– อัยการกับปัญหาความขัดแย้งในชาติ

และโดยที่ผู้เขียนสำนึกตนเสมอว่า ผู้เขียนเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศเป็นเวลานานมาก และได้ใช้ภาษีของประชาชนไปจำนวนมากด้วย กรณีจึงมี “หนี้ทางใจ” ที่ผู้เขียนจักต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บ้านเมืองของเราเกิดความสงบ

ครั้นเมื่องานของ คอป. เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า แม้ถึงว่า คอป. จะพ้นจากหน้าที่ไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 แต่ในในฐานะ “อดีตประธาน คอป.” ผู้เขียนยังเห็นว่า ตราบเท่าที่บ้านเมืองเรายังไม่มีความสงบและไม่มีความปรองดองเกิดขึ้น ผู้เขียนชอบที่จะต้องพยายามทำหน้าที่ผลักดันข้อเสนอของ คอป. เพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป โดยผ่านทางสำนักงานอัยการสูงสุดที่ผู้เขียนเคยรับราชการ

เรื่องแรกที่ผู้เขียนทำก็คือ ผู้เขียนได้ทำหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งใช้ชื่อว่า

“อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย”

หนังสือ “อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย” ได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์วิญญูชนเมื่อเดือนธันวาคม 2556 และพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์วิญญูชนเช่นเดียวกันเมื่อเดือนมกราคม 2557

ก่อนที่จะจัดทำหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้พูดคุยกับอัยการสูงสุดในขณะนั้น โดยผู้เขียนกล่าวต่ออัยการสูงสุดว่า ความผิดฐานก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ในความเห็นของผู้เขียนเป็นความผิดที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายในสามมิติด้วยกัน คือ

(1) ความผิดฐานก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญาของเราเกิดขึ้นจากการตราเป็นพระราชกำหนด ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นมีรัฐสภาที่ถูกต้องอยู่ตามปกติ การกระทำของรัฐบาลโดยไม่ผ่านรัฐสภาด้วยการไม่เสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติ ย่อมไม่ถูกต้องตาม “หลักนิติบัญญัติ” เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วนดังเช่นกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร การกระทำของรัฐบาลในขณะนั้นจึงเป็นการไม่เคารพฝ่ายข้างน้อยในรัฐสภา

(2) ในประมวลกฎหมายอาญาที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานก่อการร้ายนั้น ได้มีการนิยามคำว่า “ก่อการร้าย” ในทางปฏิเสธ (negative) ว่า

“การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือได้รับความเป็นธรรมอันเป็นใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย”

ดังนั้น หากบุคคลในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานอัยการและผู้พิพากษาไม่พิจารณาสถานการณ์แห่งเรื่องประกอบการดำเนินคดีหรือประกอบการพิพากษาคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานนี้แล้ว กรณีก็อาจเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่แก้ปัญหาให้กับสังคมได้ เพราะการที่จะแยกแยะตามนิยาม “ในทางปฏิเสธ” (negative) ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยากมาก

เหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า บทบัญญัติความผิดฐานก่อการร้ายเป็นบทบัญญัติที่ฝ่าฝืน “หลักประกันในกฎหมายอาญา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ซึ่ง “หลักประกันในกฎหมายอาญา” มีอยู่ 4 ประการ คือ (1) การห้ามใช้กฎหมายจารีตประเพณี (2) การห้ามใช้กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง (3) กฎหมายอาญาต้องบัญญัติให้ชัดเจนแน่นอน และ (4) กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น โดยการให้นิยามในทางปฏิเสธทำให้ความผิดฐานก่อการร้ายขัดต่อ “หลักประกันในกฎหมายอาญา” ในข้อ “กฎหมายอาญาต้องบัญญัติให้ชัเจนแน่นอน”

(3) ยิ่งกว่านั้น โดยที่ความผิดฐานก่อการร้ายนั้น เทียบได้กับความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซึ่งความผิดฐานเป็นอั้งยี่นั้น เป็นความผิดที่บัญญัติขึ้นเพื่อ “สกัดการก่อตั้งสมาคมอั้งยี่” และ “การคงอยู่ต่อไปของสมาคมอั้งยี่ที่มีอยู่แล้ว” ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดตามมาจากการกระทำของ “สมาคมอั้งยี่” บทบัญญัติความผิดฐานเป็นอั้งยี่จึงเป็นบทบัญญัติที่เป็นมาตรการป้องกันการกระทำความผิด เป็นการบัญญัติความผิดที่มีเนื้อหาย้อนไปจัดการกับการกระทำในขั้นตอนของ “การกระทำอันเป็นการตระเตรียมกระทำความผิด” และความผิดฐานก่อการร้ายก็เป็นกรณีของการลงโทษบุคคลในขั้นตอนของการตระเตรียมกระทำความผิด ซี่งความเห็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตำรา “กฎหมายอาญาภาคความผิด” ซึ่งบัดนี้ได้พิมพ์ครั้งที่ 11 โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนกันยายน 2559 ดังนั้น ระวางโทษในความผิดฐานก่อการร้ายนี้จึงต้องไม่รุนแรง แต่ระวางโทษของความผิดฐานก่อการร้ายกลับหนักถึงประหารชีวิต กรณีจึงเป็นการขัดต่อ “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม” อีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้ปรึกษากับอัยการสูงสุดในขณะนั้นว่า กรณีชอบที่จะ “สั่งไม่ฟ้อง หรือไม่ก็ถอนฟ้อง” บุคคลที่ต้องหาว่าก่อการร้ายทั้งหมด

ในชั้นแรกอัยการสูงสุดก็เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของผู้เขียนและจะกระทำตามที่ผู้เขียนเสนอ แต่ในที่สุดอัยการสูงสุดก็แจ้งกับผู้เขียนว่าจะไม่ขอทำตามที่ตกลงกัน ทั้งนี้ โดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ

ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากอัยการสูงสุดมี “ความกล้าที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง” แล้ว การถูกสั่งให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจาก คสช. ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้

4.ความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศของ คสช. เปรียบเทียบกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศของนายพล Park Chung-hee แห่งประเทศเกาหลีใต้

เหตุการณ์ในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้ผู้เขียนต้องย้อนไปนึกถึงประเทศเกาหลีใต้ เพราะสิ่งแรกที่ผู้เขียนสังเกตเห็นจาก “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (คสช.) ก็คือ การสั่งให้ “อัยการสูงสุด” ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยไม่ผ่าน “คณะกรรมการข้าราชการอัยการ” หรือ ก.ไอ. ซึ่งเป็น “องค์กรบริหารบุคคล” ของข้าราชการอัยการ แทบจะทันทีทันใด แม้ต่อมาจะได้กำหนดให้มีตั้งตำแหน่งลอยในสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดผู้นั้นมาดำรงตำแหน่งนั้นก็ตาม แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขาดความถูกต้อง เพราะผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

ในอดีต “องค์กรบริหารงานบุคคล” มีคณะเดียว คือ “คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” หรือ ก.พ. และแล้วต่อมาจึงได้เกิด “องค์กรบริหารงานบุคคล” ของข้าราชการตุลาการ ที่เรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการตุลาการ” หรือ ก.ต. แล้วได้เกิด “องค์กรบริหารงานบุคคล” ของข้าราชการอัยการหรือ “คณะกรรมการข้าราชการอัยการ” หรือ ก.อ. และในที่สุดก็ได้เกิด “องค์กรบริหารงานบุคคล” ของข้าราชการตำรวจ หรือ “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ”

ซึ่ง “องค์กรบริหารงานบุคคล” ที่กล่าวมาแล้วล้วนแล้วแต่เป็น “องค์กรบริหารงานบุคคล” ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น ความคิดเกี่ยวกับงานบริหารงานบุคคลของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงมีมิติเพื่อประกันความอิสระในการทำงาน

ในอดีตจึงไม่เคยปรากฏว่า “อธิบดีกรมอัยการ” หรือ “อัยการสูงสุด” ถูกกระทำโดยฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารที่มาตามครรลองปกติ หรือฝ่ายบริหารที่มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ

และข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้เขียนต่อไปก็คือ ในการยึดอำนาจปกครองประเทศ คสช. ได้กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่นไว้ด้วย ซึ่งในการปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่นย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “กระบวนการยุติธรรม” ดังนั้น การกล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่น จึงเป็นความมุ่งมั่นที่ดีที่ผู้เขียนเห็นพ้องด้วย

จากการที่ คสช. ได้กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่นไว้ด้วยดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความขื้นอีกเรื่องหนึ่ง โดยผู้เขียนใช้ชื่อว่า “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งบทความเรื่องนี้ปรากฏในหนังสือ “อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งหนังสือ อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม ได้พิมพ์คู่กับ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนตุลาคม 2557

ดังนั้น ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำบางตอนและเป็นตอนที่สำคัญที่ได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” มาถ่ายทอดในที่นี้อีกครั้งหนึ่งดังต่อไปนี้

โดยที่ในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น คสช. ได้กล่าวถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่น ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยดังกล่าวมาแล้ว เหตุนื้ผู้เขียนได้พยายามนึกย้อนหลังออกไปถึงการยึดอำนาจการปกครองของประเทศอื่นในเรื่องดังกล่าวนี้เพื่อทราบว่าเขามีวิธีการทำกันอย่างไร

เหตุการณ์ในการยึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. ในครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนย้อนนึกถึงประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ เพราะสิ่งแรกที่ผู้เขียนสังเกตเห็นจาก “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ก็คือ นอกจากได้มีการโยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แล้ว ยังได้กล่าวถึงความตั้งใจที่จะปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่นด้วย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

คณิต ณ นคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image