ปัญหา เอกภาพ การเมือง-ปากท้อง เขย่า รบ.บิ๊กตู่

ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถหนีธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยได้พ้น

กรณีข้อร้องเรียนเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะอ้างภารกิจ ไม่ยอมไปตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ในที่สุดกระแสความต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปสภาก็ดังขึ้น ดังขึ้น และดังขึ้น

จากเสียงเชิญชวนของพรรคฝ่ายค้าน ที่มี นายปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งพรรคอนาคตใหม่ตระเตรียมการกระทู้ถาม

Advertisement

ขยายผลกลายเป็นเสียงของพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการให้นายกฯมาตอบ

ยื่นเป็นญัตติของเปิดอภิปรายทั่วไปซักถามโดยไม่ลงมติ ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้

บัดนี้ญัตติดังกล่าวถึงมือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และทางสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องให้ทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว

Advertisement

รอวันเวลาที่จะตอบรับนัด และตอบคำซักถามจากพรรคฝ่ายค้าน

และขยายกลายเป็นข้อเรียกร้องเชิงแนะนำจากนายชวน ที่ส่งสัญญาณไปถึง พล.อ.ประยุทธ์

ขออย่าได้กลัว นี่คือวิถีประชาธิปไตย

ประเด็นข้อร้องเรียนเรื่องถวายสัตย์นี้ เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นว่าค่อยๆ คลี่คลายเป็นระยะๆ

เมื่อมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นดังกล่าว ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นที่จะยื่นคำร้องของ นายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” หรือไม่?

ทุกอย่างต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อร้องเรียนเรื่องถวายสัตย์นี้ ยังต้องผ่านกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยง เพราะผิดวิถีประชาธิปไตย

แต่ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เริ่มแย้มวิธีที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อึดอัดใจในการตอบอภิปรายในประเด็นดังกล่าว

ประเด็นการถวายสัตย์ สามารถขอเป็นการประชุมลับได้ ถ้าเห็นควรว่าไม่สมควรเปิดเผยออกไป

การประชุมลับเป็นอีกทางออกของ พล.อ.ประยุทธ์

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวสู่วิถีประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เบ็ดเสร็จเหมือนเก่า

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 แม้จะ “ดีไซน์มาเพื่อเรา” แต่ก็ไม่เด็ดขาดเท่ากับ ม.44 เดิม

ในทางคดีต้องไปจบที่ศาล ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารก็มีพลังมากขึ้น

ยิ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันเผชิญหน้ากับปัญหา “ปริ่มน้ำ” ยิ่งค่อยๆ กัดกร่อนความน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ

ในทางการเมือง อาการ “ปริ่มน้ำ” ทำให้เอกภาพของรัฐบาลมีน้อยลง

การโหวตข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎรที่กรรมาธิการเสียงข้างมากแพ้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยนั้น ตอกย้ำปัญหานี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้วิปรัฐบาลต้องเพิ่มจำนวน และกำหนดให้วิป 1 คนดูแล ส.ส.รัฐบาล 5 คน

พรรคพลังประชารัฐต้องเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อช่วยบรรดาแกนนำพรรคดูแลสมาชิก

ถึงขนาดนี้ แม้ พล.อ.ประวิตรจะเสนอต่อที่ประชุมให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลาออกจาก ส.ส. เพื่อเปิดทางให้คนอื่นมาเป็นแทน

ช่วยบรรเทาปัญหาเสียงฝ่ายรัฐบาลไม่เพียงพอ

แต่สุดท้ายรัฐมนตรี 5 คนในเป้าหมายก็พร้อมใจกันปฏิเสธ

สะท้อนว่า เอกภาพภายใน “พลังประชารัฐ” มีปัญหา

ปัญหาเอกภาพเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย

กรณีการประกาศ “แก้ไขปัญหาปากท้อง” เป็นการเร่งด่วนนั้น บัดนี้เกิดปัญหาการดำเนินการทางเศรษฐกิจคล้ายกับ “ต่างคนต่างทำ”

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง คสช.ยึดอำนาจ ฝ่ายเศรษฐกิจมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นหัวหน้าทีม

เป้าหมายคือ ไทยแลนด์ 4.0 มีโครงการต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่ออกมารองรับ

การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจยังมองเห็นเป้าหมาย

แต่สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน อาจเป็นเพราะเป็นรัฐบาลผสม 19 พรรรค มีรองนายกฯที่ดูแลเศรษฐกิจจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างมีเป้าหมายและวิธีการตามที่ได้หาเสียงไว้ ดังนั้น เมื่อได้เป็นรัฐบาลแต่ละพรรคจึงขับเคลื่อนสิ่งที่ตัวเองเคยสัญญาไว้กับประชาชน

กลายเป็นปัญหาเรื่องเอกภาพการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล

แม้รัฐบาลจะตั้ง ครม.เศรษฐกิจ มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าทีม และหลังจากที่ประชุมนัดแรกก็ได้อนุมัติวงเงิน 3.1 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี

แต่หลังจาก ครม.เศรษฐกิจอนุมัติวงเงิน กระแสตอบรับกลับไม่คึกคักเท่ากับวงเงิน 3 แสนล้านบาท

กระทั่งกลายเป็นข้อข้องใจ

ปลายปี 2562 เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นจริงหรือ

ปัญหาเรื่องเอกภาพที่ขยายตัวกลายเป็นปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ หากไม่รีบแก้ไข ปัญหาต่างๆ จะย้อนกลับไปเป็นปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์

แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะได้เปรียบในเชิงกฎระเบียบ กระทั่งกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายที่ดีไซน์มาให้

แต่รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับศรัทธาที่ประชาชนมีให้

เมื่อใดที่ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อใดที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจนสุดทานทน

แม้รัฐบาลจะมีกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อหนุน แต่ในที่สุดก็จะมีกระแสผลักดันให้แก้กฎระเบียบเหล่านั้น

หนทางที่ดีที่สุดคือการเร่งรีบพิจารณาตัวเอง แล้วปรับปรุงแก้ไข

และหากยังดื้อดึงฝืนกระแส

นอกจาก “กฎ” ที่ต้องถูกแก้แล้ว “คน” ก็อาจต้องถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image