สนามรบ ณ แยกราชประสงค์ เมื่อ พ.ศ.2492 โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

พื้นที่สี่แยกราชประสงค์ เคยเป็น สนามรบ ที่ “ทหารบก” เคยรบกับ “ทหารเรือ” เคยนองเลือดมาแต่เก่าก่อน…และนี่ คือ “ปฐมบท” ของการต่อสู้ใน “กบฏวังหลวง” …

ความขัดแย้งในบ้านเมือง… ใครรักชาติมากกว่ากัน แย่งชิงอำนาจกัน ถึงขนาดยกกองทัพมารบกัน (อีกครั้ง) ที่ชนรุ่นหลังควรต้องรับทราบอีก 1 เหตุการณ์ คือ กบฏวังหลวง ในพระนคร ช่วง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ที่จบลง เลิกราใน 24 ชั่วโมง แบบเหลือเชื่อ…

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ในตอนนี้ขอชวนคุย ตีแผ่ ความขัดแย้งแบบถึงพริกถึงขิง ระหว่าง “ตัวบุคคล” ผู้คุมกำลังรบ มากบารมี เติบโตขยายตัวไปเป็น “ความขัดแย้งระหว่างเหล่าทัพ” ปะปนกันไปกับการแย่งชิงผลประโยชน์ของพวกพ้องแบบไม่จบไม่สิ้น…

ผมขอใช้ข้อมูลบางส่วนของสถาบันพระปกเกล้า ฯ …

Advertisement

รวบรัด ตัดตอน ย้อนอดีตไปยังเหตุการณ์ที่ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ กับพวกทำรัฐประหารสำเร็จ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490…

หลังการรัฐประหารครั้งนั้น กองทัพบกได้เชิญตัว นายควง อภัยวงศ์ อดีต นรม. เข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ป้องกันข้อครหาว่ายึดอำนาจเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ให้ตัวเอง

เป็นการเลือกตั้งที่ได้รับเสียงวิจารณ์อื้ออึง…

Advertisement

หลังการเลือกตั้ง ในเดือนมกราคม 2491 นายควงได้รับเสียงข้างมากให้เป็น นรม. ต่อไป แต่นายควงวาสนามีจำกัด มีอายุการทำงานในตำแหน่งได้แค่เดือนเมษายน ปีเดียวกัน เกิดการรัฐประหารอีกรอบ
“จี้บังคับ” ให้นายควงลาออก ปูพรมให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางกลับมาเป็น นรม. อีกครั้ง….

ย้อนกลับไปหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 ดร.ปรีดี พนมยงค์ คู่รัก-คู่แค้นของจอมพล ป. ได้หลบหนีออกไปตั้งหลักนอกประเทศ…รอคอยจังหวะนาน 2 ปี จะขอยึดอำนาจคืนอีกครั้งจากคณะรัฐประหารของจอมพล ป. เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย…

นี่คือ จุดตั้งต้น เรื่องราวของ กบฏวังหลวง….

ราว 20.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 นายปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” เดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยแบบเงียบเชียบ…

อาวุธยุทโธปกรณ์ถูกลำเลียงมาทางเรือโดยการสนับสนุนของกลุ่มทหารเรือที่สนับสนุนนายปรีดี แล้วนำกำลังแทรกซึม เข้ายึดพื้นที่ในพระบรมมหาราชวัง…ใช้ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่รวมพล

การใช้พื้นที่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นกองบัญชาการยึดอำนาจ จึงเป็นที่มาของชื่อ “กบฏวังหลวง”

ราว 21.00 น. กำลังส่วนหนึ่งของทหารเรือเข้ายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ พญาไท และเริ่มกระจายเสียงออกอากาศ ประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ คือ นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวม 3 ตำแหน่ง

วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตัดรายการปกติ เปลี่ยนเป็นแถลงการณ์ยึดอำนาจ แต่งตั้งบุคคลสำคัญ และประกาศปลดข้าราชการทหาร ตำรวจ แบบเมามัน…

ประชาชนชาวสยามมึนงง สับสนกับข่าววิทยุ ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ เคลื่อนย้ายกำลังเพ่นพ่านกันไปทั่วถนนในพระนคร…นี่มันอะไรกันอีกวะ ?

แถลงการณ์ยึดอำนาจการปกครองในช่วงดึกทางวิทยุในคืนวันนั้น ประกาศแต่งตั้ง พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน เป็น รมว.กห. และนายทวี บุญยเกตุ เป็น รมว.มท. ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่ไม่ได้ประกาศ ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนทุกกระทรวง…

กลุ่มผู้ก่อการฯประกาศจัดตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบด้วย พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน ผบ.ทร. เป็นแม่ทัพใหญ่ พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่ พลตรี เนตร เขมะโยธิน เป็น ผบ.ทบ. พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วไปและอธิบดีกรมตำรวจ และพันตำรวจเอก บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็น ผบก.ตำรวจสันติบาล

คณะผู้ก่อการฯยังประกาศคำสั่ง “ปลดข้าราชการ” ระดับบิ๊ก 5 คน คือ พลโท ผิน ชุณหะวัณ ผบ.ทบ. พลโท กาจ กาจสงคราม รอง ผบ.ทบ. พันตำรวจโท ละม้าย อุทยานานนท์ ผบก.ตำรวจสันติบาล พลตำรวจโท หลวงชาติ ตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ และพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ

กลางดึกคืนนั้น ระหว่างวิทยุประกาศยึดอำนาจชิงเมือง ทหารเรือของฝ่ายก่อการฯ แยกย้ายกันไปยึดสถานที่ต่างๆ

เมื่อยึดที่หมายได้บางส่วน นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี ตะเวทิกุล พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต และกำลังสนับสนุน เคลื่อนตัวทยอยออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสั่งการ ณ กองบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง

รัฐบาลทหารในขณะนั้น ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ใคร? ทำอะไร? และที่สำคัญ คือใครเป็นพวกใคร ใครจะสอยใคร?

สภาพการเมืองในประเทศไร้เสถียรภาพ เต็มไปด้วยข่าวลือการรัฐประหาร ทุกฟากฝ่าย สะสมกำลัง ไม่มีใครไว้ใจใครมาแสนนาน…

ฝ่ายรัฐบาลทหารเองก็พอจะระแคะระคาย มีกลิ่นโชยมาบ้างว่า อาจมีเหตุยึดอำนาจเกิดขึ้น เพราะจอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้กล่าววาทะดุเดือด ร้อนแรง เป็นนัยยะทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยไว้เป็นปริศนาว่า…

“เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้” และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนเกิดเหตุถึง 3 วัน

เช้าวันรุ่งขึ้น คือ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 กำลังของทหารเรือแย่งยึดที่หมายสำคัญในพระนครได้หลายจุด ไร้การต้านทานจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายก่อการทหารเรือ เป็นต่อหลายขุม เพราะแม่ทัพนายกองของฝ่ายรัฐบาลรวมตัวกันไม่ติดและยังติดต่อกันไม่ได้

จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลโท ผิน ชุนหะวัณ พลโท กาจ กาจสงคราม พลตรี หลวงสถิตยุทธการ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตรีไสว ไสวแสนยากร แยกย้ายอยู่ต่างถิ่น ต่างที่กัน

“การเข้าที่หมายไม่ตรงเวลา” เป็นหายนะในทุกสนามรบ…

ขุมกำลังรบจากหน่วยนาวิกโยธินสัตหีบ คือ ตัวชี้ขาดการยึดอำนาจ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ และพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ซึ่งจะต้องเป็นกำลังหลักเข้ายึดสถานที่สำคัญในพระนคร …เคลื่อนกำลังมาไม่ทันตามกำหนดนัดหมาย…ลางร้ายชัดๆ

ตามแผนยึดอำนาจ…กำลังรบของนาวิกโยธิน กองทัพเรือจะต้องเข้ายึดที่หมายให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยงคืนของวันแรก คือ ในคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492

มันเป็นค่ำคืนที่สยามประเทศแสนจะสับสนอลหม่าน…

ช่วงดึกวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ฝ่ายรัฐบาลเริ่มตั้งตัวได้ รู้หมู่ รู้จ่า ออกประกาศยืนยันว่า “รัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศอยู่”

กำลังทหาร ยานพาหนะ รถถัง ปืนใหญ่ เครื่องยิงลูกระเบิด ถูกลากออกมาวางกำลังตามถนน ประชาชนตื่นตระหนก ปิดร้านค้า…

ก่อนรุ่งสางวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 เสียงปืนเล็ก ปืนกล เครื่องยิงลูกระเบิด เริ่มแผดเสียงกระหึ่มเป็นระยะๆ ย่านราชเทวี ราชประสงค์ ประตูน้ำ ทหารบกเข้าตรวจค้นพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…

นักเรียนจ่าจากโรงเรียนชุมพลทหารเรือฮึกเหิมเข้าปลดอาวุธตำรวจในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เข้ายึดอาวุธของตำรวจจาก สน.พระโขนง ไปตั้งแนวรบที่ถนนเพลินจิตต่อกับถนนสุขุมวิท

รัฐบาลจอมพล ป. สุขุม นุ่มลึก ยังไม่สั่งกำลังทหารเข้าปราบปรามแตกหักในทันที หาทางติดต่อพูดคุยกับผู้นำของทหารเรือ

อันที่จริง… กองทัพบก กองทัพเรือ ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก…นายทหารระดับคุมกำลังทั้งหลายก็คนกันเอง พี่น้องกันทั้งนั้น…

เกิดการเจรจาพูดคุยกัน…แต่กองทัพยังคงต้องมี “กำปั้นเหล็ก” เอาไว้ต่อรองเสมอ…พวกที่จะรบกันก็กรีฑาทัพเข้าหากัน ยิงกันในหลายพื้นที่ เพราะยังไว้ใจไม่ได้ ตกลงกันไม่ได้…

เช้ามืด 27 กุมภาพันธ์ 2492 พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ สั่งตำรวจล้อมพระบรมมหาราชวัง พลตรี สฤษดิ์สั่งการให้ใช้ปืนใหญ่รถถัง ยิงทำลาย ประตูวิเศษไชยศรี ของพระบรมมหาราชวัง เข้าทำลายศูนย์สั่งการของทหารเรือ

ดร.ปรีดี พนมยงค์ และเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช หนีตายออกทางประตูเทวาภิรมย์ ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา

ไปดูพื้นที่การรบแถวแยกราชประสงค์ ที่เป็นสนามรบ ไปในเวลาเดียวกัน…

เวลาประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 นาวิกโยธินจากสัตหีบของฝ่ายผู้ก่อการฯ เพิ่งเดินทางมาถึงพระนครใน ซึ่งในเวลานั้นฝ่ายรัฐบาลตั้งหลักได้ จอมพล ป. สั่งให้ทหารบกจัดกำลังรบ “เตรียมต้อนรับ” นาวิกโยธินไทยจากสัตหีบที่กำลังรุกเข้าพระนคร

ทหารบกไปวางกำลังตั้งรับ จะไม่ยอมให้นาวิกโยธินผ่านแนวต้านทานแถวราชประสงค์ เกิดการยิงสนั่นเมือง ทหารเรือยังเป็นฝ่ายที่มีกำลังรบ และกำลังพลที่เหนือกว่าทหารบก

ทหารบกต้องผละออกจากแนวต้านทาน …ร่นถอย

ประตูน้ำ ทางรถไฟสายมักกะสัน ถนนเพชรบุรี กำลังรบนาวิกโยธินผลักดันให้ทหารบกถอนตัวแบบไม่เป็นขบวน ทหารบกทิ้งรถถัง ปืนใหญ่ อาวุธหนักไว้เกลื่อนกราด

การพูดคุย รอมชอมยุติสงครามกลางเมืองของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ผล… เกิด “การจูบปากแบบดูดดื่มหลังการตบตี” เกิดการประนีประนอม โดยมี พลเรือตรี หลวงสินธวาณัติก์ เป็นตัวกลางให้ “หยุดยิง”

ในช่วงเย็น 27 กุมภาพันธ์ 2492 คำสั่งจากแม่ทัพใหญ่ฝ่ายทหารเรือให้ทหารเรือ “หยุดยิง” นำกำลังกลับเข้ากรมกอง เพราะผู้ใหญ่ได้เจรจา ปรับความเข้าใจกันแล้ว…บรรดานักรบลูกประดู่ที่อยู่หน้าแนวปะทะ ต่างโกรธแค้นเป็นฟืนเป็นไฟ…

รัฐบาลรีบส่งกำลังทหารบกเข้ายึดสถานีวิทยุกระจายเสียงคืนจากทหารเรือ …พันตรี โผน อินทรทัต ถูกยิงเสียชีวิต

เมื่อปิดเกมส์ “สงครามกลางเมืองได้รวดเร็ว” รัฐบาลรีบออกแถลงการณ์ชี้แจงประชาชน ไม่ระบุว่า “ทหารเรือก่อการกบฏ”

เพียงแต่อธิบายสถานการณ์ว่า “บุคคลแต่งตัวปลอมเป็นทหารเรือ” มาร่วมก่อการจลาจลที่พระบรมมหาราชวัง

รัฐบาลออกอากาศอธิบายเพิ่มเติมว่า…การปะทะกันที่ราชประสงค์นั้น “เป็นการเข้าใจผิดระหว่างทหารบกและทหารเรือ”

การสู้รบระหว่างฝ่ายทหารบกและทหารเรือก็ยุติลงในเวลาค่ำของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และถือได้ว่าการยึดอำนาจล้มเหลว

มีผู้เสียชีวิตเป็นทหารบก 4 คน ทหารเรือ 3 คน และผู้เสียชีวิตเป็นประชาชนในเขตพญาไท 3 คน

พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต จัดเรือยนต์นำพา ดร.ปรีดี พนมยงค์ หลบหนีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงธนบุรีโดยปลอดภัย

ดร.ปรีดีกลายเป็นผู้ร้าย ที่มีสินบนนำจับราคาสูง ต้องหลบหนีจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

ผู้เขียนไปค้นหาข้อมูลที่ดำมืดช่วงนี้ จึงพบความจริงว่า
… หลังจากฝ่ายก่อการ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ไพร่พลพ่ายแพ้ แตกทัพหนีตาย …
…เช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492 ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ เชิญนายสุธี โอบอ้อม ปลัดอำเภอพระโขนง ไปพบ และขอให้สุธีหาที่ซ่อนสำหรับ ดร.ปรีดี ในที่สุดเมื่อปรึกษากับ นายอุดร รักษ์มณี จึงพาอดีต นรม.สยาม ไปซ่อนตัว ณ บ้านฉางเกลือ บ้านร้างลึกจากถนนราว 100 เมตร อยู่ในบริเวณกว่า 20 ไร่ ของบริษัทเกลือไทย ฝั่งธนบุรี
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานสาทร

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซ่อนตัวอยู่ในบ้านร้างแห่งนี้ได้นานราว 5 เดือนจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2492 และลักลอบเดินทางต่อไปยังประเทศจีน ลี้ภัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่นานถึง 21 ปี และเดินทางไปลี้ภัยต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ณ กรุงปารีส รวมเวลาที่ลี้ภัยนานถึง 34 ปี

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ พลตรี สฤษดิ์ คือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวง… หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็น พลโทและก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี 2493 และในปี 2495 ได้เป็นรอง ผบ.ทบ. ครองยศพลเอก

งานเลี้ยงเลิกรา ดูเหมือนจะเฮฮา แต่ตามมาด้วยการ “เก็บกวาด” บุคคลต่างๆ ทหาร ตำรวจ และบรรดานักการเมืองอีกมหาศาล…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image