สถานีคิดเลขที่ 12 : เพราะ ไม่จบ? : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ความซาบซึ้งใจ

ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี

หลังได้พระบรมราชานุญาต นำพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562

มาเคารพบูชาและนำไปสู่การปฏิบัติ นั้น

Advertisement

น่าจะจบและเสร็จสมบูรณ์ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกนั่นคือ

นำพระราชดำรัสไปใส่กรอบเก็บไว้ที่ทำเนียบรัฐบาลถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์บอกกว้างๆ และไม่เฉพาะเจาะจงกรณีใดเป็นพิเศษ ว่า

“ส่วนเรื่องอื่นก็ให้เป็นเรื่องอื่นต่อไป ไปว่ากันมา”

หากอนุมาน “เรื่องอื่น” ที่ใกล้เคียงถวายสัตย์ฯมากที่สุด

ก็คงเป็น กรณี “ปัญหาการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่”

ซึ่งจะพบว่ามีความ “แตกต่าง” จากกรณีปลาบปลื้มข้างต้น อย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือ

1) ผู้ตรวจการแผ่นดิน “ไม่จบ” มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

2) พรรคฝ่ายค้าน “ไม่จบ” ยังคงเดินหน้าขอเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องนี้แบบไม่ลงมติต่อไป

ซึ่งในกรณีที่ (1) นั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรสำคัญที่สุด ที่จะวินิจฉัยว่า เรื่องนี้ จะจบหรือไม่จบอย่างไร

โดยแยกออกเป็น 2 ทาง

หนึ่งไม่รับเรื่องตีตกให้เรื่อง “จบ” เลย

หรือสอง รับไว้วินิจฉัย เพื่อไต่สวนแล้วประชุมวินิจฉัยว่าเรื่องนี้ควรจะจบลงเช่นไร

ซึ่งก็คงใช้เวลาตามสมควร แต่ทุกฝ่ายต้องรอ เพราะนั่นคือคำตอบสุดท้าย

ส่วนในกรณี (2) การขอเปิดอภิปรายทั่วไป ในส่วนพรรคฝ่ายค้านคงเดินหน้าเต็มที่

และเปิดให้เป็นประเด็นใหญ่ คิดการถึงขนาดขอเปิดอภิปราย อย่างน้อย 2 วัน

แม้ฝ่ายค้านส่วนใหญ่จะบอกว่า เรื่องนี้คงไม่ทำให้รัฐบาลถึงขนาด “ล้ม”

แต่พรรคฝ่ายค้านก็หมายมั่นปั้นมือที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีซวนเซ

ฝ่ายรัฐบาลก็ทราบเกมตรงนี้ดี จึงยังเดินหน้าตามเป้าหมายเดิม

นั่นคือ พยายามจบเรื่องให้ได้ หรือถ้าจบไม่ได้ ก็จะจำกัดวงให้แคบที่สุด

เช่นตอนนี้ ก็จำกัดวันอภิปราย ให้เหลือเพียง 1 วัน

ขณะเดียวกันอาจใช้เทคนิค “ประชุมลับ” ในบางช่วง หรือตลอดเวลาเลยก็ยิ่งดี

ด้วยข้ออ้างว่า การอภิปรายอาจเกี่ยวพันกับสถาบัน ที่ละเมิดหรือไม่บังควร

และรวมถึงประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปชี้แจงญัตตินี้เองหรือไม่

ถ้าไป ก็อาจจะชี้แจงหรืออยู่ในที่ประชุมสั้นๆ จากนั้นมอบให้รัฐมนตรีคนอื่นชี้แจงแทน

เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านพุ่งเป้าโจมตีนายกฯ ที่อาจเกิดกรณี “ปรอทแตก” อันจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีการมาหรือไม่มาชี้แจงของนายกฯนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โชว์เจ้าหลักการให้เห็นแล้ว

นั่นคือ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาชี้แจงด้วยตนเอง

ด้วยวาทะอันคมกริบ

“นายกฯจะต้องมา เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย ทุกคนต้องมาทำหน้าที่ของตนเอง”

จะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจของนายชวนก็ตาม

วาทะนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หลีกเลี่ยงที่จะไม่มาสภาลำบาก

คงต้องมา มาแล้วจะสู้หรือแก้เกมฝ่ายค้านอย่างไร ก็คงต้องดูที่หน้างานเป็นหลัก

หรืออิงศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ให้รอผลการวินิจฉัยก่อน โดยไม่ก้าวล่วง

แต่ก็คงเหนื่อยแน่

เป็นผลพวง ที่เรื่องนี้ “ไม่จบ”

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image