ร่าง รัฐธรรมนูญ ประชามติ 7 สิงหาคม เชิง สภาวธรรม

พลันที่ปรากฏ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นนับแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมา ปัจจัยของร่างรัฐธรรมนูญได้นำไปสู่ปัจจัยแห่ง “ประชามติ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

1 เป็นไปตาม “คำสัญญา” 1 เป็นไปตาม “รัฐธรรมนูญ”

ไม่ว่าตัวของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าตัวของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 อันเป็นเครื่องมือแห่งการทำ “ประชามติ”

เหล่านี้คือ สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างเป็น OBJECTIVE

Advertisement

บางคนก็บัญญัติศัพท์ออกมาว่าเป็น “วัตถุวิสัย” บางคนก็บัญญัติศัพท์ออกมาว่าเป็น “ภววิสัย” โดยที่ความหมายในทางเป็นจริงก็คือ

เป็นการดำรงอยู่โดย “ตัว” ของมันเอง

ยิ่งพยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยว แทรกแซง กดดัน บังคับ ก็ยิ่งทำให้เกิดลักษณะพลิกผัน แปรเปลี่ยน และยากแก่การควบคุมได้

Advertisement

อย่างเช่นผลสะเทือนอันเนื่องแต่ “คำถามพ่วง”

อย่างเช่นผลสะเทือนอันเนื่องแต่การแสดงความต้องการอย่างมากเกินไปผ่านมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

แทนที่จะเป็น “ผลดี” กลับกลายเป็น “ผลเสีย”

 

ภาษาพระเรียกการปรากฏขึ้นไม่ว่าจะเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะเป็น

กระบวนการ “ประชามติ” ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่ง “สภาวธรรม”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ บอกให้รู้ว่า

สภาพ สภาวะ ความเป็นเอง สิ่งที่เป็นเอง ธรรมดา เมื่อนำเอาธรรมมาสมาสกลายเป็น “สภาวธรรม” จึงคือ

หลักแห่งความเป็นเอง 1 สิ่งที่เป็นเองตามเหตุธรรมดาของเหตุปัจจัย

หากไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” หรือกระบวนการ “ประชามติ” ตามหลักแห่งความเป็นเอง ของเหตุและปัจจัย

ก็จะกลายเป็น “ความทุกข์” ก็จะกลายเป็น “ปัญหา”

นั่นก็เห็นได้จาก การพยายามยัดเยียดสิ่งที่เรียกว่า “คำถามพ่วง” เข้ามาภายในกระบวนการของ “ประชามติ”

โดยหารู้ไม่ว่านี่แหละคือ “ปัญหา” นี่แหละคือตัว “ทุกข์”

นั่นก็เห็นได้จาก การพยายามสร้างยักษ์ตัวใหม่เพื่อการควบคุมและบงการกระบวนการของ “ประชามติ” ผ่านมาตรา 61 วรรคสอง รุนแรงและก้าวร้าวถึงขั้นให้ลงโทษผู้กระทำความผิดโดยการจำคุกอย่างสูงถึง 10 ปี

แทนที่จะ “ราบรื่น” กลับทำให้ “ไม่เรียบร้อย”

 

คล้ายกับว่าตัว “ร่างรัฐธรรมนูญ” มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อันเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายและ

ดำเนินไปตามอนุศาสน์อัน “คสช.” เป็นผู้กำหนด

1 ผ่านมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ

1 ผ่านคำเสนอแนะทั้งในที่ลับและที่แจ้งไม่ว่าจะเป็น คสช. ไม่ว่าจะเป็น ครม. ไม่ว่าจะเป็น สนช. ไม่ว่าจะเป็น สปท.

แล้วจะสามารถ “ควบคุม” และบริหารจัดการได้

แต่ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญก็ดี พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ก็ดี กระบวนการประชามติก็ดี

ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างเป็น “วัตถุวิสัย” และเป็นไปตาม “สภาวธรรม”

นั่นความหมายว่า สภาพเหล่านี้มิได้เป็นของ คสช. มิได้เป็นของ ครม. มิได้เป็นของ สนช. มิได้เป็นของ สปท. หรือแม้แต่ กรธ.ก็มิได้เป็นเจ้าของ

ยิ่งเข้าไปควบคุม บงการ ยิ่งทำให้กลายเป็น “ปัญหา”

นั่นก็คือ ปัญหาอันเกิดจากความยึดมั่น ถือมั่น นั่นก็คือ ปัญหาอันเกิดจากความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกอย่างรวบรัดว่า

เป็น “ตัวกู” และเป็น “ของกู”

เรื่องในทางธรรมเป็นเช่นนี้ เรื่องในทางโลกและในทางการเมืองก็เป็นเช่นนี้ ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้พ้น

 

ถามว่าทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของอะไร ทำไมจึงเหมือนกับตกมาอยู่บนบ่าของ คสช. และของรัฐบาลปัจจุบัน

ตอบได้เลยว่า 1 เป็นปัญหาอันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และตอบได้เลยว่า 1 เป็นปัญหาอันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นปัญหาทาง “การเมือง” ซึ่งมิได้แก้ไขโดยปัจจัย “การเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image