‘เพียงความเคลื่อนไหวในฮ่องกง’?: ม็อบฮ่องกงในพัฒนาการของการต่อสู้ทางการเมือง : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมขอแบ่งประเด็นพิจารณาเรื่องม็อบฮ่องกงในปี 2019 ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือเรื่องของความเข้าใจเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีน ซึ่งยืดเยื้อยาวนาน และคนส่วนใหญ่มองเรื่องนี้ในประเด็นของที่มาที่ไป พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และเงื่อนไขในการตัดสินใจในเรื่องของการบริหารเกาะฮ่องกงทั้งจากตัวผู้บริหารในปัจจุบัน และตัวระบอบการบริหารและจัดความสัมพันธ์จากมุมมองจากจีนแผ่นดินใหญ่เอง

เรื่องนี้เราจะเห็นว่าในหน้าสื่อของบ้านเรามีการพูดถึงมากขึ้น และมีบทวิเคราะห์มากมายทั้งจากบทแปลแและบทความรวมทั้งคำสัมภาษณ์ของนักวิชาการไทยเองที่มามีความสนใจและเชี่ยวชาญในเรื่องประวัติศาสตร์จีน และจีนร่วมสมัยอยู่มากมาย

ส่วนที่ผมอยากจะนำเสนอคือเรื่องที่ยังพูดกันน้อยในบ้านเรา คือ การพิจารณาม็อบรอบนี้ในมิติของเทคนิคการเคลื่อนไหว ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการต่อสู้บนท้องถนนของประชาชน ในการต่อสู้ต่อรองกับรัฐฮ่องกง และรัฐคอมมิวนิสต์จีน

เรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้นี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักในการนำเสนอ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในการ “ลงถนน” นั้นแม้ว่าหลายคนจะคิด แต่ในแง่ของการเคลื่อนไหวจริงทั้งตัวประชาชนที่เข้าร่วม ในการติดต่อประสานงานการเคลื่อนไหว และในการส่งสัญญาณและเนื้อหาของการชุมนุมออกไปนั้นเป็นเรื่องที่ยังดำเนินอยู่ และอธิบายง่ายๆ ไม่ได้หรอกครับว่า ม็อบนั้นเป็นม็อบสันติวิธี หรือไม่สันติวิธี ใช้ความรุนแรงหรือไม่ใช้ความรุนแรง

Advertisement

พูดอีกด้านหนึ่งก็คือเวลาที่พูดว่าเมื่อไหร่จะลงถนนนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่แสนจะลงตัวเหมือนกับจินตนาการก่อนเหตุการณ์ หรือเมื่อนำมาบันทึก ในแง่ “เพียงความเคลื่อนไหว” หรือ “ถอดบทเรียน” เท่านั้น

แต่กระนั้นก็ตาม ในการเคลื่อนไหวที่ยังดำเนินต่อไปนั้น อย่างน้อยสิ่งที่น่าสนใจในแง่ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฮ่องกงในรอบนี้ทำให้เราเรียนรู้เรื่องใหญ่ในสองเรื่อง

เรื่องแรก คือ พัฒนาการของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวฮ่องกงเอง จากการปฏิวัติร่มและยึดกุมใจกลางพื้นที่เศรษฐกิจ/การเมือง (Occupying Central)

Advertisement

เรื่องที่สอง คือ ในรายละเอียดของการเคลื่อนไหวเอง ในรอบนี้เราได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆจากการเคลื่อนไหวมากขึ้นในแง่ของยุทธวิธีในการต่อสู้ และทำให้เราได้สะท้อนกลับในทางความคิดอีกครั้งว่า การเมืองและการต่อสู้ในปัจจุบันนั้นปริมณฑลของการต่อสู้อยู่ที่ไหน

ในเรื่องของการเคลื่อนไหวในฮ่องกงเองนั้น การเคลื่อนไหวนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ การต่อสู้ในหลายปีก่อนนั้นมีลักษณะของการยึดครองพื้นที่การชุมนุมนานๆ หรือถ้าจะอธิบายแบบบ้านเราก็คือ การ “ชัตดาวน์” ฮ่องกง หรือใจกลางเมือง หรือการปักหลักชุมนุมอย่างยืดเยื้อในสถานที่สำคัญๆ ในย่านเศรษฐกิจ และสถานที่ราชการ (รอบที่แล้วใช้เวลา 79 วัน)

ส่วนในรอบนี้มีการเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ และมีลักษณะของการชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ และมีทั้งการเดินขบวน และการชุมนุมที่คนออกมาร่วมกันทั้งเกาะรวมทั้งการขยายพื้นที่การชุมนุมเฉียบพลัน (flash mob) ไปในพื้นที่ที่คาดไม่ถึง เช่น ห้างสรรพสินค้าย่านชานเมือง และย่านที่พักอาศัยราคาแพงด้วย ไม่ใช่แค่สถานที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางราชการเท่านั่น

ใครที่เคยเที่ยวฮ่องกง อาจจะนึกถึงพื้นที่แค่แถวหลักๆ ของเกาะฮ่องกง และแถวเกาลูนก็ไม่เกิน ซิมซาจุ่ย และมงก๊ก แต่รอบนี้เลยไปขึ้นไปอีกหลายพื้นที่ตามห้างชานเมืองเช่น ซาติน ที่มีการปะทะกันเมื่อเดือนก่อน แถมการชุมนุมยังเริ่มมีความยดเยื้อยาวนานในแง่ของการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลายเดือนแล้ว นับคร่าวๆ ก็คือ ตั้งแต่มิถุนายนจนมาถึงตอนนี้ก็สามเดือนเข้าไปแล้ว

นอกจากนี้ยังมีคนอีกหลายรุ่นออกมาชุมนุมร่วมกัน ไม่ใช่มีแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม จุดสำคัญของข่าวก็มักจะไปตกที่คนรุ่นใหม่อยู่เสมอ

จะถามว่าการเคลื่อนไหวในฮ่องกงนั้นจะมาเข้าหลักพวกทฤษฎีหลังโครงสร้าง ที่เราศึกษากันอย่างลึกซึ้ง ประเภทพวกไรโซม หรือเดอลูเซียนอะไรกันขนาดนั้นจริงๆ เหรอ? สิ่งที่น่าจะพิจารณาคือ นักวิชาการก็มีเสรีภาพในการศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวด้วยทฤษฎีพิสดารและศัพท์แสงใหม่ๆ ในตำรา แต่บนถนนจริงนั้น ความเข้าใจของผู้คนในการเคลื่อนไหว กลับไม่จำเป็นจะต้องลึกซึ้งดื่มด่ำตามตำราขนาดนั้น

แต่พวกเขาเคลื่อนไหวด้วยชีวิตและลมหายใจตามสิ่งที่เขารับรู้กันทั่วไปด้วยปรัชญากังฟูของ บรู๊ซ ลี ซึ่งเป็นวีรบุรุษวัฒนธรรมร่วมสมัยของพวกเขานั่นแหละครับ

นึ่งในวลีเด็ดที่นำมาใช้สื่อสารและชี้แนะแนวทางรวมทั้งสื่อสารกันก็คือ “จงเป็นดั่งน้ำ” Be Water! ที่ไม่มีรูปแบบและรูปร่างที่ตายตัว สามารถไหลไปได้ ปะทะได้ นี่คือชาวฮ่องกง!

Be Water! We are formless. We are shapeless. We can flow. We can crash. We are like water. We are Hongkonger!

การชุมนุมจึงอาจกลายสภาพเป็นการเดินขบวน การเดินขบวนอาจจะมุ่งหน้าไปในทางหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนไปอีกทางหนึ่งในทันที การเน้นประเด็นในการชุมนุมอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อเดินไปด้วยกัน และบางกลุ่มอาจจะแตกตัวไปในอีกทางหนึ่งเพื่อไปชุมนุมหน้าสถานที่ราชการ บ้างก็เข้าไปท่วมท้นอยู่หน้าทางเข้าอาคาร หรือบันไดเลื่อน หรือลิฟต์ และเมื่อรัฐบาลประกาศปิดพื้นที่และยุติการทำงาน พวกเขาก็จะถอนตัวไปที่เป้าหมายต่อไป

การชุมนุมยังมีลักษณะที่หารูปแบบได้ยาก หลายคนเดินออกจากบ้านไปชุมนุมด้วยคำอธิบายง่ายๆ ว่า เขาออกไปทำกิจกรรมทางศาสนา (ถ้าแปลเป็นไทยๆ ก็คือ ออกมาสวดมนต์ ทำบุญ หรือปฏิบัติธรรม) หรือบอกว่าออกมาฟังคอนเสิร์ต เพราะมีการตั้งเวทีย่อยในการเล่นดนตรีในหลายพื้นที่

อีกมิติที่น่าสนใจในการชุมนุมก็คือการชุมนุมนั้นมีลักษณะที่ไม่ได้เน้นผู้นำม็อบ บ้างก็ใช้คำเลียนแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ว่า เป็นการชุมนุมแบบ Open-Source กล่าวคือ บ้างก็ใช้แอพพลิเคชั่นในการสื่อสารกัน และโหวตด้วยว่าจะไปไหนกันต่อ หรือมีกลุ่มการสื่อสารที่ปลอดภัยและลบตัวเองได้แทนไลน์ เช่น telegram

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า แกนนำรุ่นเก่าหลายคนในสมัยการปฏิวัติร่มนั้นยังติดคุกอยู่ มีแต่เจ้าหนูโจชัว หว่อง ที่เพิ่งจะออกมา แต่เมื่อสองสามวันก่อนก็โดนจับอีกแล้วโดนประกันตัวออกมาหร้อมกับแกนนำใหม่ๆ อีกส่วนหนึ่ง ก่อนที่ฝ่ายชุมนุมจะประกาศไม่ชุมนุมในวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม แต่สุดท้ายก็ชุมนุมและปะทะอยู่ดี

จุดเด่นของการสื่อสารในการชุมนุมอีกประการหนึ่งก็คือ การป้องกันการโดยปิดกั้นจากเครือข่ายการสื่อสาร หรือการสื่อสารที่แบกไม่ไหว/ล่มเพราะปริมาณผู้ใช้นั้นเยอะเกินไปในพื้นที่หนึ่งๆ ผู้ชุมนุมจึงใช้วิธีสื่อสารกันด้วยการส่งผ่านภาพและข้อมูลถึงกันผ่านแอพพลิเคชั่นที่ไม่ได้ใช้สัญญาณมือถือ แต่เชื่อมต่อกันด้วยบลูทูธ เช่น แอพพ์ airdrop ของไอโฟน ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเครื่องนั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งสัญญาณมือถือแและไวไฟ (เกร็ดที่น่าสนใจคือ บลูทูธ เป็นชื่อที่นักพัฒนาเทคโนโลยีตั้งเป็นเกียรติแก่กษัตริย์ Karald Bluetooth Gormsson ผู้ผนึกอาณาจักรโบราณของเดนมาร์กและนอร์เวย์เข้าด้วยกัน เมื่อศตวรรษที่ 10)

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการสื่อสารในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นและเชื่อมต่อกันจากแนวหน้าที่ด้านสนับสนุนคือ การพัฒนาการสื่อสารด้วยการใช้เทคโนโลยีโบราณเข้ามาใช้ นั่นก็คือภาษามือ ที่ทำให้การลำเลียงเสบียงและอุปกรณ์ทำได้ง่าย เช่น หมวกกันน็อก ร่ม เชือก ผ้าปิดตา หน้ากากป้องกันฝุ่น หรือมีคนต้องการน้ำเกลือ มีคนไม่สบาย รวมกระทั่งตอนนี้เสบียงนั้นพอแล้ว

การสื่อสารเหล่านี้พิสูจน์แล้วในการชุมนุมในครั้งนี้ว่าส่งต่อกันได้มากกว่าหนึ่งกิโลเมตรทีเดียว ทั้งนี้รวมทั้งการใช้สายธารของผู้คนในการส่งต่ออุปกรณ์กันโดยไม่ต้องให้รถเข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้การสอนสัญญาณการสื่อสารกันนั้นยังทำให้คนต่างรุ่นต่างพื้นที่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย

ในมิติต่อมาที่เป็นสิ่งที่เกิดการบันทึกเอาไว้จากการชุมนุมที่เกิดขั้นก็คือการที่ผู้ชุมนุมนั้นสามารถจัดการกับแก๊สน้ำตาได้อย่างมีประสิทธิภพขึ้นกว่าเมื่อห้าปีก่อน และนั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้แก๊สน้ำตานั้นเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย

โดยในรอบนี้นั้นฝ่ายผู้ชุมนุมมีการจัดตั้งทีม “พนักงานผจญเพลิง” ที่ใช้กรวยส้มบนถนนเข้ามาครอบตัวแก๊สน้ำตาเอาไว้ รวมทั้งการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตา และอุปกรณ์ส่งแก๊สน้ำตาคืนสู่เจ้าของ ประเภทถุงมือทนความร้อน และไม้เทนนิสที่เอาไว้ตีกลับไปยังฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากนี้ การจัดการชุมนุมในรอบนี้ยังมีการให้สัญญาณในการเคลื่อนไหว และล่าถอยอย่างเป็นระบบ เช่น การเปล่งเสียง หนึ่ง-สอง เป็นระยะเพื่อให้ผู้ชุมนุมนั้นแตกตื่นจากการล่าถอยในพื้นที่แคบๆ ตามตรอกซอกซอยที่ชุมนุมเมื่อระเบิดน้ำตาลงในพื้นที่ หรือเมื่อถูกกระชับพื้นที่ มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาและอุบัติเหตุได้

การปรับระบบท่อน้ำเลี้ยงใหม่ในการชุมนุมก็เป็นอีกเงื่อนไขในการชุมนุมในรอบนี้เพราะการระดมทุนในการชุมนุมนั้นมีลักษณะที่เรียกว่า crowdfunding คือการระดมทุนจากทุกคนตามจิตศรัทธาผ่านกลไกกลางออนไลน์ และนำเงินจำนวนนี้ไปทำกิจกรรมหลายอย่างเช่น การซื้อโฆษณาสื่อใหญ่ทั่วโลกเพื่อให้คนสนใจ ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นวิธีการชุมนุมแนวใหม่ อาทิ แทนที่จะไปปิดล้อมการประชุมใหญ่ก็จะใช้วิธีโผล่ไปทักตอนเช้าหน้าห้องนอน หรือโต๊ะอาหารด้วยการซื้อโฆษณาลงหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ใหญ่ ให้พวกผู้มีอำนาจได้อ่าน

ที่กล่าวมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการชุมนุม แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจเพิ่มก็คือ การชุมนุมรอบนี้ได้ยกระดับความเข้าใจของเราในเรื่องของการเมืองบนท้องถนนไปอีกขั้นหนึ่ง ที่มากไปกว่าเรื่องของแค่เทคโนโลยีนั้นกำหนดชัยชนะ อินเตอร์เน็ตคือเครื่องมือสารพัดนึกแห่งโลกเสรี มาสู่ความเข้าใจว่า การเมืองในวันนี้นั้นมีปริมณฑลในการต่อสู้ที่กว้างขวาง ครอบคลุม และลึกซึ้งไปกว่าเดิม

จากเพียงการปะทะ ชุมนุม และส่งข้อความถึงกัน ต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ในนามรัฐเผด็จการตั้งแต่อาหรับสปริง มาจนถึงห้าปีก่อนในฮ่องกง มาสู่การต่อสู้ที่เจ้ายักษ์เหล่านี้มีเครื่องมือที่ซับซ้อนในการปะทะและตรวจจับ รวมทั้งการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเรามากขึ้น

ในวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐตัวเป็นๆ และกฎหมายอาจไม่ใช่เงื่อนไขหลักในการสกัดกั้นและจัดการเราในการชุมนุมเท่านั้น แต่เรื่องใหญ่คือความเหนือกว่าของทรัพยากรและเทคโนโลยีการสอดส่องติดตามพวกเราที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การชุมนุมในรอบนี้ผู้ชุมนุมนั้นต้องใช้หน้ากากอนามัยปิดหน้า เพื่อป้องกันทั้งการถ่ายรูปและการใช้โปรแกรมจดจำใบหน้า รวมทั้งการเปลี่ยนซิมและใช้โทรศัพท์มือสองและซิมใหม่ที่
เปลี่ยนทุกครั้งเมื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม รวมทั้งการใช้โปรแกรมแชตที่ลบตัวเองอัตโนมัติ หรือส่งข้อความหากันโดยไม่ผ่านตัวกลาง

เรื่องนี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามใหม่ๆ กับการเคลื่อนไหวและต่อสู้ที่ซับซ้อนกว่าเราจะลงถนนไหม มาสู่ว่า ต่อให้เราคิดว่าเราไม่ลงถนนนั้นในทุกวันนี้ คงต้องลองคิดว่าพวกเราไม่ยุ่งกับการเมืองและบ้านเมืองได้มากแค่ไหน เพราะข้อมูลและการเฝ้าจับตาเรานั้นมันเลยเถิดเข้ามาในตัวพวกเรามากขึ้นแทบจะทุกลมหายใจอยู่แล้ว การสื่อสาร และก้าวย่างในชีวิตนั้นข้อมูลทุกอย่างของพวกเราถูกบันทึกและวิเคราะห์โดยกลไกสมองกลของรัฐและธุรกิจไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว และกรณีตัวอย่างของฮ่องกงนั้นการที่พวกเขานั้นลุกขึ้นท้าทายอำนาจและกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเองนั้น พวกเขาใช้ทั้งความกล้าหาญ สติ และการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมามากมาย

การต่อสู้ของพวกเขายังต้องเผชิญกับรัฐบาลจีนที่ปิดกั้นข่าวสารของพวกเขากับประชาชนในจีน และนำเสนอภาพลักษณ์ของการเป็นผู้สร้างความวุ่นวาย รวมทั้งการที่ผู้มีอำนาจในจีนแผ่นดินตามรายงานข่าวที่รายงานว่ามีการใช้อิทธิพลในการบีบให้ภาคธุรกิจที่ทำธุรกิจกับแผ่นดินใหญ่ต้องออกมาป้องกันไม่ให้ลูกจ้างของพวกเขาเข้าชุมนุม เช่น สายการบินคาเธ่ย์ หรือนักธุรกิจอีกหลายรายที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องความสงบสุขหรือซื้อโฆษณาหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อสื่อสารกับคนในฮ่องกงให้ยุติการเคลื่อนไหว ไม่นับเรื่องของการสนับสนุนกลุ่มใช้ความรุนแรงออกมาต่อต้านและข่มขู่ทำร้ายผู้ชุมนุมที่ได้เห็นตามหน้าข่าว

การชุมนุมและการปราบการชุมนุมยังดำเนินต่อไปครับ ข่าวว่าจีนยังนิ่งๆ อยู่ตอนนี้เพราะรอให้พ้นงานใหญ่ในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองชาติของเขาเสียก่อน แต่หลังจากนั้นยังไม่รู้ว่าทิศทางการจัดการฮ่องกงของจีนนั้นจะออกมาเป็นอย่างไรครับ

(หมายเหตุ : อ้างอิงจาก Hong Kong Police and Protesters Refine Battle Tactice. Reuters.com, 11/08/19. “Be Waters!”: Seven Tactics That Are Winning Hong Kong’s Democracy Revolution. Newstatesman.com, 1/8/19. “Peaceful March Was Change of Strategy for Hong Kong Protesters, Giving Government Less Room To Act Against Them”. SCMP.com, 19/8/19. “China’s Tree-Pronged Strategy To Choke Hong Kong’s Protests”. Hongkongfp.com, 21/8/19)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image