กฎกระทรวงสุขลักษณะ ของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 เครื่องมือกำกับสุขภาพ : สุรชัย เทียนขาว

ผลงานชิ้นสำคัญและส่งผลสุขภาพของประชาชนในวงกว้างทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาสู่ประเทศไทย ผลงานหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ก็คือ กฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 2 ก วันที่ 20 มิถุนายน 2561 ซึ่งใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยเหตุผลในการออกประกาศใช้กฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 ก็คือ ในปัจจุบันวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่นิยมประกอบอาหารเพื่อบริโภคเอง โดยเปลี่ยนเป็นนิยมบริโภคอาหารนอกบ้านหรือบริโภคอาหารปรุงสำเร็จ สถานที่จำหน่ายอาหารจึงมีผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพประชาชน เนื่องจากสถานที่จำหน่ายอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีหรือโลหะหนัก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ

เพื่อให้สถานที่จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค สมควรกำหนดมาตรการในการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร

ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาประเทศในด้านการสาธารณสุข

Advertisement

กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดสาระสำคัญไว้ 4 หมวดด้วยกัน ประกอบด้วย หมวด 1 สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร หมวด 2 สุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการทำ ประกอบหรือปรุง การเก็บรักษาและการจำหน่ายอาหาร

หมวด 3 สุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้อื่นๆ และ หมวด 4 สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร สำหรับบุคคลที่เป็นต้นน้ำที่จะทำให้กฎกระทรวงฉบับนี้บังเกิดผลประกอบด้วยผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร

โดยกำหนดนิยามผู้ประกอบกิจการ หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร และให้หมายความรวมถึงผู้ได้รับมอบหมายให้ควบคุม กำกับหรือดูแลการดำเนินการของสถานที่จำหน่ายอาหารนั้น ผู้สัมผัสอาหาร หมายความว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่กระบวนการเครื่องประกอบ ปรุง จำหน่าย และเสิร์ฟอาหารรวมถึงการล้างและเก็บภาชนะอุปกรณ์

Advertisement

โดยบุคคลกลุ่มนี้จะต้องได้รับการพัฒนาภายใต้หลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และประกาศของกรมอนามัย (พรรณพิมล วิปุลากร, 2562) ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2561 ประกาศกรมอนามัย เรื่อง 1) หลักเกณฑ์ วิธีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการอบรม 2) การออกหลักฐานรับรองให้แก่ผู้ผ่านการอบรม และ 3) เอกสารหลักฐานของหน่วยงานที่มีความประสงค์จะขอความเห็นชอบจากกรมอนามัย เป็นหน่วยงานจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร

สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วเห็นว่าเป็นนวัตกรรมเชิงสังคมอย่างหนึ่งในประเภท New rules and regulations (TEPSIE, 2012) ที่กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างขึ้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนและพิทักษ์สิทธิของประชาชนในการรับบริการด้านอาหาร

หากมีการปฏิบัติที่มีประสิทธิผลในทุกพื้นที่ของประเทศจะเกิดผลลัพธ์ขนาดใหญ่ ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดในด้านสถานที่จำหน่ายอาหาร ประกอบอาหารและผู้สัมผัสอาหารให้ถูกสุขลักษณะเป็นประเทศที่สะอาด

และมีความปลอดภัยในด้านอาหารเป็นปัจจัยจูงใจให้ชาวต่างประเทศตัดสินใจเข้าประเทศมากขึ้น ในด้านการท่องเที่ยว และลงทุนธุรกิจต่างๆ อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่สำคัญค่อนข้างมากก็คือประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับการบริการด้านอาหารที่ถูกสุขลักษณะเป็นการยกระดับคุณภาพของประชาชนทั้งประเทศ

ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยในชีวิตและความเป็นอยู่อย่างแท้จริง ไม่ใช่ห่วงประชาชนโดยผ่านการโฆษณาชวนเชื่อภายใต้นโยบายของพรรคการเมืองแล้วเข้าไปแย่งชิงตำแหน่งบริหารประเทศในรัฐสภา

สําหรับเงื่อนไขของความสำเร็จในการดำเนินงานตามกฎกระทรวงฉบับนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 2-3 ประการ ได้แก่ 1) หน่วยงานจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา สมาคมองค์กรภาคเอกชน นิติบุคคลที่จะเข้ามาร่วมเป็นหน่วยจัดการอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารทั่วไปจะต้องมีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพและมีจริยธรรม ซึ่งกรมอนามัยได้ดำเนินการมาอย่างกระตือรือร้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลักกฎกระทรวง มีผลบังคับใช้

2) ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารจะต้องปรับ mindset ของตนในด้านวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยไม่ยึดติดกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ต้องปรับตัวให้ทันตลอดเวลา (unlearn) ต้องเรียนรู้ในสถานการณ์ที่เป็นมุมมองใหม่ที่แตกต่างจากเดิม (relearn) และจะต้องเรียนรู้อย่างไรให้มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย (learn)

และ 3) ประสิทธิผลของการติดตามและประเมินผล (monitoring and evaluating) ของกรมอนามัยทั้งระหว่างที่มีการอบรมและหลังการอบรมในการดำเนินการของสถานที่จำหน่ายอาหาร สำหรับหน่วยจัดอบรมนั้น ผู้เขียนเห็นว่าสถาบันการศึกษาน่าจะเป็นหน่วยจัดการอบรมที่มีความพร้อมมากที่สุด ได้แก่ สถาบันอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ และราชมงคลที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขควรทำบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างพันธมิตรหรือภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืนในการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารที่กระจัดกระจายทั่วประเทศ

ในส่วนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกสังกัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะได้ใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้เป็นกรอบ/ทิศทางในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของนักเรียนด้วยการกำหนดมาตรการในด้านสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเกือบทุกแห่งจะจัดให้มีการจำหน่ายอาหารกลางวันให้กับนักเรียนรวมทั้งโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียนดำเนินการอยู่ในปัจจุบันที่กำลังเกิดปัญหาในด้านคุณภาพของอาหารและคุณภาพในการประกอบอาหาร โดยรวมแล้วนักเรียนจะได้รับบริการอาหารที่มีคุณภาพ

ดังนั้น หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกหน่วยควรจัดโปรแกรมเรียนรู้ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้รับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยและสวัสดิการของนักเรียนเพื่อนำกฎกระทรวงดังกล่าวไปใช้เป็นมาตรการทั้งด้านป้องกันและแก้ไขในงานด้านสุขภาพอนามัยของนักเรียน

โดยสรุปแล้วทุกภาคส่วนของสังคมควรให้ความสำคัญกับกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 ในการนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิผล มิใช่มอบภารกิจให้เฉพาะกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากมีการดำเนินการได้สำเร็จประชาชนทั้งประเทศจะได้รับการบริการจากสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีคุณภาพโดยผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารที่ได้มาตรฐานรับรองอันจะส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนภายใต้ประเทศที่ได้มาตรฐานในด้านอาหาร

ขอชื่นชมในความมุ่งมั่นของกรมอนามัยและขอเป็นกำลังใจให้กรมอนามัยในการบริหารจัดการกฎกระทรวงฉบับนี้ให้ประสบผลสำเร็จ

สุรชัย เทียนขาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image