บทความ : เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา กับผมนั้นเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจเอาเลย แต่ต่างกันตรงที่คุณประยุทธ์เชื่อว่าแกรู้ ในขณะที่ผมรู้ตัวดีว่าไม่รู้อยู่นั่นเอง ด้วยเหตุดังนั้นผมจึงต้องใช้สามัญสำนึกอย่างชาวบ้าน ในการประเมินว่านโยบายเศรษฐกิจแบบไหนที่น่าจะดีแก่ประเทศ และแบบไหนที่เป็นเพียงแก้ผ้าเอาหน้ารอด

ผมรู้ดีว่า สามัญสำนึกย่อมทรยศเราได้บ่อยๆ แต่คนที่ไม่ใช้สามัญสำนึกเลย จะถูก “ผู้เชี่ยวชาญ” ทรยศได้บ่อยกว่าเสียอีก

จากวิธีคิดอย่างชาวบ้านสามัญธรรมดานี่แหละ ที่ผมอยากจะวิจารณ์ผลงานของทีมเศรษฐกิจที่คุณประยุทธ์ใช้ ตั้งแต่ตั้งตัวเป็นนายกฯ ของ คสช. จนได้เป็นนายกฯ ของพรรค พปชร.ในปัจจุบัน ถ้านักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าไม่ได้เรื่อง ก็คงเป็นเพราะสงครามการค้านั่นแหละครับวิธีแก้เศรษฐกิจที่ซบเซาลง นับตั้งแต่ คสช.แย่งอำนาจมาได้ ถ้าพูดด้วยสำนวนชาวบ้านก็คือ ได้แต่นั่งกินนอนกินไปวันๆ งานการไม่ทำ แล้วจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร

ทั้งนี้ เพราะมาตรการแก้เศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจ คสช.คือ อัดฉีดเงินลงไปในตลาด เพื่อทำให้การบริโภคกลับมาเข้มแข็ง โดยไม่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กำลังการผลิตของประชาชนทั่วไปเลย มุ่งแต่จะให้ประโยชน์แก่ทุนขนาดใหญ่ได้ผลิตในต้นทุนที่ต่ำลง (เช่นใช้ที่สาธารณะ, งดกระบวนการประชาพิจารณ์ ฯลฯ)

Advertisement

แต่ทุนขนาดใหญ่ของไทยนั้นมีสมรรถภาพต่ำมากในการแข่งขัน อีกทั้งขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนัก เมื่อบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศต้องเผชิญการแข่งขันที่เปลี่ยนไปจากเดิม (เช่นคู่แข่งมีค่าแรงที่ต่ำกว่ามาก) จึงเลือกจะไม่ลงทุนในประเทศ นอกจากในกิจการที่สามารถเอาเปรียบสังคมได้ง่ายขึ้นตามนโยบายของ คสช. เช่นใช้ทรัพยากรกลางของส่วนรวมในการลดต้นทุน หรือกดขี่แรงงานชาวไร่อ้อยได้ถนัดขึ้น ตามนโยบายของ คสช.เช่นกัน

การจ้างงานจึงไม่ขยายตัว ซ้ำกลับหดตัวลงเพราะความซบเซาทางเศรษฐกิจเสียอีก มีคนกลุ่มเล็กนิดเดียวที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่รายได้ลดลงอย่างมาก หรือแม้แต่ขาดรายได้ไปเลย (จนหมดทางจะเอาชีวิตรอดไปได้)

เมื่อพูดถึงการจ้างงาน ชาวบ้านทั่วไปรู้ดีว่า แหล่งจ้างงานใหญ่สุดของประเทศคือครอบครัวของเขาเอง ไม่ใช่กิจการใหญ่โตของนายทุน ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่เหมือนกัน แต่ไม่เท่ากับครอบครัวของชาวบ้าน ซึ่งประกอบการหลายชนิดมาก นับตั้งแต่ทำนา (บวกกับรับจ้างนอกภาคเกษตร) ไปจนถึงทอดกล้วยแขกขาย และขี่มอเตอร์ไซคล์รับจ้าง ฯลฯ ดังนั้นหากจะคิดถึงการลดต้นทุนการผลิต ก็ต้องคิดถึงคนจำนวนมากสุดในแหล่งจ้างงานนี้ก่อน

Advertisement

เช่นทำอย่างไรจึงจะลดต้นทุนการขายบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตเมืองลงได้ โดยระเบียบของการบริการและการจราจรก็ยังมีอยู่ หรือได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าระบบเสื้อวิน ทำอย่างไรจึงจะเกิดระเบียบบนทางเท้ากรุงเทพฯ (ที่แคบและไม่สะดวกแก่การเดินอยู่แล้ว) ที่ยังเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีทุนพอจะเซ้งร้านได้ทำมาหากินต่อไป โดยคนทั่วไปยังใช้ประโยชน์ทางเท้าได้ “พอสมควร”

ผมไม่ขัดข้องกับการ “แจก” เงินประชาชน โดยเฉพาะเมื่อประชาชนต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ (เช่นภัยแล้ง หรือเศรษฐกิจตกต่ำ) แต่จะ “แจก” อย่างไรให้มีผลต่อการเพิ่มสมรรถนะในการผลิตของประชาชนไปพร้อมกัน เป้าประสงค์แท้จริงของคุณทักษิณ ชินวัตร คืออะไรก็ช่างเถิด แต่นโยบายกองทุนหมู่บ้านของแก เป็นตัวอย่างอันดีถึงวิธี “แจก” อย่างที่ผมหมายถึง เพียงได้เข้าถึงทุนบ้าง ประชาชนอีกมากก็มีสมรรถนะในการผลิตเพิ่มขึ้น ในรายที่ประสบความสำเร็จ (จากการศึกษาของบางมหาวิทยาลัยในบางภาค มีสัดส่วนที่สูงมาก) นอกจากสามารถใช้หนี้คืนได้แล้ว ยังจ่ายดอกให้กองทุนเติบโตขึ้นด้วย

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้ทำให้สมรรถภาพการผลิตของผู้รับ “แจก” เพิ่มขึ้นตรงไหนเลย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเขาหรือไม่ ก็ช่วยแน่ครับ แต่ที่ช่วยมากกว่าคือขยายตลาดที่กำลังซบเซาให้แก่ผลิตภัณฑ์ของทุนใหญ่ นับตั้งแต่นมผงสำหรับทารก ไปจนถึงกระดาษชำระ และบะหมี่สำเร็จรูป

นักเศรษฐศาสตร์การตลาดก็คิดออกได้แค่นี้แหละครับ คือทำให้ตลาดมีกำลังซื้อ แต่รัฐ (ที่ไหนก็ตาม) จะมีงบประมาณพอจะมาพยุงกำลังซื้อของตลาดแทนผู้บริโภคทั่วไปได้ หากประชาชนเป็นแต่ผู้บริโภค โดยไม่ได้เป็นผู้ผลิตไปพร้อมกัน กำลังซื้อของตลาดก็ไม่มีทางเข้มแข็งได้จริง และต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐตลอดไป

ผมเชื่อว่าชาวบ้านทั่วไปที่ไม่เคยเรียนและไม่รู้อะไรด้านเศรษฐกิจเลย ก็สามารถใช้สามัญสำนึกคิดได้เองว่า เอาแต่กินๆ นอนๆ ไปอย่างนี้ โดยไม่ทำงานทำการอะไรเลย ย่อมฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ได้ แล้วคงไล่ทีมเศรษฐกิจของตนออกไปขายเต้าฮวยนานแล้วนอกจากไม่กระตุ้นให้เกิดการผลิต, พัฒนาผลิตภาพของแรงงาน-เครื่องจักร-นายทุน, คสช.กลับบั่นรอนกำลังการผลิตของประชาชนทั่วไป ด้วยการ “จัดระเบียบ” ต่างๆ นับตั้งแต่ทางเท้า, คิวรถตู้, ทวงคืนผืนป่า, รถตู้ขนคนงานก่อสร้าง, บ้านพักนักท่องเที่ยว, ฯลฯ มีคนตกงาน, สูญเสียรายได้, หรือถึงต้องถูกจำคุก นับได้ไม่รู้จะกี่แสนกี่ล้านครอบครัวทั่วประเทศ เพราะการ
“จัดระเบียบ” เช่นนี้ กำลังซื้อในตลาดที่ตกต่ำอยู่แล้ว จึงยิ่งดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ร้ายไปกว่านั้น คสช.ควรรู้อยู่แล้วว่า “ระเบียบ” และ “กฎหมาย” ในเมืองไทยนั้น เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้รักษาควบคุมนำไปขายหาเงินกันอยู่ตลอดมา ทุกครั้งที่จะออกหรือฟื้นฟู “ระเบียบ” หรือ “กฎหมาย” ใด ผู้มีปัญญาจึงต้องคิดวิธีตัดทางพ่อค้า “ระเบียบ” และ “กฎหมาย” ให้ทำมาหากินได้ยากขึ้นไปพร้อมกันด้วย แต่เพราะ คสช.ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย “ระเบียบ” และ “กฎหมาย” ของ คสช.จึงยิ่งทำกำไรแก่พ่อค้าหน้าเดิมหรือหน้าใหม่ ซึ่งล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมโหฬาร ผลก็คือการผลิตของประชาชนยิ่งถูกบั่นรอนลงไปอีก

ไม่มีใครปฏิเสธว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของความซบเซาทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งอยู่เหนือความควบคุมของเรา แต่สาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายใน การบริโภคที่ลดลงเกิดขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจของ คสช.และ พปชร. เศรษฐศาสตร์การตลาดคิดออกแต่การอัดฉีดเงิน เพื่อให้ตลาดมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ไม่เคยคิดถึงการขยายตัวของการผลิต การจ้างงานจึงไม่เพิ่มขึ้น ซ้ำกลับลดลงตลอดมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นการแจกเงินให้คนไปเที่ยวเมืองรอง 1,000-4,500 บาท สมมุติว่าเงินจำนวนนี้เป็นแรงจูงใจให้ไปเที่ยวเมืองรองได้จริง จะมีผู้ใดในโลกนี้ที่คิดจะลงทุนเปิดโรงแรมใหม่ในเมืองรองบ้าง กว่าจะสร้างโรงแรมเสร็จ โครงการแจกเงินนี้ก็จบลงไปแล้ว ที่พักในเมืองรองจึงมี “เสน่ห์” เท่าเดิม จะให้คนไปเที่ยวอีก ก็ต้องแจกเงินอีกอย่างไม่มีวันสิ้นสุดตลอดไป

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซามาอย่างต่อเนื่องนั้น ทีมเศรษฐกิจของ คสช.และ พปชร.ได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขบรรเทาบ้าง คำตอบคือไม่มีเลย นอกจากจำขี้ปากฝรั่งมาพูดเรื่อง 4.0 และสตาร์ตอัพ แต่ทั้งสองอย่างนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากลมปาก จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขหลายอย่าง ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตระดับ 4.0 และการริเริ่มธุรกิจที่ตอบสนองความผันแปรของตลาดได้ทันเวลาเกิดขึ้นได้จริง เช่นเปลี่ยนการศึกษา, ปรับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้หันมาสู่การให้บริการ แทนที่จะทำแต่ควบคุม (และค้าขาย “ระเบียบ”), ฯลฯ แต่ทีมเศรษฐกิจก็ได้แต่พูดฟุ้งเฟ้อถึงเรื่องเหล่านี้ด้วยความไม่เข้าใจจริงตลอดมา

ดังนั้น ถึงเศรษฐกิจโลกกลับมาคึกคักใหม่อีกครั้ง เศรษฐกิจไทยก็ยังจะซบเซาต่อไปอยู่นั่นเอง

ต้นทุนของการรัฐประหารสำหรับประเทศไทยนั้น นับวันก็มีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ความซบเซาอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจนถึงทุกวันนี้ เป็นราคาของการรัฐประหารครั้งท้ายสุดนี้ จริงอยู่ใน 7 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลเพื่อไทยนั้น การลงทุนหยุดชะงักลง เพราะการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อเตรียมการสู่การยึดอำนาจของเหล่าชนชั้นนำในเดือนพฤษภาคม 2557 แต่ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีนายทุนคนไหนอยากเอาเงินของตนไปวางไว้ในสังคมที่คาดการณ์ไม่ได้เช่นนั้น แต่ก็ยังหวังกันว่า หากการเคลื่อนไหวของอันธพาลการเมืองยุติลงโดยทางใดทางหนึ่ง การคาดการณ์ได้จะกลับคืนมา ไม่มากก็น้อย

แต่การเคลื่อนไหวนั้นกลับสิ้นสุดลงที่เผด็จการทหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ภายใต้เผด็จการทหาร กลับปรากฏว่าสถานการณ์ในเมืองไทยยิ่งตกอยู่ในภาวะคาดการณ์ไม่ได้หนักขึ้น เศรษฐกิจซบเซาที่เริ่มมาในปลายสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับดิ่งหัวเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน อำนาจผูกขาดของกลุ่มทุนที่สนับสนุนการรัฐประหารกลับแข็งแกร่งขึ้น จนยากที่ใครจะฝ่าฟันอำนาจผูกขาดนั้น เพื่อหากำไรในสังคมที่มืดมนไปด้วยการผูกขาด ซ้ำยังคาดการณ์ได้ยาก แม้จัดให้มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ทั่วทั้งโลก เผด็จการที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมีน้อยมาก เกือบทั้งหมดนำประเทศไปสู่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างชนิดจะโงหัวไม่ขึ้นไปอีกนานทั้งสิ้น ในประเทศเผด็จการที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขสำคัญที่ทำได้สำเร็จคือการสร้างสภาวะที่คาดการณ์ได้ให้แก่นักลงทุน กฎระเบียบต่างๆ ถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันและอย่างโปร่งใส พอสมควรในจีน และอย่างยิ่งยวดในสิงคโปร์

บางคนในทีมเศรษฐกิจของคุณประยุทธ์อ้างว่า ความสำเร็จในทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทยนั้น เกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบเผด็จการเท่านั้น แต่ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และพรรคกิจประชาชนสามารถรักษากฎระเบียบของตนให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และโปร่งใสได้ โดยไม่ต้องลูบหน้าปะจมูกกับทุนกลุ่มใดเลย (นอกจากทุนในรัฐวิสาหกิจของจีน) ในขณะที่เผด็จการไทย (และเอเชียอื่น, แอฟริกา, และลาตินอเมริกา)
ไม่เคยทำเช่นนั้นได้เลย อำนาจเผด็จการกลับทำให้เล่นพวกกันมากขึ้น กฎระเบียบมีไว้ซื้อขายหรือไว้
กลั่นแกล้งศัตรู

ลองคิดดูจากประสบการณ์ก็ได้ว่า โอกาสที่เผด็จการทหารของไทยจะมีประสิทธิภาพเท่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือพรรคกิจประชาของสิงคโปร์ มีความเป็นไปได้น้อยมากแค่ไหน

นอกจากนี้ก็ใคร่เตือนไว้ด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคกิจประชาเอาไปใช้งานนั้น ไม่กระจอกเหมือนนักเศรษฐศาสตร์การตลาดที่เราเห็นๆ กัน บางคนมีชื่อเสียงระดับโลกด้วยซ้ำ ฝีมือระดับทีมเศรษฐกิจของคุณประยุทธ์ ถ้าไปอยู่เมืองจีนหรือสิงคโปร์ จะได้รับการจ้างงานจากรัฐละหรือ

ผู้นำเผด็จการของประเทศทั้งสองก็เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ แต่ต้องลับสามัญสำนึกของตนให้แหลมคมยิ่งๆ ขึ้นต่างหาก จึงจะรับมือโวหารแก้ตัวไปวันๆ ของผู้เชี่ยวชาญได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image