เดินหน้าชน : อย่าให้โกงซ้ำซาก : โดย สุพัด ทีปะลา

กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก กรณีปัญหาอาหาร กลางวันนักเรียนไร้คุณภาพ

ล่าสุดกรณีที่ ครูอ้อม ครูประจำชั้นอนุบาลของโรงเรียนใน อ.หันคา จ.ชัยนาท ออกมาแฉว่าอาหารกลางวันของโรงเรียน ไม่มีคุณภาพ ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ เพราะเมนูอาหารที่ให้นักเรียนรับประทาน เป็นมีเพียงผัดบะหมี่เปล่าๆ ไม่ได้ใส่เนื้อหมูลงไปด้วย

หลังออกมาแฉเรื่องนี้ เจ้าตัวถูกมือมืดปาก้อนเลือดใส่ จนต้องออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ และโพสต์เรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดียว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเชื่อมโยงกับการออกมาเปิดโปงเรื่องอาหารกลางวัน

จากนั้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยนาท ได้สั่งย้ายครูอ้อมไปประจำยังสพป.ชัยนาท มีผู้ปกครอง นักเรียนออกมาให้กำลังใจ ส่วนสื่อสังคมออนไลน์ออกมาเรียกร้องให้ช่วยกันปกป้องครูอ้อม

Advertisement

ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ย้ายกลับมาสอนที่โรงเรียนเช่นเดิม และได้ย้าย ผอ.โรงเรียนออกไปแทน

ปมทุจริตอาหารกลางวันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัญหาซ้ำซาก ยิ่งแก้ยิ่งเจอ

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทยต้นสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าของงบประมาณนับหมื่นล้านบาท ที่จัดสรรให้โรงเรียนรัฐทั่วประเทศ

Advertisement

กระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบ

ต่างก็มีแนวทาง มาตรการเพื่อตรวจสอบป้องกันการทุจริตโครงการอาหารกลางวันอยู่แล้ว

เช่น มาตรการของ ศธ.ที่ได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองโภชนาการของนักเรียน มีผู้รับผิดชอบเป็นศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการกลุ่มที่เกี่ยวข้อง พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามการดำเนินการอาหารกลางวันของโรงเรียน

ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้มีหนังสือเวียนในช่วงปี 2561 ให้ผู้ว่าฯ มีคำสั่งตั้งคณะทำงานโดยขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือ อบต. เพื่อให้ดำเนินการออกไปสุ่มตรวจอาหารกลางวัน อย่างสม่ำเสมอ

เกิดคำถามว่า มาตรการ เหล่านี้ในปัจจุบันแต่ละหน่วยงานยังปฏิบัติกันอยู่ไหม หรือแค่เกิดปัญหาร้องเรียนแล้วก็เลิกไป

เพราะหากยังจำกันได้มาตรการดังกล่าวออกมาหลังเกิดการทุจริตกรณี “ขนมจีนคลุกน้ำปลา” โรงเรียนบ้านหน้าชนท่าใหม่ จ.สุราษฎร์ธานี ในปีที่ผ่านมา

น่ากังวลว่าระบบการตรวจสอบที่ย่อหย่อนจะเป็นช่องโหว่ ทำให้เกิดการทุจริตอาหารกลางวันในอีกหลายโรงเรียน

เพราะจากข้อมูลของ ป.ป.ช.ล่าสุดในปี 2562 ยังพบปัญหาโครงการอาหารกลางวันในหลายโรงเรียนทั่วประเทศ

ที่ชัดเจนว่าเข้าข่ายทุจริต มี 4 โรงเรียน จ.นครราชสีมา ตรวจสอบพบว่า โรงเรียนซื้อวัตถุดิบไม่ครบ เช่น 1 วันโรงเรียนต้องซื้อวัตถุดิบ 1 หมื่นบาท แต่โรงเรียนซื้อแค่ 5 พันบาท เงินส่วนต่างที่เหลือโรงเรียนไม่สามารถชี้แจงได้ บางโรงเรียนนำเงินส่วนต่างไปใช้ทำกิจกรรมของโรงเรียน

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้กำชับให้ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลและตรวจสอบทุกโรงเรียนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิดแล้ว

จากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่าแต่ละหน่วยงานจะเอาจริงเอาจัง ตรวจสอบ ป้องกันการทุจริตอาหารกลางวันกันแค่ไหน

หรือเราจะยังเห็นการทุจริตเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image