สะพานแห่งกาลเวลา : มัสก์ VS หม่า ว่าด้วย‘เอไอ’ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

อีลอน มัสก์ กับ แจ๊ก หม่า ขึ้นเวทีเดียวกัน พูดเรื่องเดียวกัน แต่ไปกันคนละทิศคนละทางทั้งสองคนขึ้นเวทีเปิดงานใหญ่ระดับโลก “เวิร์ลด์ เอไอ คอนเฟอเรนซ์” (ดับเบิลยูเอไอซี) ที่เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน งานประชุมวิชาการว่าด้วยเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยเฉพาะ

ต่างคนต่างเหมาะกับเวทีนี้ทีเดียว เพราะต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการกำหนดทิศทาง รูปลักษณ์โลกในเวลานี้

มัสก์ ลงหลักปักฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จแรกสุดจากเพย์พัล ก่อนมาสร้างทั้งชื่อเสียงและเงินทองมากมายจากบริษัทอย่าง เทสลา, สเปซเอ็กซ์ เป็นอาทิ

หม่า ร่วมก่อตั้ง “อาลีบาบา” ที่ตอนนี้แย่งกันเป็นเต้ยของโลกในแวดวงค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ แถมยังเป็นผู้ให้บริการ “คลาวด์” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

Advertisement

อาลีบาบา ของ แจ๊ก หม่า คือบริษัทที่ใช้เม็ดเงินลงทุนด้านเอไอ สูงที่สุดในโลกครับ

ดังนั้นไม่น่าแปลกที่การสนทนาบนเวทีต่อหน้าผู้ฟังแน่นห้องนาน 45 นาทีหนนี้ แจ๊ก หม่า ถึงได้ยืนยันหนักแน่นว่า เอไอ ไม่น่ากลัว ไม่มีอะไรที่คนทั่วไปต้องเป็นกังวล

“เอไอ” ในทรรศนะของหม่า คืออะไรสักอย่างที่เราควร “อ้าแขนรับด้วยยินดี” เพราะนี่คือ สิ่งที่จะช่วยให้เราได้รู้จักและเข้าใจกระบวนการคิดของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

Advertisement

“ยิ่งมนุษย์เข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็สามารถปรับปรุงโลกให้ดีขึ้นได้ตามไปด้วย”

หม่า พยากรณ์ว่า เอไอ จะสร้างงานชนิดใหม่ขึ้นมาสำหรับมนุษย์ ที่ลดเวลาทำงานลง เน้นหนักอยู่ที่การสร้างสรรค์เป็นสำคัญ ผลก็คือสัปดาห์หนึ่งทำแค่ 3 วัน วันหนึ่งทำงานแค่ 4 ชั่วโมงก็เหลือเฟือแล้ว

“ในยุคแห่งเอไอ อายุคนเราสามารถยืนยาวได้ถึง 120 ปี” แจ๊ก หม่า เชื่ออย่างนั้น

แต่ในความเห็นของมัสก์ เป็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง มัสก์เห็นว่า เอไอ จะทำให้ “งาน” อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้กลายเป็นเรื่อง “ไร้ความหมาย” ไปโดยสิ้นเชิง ทำไปอย่างไร เอไอ หรือหุ่นยนต์เอไอ ทำได้ดีกว่าอยู่ร่ำไป

“อาจบางที งานสุดท้ายที่จะมีอยู่ ก็คือ การเขียนเอไอ และหลังจากนั้นไม่ช้าไม่นาน เอไอ ก็จะเขียนซอฟต์แวร์ให้ตัวมันเอง”

อีลอน มัสก์ ไปไกลถึงขนาดที่เชื่อว่า เอไอ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ อารยธรรมมนุษย์ จะสิ้นสุดลง เป็นเพียง “แท่น” หรือ “บันได” ให้กับ “สิ่งมีชีวิตชนิดที่เหนือกว่าทุกๆ ด้าน”

หรืออาจคิดเอาได้ว่า มนุษย์ จะหลงเหลือสถานะเป็นเพียง สวิตช์สตาร์ตเครื่องที่มีชีวิต สำหรับสิ่งที่มัสก์เรียกว่า “ดิจิทัล ซุพพีเรีย อินเทลลิเจนซ์” ที่ถ่ายทอดเป็นไทยได้ประมาณว่า เป็น “ภูมิปัญญาดิจิทัลที่เหนือกว่า” เขาอุปมาไว้ต่อว่า มนุษย์จะเป็นเหมือน รหัสข้อมูลเพียงไม่กี่บิท ที่จำเป็นสำหรับเริ่มต้นสตาร์ตคอมพิวเตอร์เท่านั้น

มัสก์เชื่อว่าทางออกของมนุษย์ ก็คือ ต้องหาทางเชื่อมต่อสมองของเราเข้ากับ เอไอ ให้ได้ เพื่อจะได้เจริญไปพร้อมๆ กับเอไออย่างเท่าทัน ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งข้างหน้า เอไอ ก็จะเบื่อที่ต้องมานั่งสื่อสารกับมนุษย์ที่ “คิด” ช้าเหลือเกิน

เขาบอกกับผู้ฟังว่า “แบนด์วิธ” ในสมองคนเราอยู่ในระดับแค่ไม่กี่ร้อยบิท หรืออาจเป็นสองสามกิโลบิท แต่ของเอไอจะอยู่ที่ระดับ “หลายๆ เทราบิท”

“สื่อสารกับคน ก็เหมือนเราพูดกับต้นไม้ (ในเวลานี้)”

มัสก์ตอกย้ำด้วยการแสดงความเชื่อมั่นว่า เอไอ จะพัฒนาไปเร็วกว่าที่เราจะเข้าใจได้ ในที่สุดก็จะถึงจุดที่มันสามารถจำลองแบบของคนออกมาได้ครั้งละหลายๆ คน

เป็นทรรศนะเพื่อตอบโต้ทรรศนะของแจ๊ก หม่า ที่ว่า แม้แต่คน ผู้ชายคนหนึ่งยังไม่สามารถสร้างผู้ชายอีกคนขึ้นมาได้ สร้าง “ยุง” ขึ้นมายังไม่ได้

“คอมพิวเตอร์ ก็คือคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ก็แค่ ของเล่น

“คอมพิวเตอร์มีแค่ชิป แต่คนมีหัวใจ ปัญญามีที่มาจากหัวใจเท่านั้น”

มีเรื่องเดียวที่ทั้งสองคนเห็นตรงกัน นั่นคือต่างคนต่างเชื่อว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรโลกจะเริ่มลดลงฮวบฮาบ และในที่สุดจะถึงระดับ “ล่มสลาย”

เป็นประชากรล่มสลาย ไม่ใช่ประชากรล้นโลกในอีกไม่ช้าไม่นานครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image