รัฐศาสตร์กับรัฐที่เล็กที่สุด เป็นอันดับสองของโลก : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

รัฐ (State) เป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ โดยเกิดมีขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมภาคีชาติอเมริกาครั้งที่ 7 ที่ กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ทวีปอเมริกาใต้ ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2476 โดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของรัฐ ด้วยการบอกถึงสถานะความเป็นรัฐชาติเอาไว้อย่างแจ้งชัดในอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the states) มาตราที่ 1 ว่ารัฐ คือนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

1) มีดินแดนที่แน่นอน คือมีขอบเขตของอาณาบริเวณที่แน่นอนจะมีเนื้อที่ใหญ่หรือเล็กก็ได้

2) มีประชากร คือต้องมีประชากรที่เป็นมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น จำนวนกี่คนก็ได้ แต่ต้องมีสภาพเป็นสังคมในดินแดนนั้น

3) มีรัฐบาล คือต้องมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารและจัดการดินแดนที่แน่นอนในพื้นที่นั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพ

Advertisement

4) มีอำนาจอธิปไตย คืออำนาจในการปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐอื่นใดและอำนาจอธิปไตยนี้รวมถึงอำนาจในการสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ อย่างเสรีด้วย

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมในมาตราที่ 3 ของ Montevideo Convention on Rights and Duties of the states อีกว่า “การดำรงอยู่ทางการเมือง รัฐไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของรัฐอื่นๆ-The political existence of the state is independent of recognition by the other states.” กล่าวคือหากรัฐใดที่มีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 4 ประการ คือ มีดินแดนที่แน่นอน มีประชากร มีรัฐบาล และมีอำนาจอธิปไตยที่จะติดต่อกับรัฐอื่นได้โดยตนเองก็ถือว่าเป็นรัฐโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะมีรัฐอื่นๆ รับรองหรือไม่

ดังนั้น เรื่องการรับรองรัฐจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นในความเป็นรัฐ ถึงแม้ว่าไม่มีผู้ใดรับรองความเป็นรัฐที่ถูกต้องตามกฎหมายเลย รัฐก็เป็นรัฐได้ หากมีคุณสมบัติครบ 4 ประการดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือหากมีหลายรัฐที่ไม่มีรัฐอื่นใดรับรองเลยก็ช่วยรับรองกันเองในระหว่างรัฐที่ไม่มีใครรับรองก็ได้ ปัจจุบันนี้มีหลายรัฐมากที่ไม่ได้รับรองการเป็นรัฐ อาทิ สาธารณรัฐโซมาลิแลนด์, สาธารณรัฐอร์าทซัคฮ์ (นากาโน-คาราบัก), สาธารณรัฐพริสเนสโตรเวียนมอนโดวา (ทรานส์นิส เตรีย) ฯลฯ

ครับ! มาตรฐานการรับรองรัฐนอกเหนือจากนี้ก็คือการได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งสหประชาชาติก็ใช้มาตรฐานตามแบบของอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐเป็นหลักเกณฑ์นั่นเองโดยมีข้อยกเว้นในกรณีของประเทศไต้หวันเพราะเป็นปัญหาทางการเมือง แต่ประเทศไต้หวันก็ยังคงเป็นรัฐที่สมบูรณ์แบบอยู่ดีนั่นเอง

ประเทศโมนาโก หรือ ราชรัฐโมนาโก เป็นประเทศที่เล็กเป็นอันดับ 2 ของโลก (อันดับ 1 คือ วาติกัน) มีขนาดพื้นที่เพียง 2.20 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 1,000 เท่า คือเล็กขนาดที่ว่าสามารถวิ่งรอบประเทศได้เลยในวันเดียว ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรประมาณ 30,000 กว่าคน แต่ด้วยขนาดประเทศที่เล็กมากทำให้กลายเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก

ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนฝรั่งเศสที่มีเกือบครึ่งประเทศ ที่เหลือก็ชาวโมนาโก อิตาลีและอื่นๆ ตามสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันดังนั้นภาษาราชการจึงเป็นภาษาฝรั่งเศสแต่ก็ยังใช้ภาษาโมนาโก อิตาเลียน และอังกฤษอย่างแพร่หลาย

รัฐบาลโมนาโกมีรายได้หลักจากการผูกขาดของธุรกิจกาสิโน และสินค้าหลายประเภท ซึ่งรายได้เหล่านี้จัดเก็บได้อย่างมหาศาล จนไม่ต้องเก็บภาษีเงินได้บุคคลและไม่มีภาษีมรดกซึ่งต่างกับประเทศในยุโรป ดังนั้นบรรดาอภิมหาเศรษฐีจึงหลั่งไหลมาอาศัยอยู่ในโมนาโกมากที่สุดประกอบกับโมนาโกยังมีความปลอดภัยสูงมากเพราะมีกล้องวงจรปิดอยู่ทุกระยะ 10 เมตรเลยทีเดียว แต่โมนาโกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) ต่างๆ ของสินค้าและบริการ ทำให้ค่าครองชีพที่นี่สูงที่สุดในโลก

ราชวงศ์ที่ปกครองโมนาโกคือตระกูล กริมาลดี โดยมี เจ้าชายเรเนียร์ที่หนึ่ง เป็นผู้ครองโมนาโกเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ.1847 (ตรงกับสมัยพระเจ้ารามราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) ครั้นเมื่อเกิดมีการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส พ.ศ.2332 ก็ไล่พวกราชวงศ์กริมาลดีออกไปจากโมนาโกเสียเลยใน พ.ศ.2335 ทำเอาพวกกริมาลดีเป็นเจ้าไม่มีศาลร่วม 70 ปี จึงได้กลับมาครองโมนาโกใหม่ใน พ.ศ.2404 (สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในฐานะรัฐอารักขาของฝรั่งเศสทำให้โมนาโกอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศสแบบว่าจะตั้งให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องให้ฝรั่งเศสเห็นชอบเสียก่อนและมีข้อตกลงว่าถ้าเจ้าชายผู้ครองรัฐไม่มีลูกชายสืบเชื้อสายแล้วประเทศโมนาโกก็ต้องถูกยุบรวมกับประเทศฝรั่งเศส

ซึ่ง เจ้าชายเรเนียร์ที่สาม ยังต้องขวนขวายไปแต่งงานกับดาราภาพยนตร์ตุ๊กตาทองของฮอลลีวู้ดคือ เกรซ เคลลี เพื่อจะต้องให้มีลูกชายนี่แหละ

เจ้าชายเรเนียร์ที่สามที่สิ้นพระชนม์ไปเมื่อ พ.ศ.2548 มีพระปรีชาสามารถมากได้ดำเนินกุศโลบายทางการทูตและการเมืองที่เฉลียวฉลาดด้วยการพยายามที่จะนำประเทศโมนาโกเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้เมื่อ พ.ศ.2536 โดยอาศัยช่วงชุลมุนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเกิดประเทศใหม่ขึ้นมามากมายนับสิบประเทศสมัครเข้าเป็นสมาชิกในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ฝรั่งเศสในฐานะรัฐที่ให้การอารักขาค้านไม่ได้ เมื่อโมนาโกได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติแล้วก็ต้องถือว่ามีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ เจ้าชายเรเนียร์ที่สามจึงจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการสืบราชสันตติวงศ์ทางสายของราชนารีได้ซึ่งแต่เดิมจำกัดไว้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ต้องมีการยุบรวมประเทศเข้ากับฝรั่งเศส ซึ่งก็พอดี เจ้าชายอัลเบอร์ต โอรสเพียงพระองค์เดียวที่จะขึ้นครองราชย์แทนนั้นก็มีพระชนมายุ 47 พรรษาแล้ว ซึ่งยังครองความเป็นโสดอยู่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะแต่งงานกับใครเลย ดังนั้นลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของโมนาโกต่อเจ้าชายอัลเบอร์ตก็คือ เจ้าหญิงคาโรไลน์ ผู้เป็นพี่สาวอายุ 48 ปี และลำดับต่อไปคือลูกชายคนโตของเจ้าหญิงคาโรไลน์ คือ อังเดร์ อัลเบอร์ต ปิแอร์ อายุ 20 ปี

โมนาโกคงจะดำรงความเป็นรัฐอย่างสมบูรณ์ต่อไปอีกนานละครับ เพราะปัจจุบันเจ้าชายอัลเบอร์ตที่ 2 แห่งโมนาโกได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงชาร์ลีนแห่งโมนาโก อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติแอฟริกาใต้ ทรงมีพระโอรสและพระธิดาแฝดคล้ายร่วมกัน 2 พระองค์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image