คดีจระเข้เทพเจ้า แห่งกาลานีเซีย : โดย กล้า สมุทวณิช

ที่ท่านจะได้อ่านต่อจากนี้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิง (แม้ว่าจริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่เรื่องสนุกนักก็ตาม) บุคคล สถานที่ และเรื่องราวต่อจากนี้ มิได้เจตนาให้เหมือนพ้องต้องตรงกับเรื่องราวหรือข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

กลางนครหลวงของกาลานีเซีย ประเทศเกาะเล็กๆ สุดขอบแปซิฟิก ที่จัตุรัสครอกโคดิโอส์ สิ่งปลูกสร้างที่งดงามที่สุด ที่เป็นอาคารทรงโรมันที่วางตัวเป็นรูปปีกกา มีโดมสีทองเด่นสะดุดตาอยู่ตรงกลางอาคารนั้น ดูสูงศักดิ์ข่มแม้แต่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลที่อยู่ไม่ไกลกัน กลางโดมสีทองนั้นเป็นที่สถิตอยู่ของเทวกุมภีร์ จระเข้น้ำจืดขนาดยักษ์ที่เชื่อกันว่ามีความยาวถึง 9 เมตร มีผิวหนังสีเหลืองทราย ซึ่งเมื่อต้องแสงแดดบางมุมแล้วแลคล้ายสีทองอร่าม

ไม่มีใครรู้มาก่อนว่า ทำไมสัตว์ตัวนี้จึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแห่งกาลานีเซีย บ้างก็ว่าบรรพบุรุษของชาวเกาะนี้คือจระเข้สีทองที่ขึ้นมาจากทะเลและได้รับพรจากเทพเจ้าให้ยืนสองขาและมีความคิดสติปัญญา หรืออีกตำนานหนึ่งก็ว่าเมื่อร้อยปีก่อนมีกองทัพคนเถื่อนต่างแดนนำกองเรือเหล็กหมายมายึดครองดินแดนเกาะนี้ แต่ก็ไม่อาจยกพลขึ้นบกได้เพราะเจอกับกองทัพจระเข้นับพันที่นำทัพโดยจระเข้ยักษ์สีทอง

แต่ไม่ว่าด้วยประการใดก็ตาม ตำนานและความเชื่อนั้นได้ก่อร่างสร้างเป็นศาลจระเข้เทพเจ้าที่เชื่อกันว่าหากมันอยู่ดีมีชีวิตแล้ว ประเทศเกาะนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่รอดปลอดภัยชั่วกัลปวสาน

Advertisement

ไม่มีใครรู้ว่าเทวกุมภีร์อายุเท่าไรกันแน่ ชาวกาลานีเซียทุกคนตั้งแต่จำความได้ก็ได้เห็นศาลเทวกุมภีร์นี้เด่นเป็นสง่าที่กลางเมืองอยู่แล้ว ส่วนตัวจระเข้สีทองศักดิ์สิทธิ์ตัวเป็นๆ นั้นไม่มีใครได้พบเห็นมานานแล้ว เนื่องจากผู้ดูแลศาลจระเข้หรือกุมภาบาลแถลงว่า จระเข้เทพเจ้าต้องการการพักผ่อนที่มากเป็นพิเศษ จึงงดให้ประชาชนสักการะใกล้ชิดมานับสิบปีแล้ว

ด้วยอายุของมัน และความที่สัตว์คู่บ้านคู่เมืองนี้ช่างอ่อนไหวตกใจง่าย รัฐบาลจึงออกกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งว่าด้วยการจัดการดูแลเทพเจ้าจระเข้ ซึ่งมีข้อหนึ่งกำหนดว่าด้วยการห้ามรบกวนจระเข้ศักดิ์สิทธิ์ เนื้อหาสรุปได้ว่า หากผู้ใดประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเทวกุมภีร์ ส่งเสียงเอะอะอื้อฉาวรบกวนการพักผ่อนของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มันผู้นั้นถือว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง และให้อำนาจกุมภาบาลลงโทษมันผู้นั้นได้ด้วยการสั่งปรับหรือนำตัวไปกุมขังได้

ก่อนหน้านี้กฎหมายนี้ก็ไม่ค่อยได้ใช้ จะมีบ้างก็นานๆ ที เช่นมีคนเมาบุกเข้ามาส่งเสียงเอ็ดอึง ซึ่งก็ถูกลงโทษกันไปตามกบิลเมือง

Advertisement

จนกระทั่งสามสี่ปีหลังนี่แหละ ที่ชาวเมืองส่วนใหญ่เริ่มกังขาสงสัย เพราะเหล่ากุมภาบาลเริ่มเก็บเงินค่าสักการะเทวกุมภีร์แพงขึ้นทุกปี ในขณะที่ประชาชนที่จะเข้าชมบุญยังถูกกันให้ไกลออกมาจากบ่อน้ำที่เป็นที่อยู่ของจระเข้เทพเจ้ามากขึ้น ประกอบกับตลอดช่วงเวลาแห่งความเคลือบแคลงนี้ กาลานีเซียประสบเหตุอาเพศทุพภิกขภัยและโรคระบาด จนประชาชนพลเมืองเริ่มสงสัยกันว่า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาเกาะแห่งนี้ไว้จะสาบสูญไปแล้ว

เมื่อเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ นั่นแหละ ท่านหัวหน้ากุมภาบาลก็ประกาศว่า จะแสดงความมีชีวิตอยู่ของเทวกุมภีร์ให้ประชาชนชาวเมืองได้ชมเป็นขวัญตาในวันเพ็ญหน้าที่จะถึง

ในวันนั้น ประชาชนไปรอกันที่ศาลเทวกุมภีร์กันแน่นขนัด หวังว่าจะได้เห็นจระเข้เทพเจ้าคู่บ้านคู่เมืองอีกครั้งเป็นบุญตา หากกุมภาบาลก็ไม่ให้ใครเข้าไปในห้องบ่อเลี้ยงจระเข้ใต้โดมทองเลย แต่ใช้วิธีการถ่ายภาพจากกล้องวงจรปิดมาฉายออกจอขนาดใหญ่ เมื่อได้เวลา ภาพที่ฉายออกมาให้ผู้คนได้เห็นกันนั้น ก็มีเพียงหางของสัตว์เลื้อยคลานอย่างหนึ่งที่มองเห็นได้ไม่ถนัดโผล่พ้นออกมาจากหินก้อนใหญ่เท่านั้น แต่นั่นแหละ ท่านหัวหน้ากุมภาบาลกล่าวว่า นั่นคือท่อนหางของจระเข้ทองเทวกุมภีร์ สำหรับร่างกายส่วนอื่นนั้นขอสงวนไว้ด้วยเหตุเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของจระเข้เทพเจ้า ในเมื่อท่านไม่ประสงค์จะแสดงตัวมากกว่านี้

แน่นอนว่าคงจะมีบางคนที่ยอมรับและเข้าใจอะไรง่ายๆ หรืออาจจะคร้านต่อการทนทานความละอายของพวกกุมภาบาลยอมกลับบ้านไป แต่ไม่ใช่ท่านและมิตรสหายรวมทั้งประชาชนจำนวนมาก ที่เห็นว่าพวกคนหากินกับจระเข้กำลังเล่นตลกกับพวกท่านอยู่ ก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ทั้งปากต่อปากและในโซเชียล

มิตรสหายท่านหนึ่งก็เขียนลงหนังสือพิมพ์ “กาลาบิสิเนส” ว่า “เรื่องสำคัญต่อบ้านเมืองเช่นนี้มาทำอะไรกันชุ่ยๆ ถ่ายวิดิโอหางตัวอะไรก็ไม่รู้มาโชว์แบบนี้ได้อย่างไร”

ส่วนท่านเองก็ทวีตลงในทวิตเตอร์ว่า “มองเห็นบางด้าน ไม่น่าจะใช่หางจระเข้ แต่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นมากกว่า หรือว่าเทวกุมภีร์ไม่อยู่แล้ว”

อันที่จริง ผู้คนอีกมากก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนถ้อยคำของท่านและมิตรสหายนั้นระคายเคืองหัวหน้าผู้ดูแลจระเข้เทพเจ้านั้นอย่างยิ่ง เขาออกคำสั่งเรียกท่านและมิตรสหายให้ไปพบที่อาคารศาลเทวกุมภีร์ ด้วยข้อหารบกวนจระเข้ศักดิ์สิทธิ์

เดี๋ยวก่อนสิ … เราต้องย้อนไปที่เจตนารมณ์ของการที่ต้องมีกฎหมายห้ามรบกวนเทวกุมภีร์ นั่นเป็นเพราะว่าจระเข้ศักดิ์สิทธิ์เป็นสัตว์อ่อนไหว การส่งเสียงอื้อฉาวนั้นชัดเจนว่าเป็นการรบกวนเทพเจ้าจระเข้อย่างชัดเจน หรือการประพฤติตนไม่เรียบร้อยหรือพูดจามึงวาพาโวยไม่เหมาะสมในบริเวณศาลเจ้าจระเข้ก็อาจจะนำมาซึ่งความวุ่นวายไม่สงบของสถานที่ หรือแม้จะกลั้นใจยอมรับความประพฤติไม่เหมาะสมนั้นเหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติมหาอาคารศาลเทพเจ้าที่ผู้คนนับถือกันทั้งเมืองพอได้

แต่เมื่อเรื่องที่เกิดนอกขอบเขตอาคารของศาลเทพเจ้าจระเข้ล่ะ จะเรียกว่าการรบกวนสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนี้ได้อย่างไร และในเมื่อสิ่งที่ท่านและมิตรสหายวิพากษ์วิจารณ์นั้น ก็มาจากสิ่งที่ได้เห็นอยู่ตำตา ข้อสงสัยที่ฝ่ายที่อ้างว่าดูแลจระเข้เทพเจ้าก็ยังเต็มล้นในหมู่ประชาชน เช่นนี้การวิพากษ์วิจารณ์หรือออกความเห็นเมื่อพ้นจากเขตคามอารามจระเข้เทพเจ้าแล้ว จะเป็นการรบกวนเจ้าสัตว์นั้นได้อย่างไรกัน

กระนั้นไม่ว่าจะอย่างไร ในเมื่อเหล่ากุมภาบาลแห่งศาลเทพเจ้าจระเข้นั้นมีอำนาจตามกฎหมายอยู่จริง ท่านและมิตรสหายจึงต้องไปตามคำเรียกนั้นพร้อมทนายความ

หัวหน้ากุมภาบาลพยายามชี้ให้เห็นว่า การที่ท่านและมิตรสหายกล่าวร้ายไม่นับถือต่อจระเข้ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการรบกวนต่อจระเข้เทพเจ้าแล้ว และข้อความที่พวกท่านตั้งข้องสงสัยนั้นก็ถือเป็นการใส่ความทำให้ศาลเทวกุมภีร์ได้รับคำเสียหาย

ในเรื่องนี้ทนายความของมิตรสหายอีกท่านก็โต้แย้งว่า เรื่องนั้นมีกฎหมายหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นต่างหากแล้ว ซึ่งเรื่องนั้นถ้าเป็นความผิดก็ให้ผู้ที่คิดว่าตนเองเสียหายไปดำเนินกระบวนการฟ้องร้องในทางอาญาเอาเถิด แต่สิ่งที่กุมภาบาลพยายามจะกล่าวหาเองและจะลงโทษเองนี้ เป็นเรื่องของการรบกวนจระเข้เทพเจ้า ซึ่งการรบกวนนั้นต้องส่งผลให้จระเข้นั้นไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างสงบหรือเป็นปกติสุขได้ การพูดถึงต่อให้ในแง่ไม่ดี ก็ไม่เห็นจะเป็นการรบกวนตรงไหน

และที่สำคัญ หากเราไปดูในกฎหมายเรื่องนี้กันให้ดีๆ แล้ว จะเห็นว่า กฎหมายนั้นเขียนว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลเทวกุมภีร์หรือคำสั่งกุมภาบาลในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่สักการะของศาล หรือบริเวณอาคารของศาลจระเข้เทพเจ้า หรือในการสักการะเทวกุมภีร์ ให้ถือว่ากระทำการรบกวนจระเข้เทพเจ้า ให้กุมภาบาลตักเตือน ให้ออกจากบริเวณศาลได้ หรือถูกปรับและกักขังในอัตราที่กฎหมายกำหนด”

ถ้าเช่นนี้นอกจากหมายถึงว่ากฎหมายนั้นมุ่งเน้นการรบกวนที่เกิดขึ้นภายในบริเวณศาลหรือที่เลี้ยงจระเข้เป็นสำคัญจึงให้อำนาจกุมภาบาลในการจัดการเรื่องรบกวนนั้นโดยเร็วที่สุด แต่ปัญหาสำคัญกว่านั้น คือศาลเทวกุมภีร์ได้ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาในที่สักการะของศาลฯ ที่จะเป็นองค์ประกอบความผิดฐานรบกวนจระเข้เทพเจ้าแล้วหรือไม่?

หัวหน้ากุมภาบาลไม่ตอบคำถามนี้ กลับชี้ให้ดูข้อความอีกประโยคหนึ่งในกฎหมาย ที่เขียนไว้ว่า “การกล่าวถึงเทวกุมภีร์ที่กระทำด้วยวาจาสุภาพไม่กล่าวร้ายเสียดสี ไม่มีความผิดฐานรบกวนจระเข้เทพเจ้า” เพื่อจะแปลกลับมาว่า การที่ท่านกล่าวเสียดสีเทวกุมภีร์นั้นจึงเท่ากับมีความผิดฐานรบกวนจระเข้เทพเจ้า

แต่การออกกฎหมาย และใช้กฎหมายที่มีโทษอาญาที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้น หลักการสากลถือว่าจะต้องเป็นกฎหมายที่ต้องมีความชัดเจนว่าการกระทำที่จะถือว่าเป็นความผิดนั้นมีองค์ประกอบความผิดอย่างไรบ้าง การแปลความกฎหมายแบบการแปลกลับเพื่อลงโทษคนในทางอาญา หนำซ้ำยังเป็นอำนาจที่ตนเองจะตัดสินได้เองเช่นนี้มีความชอบธรรมแล้วหรือไม่

มาถึงตรงนี้ ท่านหัวหน้ากุมภาบาลก็ส่ายหน้าช้าๆ เขาบอกให้ทนายความรออยู่ข้างนอก และให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจระเข้มาพาท่านกับมิตรสหายเดินผ่านทางเดินแคบและมืดสลัวที่ซับซ้อน จนถึงห้องโถงห้องหนึ่งที่ท่านจำได้จากโดมสีทองอร่าม และภาพวาดที่เคยเห็น ว่าบัดนี้ท่านเข้ามาอยู่ที่ห้องเลี้ยงจระเข้เทพเจ้า สัตว์คู่บ้านคู่เมืองแห่งกาลานีเซียนี้ ตรงเบื้องหน้าที่บ่อที่ก่อขอบขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาว

“มองลงไปเถิด ท่านทั้งสอง นี่คือสิ่งที่ท่านคงอยากรู้…”

คํ่าวันนั้นท่านและมิตรสหายกลับบ้านไปโดยไม่มีคำพูดใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถูกเชิญตัวไปที่ศาลเทวกุมภีร์หลุดออกมาจากปากเลย

หลังจากนั้น ประชาชนบางส่วนก็ไปสักการะศาลจระเข้เทพเจ้ากันตามปกติ แม้จะไม่มีใครเคยเห็นตัวของมันเลยก็ตาม ทุกคนกราบไหว้ราวกับว่ามันยังมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่าบ่อนั้นน่าจะว่างเปล่า หรือมีตัวอะไรสักอย่างมาอาศัยอยู่แทนจระเข้คู่บ้านคู่เมืองแล้ว แต่กระนั้นก็ไม่มีใครกล้าที่จะพูดอะไร การตัดไม้ข่มนาม เชือดไก่ให้ลิงดู หรือเขียนเสือให้วัวกลัวนั้นได้ผล

อย่างน้อยก็ทำให้เราแกล้งที่จะกลัวได้สำเร็จ หรืออาจจะกลัวจริงๆ ก็ไม่ทราบได้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image