การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และการพัฒนาประเทศ (จบ) : โดย คณิต ณ นคร

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

เมื่อปี พ.ศ.2528 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปอบรมสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ในหลักสูตรนักบริหารงานยุติธรรมระดับสูงที่สถาบันการฝึกอบรมของสหประชาชาติที่มีชื่อย่อว่า UNAFEI ชื่อเต็มว่า UNITED NATIONS ASIA AND FAR EAST INSTITUTE FOR THE PREVENTION OF CRIME AND THE TREATMENT OF OFFENDERS

สถาบันนี้ตั้งอยู่ที่เมือง FUCHU ใกล้กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

การไปอบรมสัมมนาในครั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้กรุณามอบทุนให้ผู้เขียนไปแสวงหาความรู้ ซึ่งผู้เขียนระลึกถึงด้วยความขอบคุณเสมอมา

Advertisement

ในจำนวนผู้เข้ารับการอบรมสัมมนาครั้งนี้ด้วยกันนั้น มีพนักงานอัยการประเทศเกาหลีใต้รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง และเนื่องจากเราต่างมาจากสถาบันอัยการด้วยกัน เราจึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับบทบาทของพนักงานอัยการในประเทศของเราทั้งสอง

พนักงานอัยการของประเทศเกาหลีใต้ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในประเทศเกาหลีใต้ในอดีตมีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันสูงมาก ครั้นเมื่อ นายพล Park Chung-hee ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2504 หรือวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.1961

สิ่งแรกที่ นายพล Park Chung-hee กระทำก็คือ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

Advertisement

ในการทำงานในเรื่องดังกล่าวนี้ นายพล Park Chung-hee ได้กระทำโดยใช้องค์กรอัยการเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะระบบอัยการของประเทศเกาหลีใต้นั้น เป็นอย่างเดียวกับระบบอัยการในประเทศซิวิลลอว์ (Civil Law) ทั้งหลาย กล่าวคือ ในประเทศเกาหลีใต้นั้น การสอบสวนฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวกัน โดยมีพนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนฟ้องร้อง และเมื่อพนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนฟ้องร้อง “การสอบสวนฟ้องร้อง” ของประเทศเกาหลีใต้จึงเป็น “กระบวนการเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้”

นายพล Park Chung-hee จึงให้องค์กรอัยการเข้าไปทำงานนี้ โดยให้พนักงานอัยการเข้าไปตรวจสอบบุคคลที่ต้องสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ต้องสงสัยก็เป็น “ข้ารัฐการ” หรือที่ในประเทศเราเรียกว่า “ข้าราชการ” เป็นส่วนใหญ่ และพนักงานอัยการของเกาหลีก็ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้อย่างได้ผล

ในการดำเนินการนั้น เพื่อนพนักงานอัยการแห่งประเทศเกาหลีใต้ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พนักงานอัยการได้จัดให้มีการถ่ายภาพบ้านใหญ่ๆ โตๆ ของข้ารัฐการหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไว้ด้วย ครั้นเมื่อได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและปรากฏแน่ชัดว่าข้ารัฐการหรือข้าราชการนั้นๆ เป็นผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นจริงแล้ว พนักงานอัยการก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลออกคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งทรัพย์สิน และเมื่อได้ทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้นำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลเป็นจำนวนมาก ผลปรากฏว่ามีข้ารัฐการหรือข้าราชการจำนวนไม่น้อยถูกศาลพิพากษาลงโทษ

เพื่อนพนักงานอัยการแห่งประเทศเกาหลีใต้ยังเล่าให้ผู้เขียนฟังด้วยว่า เมื่อเดิมเงินเดือนและค่าตอบแทนของพนักงานอัยการน้อยกว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้พิพากษาอย่างมากทีเดียว และจากผลงานของพนักงานอัยการดังกล่าว รัฐบาล นายพล Park Chung-hee จึงได้ขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้พนักงานอัยการจนทำให้พนักงานอัยการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมาก และทำให้การทำงานของพนักงานอัยการของประเทศเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ไม่ต้องคิดหรือทำการทุจริตคอร์รัปชั่นเสียเอง องค์กรอัยการของประเทศเกาหลีใต้จึงเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนมาจนบัดนี้

อีกประการหนึ่ง ในประเทศเกาหลีใต้นั้น ระบบ “การตรวจสอบโดยประชาชน” (Public Accountability) มีความเข็มแข็งมาก ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้แม้อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็ต้องกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแม้บุตรสาวของ นายพล Park Chung-hee ซึ่งก็ได้เป็นประธานาธิบดีโดยอาศัยบารมีของบิดาตน แต่ในที่สุดก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตและต้องติดคุก

สําหรับประเทศไทยเรา เมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดย คสช. นอกจากผู้เขียนนึกถึงประเทศเกาหลีใต้และนึกถึงคำพูดของเพื่อนพนักงานอัยการของประเทศเกาหลีใต้แล้ว ผู้เขียนก็ได้ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้และของ นายพล Park Chung-hee ต่อไป

จากการค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้และบทบาทของ นายพล Park Chung-hee ของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนพบว่า

เมื่อระหว่างวันที่ 23 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2007 หรือ พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสัมมนาที่เรียกว่า World Congress for Korean Studies ที่ Nurimaru, Besco in Busan และมีเอกสารนำเสนอในการสัมมนาชิ้นหนึ่งเป็นของ Professor Mortusa Khaled, Department of History, University of Rajshahi, Bangladesh ใช้ชื่อว่า Park Chung-hee Industrialization Policy and its Lessons for Developing Countries

ซึ่งค้นหาอ่านได้ที่ Google.co.th (park chunghee policy PDF From Despair to Hope-Duke)

ในเอกสารชิ้นนี้มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า Park Chung-hee’s mode of military junta rule was known as “administrative democracy”, which stated objective was to weed out corruption, strengthen the automomous ability of people and establish social justice and this administrative democracy helped Park Chung-hee to establish his prime goal. In his economic development program Park Chung-hee from the beginning planned to manage economic development through state-led intervention in industrial enterprises.

หลังจากที่ นายพล Park Chung-hee ขึ้นเป็นผู้นำประเทศอยู่ระยะหนึ่งแล้ว ต่อมาเขาก็นำประเทศกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และเขาก็ได้เสนอตัวเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วย เขาก็ประสบความสำเร็จได้เป็นประธานาธิบดีแห่งประเทศเกาหลีใต้ แต่ที่สุดเขาก็ถูกลอบสังหารถึงแก่ความตายในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 1979

แต่ผลงานของเขามีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศตลอดมาจนบัดนี้

และผู้เขียนเห็นสมควรกล่าวย้ำอีกครั้งว่า แม้ประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นบุตรสาวของ Park Chung-hee ก็ต้องติดคุกเพราะเหตุเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุริตคอร์รัปชั่น เกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครองประเทศในประเทศไทยเราโดย คสช. ในครั้งนี้นั้น นอกจากผู้เขียนหวนนึกถึงประเทศเกาหลีใต้แล้ว ผู้เขียนยังหวนนึกถึงสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอีกประเทศหนึ่งด้วย กล่าวคือ ตลอดเวลาที่ผู้เขียนศึกษากฎหมายอยู่ในประเทศนั้น ไม่มีใครเลยทั้งคนต่างชาติหรือคนเยอรมันเองที่จะคิดว่าประเทศเยอรมนีจะสามารถรวมเป็นประเทศเดียวกันได้ แต่ต่อมาการรวมประเทศก็เกิดขึ้นจริง ซึ่งข้อนี้เกิดจากความแตกต่างในทางเศรษฐกิจและสังคมของเยอรมันตะวันตกกับเยอรมันตะวันออกซึ่งมีอยู่อย่างมากนั่นเอง

เมื่อเช่นนี้ในบทความเรื่อง “เหลียวหน้า แลหลัง การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ผู้เขียนจึงได้ทำนายว่า ในอนาคตการรวมประเทศของเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือจะต้องเกิดขึ้นเช่นกัน

และคงไม่นานเกินรอ

และในปัจจุบันก็มีข้อบ่งชี้ตามสมควรแล้วมิใช่หรือ !?!

ต่อไปนี้ผู้เขียนขอวกกลับมาสู่เรื่องของบ้านเมืองเราอีกครั้ง และต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องในข้อเขียนของผู้เขียนดังกล่าวมานั่นเอง โดยผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า

“ขณะนี้ในบ้านเมืองเรามีความเป็นห่วงกันในเรื่องของการ “เสียของ” สำหรับผู้เขียนเองนั้น ก็ได้แต่ภาวนาว่า คสช. จะดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างจริงจังอย่างที่ได้กล่าวไว้ ให้ได้ผลเช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ แล้วก็คงจะได้ทำการพัฒนาประเทศทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง หากทำได้ก็คงจะไม่ “เสียของ” เป็นแน่แท้

การที่ผู้เขียนกล่าวถึง Park Chung-hee มาทั้งหมด ผู้เขียนเพียงแต่จะกล่าวด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเพียงใด การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมืองต้องขึ้นอยู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศ

และหากการอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องและถูกหลักการแล้ว การ “เสียของ” ก็คงจะเลิกคิดถึงกันได้กระมัง และวงจรการยึดอำนาจการปกครองประเทศก็คงจะไม่หวนกลับมาอีก

จึงขอฝากข้อนี้ต่อ คสช. ด้วย”

และในบทความเรื่องดังกล่าวมานั้น ผู้เขียนได้กล่าวต่อไปอีก ดังต่อไปนี้

“สุดท้ายนี้ ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็เห็นด้วยกับการให้อัยการรับผิดชอบการสอบสวน ก็อยากจะฝากต่อ คสช. ให้ช่วยคิดต่อในข้อนี้ด้วย

เมื่อได้มีการโยกย้ายบุคคลในสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วเช่นนี้ พอจะเริ่มอภิวัฒน์การดำเนินคดีชั้นเจ้าพนักงานตามแนวนโยบายของรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้แล้วหรือยัง เพราะในความเห็นของผู้เขียนการดำเนินคดีชั้นเจ้าพนักงานที่มีพนักงานอัยการเป็นจุดเกาะเกี่ยวนั้นมีความสำคัญ และกระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ดังเช่นที่ Park Chung-hee ได้กระทำให้เห็นเป็นแบบอย่างมาแล้ว”

เกี่ยวกับการยึดอำนาจของ นายพล Park Chung-hee แห่งเกาหลีใต้ กับการยึดอำนาจของคณะทหารของเราที่เรียกตนเองว่า คสช. ในเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น จึงต่างกันอย่างเห็นได้ชัดมิใช่หรือ !??!

4.การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเรา

ในการวางแผนพัฒนาประเทศชาติของเรานั้น ในอดีตเรามีการวางแผนการพัฒนากันทุกห้าปี และในชั้นแรกเราก็มี “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1” และเราก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติต่อๆ กันไปจนถึง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 4”

ต่อจากนั้นเราก็เริ่มมีความรู้สึกกันว่า

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่อาจทำให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าและมีความสงบโดยปราศจากการพัฒนาสังคมควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น ในการพัฒนาประเทศต่อมาเราจึงเปลี่ยนความคิดเดิม และแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 5 จึงกลายเป็น

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5”

และแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2524

ในการ “พัฒนาสังคม” นั้น เราเห็นกันว่าเกี่ยวกับ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราจะละเลยไม่พัฒนา “กระบวนการยุติธรรม” ของประเทศคงจะไม่ได้

ดังนั้น ในการยกร่าง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5” นั้น จึงได้มีการจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนากระบวนการยุติธรรม” ด้วย

“คณะอนุกรรมการพัฒนากระบวนการยุติธรรม” ที่มีการจัดตั้งขึ้นนี้มี พลตำรวจโท สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ (ยศในขณะนั้น) เป็นประธาน และมีผู้เขียนร่วมเป็นอนุกรรมการด้วยผู้หนึ่ง

ผู้เขียนจำได้ว่าในรายงานของอนุกรรมการฯ ได้มีการระบุให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนฟ้องร้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อนุกรรมการฯ ได้เสนอให้

“การสอบสวนฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวกัน”

อันเป็นข้อเสนอที่สอดรับกับนโยบายของ “รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร”

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ ในการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทยของเรา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เมื่อเดิมจะดูกันเพียงว่าประมวลกฎหมายต่างๆ ของเรามีความบกพร่องอะไรบ้าง คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายต่างๆ จึงเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยเป็นผู้พิพากษาเสียเป็นส่วนใหญ่

ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายกันในมิติใหม่ โดยให้มีการผสมผสานกันหลายฝ่าย

คณะกรรมการพิจารณาปรับปรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในมิติใหม่ต่อมาจึงมีองค์ประกอบดังนี้

(1) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการแล้วและเป็นที่ยอมรับกัน เป็นประธานกรรมการ (นายกมล วรรณประภา)

(2) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วยงาน เป็นกรรมการ (อธิบผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีกรมตำรวจ เจ้ากรมพระธรรมนูญ อธิบดีกรมอัยการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมศุลกากร สภาทนายความ)

(3) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน เป็นกรรมการ และ

(4) ผู้แทนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 คน เป็นกรรมการ

โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับผู้เขียนเองนั้น ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในมิติดังกล่าวในชั้นแรกในฐานะเป็นผู้แทนอธิบดีกรมอัยการในขณะนั้น คือ นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ และต่อมาในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิคือ นายโกเมน ภัทรภิรมย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมอัยการ ผู้เขียนจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสืบแทนนายโกเมน ภัทรภิรมย์

คณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมิติใหม่ดังกล่าว ได้ทำงานจนแล้วเสร็จ แต่ครั้นเมื่อได้ส่งผลงานไปยังคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น

ครั้นเมื่อต่อมาผู้เขียนได้ร่วมเป็น ส.ส.ร. 2540 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน ผู้เขียนจึงได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ได้กระทำกันมาในคณะกรรมการในมิติใหม่นั่นเอง เช่น การให้ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นมีอำนาจออกหมายอาญา การให้ศาลนั่งพิจารณาให้ครบองค์คณะ เป็นต้น

5.การปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ด้วย

และจะด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตาม ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมาสองคณะแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เห็นรูปเห็นร่างอะไรเลยก็ว่าได้ ส่วนการปฏิรูปองค์กรอัยการและองค์กรศาลก็ยังไม่เห็นมีการดำเนินการอะไรเลยก็ว่าได้อีกเช่นกัน

แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้เกิดหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นใหม่มากมายก่ายกอง เช่น ได้มีการจัดตั้ง “ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 บัญญัติให้ศาลดังกล่าวใช้ “ระบบไต่สวน”

เกี่ยวกับคำว่า “ระบบไต่สวน” นั้น ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วก็คือ

“ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ต้องทำตนให้เป็น “หลักในการดำเนินคดีอาญา” กล่าวคือ ต้องทำตนเป็น “Master of the Ceremony” ทำนองนักแสดงบนเวทีการแสดงทั้งหลาย

และผู้เขียนเห็นต่อไปอีกว่า มิใช่ “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” เท่านั้น ที่ต้องทำตนเองให้เป็น “Master of the Ceremony” ทำนองนักแสดงบนเวทีการแสดงทั้งหลาย หากแต่ถึงเวลาแล้วที่ “ศาลยุติธรรมทางอาญา” กล่าวคือ “ศาลยุติธรรมในคดีอาญา” ทั้งหมด อันได้แก่ศาลอาญาและศาลจังหวัดทั้งหลายก็ต้องทำตนเองให้เป็น “Mater of the Ceremony” ในคดีอาญาทำนองนักแสดงบนเวทีการแสดงทั้งหลายด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่ถูกต้องที่สามารถแก้ปัญหาของสังคมและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง

กล่าวคือ ศาลยุติธรรมทางอาญาทั้งหลายต้อง “กระตือรือร้น” (active) ในการตรวจสอบความจริง ทั้งนี้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 229

บัญญัติว่า “มาตรา 229 ศาลเป็นผู้สืบพยาน จะสืบในศาลหรือนอกศาลก็ได้ แล้วแต่เห็นสมควรตามลักษณะพยาน”

และมาตรา 228 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็บัญญัติอีกว่า

“ระหว่างพิจารณาโดยพลการหรือคู่ความฝ่ายใดร้องขอ ศาลมีหน้าที่สืบพยานเพิ่มเติม จะสืบเองหรือส่งประเด็นก็ได้”

แต่ในทางปฏิบัติเราปล่อยให้มีการต่อสู้กันในคดีอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเลย

การปฎิรูปใดๆ ในกระบวนการยุติธรรมต้องไม่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เช่น การมีกฎหมายว่าด้วยตำรวจศาลเพื่อการจับกุมผู้หลบหนีประกันชั้นศาล การมีกฎหมายว่ากองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีหลักประกันเพียงพอ เป็นต้น

“การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ” นั้น จะต้องตอบคำถามเสียก่อนว่ามี “ความจำเป็น” หรือไม่

“ความจำเป็น” ที่ต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ ก็คือ การหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และการก่ออันตรายประการอื่น เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 ไม่ได้เรียกร้องหลักประกันแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติมีการเรียกหลักประกันอย่างพร่ำเพรื่อ

นอกจากนั้น นักกฎหมายของเรายังมีความเข้าใจกันว่า “การปล่อยชั่วคราว” (provisional release) เป็นอย่างเดียวกับ bail ตามระบบกฎหมายของอเมริกัน กรณีจึงเกิดการทำมาหากินขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา : หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ” ซึ่งได้พิมพ์ครั้งที่ 4 แล้วโดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ในเชิงอรรถที่ 225

ยิ่งกว่านั้นมาตรา 72 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังบัญญัติอีกว่า

“มาตรา 72 หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาล ให้ออกในกรณีต่อไปนี้

ฯลฯ …………………….. ฯลฯ………………………..

(2) เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ศาลปล่อย โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ระหว่างสอบสวน

ฯลฯ ………………………..ฯลฯ……………………..”

ซึ่ง “ความจำเป็น” ก็คือ การหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือการก่ออันตรายประการอื่น ดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง

บทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวจึงเป็นหมันตลอดมา

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายเรื่องจึงเป็นการแก้ไขกฎหมายที่สิ้นเปลืองงบประมาณ
แผ่นดินอย่างแท้จริง และผู้เขียนเองก็ได้กล่าวอีกว่า

“เป็นการกระทำที่กระทบต่อภาษีที่ผู้เขียนต้องเสียให้แก่รัฐ”

ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “การกระทำในทางกฎหมาย” ใน ผนวก 6 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา : หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ ในการพิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562

บทสรุป

บัดนี้ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบสิ้นลง การทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยังคงรุนแรงเหมือนเดิมและรุนแรงยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ และเมื่อมีการยึดอำนาจเกิดขึ้นแล้ว เราก็ไม่เคยศึกษาหาความรู้จากตัวอย่างที่ดีของ นายพล Park Chung-hee กันเลย

ซึ่งเกี่ยวกับ นายพล Park Chung-hee นั้น ผู้เขียนได้ค้นคว้าและนำมาตีแผ่ในหนังสือ “อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ที่ได้วางจำหน่ายมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 หลังการยึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ยอมรับกันหรือยังว่าประเทศเกาหลีใต้นั้น ก่อนนี้เจริญน้อยกว่าเราเสียอีก แล้วบัดนี้เป็นอย่างไร

ในยุค คสช. ที่ผ่านมานั้น เราทั้งหลายสังเกตกันบ้างหรือเปล่าว่า

“เรามีคณะรัฐบาลสองชุดในขณะเดียวกัน”

ซึ่งเป็นพัฒนาการใหม่ในการยึดอำนาจการปกครองประเทศในครั้งนี้

แต่เราก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เลยแม้แต่น้อย

ผลของการยึดอำนาจของเราจึงแตกต่างกับผลของการยึดอำนาจของ นายพล Park Chung-hee เป็นอย่างมาก และนายพล Park Chung-hee ได้เริ่มกระทำทุกอย่างตั้งแต่ยังอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จด้วยซ้ำ

บัดนี้ เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วนะ เราจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นกันหรือไม่อย่างไร !??!

เราจะไม่ปฏิรูปหรืออภิวัฒน์ “กระบวนการยุติธรรม” ของเราบ้างหรือไม่อย่างไร !??!

คณิต ณ นคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image