ที่เห็นและเป็นไป : ในพันธนาการของ ‘เฟคนิวส์’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

โลกที่เคลื่อนไปสู่อนาคต ณ วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือสังคมออนไลน์มีบทบาทสูงยิ่งที่จะกำหนดความเป็นไป

ใครหรือสังคมใดจะพัฒนาไปได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับทรรศนะที่มีต่อเครื่องมือของโซเชียลเน็ตเวิร์ก

“กลัว” หรือ “พร้อมรับ” คือทางเลือกที่จะสะท้อนทิศทางการพัฒนาให้ก้าวไปพร้อมกับโลกได้

ด้วยความเป็นจริงที่ว่า ไม่มีใครหยุดพัฒนาการของเครื่องมือสื่อสารแห่งยุคที่เคลื่อนไปในทางเชื่อมโลกทั้งโลกเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวอย่างทันท่วงที

Advertisement

กลไกของเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถขุดเจาะความเป็นส่วนตัวของคนทั้งโลกเอาไปรวมไว้ในดาต้าเบส แล้วใช้โปรแกรมสังเคราะห์ข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

การสื่อสารที่เลยไปถึงความพยายามชี้นำความคิด และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมในทางที่วางเป้าหมายไว้แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางการเมือง ทางการค้า หรือกระทั่งการลวงเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า

Advertisement

หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้น

และอย่างที่บอก ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะเผชิญกับความเป็นไปเช่นนี้ด้วย “ความกลัว” หรือ “พร้อมรับ” อันหมายถึง “คิดหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์”

มีปรากฏการณ์หนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจที่จะนำมาแลกเปลี่ยน

สำหรับผู้ติดตามความเป็นไปของวิธีการสื่อสารออนไลน์ที่เข้าสู่ยุคนำเสนอด้วยคลิปวิดีโอกำลังได้รับความนิยมสูง หากสังเกตจะพบว่า “คลิปวิดีโอ” จำนวนมากที่กระจายอยู่ในช่องทางสื่อออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เป็นสื่อที่ผลิตจากประเทศจีนมากขึ้น

ในจำนวนมากมายนั้นจะเห็นได้ชัดว่าความโดดเด่นอยู่ที่ “คลิปที่เจตนากระตุ้นจิตสำนึกของคนให้นึกถึงส่วนรวม”

เป็นคลิปที่แสดงถึงการช่วยเหลือคนอื่น ทำในสิ่งที่ดีงามโดยไม่หวังผล เผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก

ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้มีบทบาทนำสังคมของประเทศจีน คิดใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพนี้กระตุ้นจิตสำนึกในทางสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาภาพลักษณ์ของคนจีนในสายตาชาวโลกผ่านนักท่องเที่ยวอันเป็นไปในทางลบ

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็หมายถึง ผู้นำสังคมจีนกำลังเผชิญหน้ากับ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” อย่าง “พร้อมรับ” และคิดในทางหาวิธีจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ในการพัฒนาภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ

เป็นการพลิกจากที่เคยเข้มงวด ปิดกั้นการเข้าถึงมาเป็นการใช้เป็นเครื่องมือที่ก่อประโยชน์

ที่บอกว่านี่เป็นความน่าสนใจ เนื่องจากมองกลับมาที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรา

จากที่ปล่อยอิสระให้สังคมออนไลน์มายาวนาน จนกลายเป็นประเทศหนึ่งที่ประชากรใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมากติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งน่าจะหมายถึงได้เรียนรู้แล้วว่าสังคมออนไลน์ ก็เหมือนกับสังคมปกติ คือมีทั้งดีและเลวผสมปนเปกันอยู่ ซึ่งการใช้อย่างเสรีมานานควรจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเท่าทันมากกว่าใครว่าจะใช้อย่างไรให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์

เสรีภาพในโลกออนไลน์มายาวนาน ย่อมหมายถึงการเข้าใจมากกว่าประเทศที่ปิดกั้น

อันควรจะมี “ความพร้อมรับ” และ “สามารถสร้างสรรค์” ในทางที่เกิดประโยชน์กับการพัฒนาได้มากกว่า

คือ ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาให้เป็นประโยชน์

กลับกลายเป็นว่า หากติดตามความคิดความอ่านของผู้นำในทุกระดับจะพบว่า แทบไม่มีใครพูดถึงวิธีอยู่กับโลกการสื่อสารยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์ หาวิธีการใช้ให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนา

ที่ออกมาตอกย้ำให้ได้ยินได้ฟัง และหลายเรื่องลงมือทำไปแล้วคิดการปิดกั้น

“เฟคนิวส์” กำลังถูกหยิบขึ้นมาเป็นข้ออ้างของความจำเป็นต้องปิดกั้น

ในสภาพเช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่าการนำประเทศให้เคลื่อนไปในสังคมยุคใหม่ ถูกขับด้วย “ความกลัว”

ถ้าเป็นเช่นนั้น คำถามที่จะต้องช่วยกันหาคำตอบก็คือ

“ผู้นำที่กลัวความเป็นจริงของความเป็นไปที่ปฏิเสธไม่ได้ จะพาประเทศชาติและประชาชนไปสู่ชะตากรรมเช่นใด”

และที่สำคัญกว่านั้นคือ ทุกคนจะต้องถามตัวเองว่า

“ยอมหรือกับการถูกบังคับให้ร่วมจมอยู่ในภวังค์ของความกลัวเช่นนั้น”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image