เรียนรู้ สู้หวัดในหน้าฝน โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ย่างเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศชื้น โรคภัยไข้เจ็บที่มักพบบ่อย ก็จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ฉบับนี้จึงชวนผู้อ่านมาร่วมเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลสุขภาพตนเอง

“ไข้หวัด” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Common Cold หรือ Upper Respiratory tract Infection ตัวย่อว่า URI ไข้หวัด เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจจะเป็นปีละหลายครั้งก็ได้ (โดยเฉพาะในเด็กและในเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรกๆ อาจจะเป็นเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง) ทำให้ต้องสูญเสียแรงงาน เสียเวลาเล่าเรียน ขาดงานและสิ้นเปลืองเงินทองไปปีละมาก และในช่วงเข้าหน้าฝน มีลมกระโชกด้วย จะทำให้พบผู้ป่วยเป็นหวัดมากยิ่งขึ้น

เชื้อไวรัส เป็นสาเหตุของไข้หวัด (เชื้อหวัดมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด เมื่อมีอายุมากขึ้นร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้น และมีอาการรุนแรงน้อยลง โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากในโรงเรียน โรงงาน และที่ๆ มีคนอยู่รวมกลุ่มกันมากๆ นอกจากนี้ เป็นโรคที่พบบ่อยได้ตลอดปี ซึ่งมักจะพบเป็นกันมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนในฤดูร้อนจะพบน้อย

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อหวัดซึ่งเป็น “ไวรัส” (virus) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด จากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่มด้วยกัน ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไวรัสไรโน (rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกนั้นก็กลุ่มไวรัสโคโรน่า (coronavirus) กลุ่มไวรัสอะดิโน (Adenovirus) เป็นต้น การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

Advertisement

นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดยังอาจติดที่มือผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์ ฯลฯ ที่ผู้ป่วยสัมผัส เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อโรค เชื้อหวัดก็จะติดมือของคนคนนั้น และเมื่อใช้นิ้วขยี้ตาหรือและจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนคนนั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้ ระยะการฝักตัว : ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งเกิดอาการขึ้น 1-3 วัน

อาการ : ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเริ่มด้วยมีไข้เป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวด หนักศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอ ในเด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียนเวลาไอ ในผู้ใหญ่อาจมีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ในทารกอาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วย ถ้าเป็นอยู่เกิน 4 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีสีเหลืองหรือสีเขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนขึ้นตามมา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ : ไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวม คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก

Advertisement

อาการแทรกซ้อน : ที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีน้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว ถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจลุกลามทำให้เป็นทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบได้ในที่สุด ในเด็กเล็ก อาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูง บางรายอาจมีเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ บางรายอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ เนื่องจากอวัยวะการทรงจำภายในหูชั้นในอักเสบ ดังที่เรียกว่า “หวัดลงหู” ซึ่งจะหายเองได้ภายใน 3-5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อนตรากตรำงานหนัก ร่ายกายอ่อนแอ เช่น ขาดอาหาร ฯลฯ ในทารกหรือผู้สูงอายุ

การรักษา : เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ได้แก่

1.แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้ 1.1 พักผ่อนให้มากๆ ห้ามตรากตรำทำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป 1.2 สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝนหรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น 1.3 ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง 1.4 ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง ข้อเสนอแนะเหล่านี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้จากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

2.ให้ยารักษาตามอาการ ดังนี้ 2.1 สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี) ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน ใน 2-3 วันแรก เมื่อทุเลาควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มากนักก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้ ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน) ถ้าไอมาก ลักษณะไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะให้ยาระงับไอ 2.2 สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลน้ำเชื่อม ถ้ามีน้ำมูกมากให้ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดเอาน้ำมูกออกบ่อยๆ หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่งสอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียวควรชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือพอชุ่มๆ ก่อน ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นๆ มากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน ควรแนะนำให้ป้อนนม หรืออาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน

3.ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้ เพราะมันไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัด ซึ่งเป็นไวรัส อาการที่สังเกตได้ คือ มีน้ำมูกใสๆ หรือขาวๆ ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีน้ำมูกหรือเสลดข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือปวดหู หูอื้อ หรือมีไข้เกิน 4 วัน ยาปฏิชีวนะให้เลือกใช้เพนวี อะม็อกซีซิลลิน ในรายที่แพ้เพนิซิลลิน ให้ใช้อีริโทรมัยซิน แทน ควรให้นาน 7-10 วัน

4.ถ้าไอมีเสลดเหนียว ให้งดยาแก้แพ้และยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ วันละ 10-15 แก้ว (ห้ามดื่มน้ำเย็น) อาจให้ยาขับเสมหะร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

5.ถ้ามีอาการหอบหรือนับการหายใจเร็วกว่าปกติ : เด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที เด็กอายุ 2 เดือน ถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที อายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที หรือมีไข้นานเกิน 7 วัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะอาจจะลุกลามเป็น “ปอดอักเสบ” ได้ หรือภาวะรุนแรงอื่นๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ฯลฯ

6.ในเด็กถ้ามีอาการชักร่วมด้วย อาจให้ยากันชัก โดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป

ข้อแนะนำ : 1.ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วันถ้าเป็นเกิน 4 วัน มักแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรืออาจเกิดจากโรคอื่นๆ 2.ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกราย ยกเว้นในรายที่สงสัยจะมีอาการแทรกซ้อนเท่านั้น 3.ผู้ที่เป็นไข้หวัด (มีอาการตัวร้อนร่วมด้วย) เรื้อรังเป็นเป็นๆ หายๆ อาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด ธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางอะพลาสติก โรคขาดอาหาร เป็นต้น หากพบหรือสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาล 4.ผู้ป่วยที่เป็นหวัดและจามบ่อยๆ โดยไม่มีไข้มักเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ฝุ่น หรือละอองเกสร เป็นต้น มากว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส 5.ผู้ที่อาการไข้และมีน้ำมูก แต่ตัวร้อนจัดตลอดเวลา กินยาลดไข้ไม่ทุเลา มักจะไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น หัด ปอดอักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ ควรตรวจดูอาการของโรคนี้อย่างละเอียด 6.อย่าซื้อหรือจ่ายชุดแก้หวัดที่ทีมีคลอแรมเฟนนิคอล เตตราไซคลิน หรือเพร็ดนิโซโลน ผสมอยู่ด้วย นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังมีอันตรายได้ 7.เมื่อเป็นหวัดควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าหู หรือโพรงไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนได้ 8.สำหรับเด็กเล็ก อย่าซื้อยาแก้ไอสูตรผสมต่างๆ กินเอง เพราะอาจมีตัวยาเกินความจำเป็นจนอาจเกิดพิษได้ 9.ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่านอนปะปนกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าปิดปาก หรือจมูกไม่หายใจลดผู้อื่น

การป้องกัน : 1.อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย 2.ระวัง รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง 3.อย่าตรากตรำงานหนักเกินไป และควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ 4.ไม่ควรเข้าไปในที่มีคนแออัด เช่น โรงมหรสพ โดยเฉพาะในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ 5.ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเย็น 6.ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ทั้งผู้ป่วยและคนที่อยู่ใกล้ชิดและอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะไชจมูก 7.อย่าใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องของใช้ โทรศัพท์ ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด

โดยสรุปแล้ว โรคไข้หวัด เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาโดยเฉพาะระยะฝักตัว 1-3 วัน เป็นเองหายเองได้ ถ้าพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอาบน้ำเย็น ดื่มน้ำเย็น รักษาความอบอุ่นของร่างกายให้ดี แต่ถ้ามีไข้สูงๆ ไอ จาม มากขึ้น น้ำมูกเริ่มขุ่นเขียว เหลือง ไอมีเสมหะ เสลด ให้ตระหนักว่าน่าจะเกิดการแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย ควรต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการลุกลาม การติดเชื้อ จากคอ จมูก ส่วนมากจะลุกลามไปที่กล่องเสียง หลอดลมอักเสบ และท้ายสุดอาจจะเกิดปอดหรือที่เรียกว่า “ปอดบวม” หลักการป้องกันหลีกเลี่ยงคลุกคลีกับผู้ป่วย รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วย “3อ 3ลด” กล่าวคือ 3อ : ออกกำลังกาย สม่ำเสมออาทิตย์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละ 30 นาที หลักสำคัญคือ ต้องการให้เหนื่อย เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็วแรง เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานโรค ร่างกายจะสดชื่น อาหาร ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หลักการลดหวาน มัน เค็ม ระลึกเสมอว่ารับประทาน “อาหาร” เป็น “ยา” ครอบจักรวาล อารมณ์ สร้างพลังร่างกายของเราให้มี “สติ สมาธิ ปัญญา” ด้วยการสร้างอารมณ์ของเราให้เป็นคนอารมณ์ดี ด้วยการ “คิดบวก” เสมอ และยึด “อุเบกขา” ที่สำคัญ คือ พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละคืน 3ลด : ได้ “ลดอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่” เป็นการลดปัจจัยหรือ “อบายมุข” เสี่ยงต่อการเกิดไข้หวัดได้ง่าย

เพราะฉะนั้น “3อ 3ลด” คือ สูตรสำคัญใน “ในการสร้างสุขภาพ” โดยเฉพาะทั้งโรคติดต่อและ/หรือโรคไม่ติดต่อ เพราะเป็นการสร้างหรือทำให้เกิด “วัคซีนชีวิต” โดยธรรมชาติที่ดีที่สุด สะดวกด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องซื้อไม่ต้องขาย มี “คุณค่าสูง” ไร้ราคา ถ้าทุกคนอยากได้อยากมีเพื่อ “ป้องกันโรค” ต้องทำเอง หรือสร้างเองวันนี้ เดี๋ยวนี้ เพื่อการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image