ว่าด้วยพรรคเล็กๆ/พรรคจิ๋ว : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ว่าด้วยพรรคเล็กๆ/พรรคจิ๋ว : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ว่าด้วยพรรคเล็กๆ/พรรคจิ๋ว : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงนี้ มีมิติทางทฤษฎีที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ดังที่เคยนำเสนอไว้แล้วหลายเรื่อง อย่างเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วก็ได้อภิปรายถึงเรื่องของพรรคสืบสานอำนาจเผด็จการไว้แล้ว

ในรอบนี้ อยากจะนำเสนอเรื่องของการพยายามทำความเข้าใจกับ พรรคเล็กๆ หรือพรรคที่เรียกกันว่า พรรคจิ๋ว หรือบ้างก็เรียกกันว่า พรรคเก้าอี้เสริม สักหน่อย

จะว่าพรรคเหล่านี้ไม่สำคัญก็ไม่น่าจะใช่ แต่เรื่องที่สำคัญมากก็คือต้องเข้าใจถึงบริบททางการเมืองของพรรคเหล่านี้ให้ดี ไม่ควรจะรีบร้อนฟันธง

Advertisement

เวลาที่เราพูดถึงพรรคเล็กๆ หรือพรรคจิ๋วนั้น เอาเข้าจริงในวงการวิชาการทางรัฐศาสตร์ และในมุมของนักวิเคราะห์ทางการเมืองก็ไม่ได้มีความเข้าใจตรงกันมากนัก แถมยังต้องอิงบริบทของประเทศอย่างมาก

อย่างในกรณีของอเมริกานั้น คำว่า พรรคที่สาม (third party) นั้นก็ใช้ค่อนข้างกำกวม เพราะหมายถึงพรรคที่ไม่ใช่สองพรรคใหญ่ทัั้งหมด หรือบางทีก็หมายถึงผู้สมัครที่ไม่ได้สังกัดพรรค หรือตั้งพรรคขึ้นใหม่ที่มีบทบาทในรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดี โดยเฉพาะในยุคไม่นานมานี้ก็มีตั้งแต่ รอส โพรอ และ ราฟ นาเดล

ในการวิเคราะห์การเมืองอเมริกานั้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันว่าพรรคที่สาม หรือฝ่ายที่สาม ไม่ค่อยจะได้ผุดได้เกิดเท่าไหร่ในทางการเมือง ด้วยว่าระบบกฎหมายบางอย่างนั้นมีผลทำให้การต่อสู้กันในการแข่งขันประธานาธิบดีนั้นเกิดการสอดแทรกจากฝ่ายที่สามได้ยาก เช่น การลงทะเบียนเลือกตั้ง และการมีคณะเลือกตั้งที่พรรคที่ชนะในมลรัฐนั้นได้คะแนนเสียงไปทั้งมลรัฐ แม้ว่าคะแนนชนะจะสูสีก็ตาม

Advertisement

แต่กระนั้นก็ดี พรรคที่สาม หรือฝ่ายที่สาม ทางการเมืองในอเมริกานั้นก็ปรากฏตัวและมีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตสูู่ปัจจุบัน หากนับรวมแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1877 เป็นต้นมา มีวุฒิสมาชิกถึง 31 คน สมาชิกสภาผู้แทน 111 คน ผู้ว่าการมลรัฐ 22 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่ได้เป็นสมาชิกสองพรรคใหญ่ ไม่นับนายกเทศมนตรีอีกจำนวนไม่น้อย

นอกจากนั้นแล้ว ว่ากันว่าพรรคเล็กๆ หรือฝ่ายที่สาม ยังทำหน้าที่สำคัญในทางการเมือง ในแง่ของการนำเสนอประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ที่สำคัญที่มีผลทำให้ผู้สมัครพรรคใหญ่จำต้องมีจุดยืนในเรื่องนั้น และในบางกรณีหากได้รับความนิยม แม้ว่าจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก็อาจมีผลทำให้ผู้สมัครพรรคใหญ่เสียคะแนนไปได้ หรืออาจจะพ่ายแพ้ไปในที่สุดถ้าการแข่งขันระหว่างพรรคใหญ่สองพรรคนั้นดุเดือด สูสีมาก

เอาเข้าจริงอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เองนั้นตอนแรกที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็เหมือนจะมีทีท่าที่จะลงเป็นผู้สมัครอิสระ หรือในอดีตก็เคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตมาก่อน ขณะที่สุดท้ายก็หันมาลงสมัครในนามรีพับลิกัน และได้รับชัยชนะไปในที่สุด

ทีนี้ในกรณีของอังกฤษนั้น อาจจะพูดไม่ได้เต็มปากว่ากฎหมายนั้นมีผลสำคัญสุดในการทำให้พรรคเล็กไม่มีบทบาท และยังเคยมีการพยายามพูดกันว่า สาเหตุสำคัญของการไม่เกิดพรรคเล็กนั้นเป็นเพราะว่าอังกฤษนั้นมีวัฒนธรรมที่เน้นการมีสองพรรค แต่เอาเข้าจริงพรรคที่สามก็เคยมีบทบาทในอดีต และไม่นานมานี้ พรรค Liberal Democracy ก็เคยได้รับเลือกมาถึงขั้นที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมมาแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนั้นพรรคเล็กๆ (small party หรือ smaller party) ในอังกฤษก็ยังมีมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะพรรคที่เป็นพรรคที่จัดตั้งตามประเด็นและอุดมการณ์ที่ชัดเจนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น พรรค WE หรือ WEP (มีนัยยะแฝงว่า เรา) ที่ย่อมาจากพรรค Women’s Equality Party หรือพรรคเพื่อความเสมอภาคของสตรี ที่แม้ว่าจะตั้งได้ไม่นาน แต่สุดท้ายก็ได้รับเลือกหนึ่งเก้าอี้ในสภามหานครลอนดอน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

พรรคเล็กๆ ในอังกฤษนี้ ส่วนหนึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย เพราะทำให้คนกระตือรือร้นทางการเมือง และส่งสัญญาณจุดยืนในประเด็นนโยบายและอุดมการณ์ไปยังพรรคใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งนักวิเคราะห์การเมืองอังกฤษก็มองว่าการเลือกตั้งที่มีมากเกินไปคอมีหลายระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาคยุโรปนั้นอาจเป็นประเด็นท้าทายต่อพรรคเล็กๆ เพราะพรรคเล็กๆ นั้นอาจมีทรัพยากรไม่พอในการรณรงค์

ในกรณีของอิตาลีนั้น ความเป็นจริงทางการเมืองอาจไม่เหมือนอเมริกา หรืออังกฤษ เพราะอิตาลีไม่มีรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาดจากพรรคเดียว และพรรคเล็กๆ ในอิตาลี (บางทีถูกตั้งฉายาว่าพวกพรรคพุ่มไม้เล็ก หรือพรรคปลาซิวปลาสร้อย) นั้นก็มีในหลายรูปแบบคือ พวกที่เน้นนโยบาย/จุดยืนเรื่องนโยบายใดนโยบายหนึ่ง พวกที่เน้นภูมิภาคเดียว หรือพวกที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียว หรือพวกที่ผสมปนเปกันไปหมด รวมทั้งพวกที่ตั้งโดยผู้นำทางการเมืองคนใดคนหนึ่งเพื่อจะเข้าสู่อำนาจ

ในกรณีของออสเตรเลีย มีงานวิชาการที่น่าสนใจจากนักวิชาการที่สนใจเรื่องการเมืองในออสเตรเลียที่มองว่าการวิเคราะห์ เรื่องพรรคเล็ก พรรคเล็กๆ หรือพรรคจิ๋วนั้นยังมีการศึกษากันน้อย และที่ศึกษาก็ไม่มีการทำความเข้าใจมิติในแง่ของความคิดรวบยอด (concept) ที่ชัดเจน คือจะนิยามอย่างไร และจะจัดประเภทอย่างไร

ประเด็นที่เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตก็คือ พรรคจิ๋วนั้น (บ้างก็เรียกว่า small party หรือ micro party) เป็นพรรคที่เรามองเพียงแค่เป็นเรื่องขนาดหรือเปล่า เพราะบางทีพรรคที่มีขนาดเล็กนั้นอาจจะมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน มีความมุ่งหมายที่ต่างกันก็ได้

ที่สำคัญในทุกประเทศนั้นก็มีพรรคเล็กๆ แบบนี้มาโดยตลอด ทั้งล้มหายตายจากไป เกิดใหม่ หรือมีมาอย่างต่อเนื่อง

การนิยามพรรคจิ๋วนั้นจึงจำต้องมีความเข้าใจในหลายด้านที่มากไปกว่าเรื่องของขนาดเท่านั้น

และอาจจะต้องนิยามมากไปกว่าเรื่องของการมองว่าพรรคจิ๋วนั้นเป็นพรรคที่เน้นนโยบายเดียว จุดยืนเดียว หรืออุดมการณ์เดียว หรือมองว่าพวกพรรคจิ๋วนั้นเป็นพรรคสุดโต่ง เพราะบางพรรคนั้นอาจจะมีอุดมการณ์ผสมปนเปกันไปเรื่อยก็ได้ รวมทั้งไม่ควรมองว่าพรรคจิ๋วนั้นมีลักษณะการจัดองค์กรพรรคที่ต่างจากพรรคใหญ่

อีกด้านหนึ่งข้อเสนอในการมองพรรคจิ๋วใหม่นั้นก็ไม่ควรมองว่าพรรคจิ๋วนั้นเป็นพรรคที่เป็นพวกฉวยโอกาสทางการเมือง ด้วยการหาช่องว่างหรือโอกาสจากกฎกติกาทางการเมืองในการแทรกตัวเข้ามา แต่ควรจะมองว่า พรรคจิ๋วที่มีโอกาสได้เสียงเข้าสภาด้วยเงื่อนไขของกฎกติกาต่างๆ นั้น เป็นพรรคที่ควรเรียกว่าเป็น “พรรคที่เน้นไปที่การเข้าสู่ระบบเลือกตั้งด้วยทุกวิถีทาง” (electoralist parties) หรืออาจจะแปลว่าพรรคของนักเลือกตั้งก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ข้อเสนอใหม่ของนักวิชาการออสเตรเลีย จากการทำความเข้าใจการเมืองในออสเตรเลีย มองว่า ควรแบ่งพรรคการเมืองออกเป็นสามกลุ่ม ตามความสำคัญหรือนัยสำคัญของพรรคการเมืองต่อระบบการเมือง (the relevance and importance of the party) โดยมองว่าพรรคการเมืองนั้นประกอบด้วยสามกลุ่ม

1.พรรคใหญ่ (Major Parties) คือพรรคที่เรามักจะคาดหวังได้ว่ามีศักยภาพในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเอง หรือน่าจะกลายเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลได้ (พรรคแกนนำ)

2.พรรคเล็ก (Minor Parties) หมายถึงพรรคที่เราไม่น่าจะคาดหวังได้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้เอง หรือเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม พรรคระดับนี้ก็มีบทบาทสำคัญในระบบพรรคการเมือง เพราะยังเป็นพรรคที่สามารถสร้างสมดุล หรือยับยั้งข้อเสนอหรือประเด็นทางการเมือง หรือมีศักยภาพในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ทำให้การแข่งขันระหว่างพรรคนั้นมีความเข้มข้นดุเดือด ทั้งนี้ ขึ้นกับอีกเงื่อนไขสำคัญคือเรื่องของระบบการเลือกตั้งด้วย (พรรคมีอำนาจต่อรอง)

3.พรรคชายขอบ (Peripheral Parties) คือพรรคที่ไม่มีผลต่อระบบพรรคการเมืองในภาพรวม แต่อาจจะได้รับเลือก มีคะแนนเสียง หรือมีตัวแทนในสภา และอาจจะมีบทบาทในระบบการเมือง อย่างไรก็ตาม พรรคชายขอบนี้ไม่ได้มีค่าหรือความสำคัญอะไรในระดับที่จะมีอำนาจในการต่อรองหรือกดดัน แบล๊กเมล์ หรือ สร้างพันธมิตรกับพรรคอื่นๆ ได้ (พรรคไม่มีอำนาจต่อรอง)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าปรากฏการณ์พรรคเล็ก พรรคจิ๋วนั้นเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก มีมาโดยตลอด มีความสำคัญ แต่นิยามได้ยากและขึ้นกับบริบทของประเทศ และพลวัตในสังคมนั้นด้วย

ทีนี้ในสังคมไทยนั้น ผมคิดว่าการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ยังมีอยู่น้อยมาก และเมื่อเพิ่มเอาบริบททางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เราอาจจะต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่ากรณีของสิ่งที่เกิดในการเมืองบ้านเรานั้นมันยังเป็นไปตามความเข้าใจพรรคเล็กพรรคจิ๋วที่ได้พูดมาบ้างแค่ไหน

โดยเฉพาะในสื่อและในการวิชาการนั้นเรามักจะสนใจแต่พรรคใหญ่ๆ ที่ชนะการเลือกตั้งที่เรียกว่าเป็นตัวแปรสำคัญ แต่พรรคระดับล่างๆ นั้นเราไม่ค่อยสนใจมากนัก แม้ว่าพรรคเหล่านั้นจะมีคะแนนเสียงอยู่จำนวนหนึ่ง

จำได้ว่า ในสมัยก่อนนั้น เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับพรรคขนาดจิ๋วเหล่านี้ เราอาจจะแบ่งพรรคเป็นพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคเล็ก และพรรคจิ๋วคือไม่มีคะแนนเลย และพรรคเล็กก็มักเป็นพรรคที่ได้มาน้อยแต่อาจจะอิงกับตัวหัวหน้าพรรคหรือนักการเมืองบางคนที่ออกมาจับกลุ่มจับขั้วกัน

สมัยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เราก็เคยเห็นทั้งปาฏิหาริย์ทางการเมืองสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่พรรคขนาดกลางล่าง (กิจสังคม) รวมกับพรรคเล็กพรรคน้อยจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคใหญ่ได้ (ปชป.)

หรือกรณีที่พรรคระดับกลางในระบบก่อน 2540 นั้นใช้เงื่อนไขที่ไม่มีพรรคที่ชนะเสียงข้างมาก สามารถต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีได้มาก และยังต่อรองได้เพิ่มในทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างกรณีพรรคชาติไทย และนายบรรหาร จนเกิดการอธิบายได้ว่าพรรคขนาดกลางนั้นมีอำนาจในการต่อรองและอำนาจทางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนกว่าพรรคขนาดใหญ่ที่แม้จะเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลแต่ต้องพึ่งพาและต่อรองกับพรรคขนาดกลางเหล่านี้

บางครั้งเกิดการพยายามตั้งคำถามใหม่ว่า เอาเข้าจริงการตั้งพรรคขนาดกลางนั้นกลายเป็นตัวแบบที่เหมาะสมกับสภาวะทางการเมืองไทยมากกว่า ซึ่งหากดูมาจนถึงวันนี้ พรรคแบบชาติไทยที่มาเป็นชาติไทยพัฒนา หรือภูมิใจไทยนั้นก็อาจจะมีทิศทางไปทางนี้

ส่วนหลังรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นแม้ว่ากฎเกณฑ์จะมุ่งไปทางการสร้างพรรคใหญ่จากระบบบัญชีรายชื่อและบัตรเลือกตั้งสองใบ แต่พรรคขนาดกลางและเล็กก็ยังคงมี พรรคจิ๋วไม่ได้ผุดได้เกิด แม้ว่าจะมีเงินทุนสนับสนุน คือไม่ได้รับเลือกเลย แต่อีกด้านหนึ่งการเมืองก็เกิดการเผชิญหน้าแตกหักนับครั้งไม่ถ้วน

จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มองว่าจะเกิดพรรคเล็กมากขึ้น และเกิดพรรคใหม่ที่ขนาดใหญ่ทั้งพลังประชารัฐ (พรรคแกนนำ) และอนาคตใหม่ (พรรคมีอำนาจต่อรอง-ถ้าอิงตามหลักของออสเตรเลีย)

รวมทั้งพรรคมีอำนาจต่อรองเล็กๆ อีก เช่น พรรคต่ำสิบ

ในรอบนี้นอกจากกฎเกณฑ์ใหม่แล้ว การตีความกฎเกณฑ์ก็มีบทบาทเพิ่มด้วย เช่น กรณีของการมีสูตรคะแนนใหม่ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ ที่ทำให้พรรคที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์นั้นเข้ามาอีกเป็นสิบพรรค กอปรกับการที่ผลคะแนนนั้นสูสีกันมากของสองฝ่ายการเมือง ทำให้พรรคเล็กๆ นั้นเบียดตัวมาได้และมีอำนาจต่อรอง ซึ่งผิดไปจากกรอบทฤษฎีทั่วไป ที่มองว่าพรรคเล็กๆ ระดับนี้ไม่ควรจะเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรอง หรือแม้กระทั่งพรรคแกนนำเองก็อาจไม่ให้ค่ามากนัก เพราะเชื่อว่าคะแนนเสียงของตนมากพอ แถมมี ส.ว.เป็นพวกเข้าไปอีก

นี่คือสถานการณ์สำคัญที่พรรคจิ๋วที่แม้จะมีเก้าอี้แต่ไม่เคยถูกมองว่ามีอำนาจต่อรองนั้นเริ่มมีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้น และกรณีของสังคมไทยทำให้เราต้องเริ่มเข้าใจเรื่องราวของพรรคจิ๋วเหล่านี้มากขึ้น ภายใต้พลวัตการเมืองในประเทศตัวเอง และอาจรวมไปถึงการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ๆ ที่ทำให้รูปแบบการเข้าถึงประชาชนของพรรคเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

(หมายเหตุ: อ้างอิงจาก “Minor Political Parties”. Boundless Political Science. courses.lumentearning.com, H. Peaker. “Smaller parties have a surprisingly big impact on British Politics. Theguardian,com. 22/4/19, C.Edwards. “An introduction to Italy’s small political parties”. Thelocal.com. 11/09/17. และ G.Kefford. 2017. Rethinking small political parties: from micro to peripheral. Australia Journal of Political Science. 52:1 (95-109).)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image