เดินหน้าชน 9ก.ย.62 : กระทรวงท้องถิ่น : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

วันนี้ เราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว มีทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่พูดถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับแม้แต่นิดเดียว ไม่มีใครรู้ว่า ปฏิทินการเลือกตั้งท้องถิ่นจะออกมาเมื่อไหร่ กกต.ก็พร้อม นักการเมืองหลายแห่งก็พร้อม

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่รอการเลือกตั้งทั้งนายก อบจ. เทศบาล อบต. กทม.และเมืองพัทยา รวมทั้งสมาชิกสภาของทั้งหมดมีจำนวนกว่า 7 พันตำแหน่ง เผลอๆ อาจจะเลือกตั้งไม่หมดในรัฐบาลชุดนี้

ท่ามกลางคำถามเหล่านี้ก็มีเรื่องของการเสนอตั้ง “กระทรวงการปกครองท้องถิ่น” เกิดขึ้น ทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลงชื่อเสนอถึง 3 ญัตติ ต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาขึ้นมา

ทั้ง 3 ส.ส. ดังกล่าว ประกอบด้วย สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และ กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ทั้งสามญัตติล้วนได้รับเสียง ส.ส.สนับสนุนจากหลายพรรค และผู้เสนอญัตติล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมาก่อน

Advertisement

สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เคยเป็นอดีตรองนายก อบจ.กระบี่ ส่วนครูมานิตย์ มีปูมประวัติการเมือง ลาออกจากข้าราชการครูแล้วลงเล่นการเมืองเริ่มจากที่ปรึกษานายก อบจ.สุรินทร์ และที่ปรึกษาประธานสภา อบจ.สุรินทร์ ขณะที่ กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นั่งเก้าอี้รองนายก อบจ.มหาสารคาม และขึ้นเป็นนายกเทศมนตรี เมืองมหาสารคาม มาหมาดๆ ก่อนลงเล่นสนามการเมืองใหญ่ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาแวดวงท้องถิ่นทั้งผู้บริหารการเมืองท้องถิ่นไปจนถึงนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สรุปหลักการคร่าวๆ คือต้องการแยก “ท้องถิ่น” ออกจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จะมีอิสระในการทำงานมากขึ้น เป็นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งงบประมาณและตัวบทกฎหมายเป็นของตัวเอง

หากจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นได้จริงจะเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณจำนวนเป็นแสนล้านเลยทีเดียว จะมีอีกหลายกรมที่เกี่ยวข้องอาจต้องโยกงานบางส่วนหรือทั้งหมดเข้าสู่กระทรวงท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมการพัฒนาชุมชน เป็นต้น

Advertisement

นักข่าวสายการเมืองได้สอบถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับแนวคิดจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น เบื้องต้น พล.อ.อนุพงษ์ก็ไม่ได้ขัดขวางใดๆ เมื่อนักการเมืองมีเหตุผลที่ขอตั้งกระทรวงใหม่ก็ต้องมาคุยกัน ระดมความคิดเห็นกันเข้ามา แต่ พล.อ.อนุพงษ์ก็พูดในมุมมองส่วนตัวว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายกำกับ มีการทำงานร่วมกันกับสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ไม่มีใครสั่งท้องถิ่นได้ มีกรอบนโยบายที่จะทำได้แค่นั้น ท้องถิ่นทั้งหลายมีอิสระ ยิ่งถ้าเอาเหตุผลสองอันไปรวมกันยิ่งไม่มีเหตุผลว่าต้องมาตั้งกระทรวงท้องถิ่น เน้นกระจายอำนาจยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะต้องให้ท้องถิ่นเป็นอิสระที่จะทำอะไรได้ มีกฎหมายที่จะทำให้เขาเป็นอิสระ เขามีอิสระ มีความพร้อมในการบริหาร การตั้งกระทรวงท้องถิ่นมีหลายปัจจัย”

แต่ความเห็นดังกล่าวก็ถูกทักท้วง วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ลงใน “มติชน” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “เหตุผลที่ มท.1 ระบุว่าท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล เป็นอิสระ หากไม่มีใครมาคุมจริงตามที่ให้ความเห็น ต้องถามกลับไปว่ากรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบ คำสั่ง หนังสือสั่งการให้ อปท.นำไปซักซ้อมเพื่อปฏิบัติจำนวนมากก่อนนี้ มีเหตุผลอย่างไรในการออกหนังสือสั่งการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริง อปท.ไม่ได้มีอิสระ ล่าสุดปลัดกระทรวงมหาดไทยเพิ่งทำหนังสือสั่งการเร่งรัดให้
อปท.ใช้เงินสะสม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นเมื่อ มท. 1 ยืนยันว่าท้องถิ่นมีอิสระจริง ก็ไม่ควรมีหนังสือสั่งการในลักษณะนี้”

การแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยหรือคัดค้านถือเป็นเรื่องดีที่มีการชูความคิดต่างๆ ขึ้นมา อาจจะต้องฟังความเห็นที่หลากหลายโดยเฉพาะการตั้งเวทีประชาชนช่วยกันระดมความคิดออกมาให้มากที่สุด ยังมองว่าอีกเหตุผลหนึ่งว่าที่นักการเมืองล้วนอยากยกท้องถิ่นออกมาตั้งเป็นกระทรวงใหม่เพราะต่างมีรากฐานของการเมืองระดับท้องถิ่นมาทั้งสิ้น ทำให้เห็นว่า การเมืองเป็นของทุกคนเกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่การใช้สิทธิ การได้รับการดูแลต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ผูกขาดโดยผู้มีอำนาจหรือเพียงนักการเมืองเท่านั้น ทั้งหมดล้วนมีตัวตน ตำแหน่งผู้ทรงเกียรติขึ้นมาก็ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั้งสิ้น

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image