สะพานแห่งกาลเวลา : ย้อนอดีตโลก มองอนาคต : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

คนเรามักมีคำถามติดอยู่กับตัวเสมอ เพราะเรามักสงสัยอะไรๆ รอบตัวเราอยู่บ่อยครั้้ง

นักวิทยาศาสตร์ต่างจากคนทั่วไปตรงที่ เมื่อเกิดคำถามขึ้นกับตัวแล้ว เขามีองค์ความรู้ มีระเบียบวิธี ในการแสวงหาคำตอบ และหลักฐานพิสูจน์ยืนยันถึงคำตอบนั้น

การศึกษาค้นคว้าหาคำตอบของเขาเหล่านั้นก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงในเชิงวิทยาศาสตร์มากมายหลากหลายแขนงสืบทอดต่อกันมาเป็นองค์ความรู้ของโลก

ผลการศึกษาบางอย่างก่อให้เกิดคำถามมากขึ้น ทำให้เกิดการศึกษาต่อเนื่องมากขึ้นและแตกแยกย่อยออกไปอีกมากขึ้นตามลำดับ

Advertisement

องค์ความรู้ใหม่ อุปกรณ์ใหม่ และกรรมวิธีใหม่ ช่วยให้การค้นหาคำตอบทำได้มากขึ้น ดีขึ้น ต่อเนื่อง

กระนั้นก็ยังมีคำถามอีกมากมายรอคอยคำตอบ

ทำให้แม้ในทุกวันนี้ หลายคนยังมองไปที่ท้องฟ้าแล้วเกิดคำถามมากมาย บางคนมองไปรอบตัวแล้วก็ยังมีคำถาม บางคนครุ่นคิดถึงอนาคต บางคนมองย้อนกลับไปในอดีต แล้วเกิดคำถามขึ้นตามมา

Advertisement

นักวิทยาศาสตร์บางคนบางส่วน ใช้องค์ความรู้และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อทำความเข้าใจกับสภาพเมื่อเนิ่นนานมาแล้วนั้นให้ถ่องแท้

เป้าหมายไม่ได้เพียงเพื่อให้รู้ว่า ชีวิต ถือกำเนิดมาได้อย่างไร เมื่อใด ที่ไหน เพราะเหตุใด เท่านั้น แต่ด้วยเข้าใจว่าวิถีโลกนั้นเป็นวัฏฏะ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเมื่อครั้งอดีตย่อมสามารถวนกลับมาเกิดขึ้นได้ใหม่อีกครั้งในอนาคต

ยิ่งเข้าใจอดีตได้ถ่องแท้มากขึ้นเท่าใด ยิ่งรับมือกับอนาคตได้มีประสิทธิภาพ แนบเนียน นุ่มนวลมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติคณะหนึ่ง ศึกษาย้อนอดีตของโลกกลับไปนับพันล้านปี เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้างในห้วงเวลาที่ชีวิตยังไม่ใช่ชีวิตที่ซับซ้อนสูงอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ย้อนไปนานขนาดนั้น ชีวิตยังไม่ใช่ชีวิตเชิงซ้อนจำนวนมาก พวกเขาย่อมหาหลักฐานมาแสดงให้ยากเย็นยิ่ง

แต่นักวิทยาศาสตร์ย่อมมีวิธีการของตัวเอง พวกเขาไปมองหาหลักฐานที่ อ่าวฮัดสัน ในประเทศแคนาดา ที่ซึ่งรู้กันทั่วไปว่ามีหินซึ่งเคยก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่หลายพันล้านปีมาแล้ว

พวกเขาไม่ได้มองหาซากฟอสซิลในหินโบราณเหล่านั้น แต่มองหา แบไรต์

แบไรต์ คือแร่ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษกล่าวคือมันเก็บกักข้อมูลที่บ่งบอกว่า ณ เวลาหนึ่งๆ ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนอยู่ในอากาศเท่าใด

จากการตรวจสอบแบไรต์ที่ฮัดสันเบย์ พวกเขาบอกได้ว่าเมื่อราว 2,005 ล้านปีมาแล้วเกิด “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” ขึ้นบนโลก เหตุผลเพราะไม่มีออกซิเจนเพียงพอต่อการรองรับสิ่งมีชีวิตบนโลกในเวลานั้น

ข้อมูลในแบไรต์บอกว่า จุดเริ่มของเหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดขึ้นเมื่อ 2,400 ล้านปี เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า “เดอะ เกรท ออกซิไดเซชัน อีเวนต์” คือปริมาณออกซิเจนพุ่งสูงขึ้นพรวดพราดและสูงขึ้นมหาศาล แต่พอถึงจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์นี้ ออกซิเจนก็ลดลงฮวบฮาบเช่นกัน

สาเหตุก็คือ ออกซิเจนที่เพิ่มพรวดพราด ส่งผลให้จำนวนสิ่งมีชีวิตเพิ่มปริมาณแบบแตกระเบิดออกมาเป็นจำนวนมหาศาล เพราะมีออกซิเจนอุดมสมบูรณ์

แต่เมื่อชีวิตมีมากเกินไป การบริโภคออกซิเจนสูงเกินไป ปริมาณออกซิเจนลดวูบลงเฉียบพลัน ชีวิตที่ใช้ออกซิเจนในการยังชีพทั้งหลายก็ตกอยู่ในภาวะ “อดอยาก”

ประเมินกันว่าเหตุการณ์นั้นทำให้ “ไบโอสเฟียร์” หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า “ชีวมณฑล” ซึ่งจริงๆ แล้วคือปริมาตรของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดของโลกทั้งในน้ำ บนบกและในอากาศ รวมแล้วสูญพันธุ์ไปถึง 99.5 เปอร์เซ็นต์

ไบโอสเฟียร์ ที่ว่าหลงเหลือเพียงขนาดเล็กๆ อยู่ต่อมาอีก 1,000 ล้านปี

ปีเตอร์ คร็อกฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์ปรินซตัน และสถาบันวิทยาศาสตร์ ไวซ์มันน์ ของอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ บอกเอาไว้ว่า ไบโอเฟียร์ (รวมทั้งมนุษย์ทุกคน) ของทุกวันนี้ก็เหมือนกับเมื่อ 2,000 ล้านปีมาแล้ว ที่ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อาหารลงไปถึงแพลงตอนขนาดเล็กในมหาสมุทร ถึงแม้ว่าปริมาณของออกซิเจนในยามนี้ไม่ได้ลดลงเหมือนเหตุการณ์เมื่อครั้งนั้น แต่ในอีกพันล้านปีข้างหน้า มันอาจลดฮวบลงเหมือนอย่างที่ผ่านมาก็เป็นได้

ชีวิต 99.5 เปอร์เซ็นต์จะหายไปอีกหรือไม่? คำตอบอยู่ที่อวัยวะนิ่มๆ ในกะโหลกสองข้างใบหูของเรานี่แหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image