สงครามเย็นจีน-สหรัฐ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การเจรจาการค้ารอบใหม่จีน-สหรัฐ จากกำหนดการเดิมเดือนกันยายน ได้เลื่อนออกไปอีก 1 เดือน หากดูผิวเผินทั้ง 2 ประเทศยังดำรงอยู่ในสภาพเจรจาไปพิพาทไป แต่ Larry Kudlow ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาวอุปมาความขัดแย้งจีน-สหรัฐคือ

สงครามเย็น

อันมีเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และมีผลกระทบทั่วโลก

เป็นเหตุให้สภาพเศรษฐกิจระบบเปิดของโลกที่ตกต่ำอยู่แล้วตกต่ำมากขึ้น

Advertisement

เสมือนผีซ้ำด้ำพลอย

บัดนี้ ประเทศทั่วโลกต่างได้เตรียมมาตรการรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐยืดเยื้อยาวนาน และออกนอกลู่นอกทาง ถ้าเป็นกีฬามวย น่าจะละม้ายกับ “มวยวัด”

Advertisement

ระเบียบวินัยการค้าสากลที่มีอยู่เดิมได้ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง

สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ฝ่ายใดจะเป็นผู้แพ้ผู้ชนะนั้น ต้องรอดูต่อไป

แต่ Larry Kudlow กล่าวว่า อันผลประโยชน์ที่ผูกพันสองฝ่ายนั้นมหาศาล สหรัฐต้องการได้ประโยชน์ที่ควรได้ แต่ต้องใช้เวลานานมาก อาจเป็นหลายทศวรรษ

เขากล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน สหรัฐต้องใช้เวลาถึงหลายทศวรรษ จึงสามารถทำให้สหภาพโซเวียตในวันนั้น กลายเป็นรัสเซียในวันนี้

คำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงทำเนียบขาว เป็นที่ประจักษ์ว่า ได้นำเอาสงครามการค้าสมัยนี้ไปขมวดเข้ากับสงครามเย็นในสมัยนั้น

ความหมายชัดเจนยิ่ง ชัดเจนที่ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ได้เกินขอบเขตทางการค้าไปไกลแล้ว

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐ จะไม่มีผู้ชนะ

หากดูผิวเผิน ฝ่ายที่อยู่ข้างสหรัฐก็คือผู้ชนะ ส่วนประเทศที่ยืนอยู่แนวเดียวกับจีนก็คือผู้แพ้

แต่มีองค์กรวิจัย ทำการวิเคราะห์แล้วพบว่าหลังจากที่สหรัฐปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้า ปริมาณสินค้าจีนส่งออกสหรัฐที่ลดลงนั้น ได้ถูกแบ่งปันไปยังเวียดนาม เม็กซิโก เกาหลี เป็นต้น และว่ากันว่า ประเทศเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

นอกจากสินค้าส่งออก ยังมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่ถอนทัพจากจีน ได้ย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม

ในระยะเวลาสั้น เวียดนามได้ประโยชน์จากการนั้น แต่มีรายงานว่าสินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปสหรัฐจำนวนไม่น้อย เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศจีน ครั้นเมื่อประกอบเสร็จจึงส่งออกไปสหรัฐ กอปรกับผู้ประกอบการและผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจีน ดังนั้น ฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็คือประเทศจีนนั่นเอง

ในรอบ 8 เดือนแรกของปี 2019 ต่างชาติที่ไปลงทุนในเวียดนามนั้น ทุนจีนถือเป็นอันดับที่ 1 และน่าจะเป็นเหตุที่สหรัฐได้แจ้งเตือนเวียดนามว่า การที่เวียดนามเกินดุลการค้าถึงหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้น เป็นเรื่องที่รับไม่ได้

ฉะนั้น ในระยะยาวผลประโยชน์ที่เวียดนามเคยได้รับ จะยังคงดำรงต่อไปหรือไม่นั้น

จึงเป็นเรื่องที่ยากแก่การคาดเดา

วันนี้ สหรัฐทำศึกรอบด้าน แต่ละประเทศจำต้องเตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาอันอาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีความสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมือง สหรัฐรวบไว้หมด เช่น เม็กซิโก แคนาดา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ทางทิศเหนือและใต้ ได้ถูกบังคับให้เซ็นสัญญาอยู่ใต้อาณัติ กลายเป็นลูกไก่ในกำมือเรียบร้อยแล้ว

สหภาพยุโรปแม้ทรงพลังยิ่ง แต่การค้าต่างประเทศก็ต้องอาศัยจากโลกภายนอกมากโข ยกตัวอย่าง ในประเทศเยอรมนี คนงานทุก 4 คนจะต้องมี 1 คนที่ทำงานด้านธุรกิจส่งออก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยของจีน-สหรัฐ อันเนื่องจากการลดการนำเข้าสินค้า

เยอรมนีก็ได้รับการกระทบมิใช่น้อย

องค์การการค้าโลก ซึ่งมีหน้าที่ในการวินิจฉัยความขัดแย้งในประเด็นทางการค้าระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากระบบการจัดการสลับซับซ้อน เงื่อนไขคลุมเครือ ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมากด้วยปัญหา ดังนั้น จึงเปรียบเสมือน “เสือกระดาษ”

ก็เพราะวินัยการค้าโลกถูกทำลายโดยสิ้นเชิง ประเทศส่วนหนึ่งจึงกลายเป็น killer เช่น

1 ญี่ปุ่นทำการครอบงำตลาดการค้าโลก โดยการจำกัดการส่งออกไปเกาหลีใต้ซึ่งอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductors parts) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลัก 3 ชนิด

1 อินโดนีเซียประกาศว่า เริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะทำการจำกัดการส่งออก Nickel

กรณีล้วนเป็นพฤติการณ์ป้องกันผลประโยชน์ของประเทศตน

ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการค้าเสรีอันเกี่ยวกับประเพณีการค้าสากลแต่อย่างใด

ท่ามกลางภาวะวินัยสากลที่มีอยู่เดิมถูกทำลาย และของใหม่ก็ยังไม่ปรากฏ จึงมากด้วยปัญหา ต่างฝ่ายต่างทำโดยไม่คำนึงถึงเหตุและผล

ก็เพราะไม่มีบรรทัดฐานให้ยึดถือปฏิบัติ จึงเป็นสาเหตุ 1 ของสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

สงครามการค้าจีน-สหรัฐยังมองไม่เห็นวี่แววที่จะยุติ และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

นี่คือสงครามที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบสากลครั้งใหญ่หลวง

น่าห่วง

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image