ประวัติศาสตร์ของอนาคต : โดย กล้า สมุทวณิช

Ray Dalio ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มองการณ์ไกลและพยากรณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่แม่นยำมากคนหนึ่งของโลก ความสามารถในการอ่านสภาวะและคาดการณ์ ทำให้เขาเอาชนะตลาดในช่วงเวลาที่กองทุนส่วนใหญ่ขาดทุน และเป็นผู้ที่พยากรณ์วิกฤต Subprime ได้ก่อนที่มันจะเริ่มต้นขึ้น

ความแม่นยำในการคาดการณ์ของเขานำจึงมาซึ่งความกังวลในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากที่เขาทำนายไว้เมื่อราวปีที่แล้วว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่น่าจะไปสุกงอมและเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2020 หรือปีหน้า จนถึงปี 2021 หรือ พ.ศ.2563

แล้ว Ray Dalio คือใคร บนสายคาดปกของหนังสือ Principles ฉบับภาษาไทยของเขา แนะนำไว้ว่า ผู้เขียนหนังสือเล่มหนานี้คือผู้ก่อตั้ง Bridgewater ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทเอกชนที่มีความสำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มต้นขึ้นจากอพาร์ตเมนต์สองห้องของเขาในนครนิวยอร์กเมื่อปี 1975 ในปัจจุบัน Bridgewater เป็นกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) ที่บริหารเงินอยู่มากกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์

และหนังสือ Principles ของเขาซึ่งพิมพ์ออกมาในปี 2017 โดยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วในปีนี้ เป็นหนังสืออัตชีวประวัติและหลักการในการทำงานและการใช้ชีวิตของเขาซึ่งหนาเกือบ 600 หน้าของเขานั้น เป็นที่กล่าวถึงของนักธุรกิจและบุคคลสำคัญระดับโลกว่านี่คือหนังสือที่ว่าด้วยการบริหารธุรกิจ และการจัดการกับชีวิตส่วนตัวที่ดีที่สุดในโลก

Advertisement

ผู้ที่ใจร้อนอาจจะอ่านข้ามส่วนแรกของหนังสือที่เป็นอัตชีวประวัติของเขาไป แต่ถ้าใครลองอ่านและสังเกต ก็อาจจะได้เห็นเค้าเงื่อนร่องรอยของความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้าและพยากรณ์ของเขาได้ว่า มันประกอบด้วยองค์ความรู้ที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างน้อยสองวิชา คือ “ประวัติศาสตร์” และ “วิทยาการคอมพิวเตอร์” ที่ดูเหมือนเป็นวิชาที่อยู่ตรงขั้วตรงข้ามกัน ทั้งในแง่ของความเป็นสังคมศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ และในแง่ของวิชาที่ศึกษาเรื่องเก่าที่ว่ากันมาแล้วกว่าพันปีนับแต่เริ่มมีอารยธรรม กับเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือใหม่ของมนุษย์ในเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้

เขาให้เหตุผลว่า ประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว การแก้ปัญหาในทางเศรษฐกิจในหลายเรื่องนั้นเคยมีบทเรียนอยู่ การศึกษาประวัติศาสตร์จะช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจและการตลาดที่สำคัญๆ การศึกษาย้อนหลังไปนานเท่าไร ยิ่งทำให้เขาเห็นหลักการในการตัดสินใจอย่างรอบคอบที่เป็นอมตะและเป็นสากล

Ray เชื่อว่าทุกๆ อย่างในโลกนี้มีระบบบางอย่างที่ซ่อนอยู่ เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นตามซ้ำไปซ้ำมา และจะเวียนมาตามรอบเวลาด้วย ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์จะทำให้เราค้นหาระบบที่ซ่อนอยู่นี้ได้

Advertisement

สำหรับคอมพิวเตอร์นั้น Ray เชื่อมาตั้งแต่ปี 1981 หรือเกือบสี่สิบปีที่แล้วว่า โดยทฤษฎีแล้วถ้ามีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเก็บข้อเท็จจริงทั้งหมดของโลกได้ และถ้าเป็นโปรแกรมที่สมบูรณ์แบบมากพอที่จะประมวลผลความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขต่างๆ ทั้งหมดในโลกนี้ ไม่แน่ว่าอนาคตเราอาจจะมีการทำนายได้อย่างสมบูรณ์ นั่นเพราะคอมพิวเตอร์นั้นสามารถคิดหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกันได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และมีอารมณ์ร่วมน้อยกว่า

เมื่อเขามองเห็นรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ของระบบที่ซ่อนอยู่จากการศึกษาประวัติศาสตร์ และนำไปสอบทานกับข้อมูลที่เก็บได้ย้อนหลัง ทำให้เขาสามารถสร้างสูตรคำนวณหรือวิธีคิด ซึ่งหมายถึงอัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มันสามารถสร้างระบบที่สามารถส่งสัญญาณสำคัญทางเศรษฐกิจได้เหมือนเครื่อง EKG ที่ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ การร่วมมือกันของสององค์ความรู้ ทำให้เขาสามารถสร้าง “มาตรวัดความตกต่ำทางเศรษฐกิจ (Depression Gauge) ขึ้นมาได้สำเร็จ และเมื่อเขามองเห็นตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ชี้ว่าฟองสบู่กำลังจะแตก ซึ่งข้อมูลสาธารณะเหล่านี้แม้แต่ประธานธนาคารกลางของสหรัฐ หรือ FED ที่แม้จะรู้ว่ามีข้อมูลพวกนี้อยู่ แต่ก็ยังมองไม่เห็นความสัมพันธ์ของมัน นี่คือสิ่งที่ทำให้ Ray Dalio พยากรณ์วิกฤต Subprime ได้อย่างแม่นยำ

ซึ่งที่มาของเวทมนตร์นี้ไม่ใช่การค้นพบมณีพยากรณ์ที่ไหน แต่เป็นเพราะการได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์และหนังสือพิมพ์เก่าๆ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และของสาธารณรัฐไวมาร์เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ข้อความข้างต้นมาจากหน้า 92 ของหนังสือ Principles ฉบับแปลภาษาไทย

น่าสนใจที่ว่า สองวิชาการที่เป็นเครื่องมือสำคัญของยอดนักลงทุนระดับโลกนั้น ก็เป็นวิชาที่ทางการรัฐบาลไทย ก็ให้ความสำคัญมากที่สุดเช่นกัน ในเรื่องของวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นคงไม่ต้องกล่าวซ้ำ เพราะคงจำดราม่าก่อนหน้านี้เรื่องของการ “เรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์” ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้

ส่วนวิชาประวัติศาสตร์นั้นยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแทบทุกรัฐบาลในช่วงหลังปี 2557 เป็นต้นมา หากให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการศึกษาก็จะต้องพูดถึงความสำคัญในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้นักเรียน หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่น่าที่จะออกความเห็นใดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาที่สุดอย่างผู้นำเหล่าทัพ ก็ออกมาขึงขังกำชับกำชาหนักหนาให้พร่ำสอนวิชาประวัติศาสตร์กับเยาวชนให้ดี

แต่การเรียนประวัติศาสตร์ในอุดมคติของผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐประเทศนั้นเป็นแบบเดียวกับ “ประวัติศาสตร์” ของ Ray Dalio หรือไม่

ในขณะที่นักลงทุนระดับโลกผู้นั้นศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อมองหา “ระบบที่ซ่อนอยู่” เพื่อรับมือกับรูปแบบนั้นๆ ที่จะเกิดซ้ำในอนาคต แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจของไทยนั้น เป็นการศึกษาเพื่อ “…ให้เห็นว่ากว่าจะมีประเทศไทยในวันนี้มีความยากลำบากแค่ไหน…” และเพื่อจะได้สำนึกรู้ในบุญคุณและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย

ซึ่งนั่นคือแง่มุมของการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อ “อดีต” มิใช่อนาคต

ที่ใครซึ่งผ่านระบบการศึกษา ได้เรียนประวัติศาสตร์ในแบบเรียนของไทย คงจะนึกออกว่า วิชาประวัติศาสตร์คือยาขมที่น่าเบื่อ การเรียนประวัติศาสตร์คือการเรียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นเรียงตามลำดับเวลาเป็นท่อน ยาวๆ ที่อาจจะแบ่งเป็นปล้องๆ บ้างตามเหตุการณ์ แต่ไม่เคยสอนให้เรามองเห็นรูปแบบที่ซ่อนอยู่ของมัน ไม่มีการถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์อะไรไปมากกว่า “กรุงศรีอยุธยานั้นแตกเพราะคนในชาติขาดความสามัคคี มีหนอนบ่อนไส้ชื่อนั้นชื่อนี้เปิดประตูเมืองให้ข้าศึก” และความสามัคคีแบบที่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์แบบนั้นคาดหวัง ก็คือความสามัคคีแบบที่ประชาราษฎร์ทุกคนต้องเดินตามผู้นำหรือผู้มีอำนาจกันเป็นแถวเรียงเดี่ยวกันไป ใครแหลมออกมา ก็จะกลายเป็นผู้แตกความสามัคคีเป็นภัยอันตรายต่อบ้านเมือง

เราจึงไม่เคยสนุกกับประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน มองไม่เห็นประโยชน์ของมัน และยิ่งกว่านั้น เรายังไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์เรากับประวัติศาสตร์โลก จนมองไม่เห็นเลยว่าในช่วงเวลาที่มารี กูรี สกัดเรเดียมบริสุทธิ์ได้ และถนนหนทางในประเทศฝรั่งเศสเริ่มเปลี่ยนจากการจุดตะเกียงก๊าดเป็นเสาไฟฟ้า ในปีนั้นประเทศไทยเราก็ได้เริ่มใช้ธนบัตรเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแล้ว

และไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาฯ ที่กลั่นกรองเฉพาะบางแง่มุมทางประวัติศาสตร์มาให้เราเรียนรู้อย่างความจริงหนึ่งเดียว อย่างที่มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราจะตาบอดข้างเดียว ถ้าเกิดเราเชื่อแต่ประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียน เราจะตาบอดสองข้าง” โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่มีผู้ไล่ให้ไปศึกษา เพื่อจะได้บรรจุเรื่องเล่าที่สนับสนุนการมีและการใช้อำนาจของพวกเขา

เราคงจะตัดสินกันได้ว่า วิชาประวัติศาสตร์ที่ผู้มีอำนาจอยากให้เราเรียน ส่งเสริมให้ลูกหลานเราเรียนนั้น เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์หรือไม่ ความภาคภูมิใจในวีรกรรมของบรรพบุรุษไม่ใช่เรื่องผิดร้าย ถ้ามันจะไม่มาพร้อมกับสร้างความเกลียดชังศัตรูที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขับเน้นวีรกรรมแห่งบรรพวีรบุรุษของเรา ศัตรูที่อาจจะทั้งเป็นชาติอื่น หรือแม้แต่คนร่วมชาติเราที่ผู้มีอำนาจครอบงำการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นหมายป้ายหัวให้เป็นศัตรูร่วมของเขาและคนในชาติ

มันจึงน่าเสียดายที่ระบบการศึกษาของเรา ทำให้วิชาแห่งการพยากรณ์อนาคตกลายเป็นวิชาแห่งอดีตแช่แข็งที่เอามาอุ่นให้เรากินเป็นครั้งเป็นคราวโดยห้ามเปลี่ยนห้ามปรุง สื่อการสอนอาจจะพัฒนา แต่สาระนั้นก็มิได้เปลี่ยนไป เรารู้ถึงความกล้าหาญ ความสามารถ และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย แต่แล้วอย่างไรต่อ ความรับรู้นั้นช่วยอะไรเราต่อไปในอนาคตหรือไม่

แม้อาจจะดีหน่อยที่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ความสามารถในการเขียนและการเล่าประวัติศาสตร์นั้นกระจายตัวออกไป การผูกขาดประวัติศาสตร์ด้วยมุมมองเดียวนั้นทำได้ยากขึ้น แต่กระนั้นประวัติศาสตร์ฉบับรัฐรับรองแล้วก็ก่อรูปเป็นเหมือนพื้นคอนกรีตแห่งความรับรู้ที่ปูไว้ก่อนแล้วตั้งแต่เด็กๆ ของเราอยู่ในชั้นประถม ประวัติศาสตร์จากผู้เล่ารายอื่นก็ต้องเจาะทำลายพื้นนั้นให้ได้ก่อน ซึ่งบางครั้งก็ทำไม่ได้ง่ายนัก หรือแม้แต่ทำไม่ได้เลย

ดังประโยคของ จอร์จ สันตญานา (George Santayana) ที่ถูกนำมากล่าวซ้ำมากที่สุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คือ “ผู้ที่ไม่ยอมเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ก็จะถูกสาปให้กระทำผิดพลาดซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ” (Those who cannot learn from history are doomed to repeat it.) สังคมที่รับรู้ประวัติศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ ก็จะคล้ายเป็นมนุษย์ผู้เดินตกเหวสลบไปแต่ไม่ตาย หากเขาฟื้นกลับมาด้วยความทรงจำอันว่างเปล่า เว้นแต่บาดแผลความเจ็บปวดทั่วสรรพางค์กาย แต่ไม่นานหลังจากที่เขาหายดี เขาก็จะเดินกลับไปที่ทางเดินเลียบเขานั้นอีกครั้ง เพื่อที่จะพลาดตกเหวตรงที่เดิมด้วยท่าเดิม สลบไปและฟื้นขึ้นมาด้วยความทรงจำที่ว่างเปล่าอีกครั้ง หากในคราวนี้เขาอาจจะสงสัยว่า ทำไมทุกครั้งที่ฟื้นตื่นคืนสติมา ความเจ็บปวดและบาดแผลหักช้ำบนร่างกายของเขาจะทวีเพิ่มขึ้นทุกที เขารู้ว่าบางสิ่งผิดปกติ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

และเขาก็เดินกลับไปที่เส้นทางสายเก่าเพื่อรอวันที่จะตกเหวอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าครั้งต่อไปนี้เขาจะลุกขึ้นมาได้อีกหรือไม่

ในช่วงเวลาที่เรายังมองไม่เห็นอนาคตเช่นนี้ การศึกษาบทเรียนในอดีตผ่านประวัติศาสตร์นั้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าอยู่เปล่าๆ อย่างน้อยเราก็ได้คาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจจะมาถึง เพียงแต่เราจะมีข้อมูลเพียงพอ และจะสามารถจับสังเกตความเหมือนความต่างของเหตุปัจจัยของคลื่นประวัติศาสตร์ได้หรือไม่

เพื่อจะพยากรณ์ว่าหากวิกฤตเศรษฐกิจโลกกลับมาใหม่ในปีหน้าถึงปีมะเรื่องมะรืนตามการคาดการณ์ของ Ray Dalio นี้จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ใดของไทยและโลกที่จะย้อนคืนกลับมาเป็นอนาคตของเรา

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image