เดินหน้าชน : เคลียร์รื้อแท่นปิโตรฯ : โดย สัญญา รัตนสร้อย

สัมปทานแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ” และ “บงกช” ใกล้จะสิ้นสุดสัญญา ช่วงปี 2565-2566 แต่ยังติดปมปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมระหว่างภาครัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกับเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน

ทั้งสองฝ่ายยังมองต่างมุมกันอยู่

ภาครัฐ…ยึดตามกฎกระทรวง ที่ระบุให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนของสิ่งติดตั้งต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว หรือในส่วนของสิ่งติดตั้งต่างๆ รวมถึงแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่รัฐรับมอบเอาไปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อในอนาคต

เอกชน…เห็นว่าควรยึดตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน นั่นคือผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเฉพาะที่รัฐสั่งให้รื้อถอนออกไปเท่านั้น

Advertisement

ส่วนแท่นผลิตใดที่รัฐเห็นว่าเก็บไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปแล้วจะมีความคุ้มค่า และรัฐได้รับมอบไปโดยที่ผู้รับสัมปทานไม่คิดมูลค่า ควรเป็นการโอนขาดไปทั้งทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์นั้น

ดังนั้น ผู้รับสัมปทานไม่ควรมีภาระผูกพันที่จะต้องรื้อถอนอีก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับสัญญาสัมปทานอื่นๆ ที่หน่วยงานรัฐทำกับเอกชน เช่น สัญญาสัมปทานทางด่วน ที่โอนขาดไปให้กับรัฐ

ขณะที่ในสัญญาสัมปทานที่รัฐตกลงกับเอกชนตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินการสำรวจและผลิตเมื่อปี 2515 จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ได้เขียนระบุเอาไว้ แต่รัฐเพิ่งมาออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมในภายหลัง และผู้รับสัมปทานทำหนังสือคัดค้านไปแล้ว แถมฮึ่มๆ ว่าอาจต้องฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการ

Advertisement

“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน ไม่อยากให้เรื่องไปถึงโรงถึงศาล จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาเคลียร์ปัญหานี้ โดยมี “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อหาทางออกเรื่องนี้

ทั้งนี้ ยังมีช่องทางที่จะเจรจาพูดคุยกันได้ เพราะตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอน ทั้ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ระบุถึงข้อติดขัดที่รัฐและเอกชนยังมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงเปิดช่องเอาไว้ให้ภาครัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเจรจาหาทางออกกับผู้รับสัมปทาน

ในหมวด 4 เรื่องการส่งมอบสิ่งติดตั้ง ในข้อ 22 ระบุว่า “ผู้รับสัมปทานยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ได้ส่งมอบแล้วตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้รับมอบกับผู้รับสัมปทาน”

นั่นหมายความว่า หากทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้รับสัมปทาน มีข้อตกลงร่วมกันเป็นอย่างอื่น เช่น การร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่ายการรื้อถอนตามสัดส่วนระยะเวลาการใช้ประโยชน์ หรือการให้ผู้รับสัมปทานไม่ต้องรับภาระการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่รัฐรับมอบไป โดยกำหนดเงื่อนไขบางประการร่วมกัน ก็สามารถที่จะดำเนินการได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎกระทรวง

การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยผู้รับสัมปทานนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่ในรายละเอียดของแท่นผลิตบางแท่น ที่รัฐต้องการและรับมอบไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะดำเนินการกันอย่างไร

อยู่ที่ว่าทั้งภาครัฐและผู้รับสัมปทาน จะใช้ช่องทางที่ข้อกฎหมายเปิดไว้มาพูดคุยกันด้วยความจริงใจ บนหลักความเป็นธรรมระหว่างผลประโยชน์ของประเทศที่ภาครัฐดูแลกับผลประโยชน์ของภาคเอกชน

หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะหาข้อยุติกันได้ด้วยดี ไม่ต้องไปถึงขั้นอนุญาโตตุลาการ ให้ปวดหัววุ่นวาย

ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสัญญาสัมปทานเดิมไปสู่สัญญาแบบใหม่ในระบบแบ่งปันผลผลิต มีความต่อเนื่อง ราบรื่น ส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image