All for Education กับการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก โดย สุรชัย เทียนขาว

ขณะนี้คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าบริหารประเทศแล้วรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีการสร้างนโยบายเพื่อเป็นกรอบทิศทางในการบริหารและแถลงต่อรัฐสภา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ถือว่าเป็นกระทรวงที่สำคัญกระทรวงหนึ่งในการพัฒนาคนของประเทศที่ผ่านมาการศึกษาของประเทศได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องแต่ประเทศไทยก็ยังประสบปัญหาการศึกษาค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดิลก ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษาธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย (www.komchadluek.net/news/edu-health/360035) ชี้ให้เห็นว่าไทยลงทุนการศึกษาสูงคุณภาพต่ำ โดยผลการศึกษาวิจัยแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานและลดการสิ้นเปลืองของงบประมาณซึ่งใช้ข้อมูลของการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติหรือพิซ่า (PISA) พบว่าผลการเรียน อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง นักเรียนกว่าครึ่งขาดทักษะขั้นพื้นฐานด้านการอ่านและการคิดวิเคราะห์ แม้ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษามาแล้วถึง 9 ปี และถึงแม้ค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวผู้เรียนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากแต่ทักษะของผู้เรียนกลับมีแนวโน้มลดลงโดยคุณภาพของการศึกษาถดถอยลง ทั้งที่งบประมาณต่อนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง 48% ระหว่างปี 2553-2556

นอกจากนี้ ยังพบว่าความไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยจะเกิดในโรงเรียนขนาดเล็กระดับประถมศึกษา ที่มีห้องเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก มีสัดส่วนนักเรียนต่อครูอยู่ที่ 17:1 ซึ่งใกล้เคียงประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฯลฯ แต่การบริหารจัดการด้านการศึกษาของประเทศทั้งครูและทรัพยากรต่างๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละห้องเรียน ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มแย่ลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างของทักษะวิชาวิทยาศาสตร์ระหว่างคนรวยและคนจน ยิ่งห่างออกไปจาก 1.6 ปี ในปี 2555 เป็น 1.8 ปี ในปี 2558 และในช่วงเวลาเดียวกัน ช่องว่างของทักษะวิทยาศาสตร์ระหว่างคนเมืองและคนชนบทเพิ่มสูงขึ้นจาก 1.1 ปี เป็น 1.8 ปี

ปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากระดับการศึกษา ในระดับประถมศึกษาประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด 20% ของประเทศและครอบครัวที่มี่รายได้น้อยที่สุด 20% ของประเทศ ก็มีแนวโน้มแย่ลงเกิดช่องว่างในเรื่องคุณภาพการศึกษาที่มีความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ

และผลการทดสอบล่าสุดของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาต (PISA) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) (wwws://blogs.worldbank.org/th/eastasiapacific/providing-quality-education-to-one-million-students-in-thailand-small-schools) สะท้อนปัญหาดังนี้

Advertisement

ประการแรกคือ ลำดับของประเทศไทยตกลงกว่าเดิม (การอ่านตกจากลำดับที่ 51 ไปอยู่ที่ 64 คณิตศาสตร์จากลำดับที่ 50 ตกไปที่ 55 และวิทยาศาสตร์จากลำดับที่ 50 ตกไปที่ลำดับ 54)

ประการที่สอง ระบบการศึกษาส่งผลให้เกิดนักเรียนจำนวนเล็กน้อยที่มีผลการทดสอบสูงกว่าค่าเฉลี่ย กล่าวคือ มีนักเรียนไทยแค่ร้อยละ 1.4 ที่มีทักษะการแก้ไขปัญหา และการวิเคราะห์เหตุผลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่นักเรียนสิงคโปร์มีร้อยละ 35 และนักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ร้อยละ 15

ประการสุดท้าย จำนวนนักเรียนไทยที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่เข้าใจเนื้อหาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในปี พ.ศ.2555 เป็นร้อยละ 50 ในปี พ.ศ.2558

Advertisement

จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น การจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กมีส่วนในการสร้างปัญหาไม่น้อย ในด้านคุณภาพของผู้เรียน โรงเรียนขนาดเล็กในที่นี้เป็นโรงเรียนตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานคือสถานศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ข้อมูลในปี 2560 มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วกว่า 100 โรง เนื่องจากไม่มีเด็กนักเรียนและในจำนวนกว่า 30,000 โรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สพฐ. มีโรงเรียนขนาดเล็กน้อยกว่า 120 คน ประมาณ 15,000 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดและในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน ประมาณ 1,000 โรงเรียน (https://www.trueplookpanya.com/education/content/71918/-teaartedu-teaart-) ข้อมูลดังกล่าว

จะเห็นว่าประเทศไทยยังมีโรงเรียนขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนที่เรียนในสถานศึกษาเหล่านี้ดังนั้นปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องได้รับการแก้ไขและดูแลอย่างแข็งขัน เนื่องจากสิทธิทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยประเทศไทยได้ลงปฏิญญาสากลซึ่งมีการรับรองสิทธิทางการศึกษาไว้อย่างชัดเจนในข้อ 26 ที่กำหนดไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่าอย่างน้อยที่สุดในชั้นประถมศึกษา และขั้นพื้นฐาน”

จากหลักการในปฏิญญาดังกล่าว เด็กๆ ทุกคนมีสิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเรียนที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ สำหรับปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของไทยนั้น สุริยา ฆ้องเสนาะ จากสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (2558) ได้ประมวลปัญหาหลักๆ ไว้ 3 ประการดังนี้

1) โรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนในการจัดการเรียนการสอนต่อหัวที่สูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่เนื่องจากภาวะประชากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหานักเรียนออกกลางคัน และการเลือกทำงานหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ส่งผลทำให้ขนาดของโรงเรียนปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายนักเรียนต่อหัวสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในจำนวนที่มากกว่า หรือจ่ายแพงกว่าในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก

2) เนื่องจากโรงเรียนแต่ละแห่งได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาจากรัฐบาล โดยคิดเป็นรายหัวนักเรียน ซึ่งการจัดสรรงบประมาณในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ กล่าวคือ ได้รับงบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กขาดทั้งอุปกรณ์ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนการสอนลดลง

3) ปัญหาการขาดแคนครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และจำนวนครูไม่ครบชั้นเรียน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดสัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาในการจัดสรรครูแก่นักเรียนบางแห่งที่มีจำนวนนักเรียนน้อย ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนประถมที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้น
ประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมีนักเรียนศึกษาอยู่จำนวน 80 คน หากยึดตามเกณฑ์ของ สพฐ. โรงเรียนแห่งนี้จะได้รับการจัดสรรครูเพียง 4 คนเท่านั้น ซึ่งไม่พอดีกับจำนวนชั้นเรียนที่เปิดสอน

ดังนั้น โรงเรียนดังกล่าวจึงประสบปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียน และครูไม่ครบทุกสาขารายวิชา

ในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมาได้มีการคิดค้น ทดลอง และดำเนินการมาเป็นระยะโดยมีรูปแบบในการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้

รูปแบบที่ 1 : การจัดการเรียนรู้แบบรวมชั้นเรียน ประกอบด้วยการจัดการเรียนรู้แบบช่วงชั้นและการเรียนรู้แบบคละชั้น โดยวิธีการยุบชั้นเรียน ให้โรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นสามารถจัดการเรียนการสอนได้โดยไม่ทิ้งห้องเรียน ซึ่งโรงเรียนสามารถปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

รูปแบบที่ 2 : การบูรณาการหลักสูตร เป็นการนำความรู้มารวบรวมประมวลไว้ในหน่วยเดียวกัน สำหรับโรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถาพปัญหาที่เป็นอยู่รวมทั้งการนำหลักสูตรไปใช้ให้บังเกิดผลตามที่ต้องการ สำหรับการบูรณาการเนื้อหารายวิชา สามารถดำเนินการได้โดยศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร จากนั้นนำวัตถุประสงค์ตลอดจนเนื้อหาการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มวิชาที่สอดคล้องกันมาเชื่อมโยง สู่การจัดทำหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ แล้วนำมากำหนดกิจกรรม เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้ครั้งเดียวพร้อมกันในแต่ละช่วงชั้น

รูปแบบที่ 3 : ความร่วมมือจากชุมชน เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนในเรื่องการขาดแคลนครู งบประมาณไม่เพียงพอ และขาดสื่อเทคโนโลยี โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา องค์กรท้องถิ่น เครือข่ายสถานศึกษา ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับการพัฒนาต่อยอดทั้งใน ด้านการบริหารจัดการ งบประมาณ ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแบบที่ 4 : การใช้ ICT ในการพัฒนาคุณภาพ โดย สพท.หลายแห่งได้นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น รถคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ (Mobile unit) เพื่อให้บริการ
นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล การส่งเสริมการเรียนการสอนด้วยการรับสัญญาณ การสอนทางไกลจากโรงเรียนไกลกังวลหัวหิน

รูปแบบที่ 5 : รูปแบบโรงเรียนเครือข่าย เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนหลัก และโรงเรียนเครือข่ายในการวางแผนการจัดการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารและครูได้รับ การพัฒนาจนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแบบที่ 6 : ผสมผสานด้วยวิธีการหลากหลาย โดยเป็นการผสมผสานรูปแบบหลายๆ รูปแบบเข้าด้วยกัน

รูปแบบที่ 7 : การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เป็นรูปแบบที่มีผู้บริหารใช้ความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการสถานศึกษา มีวิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีความเป็นประชาธิปไตยยึดหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่ยอมรับของทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาตลอดจนมุ่งมั่นสร้างเครือข่ายการทำงาน โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

รูปแบบที่ธนาคารโลกให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กก็คือการรวบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกัน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ให้มีการรวมกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กแต่ละแห่งที่อยู่ใกล้เคียงกันในลักษณะเครือข่ายโรงเรียนประสบการณ์ในการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ได้มีการดำเนินการในหลายลักษณะด้วยกัน

อย่างไรก็ตามรัฐบาลปัจจุบันได้พยายามผลักดันให้มีประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ต้องไม่ทิ้งเด็กอีกประมาณ 1 ล้านคน ที่ยากจนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กไว้ข้างหลังจึงควรอย่างยิ่งที่จะจัดให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นประเด็นระดับชาติที่ต้องดำเนินการไม่ต้องรอเวลา เนื่องจากการพัฒนามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและการแข่งขันโดยเชื่อว่ากำลังแรงงานที่มีฝีมือและระดับมันสมองช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่และสร้างนวัตกรรม (ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และคณะ, 2553) ในการดำเนินการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กควรใช้แนวคิดการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 หลักการหนึ่งคือหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) มาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กทั้งประเทศซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้มีโครงการหลักในการปฏิรูปโรงเรียน คือโครงการโรงเรียนประชารัฐ และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) โครงการโรงเรียนประชารัฐ เป็นโครงการทีเกิดจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคเอกชน 19 หน่วยงาน และภาคประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาของประเทศไทย

มีวัตถุประสงค์คือ พัฒนาและยกระดับคุณภาพผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และโรงเรียนให้มีคุณภาพและสมรรถนะตามมาตรฐานโรงเรียนประชารัฐ ส่งเสริมและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการบริหารจัดการของโรงเรียน และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้พัฒนาและดำเนินการส่งเสริม กำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล การประกันคุณภาพให้โรงเรียนประชารัฐมีมาตรฐาน เป้าหมายของโครงการมีดังนี้

1) โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สื่อการเรียนการสอน และระบบฐานข้อมูล

2) ผู้บริหารได้รับการพัฒนาสมรรถนะความเป็นผู้นำบุคลากรบริหารจัดการโรงเรียนประชารัฐ

3) ครูได้รับความรู้และประสบการณ์การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย

4) นักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และมีความรู้คู่คุณธรรม

5) ผู้ปกครอง ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษา

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เป็นแนวคิดการสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาภายใต้บทบาทความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบันที่สนับสนุนทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการบริหารให้กับสถานศึกษา ซึ่งเป็นส่วนขยายของโรงเรียนประชารัฐ โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในเป้าหมายการพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2.การพัฒนาครู 3.การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และ 4.การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ

วัตถุประสงค์

1) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนาและสนับสนุนสถาน ศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและสังกัดอื่นๆ

2) เพื่อพัฒนาคุณภาพและรังสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษาให้สามารถยกระดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้แก่ผู้เรียน

3) เพื่อให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะ และคุณภาพชีวิต

4) เพื่อให้สถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กรณีตัวอย่าง การดำเนินงานทั้ง 2 โครงการได้เน้นที่การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามาจัดการศึกษา และสนับสนุนการศึกษาโดยมีโรงเรียนเล็กจำนวนหนึ่งที่เข้าโครงการดังกล่าว รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการสามารถจัดให้โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศเข้าสู่แนวทางที่เคยผ่านการปฏิบัติมาแล้วในรูปของโรงเรียนประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นการต่อยอด แม้ว่าเป็นแนวคิดของกลุ่มในรัฐบาลที่ผ่านมาก็ตามควรใช้การทำงานแบบต่อกันเป็นสะพานตามรูปแบบการทำงานของมด (https://ngthai.com/animals/9099/ants-build-bridges-in-mid-air) โรงเรียนขนาดเล็กประเทศไทยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแก้ปัญหาไม่สามารถรอการไหลรินของน้ำจากส่วนกลางได้ ควรใช้ทุกภาคส่วนของสังคมชุมชนทั้งภาครัฐ เอกชน องค์การมหาชน ชุมชน ภาคประชารัฐสังคม และประชาชน ดังนั้น การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังส่วนท้องถิ่นควรเริ่มต้นได้แล้วไม่ว่าจะเป็นรูปแบบจังหวัดจัดการตนเองหรือการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ฯลฯ เพื่อรับภารกิจด้านการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้ดำเนินการในโครงการโรงเรียนประชารัฐ และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ได้เน้นหลักการมีส่วนร่วมของสังคมทุกภาคส่วน (All for Education)

ดังนั้น การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจึงควรใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนในลักษณะเดียวกับโรงเรียนในโครงการประชารัฐ และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาซึ่งสามารถปฏิบัติการได้ การขยายโครงการทั้ง 2 โครงการ ให้ครอบคลุมโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดขอฝากไปยังคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image