กระทรวงท้องถิ่น ฤๅจะหนีเสือปะจระเข้ โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ผมเข้าใจได้ถึงข้อเรียกร้องของคนท้องถิ่นที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการความมีอิสระในการปฏิบิติหน้าที่จึงไม่แปลกที่คนท้องถิ่นส่วนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเสนอจัดตั้ง “กระทรวงท้องถิ่น” เพื่อให้มีอิสระในการบริหาร และต้องการแยกตัวออกมาจากกระทรวงมหาดไทย เพราะเห็นว่ากระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ในฐานะกำกับดูแลที่ก้าวล่วง เช่น การออกระเบียบ คำสั่ง และหนังสือสั่งการต่างๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปฏิบัติเป็นจำนวนมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจหมายรวมถึงสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่คอยตรวจสอบเกินเลยไปกว่าการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นและความโปร่งใส

รวมไปถึงข้อจำกัดในการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทั้งการกำหนดตำแหน่ง ความก้าวหน้าในตำแหน่ง และความเติบโตในอาชีพของคนท้องถิ่น ตลอดจนยังมีปัญหาความไม่เป็นอิสระทางการเงิน การคลัง การจัดสรรภาษี และสัดส่วนรายได้ให้ท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมศักยภาพของท้องถิ่นให้พึ่งตนเองได้

และที่สำคัญยิ่ง การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การจัดทำกฎหมายรายได้ท้องถิ่นและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายได้ ส่งเสริมการทำกิจกรรมพาณิชย์ก็เป็นไปอย่างล่าช้า หรือเกือบจะไม่ได้ดำเนินการเลยในช่วงเวลา 10-15 ปี ของการกระจายอำนาจที่ผ่านมา

จึงทำให้เห็นว่าปัญหาในหลายๆ ประการดังกล่าวเป็นความอึดอัด และกดทับท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน และการดำเนินการในการปฏิรูปการกระจายอำนาจ และการปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับความสนใจน้อย ทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นไปอย่างช้าๆ จนดูเหมือนจะไม่มีความก้าวหน้า

Advertisement

ดังนั้น การเสนอจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น

จึงมีความคาดหวังว่าจะปลดปล่อยท้องถิ่นเพื่อให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ก้าวหน้าไปมากกว่าที่เป็นอยู่

จึงทำให้ความคาดหวังต่อการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นมีมาก ไม่ว่าจะเป็นความคล่องตัวในการทำงานการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะของท้องถิ่น การเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจของราชการส่วนกลาง

Advertisement

และส่วนภูมิภาคมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยรัฐบาลต้องจัดความสัมพันธ์ในการจัดทำภารกิจอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น และแก้ไขกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อน ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนารายได้ของท้องถิ่นให้ก้าวหน้าไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560

ประเด็นการเคลื่อนไหวเสนอให้มีการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น จะเป็นทางออกให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก้าวหน้าไปได้จริงหรือ และจะสามารถปลดปล่อยท้องถิ่นให้มีอิสระในการบริหารงานจัดการท้องถิ่นอย่างที่คาดหวังได้หรือไม่เช่นกัน

ทั้งนี้เพราะกลไกของรัฐส่วนกลางยังรวมอำนาจ หวงอำนาจในการให้ส่วนราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ยังคงให้เป็นองค์กรหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ และยังคงไม่เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำภารกิจในการบริการสาธารณะแทนรัฐมากนัก

ผมจึงเข้าใจว่าทางออกของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อาจจะไม่ได้อยู่ที่การจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นประการเดียว แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกหลายประการ เป็นต้นว่า

ประการที่หนึ่ง การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริหารประเทศและรัฐบาลและราชการส่วนกลาง โดยเฉพาะส่วนราชการมีส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในนามของกระทรวง ทบวง กรม ต่างต้องสร้างความเชื่อมั่น และเปลี่ยนแนวคิด วิธีคิดใหม่ (Mindset) ว่าท้องถิ่นทำงานแทนรัฐส่วนกลางได้ และให้เห็นว่าการให้ อปท. จัดทำภารกิจแทนรัฐเป็นการแบ่งเบาภารกิจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนนั้น จะเป็นการช่วยลดปัญหาประเทศ และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดคุณภาพการให้บริการที่ดีกว่า และสร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่นให้เป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice)

ประการที่สอง รัฐบาลต้องทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นวาระแห่งชาติ โดยต้องทำการปฏิรูปท้องถิ่น เพื่อทำให้ อปท. มีศักยภาพและมีความสามารถพึ่งตนเองได้ เป็นต้นว่า การปฏิรูปกฎหมายเพื่อทำให้ อปท. เป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน การแก้ปัญหาการดำรงชีพ แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และต้องให้ดำเนินการปฏิรูปการเงินการคลัง รวมทั้งปฏิรูปรายได้ของ อปท. ให้มีศักยภาพเพียงพอเหมาะสมกับการจัดบริการสาธารณะ

ประการที่สาม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นและบุคลากรท้องถิ่นต้องปฏิรูปตนเองทั้งในแง่ของการบริหารงานใน อปท. ต้องโปร่งใสและเป็นแบบอย่างการทำงาน

ในแนวทางธรรมาภิบาล และทำให้ตนเองมีความรู้ความสามารถ และมีศักยภาพเพียงพอในการเป็นมืออาชีพเพื่อการสร้างคุณภาพการให้บริการที่ดีกว่าราชการส่วนกลาง โดยต้องปฏิรูปท้องถิ่นทั้งในแง่การจัดทำประมวลกฎหมายท้องถิ่น ที่ต้องก่อให้เกิดความร่วมมือ หรือบูรณาการทำงานระหว่าง อปท. การปรับขนาด อปท. ให้เหมาะสม โดยเชิญชวนให้ทำการควบรวม อปท. เข้าด้วยกัน เป็นต้น

ประการที่สี่ การจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น จะเป็นการให้เกิดกลไกลำดับชั้นบังคับบัญชามากขึ้นหรือไม่ เพราะต้องมีรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง และต้องก่อให้เกิดกรม กองต่างๆ ซึ่งจะทำให้การบริหารงานท้องถิ่นมีความคล่องตัวกว่าเดิมหรือไม่

ทั้งนี้เพราะรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารก็อยู่ภายใต้พรรคการเมือง หรือจะมีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือไม่

ผมมีตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินการปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยการทำให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารท้องถิ่น และดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อท้องถิ่น และมีการปฏิรูปท้องถิ่นให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และมีการควบรวม อปท. ที่เล็กๆ ให้รวมกับ อปท.อื่นๆ ให้มีขนาดพอเหมาะโดยดำเนินการปฏิรูปท้องถิ่นมามากกว่า 60 ปี ซึ่งเขาก็ไม่ได้ตั้งกระทรวงท้องถิ่นขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด ท้องถิ่นก็ยังอยู่กับกระทรวงกิจการภายใน หรือกระทรวงมหาดไทยเช่นเดิม ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐส่วนกลางจะยินยอมให้มีการปฏิรูปท้องถิ่นแค่ไหน หรือกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด

ผมจึงเสนอว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่แท้จริงก็คือ การลดอำนาจภาครัฐ ส่วนราชการ และเพิ่มอำนาจท้องถิ่น โดยให้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน เพื่อจัดบริการสาธารณะทดแทนภาครัฐอย่างเต็มกำลัง โดยให้มีการเพิ่มศักยภาพทางการเงินการคลังให้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งเสนอให้ลดลำดับขั้นตอนการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงไป ซึ่งผมเห็นว่าข้อเสนอทางออกเพื่อให้ท้องถิ่นมีความคล่องตัว และมีความเป็นอิสระในการบริหารท้องถิ่นมากขึ้น นั้น

ผมจึงเสนอให้ออกแบบหน่วยงาน โดยให้รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบท้องถิ่นให้มาขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งเป็น “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการท้องถิ่นแห่งชาติ” คล้ายๆ กับ “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” โดยให้มีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ทั้งนี้ เพื่อทำให้กลไกหน่วยงานรับผิดชอบท้องถิ่นใหม่ได้ตอบโจทย์การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์และพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มกำลัง ซึ่งอาจจะทำให้ท้องถิ่นหลุดพ้นจากการหนีเสือปะจระเข้ไปได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image