จิตวิวัฒน์ : ออนเซ็น กับ จิตสำนึกรวมหมู่ : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

เร็วๆ นี้ผมได้เข้าไปใช้บริการนวดเท้าจากผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียงรายหนึ่ง เริ่มต้นต้องจ่ายเงินค่าบริการที่เคาน์เตอร์ด้านนอก จากนั้นจะถูกเชิญให้เข้าไปด้านใน พนักงานจะชี้ให้เห็นว่าห้องแต่งตัวอยู่ตรงไหน ภายในห้องแต่งตัวจะมีชุดสำหรับใช้ในการรับบริการนวด จากนั้นผมก็จะถูกนำตัวไปนั่งที่เก้าอี้โซฟาหนานุ่ม ในห้องมืดสลัว แบบยากที่จะเห็นหน้าลูกค้าคนอื่นได้ชัด

ขั้นตอนต่อมาเป็นกระบวนการล้างเท้า และปรับโซฟาที่นั่งให้เอนนอน มีผ้าห่มนุ่มๆ ให้ไว้เพื่อห่มคลุม หลังจากรับบริการแล้ว ผมก็จะต้องกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องเสื้อผ้าอันมิดชิด แล้วดื่มชาหรือน้ำมะตูมแล้วแต่สถานที่จะจัดไว้ ระหว่างที่เดินออก พนักงานผู้นวดก็จะมายืนรอรับทิป ซึ่งก็ให้มากน้อยตามแต่คุณภาพของการให้บริการ

ที่ผมเล่ามายืดยาวเรื่องการนวด ก็เพราะต้องการจะเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมของการไปอาบน้ำร้อนของญี่ปุ่น ที่เรียกว่าออนเซ็น เริ่มตั้งแต่การแต่งกาย น่าประหลาดที่คนญี่ปุ่นบางคนแต่งกายด้วยชุดลำลองตามประเพณีเพื่อเดินทางไปออนเซ็น แต่ในขณะเดียวกันคนไทยไม่ว่าจะแต่งชุดอะไรไป ก็ต้องเปลี่ยนชุดเป็นชุดที่คล้ายๆ กันหมด คือเป็นชุดตามขนบนิยมของร้านนวด ที่เป็นผ้าฝ้ายธรรมชาติและกางเกงเล ราวกับจะบอกว่าแม้แต่ในที่ลับหูลับตาคน บรรทัดฐานของสังคมก็ยังเข้ามาบังคับควบคุมวิธีการแต่งกายของคุณ

ถัดมาเป็นเรื่องของการชำระล้างร่างกาย ในออนเซ็นผู้รับบริการมีหน้าที่ชำระล้างร่างกายตนเอง แต่ในสปาของไทย เราล้างเท้าให้กับผู้รับบริการ “เท้า” สำหรับคนไทยเป็นของต่ำ การที่มีคนมาจับเท้าและชำระล้างให้นั่นถือเป็นสิทธิพิเศษ เหมือนเราอยู่ในฐานะที่สูงกว่าผู้ล้างเท้าให้เรา

Advertisement

แต่ที่ญี่ปุ่นต่างคนต่างต้องถอดเสื้อผ้าทั้งหมดออก และนั่งลงอย่างสุภาพเพื่อชำระล้างร่างกายตนเองข้างๆ คนอื่น ต้องคอยระวังไม่ให้น้ำที่เราอาบไปกระเซ็นโดนคนข้างๆ จึงมีกฎว่าช่วงชำระล้างร่างกาย เราไม่ควรยืนขึ้น แต่ให้นั่งบนเก้าอี้เตี้ยๆ และปฏิบัติกิจของเราไป

ในแง่นี้ สังคมญี่ปุ่นจึงสอนให้คนเรารู้จักเคารพผู้อื่น ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เพราะเมื่อถอดเสื้อผ้าออกอาบน้ำและปราศจากอาภรณ์ห่มคลุมกาย ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะทราบว่าเขาเป็นใคร

เมื่อรับบริการ ร้านนวดเป็นสิ่งที่สบายมาก เพราะเราจะได้จับจองพื้นที่ส่วนตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร และมีผู้ให้บริการดูแลให้ความหรรษากับเรา เราเองไม่ต้องตัดสินใจใดๆ เพราะเวลาถูกกำหนดมาแล้วโดยจำนวนเงินที่เราตัดสินใจจะจ่าย

Advertisement

ส่วนการรับบริการจากออนเซ็น เราเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะใช้บริการนานแค่ไหน จะแช่ที่บ่อใด บางร้านมีบริการบ่อที่ร้อนมากและร้อนน้อย หรือมีแบบที่อยู่ภายนอก รับอากาศบริสุทธิ์ หรืออยู่ภายในอาคาร แน่นอนว่าเราเลือกไม่ได้ว่าจะมีใครมาใช้บริการร่วมบ่อกับเราบ้าง และในบางกรณีก็เลือกเพศไม่ได้ เพราะเป็นบ่อน้ำรวม

ดังนั้น การใช้บริการร่วมกันจึงต้องคำนึงถึงใจของผู้อื่น เช่น ไม่ควรหัวจุ่มลงในน้ำร้อน หรือไม่ควรเอาผ้าที่มักจะใช้แปะไว้บนศีรษะมาซักล้างในบ่อน้ำร้อน การใช้บริการออนเซ็นจึงเป็นเรื่องของมารยาททางสังคมที่จะต้องเรียนรู้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มเข้ามาใช้บริการ

ในร้านนวด ไม่มีใครต้องคำนึงถึงมารยาททางสังคม เพราะต่างคนก็มีพื้นที่ส่วนตัวที่จะทำอะไรก็ได้ เราอยู่ด้วยกันแต่กลับไม่ต้องคำนึงถึงกัน

ดังนั้น คนไทยเราจึงทำพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่คนญี่ปุ่นทำพื้นที่ส่วนตัวและวาระส่วนตัว เช่น การอาบน้ำ ให้กลายเป็นเรื่องสาธารณะ

นั่นหมายถึงว่า คนไทยเราไม่ได้ถูกฝึกฝนเรื่องจิตสำนึกรวมหมู่ (Collective Mind) เท่าที่ควร เพราะในขณะที่เรามีคำว่า “เกรงใจ” แต่ก็เหมือนกับรูปคำที่แสดงให้เห็นว่า อันที่จริงการคำนึงถึงส่วนรวมของเราเป็นไปในลักษณะของความกลัวเสียมากกว่า กลัวว่าจะผิด กลัวว่าจะมีอันตรายกับตัวเอง แต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความร่วมรู้สึก (Empathy) ที่เราอยากจะให้ผู้อื่นได้ในสิ่งที่ดีเท่ากับเรา หรือไม่เจอเรื่องแย่ๆ อย่างที่เราก็ไม่อยากเจอ

และเมื่อพิจารณาสถานที่ซึ่งเราใช้เพื่อผ่อนคลาย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ อย่างร้านนวดซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนซึ่งแตกต่างกันมากมาใช้บริการ เรากลับเปลี่ยนมันให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว ดังนั้น จึงตัดโอกาสที่จะฝึกฝนการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่เราไม่รู้จัก

การจ่ายเงินเพื่อเช่าเวลาและเช่าแรงงานมาให้บริการกับเราเป็นการส่วนตัว ส่งสัญญาณบอกว่าความสุขเป็นเรื่องส่วนตัวและซื้อหาได้ถ้ามีเงิน

มีคำกล่าวว่า “อยากทำอะไรก็ทำไป แต่อย่าให้คนอื่นเดือดร้อน” ฟังเผินๆ ดูเหมือนเป็นการคำนึงถึงสังคม แต่ในทางปฏิบัติเราต้องเข้าไปอยู่ในป่าวอลเด็น เพื่อที่จะไม่ให้มีใครเดือดร้อน “จงเดือดร้อนกับความอยากทำอะไรก็ทำ” ดูจะเป็นคำพูดที่เหมาะสมกว่า

ธรรมชาติของความสุขของการนวดและออนเซ็นนั้นต่างกัน การนวดคือการเอาความสุขของเราไปหวังพึ่งอยู่กับผู้ให้บริการ ซึ่งก็เป็นมนุษย์ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึก มีประวัติศาสตร์ของเขาเอง บางวันอาจจะนวดดี บางวันอาจจะนวดไม่ดี แต่ออนเซ็นคือการเอ็นเตอร์เทนตัวเอง เป็นความรู้สึก “พึงใจ” ที่เกิดจากการสัมผัสกับประสบการณ์ที่เราเลือกจะทำ เป็นความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ “ความพึงใจ” นี้ต่างกับความ “สบาย” ที่มีคนอื่นทำให้

ในกรณีนี้ความสุขจึงไม่ได้ถูกหยิบยื่นให้เราจากผู้อื่น แต่เราได้ “ค้นพบ” ความสุขซึ่งมีพร้อมอยู่ในตัวเราเอง เพียงแต่หลงลืมไปเพราะหน้าที่การงานหรือชีวิตส่วนตัว

การมีความสุขง่ายๆ ได้เองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อตัดขาดจากธรรมชาติ เราแสวงหาความสุขในสินค้า หรือสิ่งของ หรือคนด้วยกัน แต่แล้วก็เบื่อเพราะมันเป็นความสุขแบบพึ่งพา

ในการนวด “กลิ่น” เป็นสิ่งสำคัญ การใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นตัวสร้างบรรยากาศได้ดี แต่ออนเซ็น ที่อยู่นอกตัวอาคาร หรือบางแห่งไปสร้างในป่า หรือสร้างอยู่ริมทะเล กลับให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ

เมื่อไม่มีน้ำมันหอมระเหย จมูกของเราจะดมกลิ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กลิ่นกำมะถันที่ฉุนขึ้นมาจากบ่อน้ำร้อน กลิ่นต้นสน กลิ่นหอมอ่อนๆ จากฝนที่เพิ่งตกใหม่ๆ ในป่า ออนเซ็นจึงฝึกเราให้ชื่นชมธรรมชาติ

ส่วนร้านนวดบอกกับเราว่า ธรรมชาติถูกนำมาใช้เพื่อเป็น “เครื่องมือ” ให้เราผ่อนคลายได้ และซื้อหากลับบ้านได้ โดยแปะป้ายว่า “ธรรมชาติบำบัด” อยู่ตรงเคาน์เตอร์ขายสินค้าในร้านนวด

เมื่อธรรมชาติกลายไปเป็นแค่เครื่องมือสนองความสุขที่เราซื้อหาได้ เราก็มองธรรมชาติเป็นแค่สิ่งรับใช้เรา ใช้เพื่อ “บำบัด” ในที่นี้ไม่ใช่บำบัดโรค แต่บำบัดความใคร่ของเราเท่านั้น จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราเปลี่ยนพื้นที่กึ่งสาธารณะอย่างร้านนวด ให้กลายไปเป็นตลาดของ “สุขภาวะที่ดี” ตัดขาดความรู้สึกที่ต้องจะ “ทึ่ง” และเกิดความเคารพในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติออกไป เป็นสิ่งที่ซื้อหาได้ด้วยเงิน

การออกแบบพื้นที่สาธารณะ จะส่งผลให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน เราอาจจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราช่วยกันออกแบบพื้นที่ซึ่งเราจะใช้ชีวิตได้ ผมเองเคยนึกฉงนว่าพื้นที่ไหนซึ่งคนไทยเราใช้บริการร่วมกันเพื่อการผ่อนคลายในที่สาธารณะบ้างในแบบออนเซ็นของญี่ปุ่น นึกตั้งนานนึกไม่ออก

จนกระทั่งได้มาใช้บริการจากศูนย์บริการนวดที่มีชื่อเสียงแห่งนี้นี่เอง จึงได้ทราบว่าของเรามีมานานแล้ว แต่แบบที่แตกต่างออกไปจากญี่ปุ่น

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image