เทศกาลประจำปีของไทย : โดย ปริญญา ตรีน้อยใส

เมืองไทยของเรา นอกจากเทศกาลสาดน้ำสงกรานต์ เดือนเมษายน และเทศกาลลอยกระทง เดือนพฤศจิกายนแล้ว ยังมีอีกเทศกาลที่เกี่ยวกับน้ำ และมีกิจกรรมกันทั่วทั้งประเทศ

ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม คนไทยดูจะกระวนกระวายกับอากาศร้อนจัด แต่ก็พอใจ ด้วยมี ข้ออ้าง ต้องไปชายทะเลหรือยอดดอยในบ้านเรา และไปเดินเล่นหรือช้อปปิ้งในบ้านเขา จนกลายเป็นเรื่องสนุกสนานสำราญใจ

พอถึงเดือนมิถุนายน ฝนฟ้าก็เริ่มตก อากาศร้อนหายไป ไม้ใบเริ่มเขียว ไม้ผลเริ่มผลิดอกออกผลให้อิ่มหนำสำราญ แต่ทุกครั้งที่ฝนตั้งเค้า คนกรุงเทพฯจะหวาดผวา กลัวจะติดอยู่ในรถนานเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง กลัวน้ำรอระบายจะท่วมถนนหนทางและบ้านอยู่อาศัย

ผู้คนเริ่มไม่แน่ใจว่า ฝนฉ่ำกับฝนแล้งแบบไหนจะดีกว่ากัน แต่ก็จะรู้ว่า เทศกาลฝนตกน้ำท่วม เริ่มขึ้นแล้ว

Advertisement

เรื่องฝนตกน้ำท่วมนี้ นอกจากเป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของบ้านเราอยู่ในเขตมรสุมแล้ว ยังมีเหตุมาจากแนวชายฝั่งทะเลในอดีตสมัยทวารวดีนั้น ไม่ใช่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากห่างขึ้นไปไกลทางเหนือหลายกิโลเมตร เมืองโบราณที่อยู่ติดกับอ่าวไทยในตอนนั้น ได้แก่ นครนายก ลพบุรี สุพรรณบุรี อู่ทอง นครปฐม คูบัว ฯลฯ นั่นหมายความว่า บริเวณพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันอยู่ใต้น้ำมาก่อน เพียงแต่ว่าฝนที่ตกบนเขาทางภาคเหนือและไหลหลากลงมา ได้นำตะกอนที่อุดมสมบูรณ์มาทับถมบริเวณปากแม่น้ำนานหลายร้อยปี จนกลายสภาพเป็นทะเลตม และเป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำในเวลาต่อมา

เมื่อรวมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล เลยกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเกษตรยิ่งนัก ผู้คนพากันมาตั้งถิ่นฐานทำนาหาเลี้ยงชีพ จากบ้านกลายเป็นเมือง และมหานครในเวลาต่อมา

ตามสภาพภูมิประเทศ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีระดับสูงกว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกเล็กน้อยจึงเหมาะแก่การเพาะปลูกประเภทพืชสวน เป็นที่มาของการเรียกขานว่า บาง เช่น บางกอก บางบำหรุ บางบัวทอง บางมด บางแวก บางปะกอก เป็นต้น

Advertisement

ส่วนฝั่งตะวันออก ที่มีระดับต่ำกว่า มีสภาพเป็นทุ่ง เหมาะแก่การทำนา เช่น ทุ่งแสนแสบ ทุ่งวัวลำพอง ทุ่งสามเสน ทุ่งมักกะสัน ทุ่งดงละคร เป็นต้น

บางพื้นที่จะมีน้ำท่วมขังเป็นหนอง บึง เช่น หนองจอก บึงกุ่ม เป็นต้น หรือเป็นที่ ลาด(ลุ่ม) เช่น ลาดพร้าว ลาดกระบัง ลาดหลุมแก้ว ลาดยาว ลาดปลาเค้า เป็นต้น

คนรุ่นปัจจุบันไม่รู้กำพืดเดิม เพราะรุ่นปู่ย่าตาทวด หรือพ่อแม่โยกย้ายมาจากถิ่นอื่น เลยทำเป็นไม่รู้ว่าถิ่นที่อยู่อาศัยนั้น อย่างไรก็ต้องเจอะเจอฝนตกและน้ำท่วม

น้ำฝนที่ตกลงมา เดิมทีจะไหลไปตามสภาพพื้นที่ เกิดเป็นทางน้ำและคูน้ำมากมาย ก่อนจะไหลรวมลงคลอง สู่แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ที่เป็นแหล่งรวมของน้ำ จากทางภาคเหนือของประเทศ ส่วนแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำแม่กลอง จะเป็นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันออกและตะวันตก ตามลำดับ ก่อนที่จะไหลลงอ่าวไทย ทางน้ำทั้งน้อยใหญ่ ที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบ เป็นที่มาของรูปสัณฐานของบางกอก ที่พัฒนาต่อเนื่อง เป็นสภาพบ้านเมืองเช่นในปัจจุบัน

ความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินที่มาพร้อมน้ำหลาก ทำให้พืชพันธุ์งอกงามตามธรรมชาติ ฝนที่ตกตามฤดูกาล ทำให้คนไทยมีผลิตผลจากธรรมชาติ ให้บริโภคตลอดทั้งปี เพียงแค่พันธุ์ไม้ที่เจริญงอกงามรอบบ้าน ก็พอเพียงกับการประกอบอาหารแต่ละมื้อ แต่ละวัน

จะมีแต่ชาวจีนอพยพเข้ามาขุดคูยกร่อง ปลูกผักผลไม้บางชนิดที่ไม่มีในพื้นถิ่น จึงมีคำเรียกขานว่า ไร่จีนหรือสวนจีน ทั้งนี้ ชาวจีนยังนำวิธีการเกษตรที่ต่างไปจากการทำนาทำไร่แบบเดิม มาช่วยเพิ่มผลผลิต จนกลายเป็นสินค้าส่งออกของไทย อย่างเช่น อ้อย พริกไทย เป็นต้น โดยชาวจีนทำหน้าที่พ่อค้า รวบรวมผลผลิตทางเกษตรมาแลกเปลี่ยนในชุมชน หรือส่งมากรุงเทพฯ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ จึงอาสาขุดคลองเชื่อมแม่น้ำ เช่น คลองภาษีเจริญ คลองแสนแสบ คลองเขื่อนขันธ์ เป็นต้น

เกิดเป็นโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ในยุคหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง

ยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การชลประทาน ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้พอเพียงกับประชากรเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ยังเหลือเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก ยุคที่กิจการค้าระหว่างประเทศคึกคัก ด้วยกองกำลังทางเรือของมหาอำนาจยุโรปที่ครอบคลุมไปทั่วโลก พื้นที่เกษตรกรรมแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า สวนฝรั่ง หรือ สวนหลวง จึงเกิดจากการผสมผสาน ระหว่างทางน้ำตามธรรมชาติดั้งเดิมและทางน้ำที่มนุษย์ขุดขึ้นมาใหม่อย่างเป็นระบบ เพื่อส่งน้ำเข้าและระบายน้ำออกให้มีปริมาณน้ำเหมาะสมกับการเพาะปลูก

จึงมีการทำเขื่อนและประตูน้ำ เช่น ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองรังสิต คลองหนึ่ง สอง สาม สี่ เป็นต้น

การขุดคลองใหม่ ทั้งเพื่อการสัญจรหรือการส่งน้ำ เพื่อการเกษตร ยังได้ดินมาถมพื้นที่สองฝั่งคลองให้สูงพอควบคุมระดับน้ำ ดินที่อัดแน่นและเป็นแนวตรงได้กลายเป็นถนน ทำให้เกิดการสัญจรทางบก มาแต่สมัยรัชกาลที่ 4 การขุดคลองลัดจากคลองเตยมาถึงตลาดน้อย (ทางทิศใต้ของย่านคนจีน) เพื่อลดเวลาในการอ้อมคุ้งน้ำ เกิดเป็นคลองและถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4) เป็นต้น ในทางกลับกัน การตัดถนนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ทำให้เกิดคลองคู่ขนานกันไป เช่น ถนนสาทรเหนือและใต้ ทำให้เกิด คลองสาทร ถนนอังรีดูนังต์ ทำให้เกิดคลองอรชร เป็นต้น คลองใหม่ที่เกิดขึ้น เมื่อรวมกับคลองเดิม ทำให้กรุงเทพฯ มีภูมิทัศน์เมืองสวยงาม จนได้ชื่อ เวนิสแห่งตะวันออกไกล

อิทธิพลจากตะวันตกในยุคนั้น ยังส่งผลให้วิถีชีวิตชาวสยามเปลี่ยนไปมากมาย โดยเฉพาะรูปแบบการอยู่ อาศัย จากเรือนไม้ใต้ถุนสูง ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ แบบอย่างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแปรเปลี่ยนเป็นการก่อสร้างแบบยุโรป เริ่มจากพระราชฐาน ไปสู่วัดวาอาราม กระทรวง และสถาบันการศึกษา รวมทั้งอาคารพักอาศัย

ช่างไทยในอดีตฉลาดที่จะปรับรูปแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและวัสดุที่มีอยู่ จากอาคารก่ออิฐถือปูนก็ปรับเป็นเรือนไม้ที่ตกแต่งให้ดูคล้ายตึก หรือการผสมโครงสร้างคอนกรีตและไม้ กลายเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ในเวลาต่อมา ที่สำคัญมีการยกพื้นให้สูงพอหนีน้ำ ใต้ถุนที่ก่อปิดด้วยผนังอิฐใต้อาคารจะมีช่องระบายความชื้น รวมทั้งการเพิ่มระเบียง มีหลังคาคลุมที่ชั้นบน

เช่นเดียวกับสภาพพื้นที่ลุ่มและดินอ่อน ทำให้ต้องขุดบ่อน้ำ หรือคูน้ำล้อมในบริเวณบ้าน เพื่อจะได้ดินมาถมและบดอัดแน่น รับน้ำหนักอาคาร เช่น การขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ในเขาดิน เพื่อจะได้ดินสำหรับก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม สระน้ำน้อยใหญ่ในเขตพระราชวังดุสิต เพื่อก่อสร้างหมู่พระที่นั่ง สนามหญ้าหน้าหอประชุม ก็มาจากสระน้ำที่อยู่ริมถนนพญาไท ที่ปัจจุบันกลายเป็น ภาพลักษณ์อันงดงามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การปรับเปลี่ยนบ้านเมืองแบบใหม่ แม้จะทำลายระบบระบายน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิมบ้าง แต่ก็มีคู คลอง บ่อน้ำ เพิ่มมากขึ้น ช่วยทำหน้าที่แก้มลิง กักเก็บน้ำสำหรับฤดูแล้ง และระบายน้ำในฤดูฝน จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด

เสียดายว่าการสัญจรทางน้ำเสื่อมความนิยมในเวลาต่อมา ส่งผลให้มีความต้องการถนนเพิ่มมากขึ้น ทั้งถนนหลักและถนนรอง วิศวกรโยธาเลือกวิธีการขยายผิวจราจรแบบตะวันตก โดยการถมคลองที่อยู่ด้านข้าง และฝังท่อระบายน้ำขนาดเล็กแทน

เช่นเดียวกับรถบรรทุกที่ประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากจะช่วยขนส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็วกว่าทางรถไฟ ยังช่วยขนดินจากแหล่งอื่นมาปรับระดับดินให้สูงขึ้น การถมที่จึงเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องและขยายวงออกไปโดยทั่วราชอาณาจักร

เมื่อคลองหายไป ส่งผลให้คูและทางน้ำที่เคยต่อเนื่องเป็นระบบตื้นเขินเน่าเสีย การเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม เป็นที่พักอาศัย ประกอบธุรกิจการค้า และอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเป็นตรอกเล็กซอยน้อยไปทั่วเมือง การสัญจรทางเท้า รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ เข้าแทนที่เรือ

กรุงเทพฯ จึงสูญเสียความเป็นเวนิสแห่งตะวันออกไกลไปในที่สุด

เช่นเดียวกับ เทคนิคการก่อสร้างที่เปลี่ยนไป เมื่อการก่ออิฐถือปูนและโครงสร้างคอนกรีตหรือเหล็กเป็นที่นิยม ด้วยความคงทนแข็งแรงกว่าไม้ ช่างทำงานง่ายและรวดเร็วกว่า และยังมีประสิทธิภาพรับน้ำหนักอาคารเพิ่มมากขึ้น สิ่งก่อสร้างจึงสูงขึ้น รวมทั้งเทคนิคการตอกเสาเข็ม แทนการถมดินแบบเก่า แต่ผู้คนยังคงถมดิน เพราะเลียนแบบการสร้างถนน เพราะอยากเห็นบ้านบนเนิน ที่ตรงกับต้นแบบในต่างประเทศ จนเกิดการแข่งขันถมดิน ระหว่างบ้านกับบ้าน และบ้านกับถนน ที่ผลัดกันแพ้และแพ้ตลอดมา

ระบบระบายน้ำจากอาคารบ้านเรือนสู่ถนน ที่นำแบบอย่างมาจากต่างประเทศ แต่ด้วยงบประมาณจำกัด ท่อส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และไม่ได้รื้อขยายเมื่อบ้านเมืองเจริญ ผู้คนเพิ่มมากขึ้น รวมกับสภาพดินอ่อน ทำให้ท่อแตกร้าวทรุดตัว ไม่ต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคการไหลของน้ำ ที่สำคัญ วิศวกรไม่เคยแยกท่อระบายน้ำฝน ออกจากท่อระบายน้ำเสีย ทำให้ของเสียคอยกั้นขวางการไหลของน้ำ น้ำฝนกลายเป็นน้ำเน่าเสีย

การก่อสร้างทางหลวงสายต่างๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างเมือง ทางอ้อมเมือง หรือวงแหวนรอบเมือง ล้วนมาจากการถมอัดดินลูกรัง จนมีระดับสูงกว่าระดับน้ำสูงสุด ทางหลวงจึงมีสภาพเป็นเขื่อนดิน กันไม่ให้น้ำที่เคยระบายไปมาตามสภาพพื้นที่ แม้จะมีการสร้างสะพานและท่อลอด แต่ก็มีขนาดเล็ก และมีจำนวนไม่มากพอรองรับปริมาณน้ำ จึงไม่แปลกที่ชุมชนเมืองภายในทางหลวง จะเป็นเหยื่อน้ำท่วมขังอยู่เสมอ

แม้แต่ชุมชนริมน้ำ ก็จะมีเขื่อนคอนกรีต ป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นไปท่วมพื้นที่ภายใน ที่ไม่ใช่สวน หากเป็นอาคารบ้านเรือนไปหมดแล้ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนริมน้ำหรืออยู่ในน้ำ แนวเขื่อนจึงต้องสร้างห่างออกมา ทำให้ความกว้างของแม่น้ำลงคลองมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้มวลน้ำที่เคยหลากไหล ก่อตัวยกระดับสูงขึ้น เอ่อล้นข้ามสันเขื่อนท่วมบ้านเรือน ยิ่งไปกว่านั้น เขื่อนกันน้ำยังกลายเป็นแนวกันน้ำ ไม่ให้ย้อนกลับลงสู่แม่น้ำหรือคลอง เมื่อปัญหาน้ำคลี่คลายลง

แนวคิดเรื่องเขื่อนกันน้ำนี้ ยังกลายเป็นแบบแผนมาตรฐาน บ้านเรือนแต่ละหลัง หรือหมู่บ้านจัดสรร รวมทั้งศูนย์การค้า โรงงาน สถานที่ราชการ และนิคมอุตสาหกรรม สร้างแนวเขื่อนโดยรอบ และใช้วิธีสูบน้ำออกนอกพื้นที่ยามที่ฝนตกลงมา น้ำที่เคยหลากไหลไปตามสภาพระดับดินเดิมมาช้านาน เริ่มไม่คุ้นเคยกับเนินดินที่เกิดจากการถมที่หรือแนวเขื่อนกันน้ำ เมื่อรวมกับน้ำที่สูบพ่นไปมา

กระแสน้ำจึงงงงวย ไหลวกวนไปมา ใช้เวลานานขึ้นกว่าจะหาทางลงสู่อ่าวไทยได้

ฝนตกน้ำท่วม ที่เคยเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทุกคนรอคอย น้ำฝนช่วยเพาะกล้าไม้ให้เจริญงอกงาม น้ำเหนือนำพาอาหารหรือปุ๋ยโอชะให้ต้นไม้เจริญเติบโต น้ำทะเลหนุนนำพาความเค็มมาผสมเป็นสูตรลับให้ผลไม้ไทยมีรสชาติถูกปาก คุณภาพถูกใจตลอดมา จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะร้องรำเรียกหาฝน ตอนต้นฤดู และเริงร่าลอยกระทง เพื่อคารวะน้ำที่หลากไหลผ่านตอนปลายฤดู

วิถีชีวิต บ้านเมือง ธรรมชาติแวดล้อม และสภาวการณ์ของโลกเปลี่ยนไป ฝนตกไม่ตามฤดูกาล หรือมีปริมาณมากขึ้น ได้กลายเป็นภัยพิบัติของประเทศ กลายเป็นฝันร้ายของผู้คน และกลายเป็นเทศกาลร่วมสมัยประจำปี มีกิจกรรมต่างๆ เริ่มตั้งแต่ ผู้ว่าการหรือผู้ว่าราชการ ออกมาชี้แจงถึงปริมาณน้ำฝน และขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน

นักวิชาการออกมาอธิบายด้วยถ้อยคำยาวๆ อ้างทฤษฎียากๆ และเสนอวิธีแก้ปัญหาตามที่เรียนมา

นักวางผังเมืองออกมาเสนอแนวคิดและผังเมือง ที่ไม่มีใครนำไปปฏิบัติได้

รัฐมนตรีออกมา พร้อมกับภาพช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเสนอนโยบายระยะยาว หรืออภิมหาโครงการที่ลงมือไม่ได้ทันที

ข้าราชการออกมาของบฉุกเฉินแก้ปัญหาระยะสั้น แล้วรีบลงมือใช้จ่าย เพื่อให้เพื่อนผู้รับเหมามีงานทำ

นักอนุรักษ์โลกสวยออกมา ประณามนายทุนหรือรัฐบาล พร้อมกับอ้างเรื่องเดิมๆ ที่มาจากต่างประเทศ

ส่วนชาวบ้าน ก็พร้อมออกมากล่าวโทษคนสีตรงข้าม หรือใครสักคน ว่าเป็นต้นเหตุ

เทศกาลฝนตกน้ำท่วม นี้ ทุกคนจึงมีส่วนร่วม มีกิจกรรมทำ เกิดความสบายปาก สบายใจ โดยไม่ต้องทำอะไร แต่ก็มีหลายคนเต็มใจร่วมกิจกรรม เพราะทำแล้วสบายกระเป๋า แล้วทุกคนก็รอเวลาจนลมเปลี่ยนทิศ ฝนย้ายที่ตก และน้ำลงทะเล ก็เป็นอันสิ้นสุดเทศกาล

เทศกาลฝนตกน้ำท่วม มีระยะเวลายาวนานกว่าเทศกาลอื่น จึงมีผู้คนได้ร่วมกิจกรรมมากมาย ต่อเนื่องกันทั่วประเทศ เริ่มจากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน มาภาคกลางตอนบน ตอนล่าง ก่อนจะลงไปภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน

เป็นประจำเช่นนี้ทุกปี

ปริญญา ตรีน้อยใส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image