สถาบันพระปกเกล้าหนุน ชุมชนไร้ถัง ที่เมืองบางขลัง สุโขทัย : โดย วิทยา เกษรพรหม

ปัญหาขยะถือเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีปริมาณขยะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาขยะที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และยกให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการขยะ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเสวนาวิชาการ “20 ปี ปัญหาขยะประเทศไทยหมดไปด้วยกลไกตลาดทุน” (https://www.matichon.co.th/4 ก.พ.2562) สรุปได้ว่า ปัญหาขยะถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ มท.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อน “จังหวัดสะอาด” ขึ้น การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะมูลฝอยแบบยั่งยืนของ อปท. ต้องเริ่มจากภายในหน่วยงาน เพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดีก่อนถ่ายทอดสู่ประชาชน ภายใต้หลัก “ประชารัฐ” เป็นการสร้างความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการถ่ายทอดความรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก ทุกคนต้องตระหนักรู้ว่า “คนเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะ”

ดังนั้นการสร้างจิตสำนึกในตัวเราคือ จุดเริ่มต้นที่ดี โดยนำหลักการ 3Rs คือ 3ช Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะต้นทาง และยังมี “แผนรณรงค์ แยกก่อนทิ้ง” ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนร่วมสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การจัดการขยะในครัวเรือน ให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีการจัดการคัดแยกขยะตามประเภทได้อย่างถูกต้อง อปท.ทุกแห่งมีการจัดทำสัญลักษณ์แยกประเภทขยะและให้มีการจัดเตรียมถังขยะในพื้นที่สาธารณะให้ครบ ให้มีการจัดทำถังขยะอินทรีย์/ถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชน

Advertisement

เมืองบางขลังกับการจัดการขยะ
ได้ดำเนินการตามที่อธิบดีสุทธิพงษ์ กล่าวข้างต้น มีการแจกถังพร้อมป้ายตามแหล่งชุมชน การรณรงค์แยกก่อนทิ้ง ถัง/หลุมขยะเปียก ฯลฯ ชุมชนโบราณเมืองบางขลังตระหนักถึงปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ทต.เมืองบางขลังร่วมกับชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว.(สกว.เดิม) ทำการวิจัยเพื่อท้องถิ่นและการท่องเที่ยวชุมชน รวม 4 เรื่อง ทำให้มีความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ในขณะเดียวกันก็ได้เข้ารอบรางวัลลูกโลกสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งได้รับแจ้งจาก นายวราดิศร อ่อนนุช นายอำเภอสวรรคโลกว่า เมื่อ 9 มี.ค.2562 นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในขณะนั้น) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ณ สวนหลวงพระร่วงเฉลิมพระเกียรติทุ่งแม่ระวิง ได้กล่าวถึงเมืองบางขลังไว้ว่า “…จ.สุโขทัย อ.สวรรคโลก และพื้นที่ที่เป็นจุดกำเนิดประเทศไทย (เมืองบางขลัง) ควรจะให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไทย ได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย ถ้าเป็นไปได้ควรจะได้มาศึกษาปีละประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ รวมทั้งให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาเหล่านั้นได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชาสู่โคกหนองนาโมเดลจากโครงการในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยที่จะดำเนินการต่อไปด้วย…”

เมื่อ สุวรรณ ทรัพย์ศิริกาญจนา รองปลัด ทต.เมืองบางขลัง เข้ารับอบรมจากสถาบันพระปกเกล้าทำให้รับรู้ถึง “โครงการพลเมืองยุคใหม่ ชุมชนไร้ถัง” นำมาสู่การสมัครเข้าร่วมโครงการในเวลาต่อมา

Advertisement

สถาบันพระปกเกล้าชูธง “ชุมชนไร้ถัง”
วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น นำโดย รศ.ดร.อรทัย ก๊กผล (ในขณะนั้น) ได้ตระหนักถึงปัญหาขยะ จึงได้ริเริ่ม “โครงการพลเมืองยุคใหม่ ชุมชนไร้ถัง” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการได้นำหลักคิดและแนวทางไปพัฒนากลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานตามบริบทของท้องถิ่นตนเอง จนสามารถลดปริมาณขยะ ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในท้องถิ่นให้มีความเป็นพลเมือง มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่น มีจิตสาธารณะ และคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม โดยมอบหมายให้ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน

ปัจจุบันสถาบันพระปกเกล้าภายใต้การนำของ ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการ รศ.ดร.อรทัย ก๊กผล และ วิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการ ยังคงมุ่งมั่นทุ่มเทชูธง “ชุมชนไร้ถัง” อย่างเข้มข้น ยังคงให้ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ เป็นแม่ทัพใหญ่ในการต่อสู้ ปะ ฉะ ดะกับปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้น

สถาบันพระปกเกล้าลุยเมืองบางขลัง
ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ พร้อมด้วย สุมามาลย์ ชาวนา และ อติพร แก้วเปีย ได้มาเมืองบางขลังเพื่ออบรมให้ความรู้ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ คณะสงฆ์ พนักงานเทศบาล อสม. นักเรียน และลงพื้นที่ทุกชุมชน เมื่อ 17-18 มิ.ย.2562 โดยมี นายวราดิศร อ่อนนุช นายอำเภอสวรรคโลก เป็นประธานเปิดโครงการ ท่ามกลางรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความรู้ ความเข้าใจที่ตลบอบอวล พร้อมแจ้งว่าจะมาติดตามความก้าวหน้าอีกครั้ง

ดร.ไพบูลย์ชี้ให้เห็นถึง “วิกฤตขยะ” ที่ต้องใส่ใจร่วมแก้ไข ส่วน “ชุมชนไร้ถังนั้นมีจริงและมีหลายแห่งแล้ว” ที่ผ่านมา “ขยะในมือท่านลงถังเถอะครับ” มีการรณรงค์ให้ทิ้งขยะลงถังมานานกว่า 30 ปี แต่ขยะไม่ลด แถมยังเพิ่มขึ้นทุกปี ที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยมีหน้าที่ต้องทิ้งขยะลงถัง แล้วรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ขนขยะไปทิ้งหรือกำจัด ต้องจัดหาถังขยะ พาหนะ คนกวาดเก็บ คนขน ค่าใช้จ่ายและที่ทิ้งขยะ ผลก็คือ ชุมชนเต็มไปด้วยถังขยะ ขาดความสวยงามเป็นระเบียบ ในอนาคตอันใกล้นี้ หากปัญหาขยะไม่ได้รับการแก้ไข ที่ทิ้งขยะก็จะเต็ม ขยะก็จะล้นเมือง “ขยะ” ตามความหมายของ ดร.ไพบูลย์ คือสิ่งที่ใช้ไม่ได้ เป็นพิษ และติดเชื้อ ส่วนที่ขายได้ นำมาใช้ใหม่ได้ไม่ใช่ขยะ

ทต.เมืองบางขลังสะอาดไร้ถัง
24 มิ.ย.2562 ทำแผนปฏิบัติการและส่งแผนให้สถาบันพระปกเกล้า

27 มิ.ย.2562 ประชุมร่วมส่วนราชการ บ้าน วัด โรงเรียน ประกาศเจตนารมณ์ “เมืองบางขลังสะอาดไร้ถัง” พร้อมจัดทำ MOU

4,10 ก.ค.2562 ประชุมทำความเข้าใจพนักงานเทศบาล และ อสม. เพื่อจับคู่ออกรณรงค์ เคาะประตูบ้านทุกหลัง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ผอ.รพ.สต.ทั้ง 2 แห่ง พร้อมแจกบันทึกเยี่ยมบ้าน เริ่มเดือน ก.ค.เป็นต้นไป

6-9 ส.ค.2562 รับคืนถังขยะ พร้อมแจ้งการไปรับขยะใช้ไม่ได้ เป็นพิษ ติดเชื้อ ทุกเดือนในวันที่แจกเบี้ยยังชีพ

ทุกต้นเดือนประชุมพนักงานเทศบาลเพื่อรายงานผล ปรึกษาหารือถึงปัญหา และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

“ชุมชนไร้ถัง” เป็นเรื่องที่ท้าทาย ที่จะต้องใช้ความร่วมมืออย่างเข้มข้นจากภาคีเครือข่าย อย่างไรก็ตาม ที่เมืองบางขลังได้ปักหมุดหมายแล้ว ภายใต้แนวคิด “ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเราได้เริ่มต้น” ที่จะรองรับการท่องเที่ยวชุมชน และเพื่อเป็นการ “แทนคุณบรรพชน พัฒนาคนและแผ่นดิน” สืบไป

หมายเหตุ : สนใจเข้าร่วม “โครงการพลเมืองยุคใหม่ ชุมชนไร้ถัง” ติดต่อได้ที่วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า โทร 0-2141-9566-71 เว็บไซต์ www.kpi.ac.th

วิทยา เกษรพรหม
ปบถ.3 สถาบันพระปกเกล้า
นักบริหารท้องถิ่นระดับสูง : สมรรถนะ รุ่น 1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image