สังคมของมนุษย์หรือคนในยุคปัจจุบันนี้ การติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงด้วยระบบต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทันใจที่มีความทันสมัยในระบบเทคโนโลยีที่ก้าวไกลกว่าห้าทศวรรษที่ผ่านมา การติดต่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเวลานำมาซึ่งการได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในเวลาปัจจุบันและเวลาที่ผ่านมาไม่นานนัก ขณะเดียวกันอรรถประโยชน์ของโทรศัพท์มือถือในยุคนี้มีการทำหน้าที่ที่หลากหลายทั้งในระบบธุรกิจ การค้นคว้าหาข้อมูลที่ต้องการรับทราบอย่างรอบด้าน อะไรสิ่งใดคือประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งดังกล่าว
โนโมโฟเบีย (Nomophobia) เป็นความหมายที่มาจาก No mobile Phone phobia เป็นศัพท์บัญญัติที่ YouGov องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ.2008 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากไม่มีโทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสาร หรือให้นิยามของการเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล อาการของโรคดังกล่าวมีตั้งแต่การพกโทรศัพท์มือถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา มีการอัพเดตข้อมูลในสมาร์ทโฟนเป็นระยะๆ เช็กข้อความ ตื่นนอนมาก็ต้องหยิบโทรศัพท์ ในระหว่างกิจกรรมประจำวันบางคนระหว่างทำงาน ฟังการบรรยายของวิทยากร ประชุมเรียนหนังสือขณะฟังครูอาจารย์บรรยาย กินข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถเมล์ แม้แต่การพบปะในงานศาสนาทั้งงานศพ แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ บวชนาค ญาติมิตรมาพบกันเนื่องในเทศกาลสำคัญๆ สิ่งหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นก็คือ หลายๆ คนมีวิถีชีวิตที่อยู่กับหน้าจอของโทรศัพท์มือถือ
สังคมไทยเราเมื่อย้อนกลับไปเมื่อห้าหรือหกทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือยังไม่มี หรือแม้บางบ้านครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจยังไม่ดีก็ไม่สามารถมีโทรศัพท์ที่ใช้สายเชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐประจำบ้าน ไม่มีโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องทำความร้อนไมโครเวฟ แอร์ทำความเย็นในบ้าน เครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตอื่นใดประเภทต่างๆ ของชีวิตยังไม่มี ความเป็นชีวิตครอบครัวในสมัยนั้น พ่อแม่ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอาญาติพี่น้องจะมารวมกลุ่มพูดคุยทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การทำกับข้าวกินข้าวร่วมกัน กิจกรรมในบ้านครอบครัว ชุมชนสังคมเป็นไปได้อย่างเชื่อมโยง รับฟังความคิดเห็น สภาพของปัญหา สิ่งหนึ่งที่อยู่ในชนบทบ้านนอกก็คือร้านน้ำชา กาแฟโบราณ เป็นสถานที่พบปะพูดคุยติดตามข่าวสารต่างๆ รวมไปถึงการเมืองของประเทศ
วันเวลาผ่านไปตามนิยามของการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองในบริบทและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) มาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ปัจจุบัน (พ.ศ.2560-2564) นโยบายของทุกรัฐบาลที่มีเป้าหมายการพัฒนาประเทศในภาพรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคที่จำเป็นของประชาชนทั้งถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า น้ำใช้ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบติดต่อสื่อสารอื่นๆ ที่ทันสมัยรวดเร็ว โทรศัพท์
อาจจะกล่าวว่าสังคมไทยเราได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม เงินนิยม สิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างมิมีข้อจำกัด การสำนึกต่อระเบียบวินัยขั้นพื้นฐานของสังคม ประเพณีวัฒนธรรม ค่านิยม จริยธรรมที่ดีงามแม้กระทั่งการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองก็สร้างความกังขาและสงสัยต่อคุณภาพชีวิตในประชากรไทยในอนาคตจักเป็นเช่นไร…
ข้อมูลหนึ่งของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสำรวจพบวัยรุ่นไทยอายุ 18-24 ปี เข้าข่ายเป็นโรคโนโมโฟเบียถึงร้อยละ 70 พบในคนวัยทำงานอายุ 25-34 รวมถึงพบในกลุ่มของผู้ใกล้เกษียณจากหน้าที่การงานในอายุ 55 ปีขึ้นไป หลายคนมีความเครียด เหงื่อออก ตัวสั่น คลื่นไส้ มีอาการนิ้วล็อก นิ้วกด ตาแห้ง ตาพร่า มีปัญหาด้านสายตา ความเครียดปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ หมอนรองกระดูกเสื่อม น้ำหนักเพิ่มขึ้นที่ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายกระวน กระวายเมื่อโทรศัพท์มิได้อยู่กับตัว หรือแบตเตอรี่หมด หรือโทรศัพท์เกิดขัดข้องสัญญาณไม่มี และเครื่องโทรศัพท์ที่ชำรุด
เสียหาย ความเครียดกังวลและการหาเครื่องใหม่มาทดแทนก็เป็นสิ่งที่เราท่านพบเห็นได้ง่าย
งานวิจัยหนึ่งของประเทศสหราชอาณาจักรที่ได้ติดตามผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 2,163 คน พบว่า 53% มีอาการวิตกกังวลเมื่อโทรศัพท์หาย แบตเตอรี่หมด ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ 58% เกิดขึ้นในผู้ชาย และ 47% เกิดขึ้นในผู้หญิง และ 9% พบในกลุ่มที่โทรศัพท์มือถือของตนใช้การไม่ได้ซึ่งมีความเครียดเทียบเท่าของภาวะความเครียดจะถึงวันแต่งงานและการไปพบหมอฟันหรือทันตแพทย์ รวมถึงพบในกลุ่มของนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพในผู้ชาย 547 คน 77% พบว่ามีการเช็กโทรศัพท์บ่อยครั้งเฉลี่ย 35 ครั้งต่อวัน และพบในช่วงอายุวัย 18-24 ปี ร้อยละ 77 โรคดังกล่าวแก้ไขได้โดยแนะนำให้มีการห่างจากโทรศัพท์มือถือโดยสร้างวินัยให้กับตนเองรวมถึงการพบปรึกษาทางจิตแพทย์ที่ใช้การรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ซึ่งเป็นการรักษาอาการวิตกกังวลและอาการกลัวในระดับต่างๆ ด้วยวิธีการปรับความคิด…(bangkokhealth.com)
ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงที่ได้ไปสอนนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เห็นถึงระเบียบวินัย ความสำนึกรับผิดชอบของผู้เรียน นักศึกษาทุกคนที่อยู่ในห้องเรียนมีการเก็บโทรศัพท์มือถือ พร้อมปิดระบบความดังของสัญญาณ บนโต๊ะเรียนของนักศึกษาจะมีเฉพาะเอกสารบรรยาย ปากกาดินสอสมุดจดบันทึก ทุกคนตั้งใจฟังการบรรยายและจดจ่ออยู่กับการบรรยายของครูอาจารย์ผู้สอนรวมถึงการซักถามข้อสงสัยถึงเนื้อหาสาระในการเรียนเป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่ถูกปลูกฝังจากโรงเรียนแพทย์ก็คือ การที่จักต้องทำหน้าที่ถึงความเป็นความตายของผู้ป่วยหรือคนไข้ แม้แต่ญาติพี่น้องของคนไข้ที่เกี่ยวข้อง การทำหน้าที่ที่ต้องใช้ทั้งความรู้ความสามารถ สมาธิสติปัญญา การวิเคราะห์ใคร่ครวญถึงสิ่งใดควรทำมิควรทำจึงเป็นหนึ่งในจรรยาบรรณของแพทย์ที่ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นมาถึงยุคปัจจุบัน
ขณะเดียวกันผู้เขียนก็ได้มีโอกาสได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ง่ายหากสถาบันการศึกษานั้นๆ ปล่อยปละละเลยระเบียบวินัยของนักศึกษาผู้เรียน บางแห่งบางสถาบันมีการเล่นโทรศัพท์มือถือขณะฟังการบรรยายของครูอาจารย์ที่อยู่หน้าเวที การประชุมสัมมนาในเวทีต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วเมืองไทยเราก็จักได้พบเห็นถึงพฤติกรรมดังกล่าว อาจจะมีส่วนหนึ่งที่อาจจะตรวจเช็กข้อมูลความรู้ประกอบของวิทยากรที่บรรยายเพื่อเป็นการเพิ่มพูนในองค์ความรู้หรือศาสตร์นั้นๆ แม้กระทั่งเราท่านได้พบเห็นการอภิปรายกันในรัฐสภาของเมืองไทยเรา สมาชิกของรัฐสภาบางคนก็ใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่เพื่อนสมาชิกได้ยืนขึ้นเพื่อแสดงถึงตรรกะเหตุผลในสภาผู้แทนราษฎร ข้อมูลหนึ่งของการอภิปรายในรัฐสภาก็จะมี ส.ส.บางคนที่ถือโทรศัพท์มือถือเพื่อดูข้อมูลในการนำเสนออภิปรายก็ถือว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
สังคมของพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ ที่อยู่ในวัยก่อนเรียนปฐมวัย หรือเรียนระดับประถมศึกษา แทบทุกบ้านจะมอบโทรศัพท์มือถือไว้ให้กับลูกเพื่อติดต่อสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครอง สิ่งหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นบ่อยครั้งก็คือเด็กเล็กๆ มีชีวิตอยู่กับโทรศัพท์มือถือทั้งการดูการ์ตูน เล่นเกม หรือสิ่งเร้าอื่นๆ อยู่เป็นเวลานาน หากพ่อแม่ญาติพี่น้องตักเตือน หรือยึดโทรศัพท์มือถือไปก็จะมีอาการโมโห หงุดหงิด โกรธต่อผู้กระทำสิ่งนั้นต่อตนเอง การโยนหรือให้โทรศัพท์มือถือแก่เด็กเล็กๆ ดูเสมือนว่าต้องการให้เขาไม่ไปรบกวนกิจกรรมการงานอื่นของผู้ปกครอง
ขณะเดียวกันพฤติกรรมของเหรียญอีกด้านหนึ่งที่จักตามมาก็คือโรคโนโมโฟเบีย ที่อาจจะต้องเข้ารับการรักษาบำบัดเยียวยาในอนาคต
ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์มือถือมีการเติบโตทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งระบบตลาดของยี่ห้อ อุปกรณ์เสริมทั้งหูฟัง แผ่นติดหน้าจอ กรอบกันกระแทก ตัวเกาะที่ตั้งของโทรศัพท์ ราคา คุณภาพของโทรศัพท์แต่ละประเภทมิอาจจักรวมถึงการซ่อมแซม ในข้อเท็จจริงหนึ่งสังคมไทยเราได้ชื่อว่าเป็นผู้เสพดิจิทัลของคนทั่วโลก คนไทยเราเสพติดเน็ตมากที่สุดในโลก ข้อมูลหนึ่งจาก Social Media และ Marketing Solutions ได้มีการรวบรวมสถิติของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 4,000 ล้านคนทั้งโลก ในปี 2017 หรือเมื่อสองปีที่แล้วมามีผู้ใช้สมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกของชีวิตไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน และ 2 ใน 3 ของประชากรโลกกว่า 7,600 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือประจำตัว
ในจำนวนนี้มีประชากรกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลกใช้ Social Media เป็นประจำทุกๆ เดือน ประชากรทั่วโลก 4,021 ล้านคนเข้าถึงการใช้งานในอินเตอร์เน็ต ทวีปที่มีผู้ใช้อยู่น้อยที่สุดในโลกก็คือยุโรปเหนือ 94% ยุโรปตะวันออก 90% อเมริกาเหนือ 88% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 58% นอกจากนั้นยังมีห้าอันดับภาษาที่นิยมสื่อสารกันบน Facebook อันดับหนึ่ง ได้แก่ ภาษาอังกฤษ รองลงมาก็คือสเปน ฮินดี อินโดนีเซีย โปรตุกีส และภาษาไทยเราอยู่ในอันดับที่ 12 มีผู้ใช้งาน 52 ล้านคน เมืองไทยเรามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 57 ล้านคน ใช้ Social Media 51 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 93.61 ล้านหมายเลข และผู้ที่ใช้ Social Media เป็นประจำผ่าน Smart Device ในจำนวน 46 ล้านคน คนไทยเราใช้วันเวลาในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก…(brandbuffet.in.th)
เมืองที่มีผู้ใช้ Facebook มากที่สุดในโลกอันดับหนึ่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ใช้ 22 ล้านคน รองลงมาในเมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ 20 ล้านคน เมืองเบกาซิ ประเทศอินโดนีเซีย 18 ล้านคน เมืองจาการ์ตา 16 ล้านคน และเม็กซิโกซิตี้ 14 ล้านคน กลุ่มวัยรุ่นคนทำงานในไทยอายุ 18-34 ปี ใช้ Facebook มากที่สุด โดยมีกิจกรรมบนโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ก็คือส่งข้อความแชต 77% ดูวิดีโอ 75% เล่นเกม 66% ใช้ Mobile Banking 56% และใช้ Mobile Map ค้นหาสถานที่ 64% นอกจากนั้นอรรถประโยชน์บนสมาร์ทโฟนก็มีทั้งตั้งนาฬิกาปลุก ตารางนัดหมาย ใช้แอพพลิเคชั่นการออกกำลังกาย ถ่ายรูป-วิดีโอ เช็กข่าวสาร อ่าน e-books/e-magazine การซื้อของชำระสินค้า คนไทยเรามีตัวเลขถึงการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคบน E-Commerce เป็นมูลค่ายอดขายบนออนไลน์ 2.962 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตโดยเฉลี่ย 22% ต่อปี หรือมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปีประมาณ 8,600 บาท…
งานวิจัยของ Digital Yearbook 2018 หรือเมื่อปีที่แล้วมาเมืองไทยเราใช้สื่อโฆษณาเพื่อสร้าง Brand/Product Awareness ที่ได้ผลดียิ่งในสื่อห้าอันดับแรกที่ทรงพลัง ได้แก่ สื่อโทรทัศน์
สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อในสโตร์และสื่อโปสเตอร์ สิ่งหนึ่งที่เราท่านได้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ การใช้กลวิธีเทคโนโลยีในการเข้าถึงคะแนนเสียงของการเลือกตั้งที่ผ่านมาของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกกล่าวอ้างจากหัวหน้าพรรคที่ว่า พรรคตนเองมีฐานเสียงกว่าหกล้านคน จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์เกิดความพ่ายแพ้คะแนนเสียงที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค และหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ประกาศการทำงานด้วยระบบใหม่ในการเข้าถึงประชาชนด้วยการใช้สื่อที่ทันสมัยอาจจะคล้ายๆ กับพรรคที่ประสบความสำเร็จของฐานเสียง การแข่งขันกันของนักการเมืองไทย พรรคการเมืองไทยเรายังอยู่ในบริบทของการแย่งชิงซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของการได้มาในตำแหน่งทางการเมืองไทยยังคงอยู่ในข้อเท็จจริง
กระทรวงที่ดูเสมือนว่าจะได้ชื่อใหม่ที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยเราไม่นานนี้ก็คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการปรับเปลี่ยนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีการจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 และปรับมาเป็นกระทรวงดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ที่ได้มีวิสัยทัศน์ถึงจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีของประชาคมโลก รัฐมนตรีในกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศต่อสาธารณะเมื่อเร็ววันนี้ถึงมาตรการของเฟคนิวส์ ข้อมูลข่าวลวงหลอกในสังคมไทยเราที่มีนัยสำคัญ การทำงานดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลเองหรือว่าจะปกป้องสิทธิประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นลำดับแรกๆ
โนโมโฟเบีย คงจะมิใช่เฉพาะโรคติดโทรศัพท์มือถือที่จักต้องเข้าบำบัดรักษาเท่านั้น สังคมไทยเรายังมีบางโรค อาทิ โรคยึดติดอำนาจ ผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าคุณภาพชีวิตของพลเมืองไทยที่ดูเสมือนจักตรงกันข้าม เราท่านจักแนะนำให้เขาเหล่านั้นไปบำบัดรักษาจากสถานที่ใด ใครเป็นผู้รักษา รักษาแล้วเมืองไทยเราจักหายจากการป่วยหรือไม่…