การเมืองเรื่องคุณวุฒิการศึกษา โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ปัญหาเรื่องคุณวุฒิการศึกษานั้นเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องของการเมืองทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องในประเทศไทย

กล่าวโดยสรุป ปัญหาเรื่องคุณวุฒิการศึกษากับการเมืองนี้แบ่งออกเป็นสี่ประเด็น

หนึ่ง เรียนไม่จบแล้วอ้างว่าเรียนจบคือเรียนจริงแต่ไม่จบ

สอง ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่อ้าง แต่ก็ยังเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่น (อันนี้ส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจผิดกันไปเอง)

Advertisement

สาม ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่อ้างว่าจบ แต่เรียนจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อคล้ายๆ แล้วทำให้สาธารณะสับสน นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อคล้ายๆ เนี่ยมักเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการรับรองคุณภาพและคุณวุฒิ (unaccredited university) หรืออาจจะไปถึงขั้นที่ไม่ได้เรียนสอนจริง หรือขายใบปริญญา ที่เรียกว่า degree mill

สี่ เรียนจริงจบจริง แต่คนอื่นเขียนให้

ห้า เรียนจริงจบจริง โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่สุดท้ายถูกถอดใบปริญญา เพราะไปลอกผลงานคนอื่นมาตีพิมพ์แล้วไม่อ้างอิง (plagiarism)

Advertisement

มาเริ่มที่ประเทศที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องกับเขาอย่างเยอรมัน นี่ก็เป็นเรืองช็อกโลก มหาวิทยาลัย Dusseldorf ได้ถอดปริญญาเอกของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาในปี ค.ศ.2013 หลังจากสอบสวนแล้วพบว่าลอกงานคนอื่นในวิทยานิพนธ์

อีกกรณีหนึ่งก็คือ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็ถูกบีบให้ลาออก เนื่องจากพบว่าลอกจากคนอื่นในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาในปี 2011

กรณีของรัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมันนั้นน่าสนใจมากเพราะเขาเป็นคนที่มีอำนาจทางการเมืองรองจากนายกรัฐมนตรีเยอรมัน Angela Markel และรับรู้ว่าจะขึ้นเป็นทายาททางการเมืองลำดับหนึ่ง

เรื่องนี้เอาเข้าจริงก็น่าตกใจและน่าสนใจเพราะเยอรมันเป็นประเทศที่ไปไหนมาไหนก็จะจะมีการใช้ดอกเตอร์นำหน้าชื่อ เช่น ถ้าดูป้ายบริษัทก็มักจะต้องใส่ ดร.นำหน้าชื่อผู้บริหาร

กรณีของสเปนนั้น เมื่อเดือนกันยายนปีนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขถูกบีบให้ลาออก เมื่อพบว่ามีการเปลี่ยนเกรดในปริญญาโทด้านสตรีศึกษาที่เธอจบมา และเรื่องที่สำคัญก็คือรัฐมนตรีท่านนี้ส่งงานไม่ครบ รวมทั้งตัววิทยานิพนธ์ก็ลอกวิกิพีเดียมา รวมทั้งยังลอกงานชิ้นอื่นๆ อีกมากมายหลังจากที่สื่อไปสืบค้นออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองอีกท่านหนึ่งจากฝ่ายค้านที่โดนคำสั่งศาลให้มีการสืบสวนคุณสมบัติการศึกษาที่อ้างว่าจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Juan Carlos ที่เดียวกับรัฐมนตรีที่กล่าวไป เนื่องจากพบว่าใบปริญญาอาจมีปัญหาเพราะตอนที่เข้าเรียนนั้นมีประสบการณ์ทำงานไม่เพียงพอตามที่หลักสูตรต้องการ

เรื่องราวยังลามไปถึงการที่ฝ่ายค้านตรวจสอบว่านายกรัฐมนตรี Pedro Sanchez นั้นเขียนงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ของตัวเองจริงหรือไม่

อีกประเทศหนึ่งที่เกิดปัญหาก็คือโรมาเนีย ซึ่งนายกรัฐมนตรี Victor Ponta เมื่อถูกกล่าวหาว่าลอกงานคนอื่นก็อ้างกันตาใสๆ ว่าเขา
แค่ไม่ได้ใส่อ้างอิงในแต่ละหน้า แต่ใส่อ้างอิงชื่อหนังสือว่าอยู่ท้ายเล่ม (หมายถึงไม่ได้ชี้ว่าตรงไหนอ้างเขามา ซึ่งผิด) แต่ในท้ายที่สุดด้วยแรงกดดันมหาศาลทางการเมือง นายกฯโรมาเนียท่านนี้ก็เขียนจดหมายไปที่มหาวิทยาลัยที่เขาจบมาเพื่อขอยกเลิกใบปริญญาของเขาเอง

ส่วนอีกกรณีที่จัดว่าเด็ดคือรัสเซีย ซึ่งข้อกล่าวหาสำคัญอยู่ที่ตัวปริญญาเอกของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ถูกจับได้ว่าลอกงานคนอื่นมาถึง 16 หน้า จาก 200 หน้า รวมทั้งมีคนอื่นเขียนให้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดโปงขึ้นมาโดย ส.ส.ท่านหนึ่งที่อ้างว่าพ่อของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของปูตินและอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่ปูตินจบมานั้นเป็นคนเขียนให้ และยังบอกว่าสมัยนั้นวิทยานิพนธ์ปูตินยังมีเครื่องถ่ายเอกสาร กรรไกและกาวมาช่วย เพราะท่านอธิการฯลงทุนถ่ายเอกสารและ “ตัดแปะ” ส่วนต่างๆ ให้กับปูตินจนเป็นรูปเล่ม แต่กรณีข้อกล่าวหานี้ปูตินนั้นไม่ตอบอะไรเลย (และใครจะไปกล้าบี้?)

กรณียุโรปตะวันออกนั้นยังรวมไปถึงยูเครน ซึ่งมีค่านิยมว่านักการเมืองสำคัญๆ จะต้องจบปริญญาเอก อาทิ ประธานาธิบดีทุกคนหลังจากที่ประเทศพ้นยุคปกครองโดยโซเวียตรัสเซีย ประธานาธิบดีทั้งห้าคนก็มี ดร.นำหน้าชื่อ

แต่ยูเครนก็เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมการผลิตวิทยานิพนธ์และปริญญาในแบบที่มีคนเขียนให้ (ghostwriter) ซึ่งเรื่องนี้ถูกดึงมาโจมตีว่าวิทยานิพนธ์และตำแหน่งศาสตราจารย์ของประธานาธิบดี Viktor Yanukovych นั้นเขียนเองหรือเปล่า และตัวประธานาธิบดีนั้นมีความรู้จริงไหม เพราะใบสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นก็มีคำและไวยากรณ์ผิดจนเหลือเชื่อ

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี Arseniy Yatsenyuk ก็ถูกตั้งคำถามว่าลอกวิทยานิพนธ์มาส่งหรือไม่

แต่นักการเมืองสองท่านนี้ก็เลือกใช้ทางออกแบบปูตินคือไม่ตอบโต้และเชื่อว่าเรื่องจะเงียบไป และทั้งสองคนก็ยังมีตำแหน่งทางการเมืองต่อไปในช่วงเวลาที่แสนจะยุ่งยากนั้น

มาถึงกรณีสหรัฐอเมริกา กรณีส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการปลอมปริญญาและเรียนไม่จบ ไล่เรียงมาตั้งแต่กรณีผู้สมัครสภามลรัฐของโอเรกอนที่สุดท้ายออกมายอมรับว่าตนเองนั้นไม่จบปริญญาตรีตามที่อ้างไว้ แต่คือไปลงทะเบียนเรียนแต่เรียนไม่จบเพราะต้องออกมาหางานทำ สุดท้ายผู้สมัครท่านนี้ก็ยอมถอนตัวจากการหาเสียง

รายต่อมา เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระดับชาติจากมลรัฐฟลอริดา รายนี้คือลงทุนปลอมใบปริญญาและแต่งชุดครุยถ่ายกับแม่ แต่สุดท้ายเมื่อโดนตรวจสอบก็ยอมรับและถอนตัวจากการสมัครหาเสียง

ในกรณีปากีสถานนั้น เดิมรัฐธรรมนูญระบุว่าคนที่จะได้รับตำแหน่งการเมืองจะต้องจบปริญญา สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปลอมใบปริญญาเกิดอย่างกว้างขวาง จนต่อมาศาลสูงต้องออกคำสั่งให้มีการพิสูจน์วุฒิของ ส.ส.จนทำให้กระบวนการยุ่งยากและวุ่นวาย ในที่สุดการแก้รัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้นโดยยกเลิกเงื่อนไขเรื่องวุฒิการศึกษา

ทีนี้เรื่องสนุกอีกแห่งก็คือมาเลเซีย เพราะรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นในมาเลเซียนั้นเป็นรัฐบาลที่อ้างว่าจะเข้ามาปราบโกง แต่เอาเข้าจริงสมาชิกหลายท่านของรัฐบาลนี้ก็ถูกกล่าวหาเรื่องคุณวุฒิการศึกษาและดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ทำอะไร

กรณีสำคัญก็คือ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศและเลขาธิการพรรคของมหาธีร์เองคือ Marzuki Yahya ซึ่งเป็นนักการเมืองคนสำคัญก็ถูกกล่าวหาว่าซื้อปริญญามา เพราะดันไปใส่ในประวัติว่าจบมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จากอังกฤษ ทั้งที่สุดท้ายก็ยอมรับว่าเรียนที่มหาวิทยาลัย Cambridge International University ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ แถมยังอ้างว่าเรียนทางไกล แต่คนในมาเลก็สงสัยว่าจะซื้อปริญญามา

รายต่อมาคือ รัฐมนตรีการเคหะและการปกครองท้องถิ่น ซึ่งสุดท้ายก็ออกมาอ้างว่าเธอไม่ได้ลงประวัติเองว่าเธอนั้นจบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ทั้งที่สื่อตามค้นแล้วก็ไม่เจอประวัติที่นั่น

นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายคนในรัฐบาลนี้ แต่ในกรณีของมาเลยเซียนั้นเรื่องนี้โจมตีกันมานาน แต่ไม่ค่อยมีผลมาก เพราะส่วนหนึ่งนั้นนักการเมืองมาเลย์ไม่ต้องมีกฎว่าต้องจบปริญญาตรี และบางคนก็วิจารณ์ว่าสังคมก็ไม่ได้คาดหวังเรื่องนี้มากนัก ถ้าเทียบกับเรื่องการละเมิดทางเพศ หรือการขโมย แถมยังมีการวิจารณ์กันว่าเสียงของ รมช.ต่างประเทศนั้นมาจากพื้นที่ชนบท ซึ่งเรื่องคุณวุฒิการศึกษานี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ (อย่างน้อยเขาก็อ้างว่าจบ แม้ว่าจะไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เหมือนตอนแรกที่ใส่ในประวัติก็ตาม)

แต่ในอีกด้านหนึ่งบรรดาสื่อ นักวิจารณ์การเมืองและนักวิชาการมาเลเซียก็มองเห็นว่า เรื่องที่สำคัญก็คือความซื่อตรง integrity นั้นก็ควรเป็นเรื่องสำคัญในการเมืองมาเลเซีย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลชนะการเลือกตั้งด้วยการอ้างว่าจะมาปราบโกงต้านโกง

ส่วนเรื่องเมืองไทยนั้นผมขอไม่พูดนะครับ เพราะอยากดูว่าเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นจะลงเอยอย่างไร

(หมายเหตุ ทั้งหมดที่เขียนนี่ลอกเขามาจากหลายที่ครับ ศึกษาต่อจาก T. Sukumaran. “Fake degrees: have Malaysia’s politicians not learnt their lesson?”. South China Morning Post. 17 Feb. 2019. J. Earl. “Politicians caught padding their resumes, from fake diplomas to biographical discrepancies.” Fox News. 22 Sep. 2018. “Fake degree scandals rock Spanish politics”. Neweurope.eu. 13 Sep. 2018. A.Osipian. “Putin’s plagiarism, fake Ukrainian degrees and other tales of world leaders accused of academic fraud”. The Conversation. 5 Apr 2019. P.G. Altbach. “Politicians, fake degrees and plagiarism”. Insidehighered.com. 16 June 2013.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image