วันเยาวชนแห่งชาติ ผู้ใหญ่คิด ไฉนเยาวชนต้องเดินตาม : โดย ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนในมิติต่างๆทั้งนี้เพราะเยาวชนเป็นพลังหรือกลไกที่จะเข้าไปมีส่วนในการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศซึ่งหากมองมาที่ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญไม่น้อยหน้าไปกว่าชาติใดในโลก

ด้วยความสำคัญของเยาวชนหรือพลังแห่งอนาคตหากย้อนกลับไปในปี 2528 ปีนั้นสหประชาชาติจึงกำหนดให้ เป็นปีเยาวชนสากลและขอให้สมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนภายใต้คำขวัญ “Participation Development and Peace”

สำหรับประเทศไทยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติโดยถือว่าเป็นวันสิริมงคลอันเนื่องมาจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึงสองพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2468 และที่สำคัญพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ยังขึ้นครองราชสมบัติในขณะทรงพระเยาว์เหมือนกัน

นับจากปี 2528 เป็นต้นมาเยาวชนของชาติได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคมและประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องดังนั้นวันเยาวชนแห่งชาติจึงนับว่ามีความสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรที่จะตระหนักและกระตุ้นให้เยาวชนทั่วประเทศได้รับทราบในวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

Advertisement

หากพิจารณาถึงการตระหนักรู้ของเยาวชนที่มีต่อวันสำคัญดังกล่าวจะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับงานวันเด็กแห่งชาติที่เมื่อถึงวันสำคัญของตนเองเด็กๆ จะตื่นตัวและอยากจะเข้าร่วมในวันที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

สำหรับในส่วนของภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกช่วงวัยจึงกำหนดจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติในวันที่ 20 กันยายน 2562 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ภายใต้การสนับสนุนของกรมกิจการเด็กและเยาวชนตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการจัดงานในปีนี้นายจุติ ไกรฤกษ์ ในฐานะ รมว.ได้กล่าวตอนหนึ่งในวันแถลงข่าวว่างานวันเยาวชนแห่งชาติประจำปี 2562 กำหนดงานภายใต้หัวข้อ “จิตอาสา” เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนทุกคนได้แสดงศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์อีกทั้งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมพัฒนาตนเองอันเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และกระตุ้นให้เครือข่ายทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามเมื่อส่องเข้าไปดูในสาระสำคัญของเนื้องานจะพบว่ารูปแบบและพิธีการยังคงเดิมเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมาคือ “ผู้ใหญ่คิด เยาวชนทำ” ความใหม่หรือนวัตกรรมสำหรับมิติแห่งการพัฒนานอกเหนือจากการจัดงานประจำปีที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เยาวชนทั่วประเทศซึ่งเป็นเจ้าของวันสำคัญได้เข้าไปมีส่วนร่วมถือว่ายังน้อยอยู่

วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเยาวชนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงของการเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือเป็นผู้มีงานทำต่างได้เรียนรู้และสัมผัสกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมตลอดจนประสบการณ์ที่หลากหลายหากผู้ใหญ่เปิดโอกาสรับฟังหรือมีการประชุมมอบหมายให้แกนนำกลุ่มเยาวชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะการสืบสานปณิธานแห่งการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

การเปิดโอกาสให้เยาวชนคิดเป็น ทำเป็นหรือมุ่งเน้นให้ตระหนักรู้ในมิติของเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะต้องเป็นผู้ “วิเคราะห์ได้ วิจัยเป็น เห็นลู่ทาง วางนโยบาย คลายพัฒนา พัฒนาสังคม” เชื่อว่าความสำนึกแห่งการรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้ความพอเพียง หรือการเข้าใจ เข้าถึงพัฒนาที่จะต่อยอดไปสู่การมีจิตอาสาที่จะรับผิดชอบต่อการพัฒนาประเทศในภาวะของโลกที่มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงเชื่อว่า เยาวชนเหล่านี้ต่างพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหากมีโอกาส

ต่อกรณีการมีส่วนร่วมของเยาวชนกับการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนานักวิชาการและสถาบันที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่องอาทิ “โครงการวิเคราะห์ความต้องการของเด็กและเยาวชน ศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการทำงานองค์กรด้านเยาวชนและพัฒนาแนวทางสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในปี 2559” โดยวิภาพรรณ วงษ์สว่าง และคณะ ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีข้อเสนอเพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานของคนรุ่นใหม่ในหลากหลายประเด็นเช่น เรื่องการพัฒนาความเข้าใจที่มีต่อคนรุ่นใหม่ เรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ที่มีต่อคนรุ่นใหม่ เรื่องการส่งเสริมกระบวนการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินการกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง เป็นต้น

จากงานวิจัยเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องควรจะนำมาศึกษาและวิเคราะห์โดยเฉพาะในข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมความหลากหลายในเชิงประเด็น สำหรับในข้อเสนอเรื่องนี้เยาวชนได้สะท้อนไว้อย่างน่าสนใจซึ่งสาระประกอบด้วยการให้คุณค่าของแต่ละบุคคลให้มีความหลากหลายขึ้น คนรุ่นใหม่เป็นปัจเจกมากขึ้นการให้คุณค่าเทไปยังประเด็นใดประเด็นหนึ่งอาจจะตัดโอกาสในการทีส่วนร่วมในสังคมของคนที่เหลือ เช่นการมองประเด็นการอยู่ร่วมกันในชุมชนที่หลากหลายทั้งสูงมากทั้งในทางชุมชนนิยมและในปัจเจกนิยมหากสนับสนุนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอีกฝ่ายย่อมอึดอัด อาจจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้เข้าสังคม ทั้งๆ ที่ตนไม่มีความสนใจในประเด็นนั้นๆ

นอกจากนั้นเยาวชนยังสะท้อนถึงความอึดอัดที่ส่งผลกระทบกับกลุ่มตนเองเพิ่มเติมว่า อึดอัดว่าทำไมคนอื่นๆ ถึงไม่ให้คุณค่ากับพื้นที่ส่วนรวมทั้งๆ ที่ตนและกลุ่มของตนพยายามอย่างยิ่งในการดูแลพื้นที่ไว้ การให้การให้คุณค่าที่มอบพื้นที่ทั้งสองฝ่ายได้พอๆ กันเป็นแนวคิดชุมชนนิยมใหม่ (Neo-Collectivism) ที่มีการเคารพความแตกต่างของปัจเจกพื้นฐานสู่สังคมที่เคารพและอยู่ร่วมกับความหลากหลายได้บนพื้นฐานของ สิทธิ และการมีคุณภาพชีวิตมากกว่าบนพื้นฐานของค่านิยม

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปศึกษาในรายละเอียดของบทสรุปของงานวิจัยที่เยาวชนสะท้อนออกมาพบว่ามีประเด็นที่ผู้ใหญ่ควรที่จะรับฟังและนำไปสู่การดำเนินการสำหรับการส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนไทยเป็นผู้ที่มีความพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เดินเคียงคู่ไปกับผู้ใหญ่ซึ่งหนึ่งในบทสรุปของงานวิจัยได้เสนอในภาพรวมความว่า

“องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาหรือสนับสนุนเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคประชาสังคมจึงควรสร้างเสริมให้เกิดหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเยาวชนและอยู่บนกรอบคิดของโลกสมัยใหม่ รวมทั้งภาครัฐต้องมีนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาสนับสนุนพื้นที่ ทรัพยากร งบประมาณบนความเข้าใจวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ มีการแก้กฎหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่หลากหลายในสัดส่วนที่เป็นธรรม และต้องมีการสนับสนุนงานวิจัยให้เกิดการจัดสวัสดิการคนรุ่นใหม่เพื่อรับช่วงต่อของประเทศได้อย่างเข้มแข็งและเพื่อให้ประเทศไทยมีประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต”

วันนี้การขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองแห่งความเป็นไทยที่พร้อมสำหรับการรับช่วงต่อสู่การพัฒนาเพื่อนำประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผลนอกจากองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้วในภาคส่วนของการเมืองก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาคีที่มีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะคณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องทั้งในวุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องให้พื้นที่และเปิดโอกาสโดยไม่จำเป็นที่ผู้ใหญ่คิด เด็กหรือเยาวชนต้องเดินตามในทุกมิติ

วันนี้เชื่อว่าเยาวชนทั่วประเทศพร้อมแล้วสำหรับการเดินหน้าเพื่อการพัฒนาประเทศดังนั้นไม่ว่าวันเยาวชนแห่งชาติหรือวันไหนๆ ก็ตามการเปิดพื้นที่และโอกาสให้เขาเหล่านั้นได้ร่วมรู้ ร่วมคิด โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาและประคองไปเคียงข้างบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและการหยิบยื่นโอกาส สังคมไทยจะเป็นหนึ่งในสังคมโลกที่เยาวชนจะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง

ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image