เราคุ้มครองโลก โลกคุ้มครองเรา : โดย ผศ.มนนภา เทพสุด

หากมองเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ จะพบว่าเกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงในธาตุทั้ง 4 จนนำไปสู่ภาวะวิกฤตในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีแผ่นดินไหว แผ่นดินทรุด น้ำท่วม น้ำแข็งละลาย น้ำเสีย หมอกควันพิษ อากาศเป็นพิษ และอากาศที่ร้อนจัด รวมทั้งกรณีไฟไหม้ป่า

ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่สำแดงความผิดปกติในเวลานี้ ถือได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับธาตุพื้นฐานเหล่านี้ เพราะเป็นที่ยอมรับกันมาแต่อดีตแล้วว่า แม้ว่าในโลกของเราจะมีธาตุมากกว่าร้อยชนิด แต่ธาตุหลักของโลกมีเพียง 4 ธาตุเท่านั้น คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการก่อกำเนิดและการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง

ในอดีต มีการให้ความสำคัญกับธาตุทั้ง 4 ในฐานะผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงรักษา เพื่อให้ชีวิตและโลกดำรงอยู่ได้ จึงมีการให้ความสำคัญออกมาในรูปแบบการเคารพบูชาในรูปแบบเทพเจ้าที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระพายุ พระอัคนี พระวรุณ เป็นต้น การเคารพบูชาเทพที่เป็นตัวแทนธาตุทั้ง 4 เหล่านี้ ก็เป็นการตระหนักถึงการให้ความสำคัญในฐานะที่ธาตุทั้ง 4 เป็นหลักและองค์ประกอบสำคัญแห่งการดำรงอยู่ของชีวิตและธรรมชาติ เมื่อใดก็ตามที่ธาตุทั้ง 4 ในชีวิตและธรรมชาติยังคงดำรงอยู่อย่างสมดุล ชีวิตและธรรมชาติก็สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ด้วยดี แต่เมื่อใดที่ธาตุทั้ง 4 เสียดุล ก็นำไปสู่ปัญหาและวิกฤตการณ์ดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ในปัจจุบัน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program, UNEP) จึงได้ประกาศให้มีวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกได้ร่วมกันปกป้องและดูแลไม่ให้โลกแห่งธรรมชาติต้องได้รับความเสียหาย อันเนื่องมาจากการถูกคุกคามทำลาย โดยมีมนุษย์เรานี้เองที่เป็นผู้กระทำโดยส่วนใหญ่

Advertisement

โดยปกติก็เป็นทราบกันดีอยู่แล้วว่าดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ล้วนมีคุณอนันต์ และมีความจำเป็นต่อการอยู่รอดในระดับรากฐานของชีวิตมากขนาดไหน หากแต่การให้ความสนใจที่จะสงวนรักษานั้นกลับมีน้อยเกินไป อย่างเทียบกันไม่ได้กับคุณค่าที่โลกแห่งธรรมชาติมอบให้มาฟรีๆ นั่นเป็นเพราะเราได้เสพติดความสะดวกสบายบนโลกแห่งการผลิต จนมองว่าสิ่งนี้มีความสำคัญเหนือโลกแห่งธรรมชาติ ซ้ำยังเข้าใจว่าธรรมชาติซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล และดำเนินผ่านมาหลายยุคหลายสมัยนั้น จะยังคงมีเสถียรภาพต่อไปได้โดยไม่สั่นคลอน ทว่าสิ่งที่เป็นจริงก็คือ โลกแห่งธรรมชาติในยุคปัจจุบันได้เสื่อมทรุดลงอย่างหนัก เหตุเพราะถูกผลาญทำลาย และปนเปื้อนไปด้วยสารมลพิษนานาชนิดอย่างทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

จึงมีคำถามว่า นี่หรือคือสิ่งที่มนุษย์ได้ลุกขึ้นมาตอบแทนพระคุณของโลก ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงกว่า 4.5 พันล้านปี โลกซึ่งมีพระคุณให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่างให้ทั้งชีวิต ถิ่นอาศัย อีกทั้งยังให้องค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผืนดิน ผืนน้ำ อากาศ และป่าไม้ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต

ผืนดิน ดินถือสมบัติหลายพันล้านปีของโลก เพราะกว่าจะเกิดเป็นเนื้อดินที่ร่วนขึ้นมาพอจะทำการเพาะปลูกหรือตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยได้นั้น ก็ต้องผ่านกระบวนการสึกกร่อนและสะสมของหินแข็ง ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในตลอดเกือบ 4 พันล้านปีที่ผ่านมา

ความสำคัญของผืนดินนั้น นอกจากจะเป็น 1) ต้นกำเนิดของป่าอันอุดม 2) แหล่งแร่ธาตุต่างๆ 3) แหล่งที่อยู่อาศัย และ 4) แหล่งโบราณคดีที่เก็บฝังเรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านซากฟอสซิลแล้ว อีกหนึ่งพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ผืนแผ่นดินหรือพระแม่ธรณีมอบให้ก็คือ 5) เป็นแหล่งที่เกิดของพืชพันธุ์ไม้ ซึ่งสามารถดักจับพลังงานจากแสงอาทิตย์ แล้วถ่ายทอดพลังงานและสารอาหารมาสู่มวลมนุษย์ ซึ่งอยู่ในระดับบนของพีระมิดห่วงโซ่อาหาร

ผืนน้ำ พื้นผิวโลกของเรานี้ปกคลุมไปด้วยน้ำถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วกว่าที่น้ำแต่ละหยดจะสะสมตัวรวมกันกลายเป็นน้ำทั้งหมดในโลกนี้ได้ ก็ต้องใช้เวลายาวนานถึงพันล้านปีเลยทีเดียว

กล่าวได้ว่า ผืนน้ำหรือพระแม่คงคานั้นมีพระคุณต่อทุกชีวิตอย่างยิ่งใหญ่ เพราะเป็นทั้ง 1) แหล่งกำเนิดชีวิต โดยชีวิตแรกที่เริ่มเกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อราว 3.5 พันล้านปีก่อนก็คือ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวตัวเล็กมาก (จุลชีพ) ที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ แล้วต่อจากนั้นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวบางส่วนนี้ก็ค่อยๆ วิวัฒนาการแตกแขนงเป็นชีวิตต่างๆ เรื่อยมาอย่างหลากหลายสายพันธุ์ และ 2) สิ่งผดุงชีวิต ด้วยน้ำจะเป็นตัวช่วยละลายสารอาหารเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย และละลายของเสียออกจากเซลล์ อีกทั้งยังละลายแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นสารอาหารของพืชที่มีอยู่ในดิน ให้พืชได้ดูดขึ้นไปใช้ในการเจริญเติบโต ยิ่งกว่านั้นในน้ำยังมีสินทรัพย์ทั้งในด้านของแหล่งแร่ธาตุอันมีค่า และแหล่งอาหารที่มีอยู่อย่างนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งสมบัติอันล้ำค่าของมนุษยชาติด้วยเช่นกัน

อากาศ การที่ทุกชีวิตต่างมีลมหายใจอยู่ได้เพราะมีอากาศนั้น ก็ถือเป็นพระคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้แล้ว หากแต่สิ่งสำคัญที่อากาศมอบให้นั้นมีมากยิ่งกว่านี้ อาทิ 1) การให้โอกาสเมล็ดพันธุ์พืชได้ปลิวไปตามสายลม แล้วแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปได้ตามบริเวณต่างๆ 2) การเป็นตัวนำคลื่นเสียง ให้เราสามารถได้ยินเสียงพูดคุยและเสียงร้องต่างๆ ได้ และ 3) การนำมาใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางอากาศของสายการบินต่างๆ

นอกจากนั้นแล้ว ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปประมาณ 50 กิโลเมตรจากผืนดิน ยังมีชั้นโอโซนที่ช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ (สามารถทำให้ตาเป็นต้อกระจกและเป็นมะเร็งผิวหนัง) ไม่ให้ส่องผ่านลงมายังโลกได้มากเกินไปอีกด้วย

ป่าไม้ ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของธรรมชาติ การไม่มีป่าคือการไม่มีชีวิต ฉะนั้นการสงวนป่าก็คือการสงวนชีวิต ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วความเขียวสดของป่าไม้นั้นมีแต่ให้คุณทุกอย่างแก่เรา ไม่ว่าจะเป็น 1) แหล่งผลิตก๊าซออกซิเจน ซึ่งเป็นที่ต้องการของทุกชีวิต 2) แหล่งกักเก็บสารพิษอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อโลกร้อน 3) แหล่งสมุนไพรที่เปรียบเสมือนคลังอาหารและยา 4) แหล่งศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เต็มไปด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด 5) แหล่งต้นน้ำลำธารที่ให้กำเนิดแม่น้ำสายต่างๆ

และ 6) แหล่งให้ความร่มเย็นแก่ผืนดินและส่งความชุ่มชื้นสู่บรรยากาศ ทำให้มีฝนตกลงมาได้ตามฤดูกาล

ทั้งหมดนี้ต้องถือว่าเป็นคุณแห่งธรรมชาติ ที่คุ้มครองชีวิตเหล่ามวลมนุษย์ได้เป็นอย่างมาก ทว่าจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเคยอยู่แบบประสานกลมกลืนกัน เปลี่ยนมาเป็นการอยู่แบบเบียดเบียนธรรมชาติ ทั้งในด้านของการมองธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ต้องเข้ามาตักตวงผลาญทำลายอย่างไม่หยุดยั้ง และในด้านของการมองธรรมชาติเป็นแหล่งรองรับสารมลพิษได้อย่างไร้ขีดจำกัดนั้น ก็เนื่องมาจากความต้องการบริโภคของประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคอุตสาหกรรม ผสานกับการเดินสายพานการผลิตอย่างไม่หยุดนิ่งในสังคมสมัยใหม่ ที่ได้รับแรงผลักดันจากการเข้ามาของค่านิยมการบริโภคให้มาก แล้วซื้อมาใหม่อย่างไม่มีวันจบนั่นเอง

ปัญหาที่ตามมาจากความเสื่อมถอยของธรรมชาติ ซึ่งที่สุดแล้วก็จะย้อนนำอันตรายมาสู่มวลมนุษย์นั้น มีอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 1) การหายใจเอาอากาศสกปรกและมีสารพิษเข้าสู่ร่างกาย 2) การมีสารปนเปื้อนในแม่น้ำและท้องทะเล ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านกุ้ง หอย ปู ปลา มาสะสมอยู่ในตัวเราจนเกิดเป็นโรคภัยต่างๆ 3) การมีผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง เพราะการเสื่อมสภาพของผืนดิน 4) ความตกต่ำของระบบนิเวศ อันเนื่องมาจากการหมดไปของพื้นที่ป่า และ 5) ภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์อันตรายที่เข้ามาทำให้สภาพภูมิอากาศโลกต้องเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลเสียหายอย่างมากมาย อาทิ ภัยแล้ง ไฟป่า พายุรุนแรง น้ำท่วมฉับพลัน การละลายตัวอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งขั้วโลก และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่ร้ายแรง ฯลฯ ทั้งนี้เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวการร้ายของภาวะโลกร้อน ได้ถูกผลิตแล้วปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศอย่างอย่างไม่หยุดนิ่ง

ในขณะที่ศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศก็ลดน้อยถอยลง เนื่องจากผืนป่าถูกทำลายไปอย่างมหาศาล

จะเห็นว่าทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นผลมาจากความเสื่อมถอยของธรรมชาติที่เป็นผลมาจากน้ำมือของมนุษย์ ซึ่งนับวันมีแต่จะทวีความรุนแรง และคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากมนุษย์เราที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม อากาศเป็นพิษ โลกร้อน ไฟป่า น้ำเสีย ได้กลับมาทบทวนดุลยภาพของธาตุทั้ง 4 และหันกลับมาช่วยกันดูแลคุ้มครองโลก ด้วยการยับยั้งการสร้างสารมลพิษและอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยมีความตระหนักรู้ในคุณค่าที่ธรรมชาติมอบให้เป็นรากฐานสำคัญแล้ว โลกซึ่งคุ้มครองเรามาอย่างเนิ่นนาน ก็จะมีโอกาสได้ฟื้นตัว กลับไปสู่ดุลยภาพ กลับคืนมามีศักยภาพที่จะนำพาความอยู่รอดมาให้กับมนุษยชาติได้อย่างยั่งยืนสืบไป

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราคุ้มครองโลก โลกก็จะคุ้มครองเราเช่นกัน

ผศ.มนนภา เทพสุด
สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image