เด็กแว้น โดย เฉลิมพล พลมุข

เด็กหรือเยาวชนของชาติในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่หรืออนาคตของประเทศชาติในวันข้างหน้า เป็นนิยามหรือความหมายที่อยู่ในข้อเท็จจริงทั้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศให้กำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ทั้งของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ สถาบันครอบครัว ชุมชน สังคมสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเยาวชนที่เกี่ยวข้องจักต้องประคับประคองชีวิตเขาเหล่านั้นให้ก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องสืบสานรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีข้อมูลตัวเลข ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 ประชากรไทยทั้งประเทศในจำนวนกว่า 66 ล้านคนเศษ โดยเป็นประชากรเด็กและเยาวชนไทย โดยแบ่งเป็นประชากรเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน และประชากรในวัยเรียนอายุ 6-21 ปี มากกว่า 13 ล้านคน และคนไทยอายุ 15-59 ปี ที่มากกว่า 43 ล้านคน และผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 18 ล้านคน (ipsr.mahidol.ac.th)

สังคมสิ่งแวดล้อมของเด็กเยาวชนไทยยุค 4.0 ในวันนี้แตกต่างจากคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนในวัยของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีบางคนที่เขาเหล่านั้นต้องเกิดในยุคเบบี้บูมที่บ้านเมืองไทยเรายังอยู่ในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาหลายคนได้ลืมตาดูโลกก่อนที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนผ่านจากการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้ระบุไว้ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมารวมถึงฉบับในปัจจุบัน ที่ได้ตราไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560

ชีวิตของคนในวัยผู้สูงอายุบางคนในรัฐบาล คณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวาระที่ 2 มีทั้งนักการเมืองรุ่นเก่า กลาง ใหม่ โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภา หรือ ส.ส. หลายคนของฝ่ายค้านที่ช่วงวัยอายุ ความรู้ ความคิด ความเชื่อที่ดูเสมือนว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างวัยที่ต้องทำงานในระดับนโยบายบริหารราชการประเทศในภาพรวมเพื่อที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

Advertisement

ความเห็นต่างหรือความขัดแย้งในความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตยไทย” ยังคงอยู่ในบริบททั้งนักการเมืองรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

สภาพของปัญหาของชาติบ้านเมืองหนึ่งที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยในวันนี้ก็คือ การแข่งมอเตอร์ไซค์ในถนนสาธารณะในเวลาวิกาล หรือในเวลาปกติแห่งการสัญจรการทำงานทั่วไปในถนนที่มีผู้ขับขี่ที่ต้องระวังทั้งอุบัติเหตุทั้งเป็นผู้ถูกกระทำอาจจะได้รับการบาดเจ็บพิการ เสียทรัพย์สินเวลาเงินทองและชีวิต เขาเหล่านั้นมีนามเรียกว่า “เด็กแว้น” นิยามความหมายดังกล่าวหมายถึง เด็กแซ้บคุง (Zabbkung) ซึ่งเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาในโอกาสครบรอบ 7 ปีของสตูดิโอเขียนการ์ตูนมอนสเตอร์คลับ คำว่าแว้น
มาจากเสียงจากท่อไอเสียที่ถูกดัดแปลงให้เสียงดัง รวมถึงเสียงดังที่เกิดจากการบิดหนีตำรวจที่ตามจับ ที่ออกขับขี่มอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มในเวลากลางคืน มีการแต่งกาย ทรงผม รสนิยมฟังเพลงที่คล้ายๆ กัน ในจำนวนนี้ก็มีเด็กสก๊อยที่เป็นคู่ของเด็กแว้นรวมอยู่ด้วย

เด็กแว้นได้ถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ ของสังคมไทยเราบ่อยครั้งในรอบที่มากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา พฤติกรรมของเด็กเยาวชนไทยเขาเหล่านั้นส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ บางคนมาจากครอบครัวที่หย่าร้างหรือแตกแยกกัน ความเป็นวัยรุ่นของเขาเหล่านั้นต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อนฝูง แสดงความสามารถในชีวิตทั้งการใช้ความเร็วในการขับขี่ การรอดจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองของบ้านเมือง สังคมของเด็กแว้นในข้อเท็จจริงของสังคมไทยเราบางกลุ่มมีทั้งยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย การพนัน

Advertisement

รวมไปถึงอาชญากรรมประเภทต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมที่ว่า เหตุใดพ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่สามารถอบรมเลี้ยงดูให้เขาเหล่านั้นได้อยู่ในกฎระเบียบของบ้านเมืองและเห็นถึงความเดือดร้อนของสังคมในภาพรวม…

ผู้เขียนลองใช้ความคิดคำนวณโดยประมาณหากมีเด็กแว้นอย่างน้อยอำเภอละ 50 คน เมืองไทยเรามีจำนวนอำเภอ 878 อำเภอ ก็หมายถึงจะมีจำนวนประชากรเด็กแว้นทั้งประเทศประมาณ 43,900 คน หากเขาเหล่านั้นต้องไปตบแต่งรถมอเตอร์ไซค์ทั้งปรับเปลี่ยนท่อไอเสีย ถอดกระจก เปลี่ยนล้อ ปรับระดับความเร็ว หรือปรับแต่งสิ่งอื่นใดคันละประมาณ 5,000 บาท หากจำนวนตัวเลขของเด็กแว้นดังกล่าว จักมีจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายไปในกิจการดังกล่าวประมาณ 219,500,000 บาท เงินดังกล่าวมีจำนวนมากที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะของเด็กแว้น ทั้งการที่ต้องได้รับบาดเจ็บ พิการ การสูญเสียถึงความตาย การออกนอกระบบการศึกษา การเข้าสู่ความเป็นยุวอาชญากรรมรวมถึงการถูกจองจำอยู่ในทัณฑสถานทุกจังหวัดในเมืองไทยเรา

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเห็นสอดคล้องกับผู้เขียนที่ว่า รัฐบาลได้สนใจหรือใส่ใจในปัญหาตัวเลขของเด็กเยาวชนของเมืองไทยเราอย่างจริงใจแค่ไหน นโยบายประชานิยมของรัฐบาล มารดาประชารัฐ ที่มีเด็กเกิดใหม่ปีละ 6-7 แสนคนต่อปี ข้อเท็จจริงหนึ่งเด็กและเยาวชนไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปีในวันนี้มีการคลอดลูกวันละ 370 คน หรือ 1.35 แสนคนต่อปี นักการเมืองบางคนที่ได้พูดหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งว่า มารดาที่คลอดลูกเด็กอายุ 0-6 ขวบ จะต้องได้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเดือนละ 2,000 บาทจากรัฐ ชีวิตของเขาบางคนมาจากเด็กสก๊อยที่ติดตามเด็กแว้น ภาพข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อประเภทต่างๆ ของสังคมไทยเรา ทั้งการฆ่าเด็กทารกแรกเกิด การนำเด็กไปทิ้ง การไม่มีความพร้อมในการดูแลเลี้ยงดูเด็กเกิดใหม่ ยังคงเป็นคำถามที่อาจจักมิได้รับคำตอบ

ความคาดหวังหนึ่งของสังคมไทยเราในวันนี้ในบางบริบทที่สังคมไทยเราเกิดปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองอาทิ มีน้ำท่วมในจังหวัดทั้งภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน เราท่านจักมิได้เห็นเด็กแว้นที่รวมตัวกัน รวมกลุ่มกันเสมือนที่ขับรถแข่งกันในยามค่ำคืน หากเขาเหล่านั้นใช้วิกฤตเป็นโอกาสสำหรับชีวิตเขา ไปช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ความต้องการทั้งอาหาร น้ำ ความปลอดภัยในชีวิต การซ่อมแซมระบบไฟฟ้า น้ำใช้ หรือแม้แต่การนำไปพบแพทย์ในยามป่วยไข้ ก็จะเป็นมิติใหม่ของเขาเหล่านั้น สังคมไทยเราคงจะน่าอยู่และคำชื่นชมสรรเสริญจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในสังคมไทยเรารวมทั้งสื่อต่างๆ ก็อาจจะนำเสนอภาพลักษณ์ของเขาเหล่านั้นไปด้วย

วิถีชีวิตของผู้เขียนได้อยู่ใกล้ชิด สัมผัส รับรู้ความเป็นไปของชีวิตของวัยรุ่น วัยเรียนหลายคนในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา หลายคนชีวิตในวัยเรียนระดับมัธยมศึกษานอกจากจะต้องไปเกี่ยวกับกิจกรรม “เด็กแว้น” แล้ว หลายคนต้องรับผิดชอบในชีวิตของตนเองทั้งการศึกษาเล่าเรียน การรับผิดชอบหารายได้ให้ครอบครัว การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) การที่ต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียน หลายคนมีความใฝ่ดีต่อทั้งชีวิตของตนเองและครอบครัว เราท่านก็คงมิต้องเป็นห่วงมากนักเนื่องด้วยวันหนึ่งข้างหน้าชีวิตของเขาเหล่านั้นนำพาชีวิตไปสู่การสร้างครอบครัว สังคม ประเทศชาติได้อย่างมิต้องสงสัย…

จํานวนประชากรของบุคคลที่เข้าไปบรรพชา-อุปสมบท เป็นสามเณร พระภิกษุในพระศาสนามีจำนวนลดน้อยถอยลงตามลำดับ คณะสงฆ์ไทยได้มีความเป็นห่วงและวิตกกังวลถึงการสืบทอดพระศาสนา ทั้งการศึกษา เผยแผ่ บำรุงดูแลศาสนสถาน และการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ของประชาชนด้วยหลักการธรรมะ เหตุใดที่เด็กเยาวชนของชาติจำนวนหนึ่ง มิได้ให้ความสนใจใส่ใจในหลักการของชีวิตที่ว่า เกิดมาทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร อะไรคือความหมายของชีวิต และชีวิตที่ดีจักเป็นเช่นไร ตายดีเรียกว่าตายอย่างไร

คุณภาพชีวิตในคนไทยเราวันนี้ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน คนแก่ผู้สูงอายุ ความผันแปรของชีวิตในสังคมปัจจุบันมีความไม่แน่นอนในชีวิตค่อนข้างสูง มิอาจจักรวมถึงความคาดหวังทั้งทางระบบเศรษฐกิจของประเทศและการเมืองไทย เราท่านมีลมหายใจอย่างดีมีความสุขในวันนี้มิต้องบาดเจ็บและตายจากเด็กแว้น ก็นับว่าเป็นกุศลกรรมที่ได้กระทำดีมาแล้วในอดีตกาลอย่างมิต้องสงสัยแล…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image