การบริหารจัดการขยะลำพูนโมเดล ของดีจริง ที่มีอยู่จริง ทำไมไม่เอามาใช้? โดย ไพฑูรย์ ปานสูง

ได้ข่าวเรื่องการบริหารจัดการขยะจนทำให้บ้านเมืองสะอาด ของเมืองลำพูนมานาน จึงอยากไปดูด้วยตาตัวเอง ตามภาษิต SEEING IS BELIEVING หรือสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

เราไปกัน 4-5 คน ประกอบด้วยคนผลิตถุงขยะ และ MEDIA ได้ดูงานอยู่ 1 วันเต็มๆ พบว่าถนนหนทางในหมู่บ้านที่เราไปดู ตีเส้นถนนเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่พบขยะทิ้งอยู่ข้างถนน (เลย) บ้านแต่ละหลังมีธงปักอยู่หน้าบ้าน แสดงความเป็นสมาชิกชมรมจัดการขยะ

ทราบว่า งบประมาณตีเส้นถนนไม่ได้ใช้เงินหลวง แต่ใช้เงินจากการขายถุงพลาสติกใช้แล้ว ซึ่งแต่ละบ้านได้เก็บรวบรวมหลังใช้แล้ว และทำความสะอาดด้วยน้ำ 1 ครั้ง ตากแห้ง พอครบเดือนก็นำถุงแห้งมาให้ชมรมเก็บรวบรวม โดยวิธีอัดเป็นแท่ง รวมทุกบ้านก็จะได้เดือนละประมาณ 500 กก. แล้วนำไปขายให้แก่บริษัทที่ทำธุรกิจ RECYCLE โดยเขามารับเอง เงินที่ได้ชาวบ้านเก็บไว้ที่ชมรมเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ เช่น ตีเส้นถนน นำคนป่วยสูงอายุส่งโรงพยาบาล ดังนี้เป็นต้น

หมู่บ้านมีการจัดองค์กรเพื่อบริหารจัดการขยะโดยเฉพาะ เหมือนองค์กรบริหารบริษัทใหญ่ๆ ทั่วไป มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเป็นส่วน เป็นช่วง และเจ้าหน้าที่ทำงานด้วยจิตอาสา เพราะอยากเห็นบ้านเมืองสวยงามน่าอยู่อาศัย วิทยากรบางท่านเป็นอดีตปลัด บ้านเดิมอยู่นครศรีธรรมราช มาเกษียณที่ลำพูน รักลำพูนจึงตั้งรากฐานอยู่ซะเลย แล้วก็มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือชุมชนอีกด้านหนึ่ง

Advertisement

บางครั้งจะมีชุมชนอื่น เช่น เทศบาล/อบต. จากที่อื่นมาขอดูงาน และศึกษาวิธีการจัดการขยะ ซึ่งคณะกรรมการยินดีต้อนรับและให้ความรู้อย่างตั้งอกตั้งใจ ทั้งมีความสุขที่ได้เผยแพร่วิธีการ (KNOW HOW) บริหารจัดการขยะแบบลำพูนให้ผู้สนใจ

ถ้ามาเป็นกลุ่มรถบัส จะคิดค่าใช้จ่ายในการรับการอบรม โดยค่าอบรมนำเข้ากองทุนกลางทั้งหมด รอบๆ ห้องอบรมจะมีแผงขายเครื่องดื่มและอาหารซึ่งเป็นของประชาชนในหมู่บ้าน ในราคาไม่แพง แต่ค่าน้ำดื่มที่ซื้อจากซุ้มเป็นของส่วนตัวไม่ได้เข้าชมรม

หลังจากอบรมเสร็จมีการ ถาม-ตอบ ข้อข้องใจ แล้วมีการเดินดูงานในแต่ละบ้าน แต่ละหลัง ซึ่งเจ้าของบ้านยินดีต้อนรับด้วยอัธยาศัยดีมากๆ พร้อมคำอธิบาย เรื่องการจัดการขยะของบ้าน (ตัวเอง) ซึ่งจะมี 2 ประเภท

Advertisement

1.ขยะจากเศษอาหาร จะนำมาทิ้ง (เก็บ) ไว้ในถังพลาสติก (จุประมาณ 50-100 ลิตร) ที่ตัดตรงก้นถัง แต่ข้างบนมีฝาปิด เพื่อจะครอบเมื่อนำเศษอาหารมาทิ้งที่ถังนี้จะกวาดเอาเศษใบไม้ที่หล่นใกล้ๆ มาปิดเอาไว้ เมื่อเปิดฝากลิ่นก็ไม่ออกมารบกวน และเมื่อครบ 1-2 เดือน ก็ไปขุดมาทำปุ๋ยได้ บ้านหลังใหญ่หน่อยก็ใช้กระเบื้องลอนคู่ 4 ด้าน มากั้นเป็นรั้วรอบ ทำอย่างเดียวกันคือ ทุกครั้งที่นำเศษอาหารมาทิ้ง ต้องใช้ใบไม้แห้งกลบเสมอ

2.ขยะพลาสติก ถุงที่ใช้แล้ว นำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ 1 ครั้ง เพื่อจะได้ราคาขายสูงขึ้น (เนื่องจากไม่สกปรก) แล้วนำไปแขวนตากไว้ที่ราว เก็บรวบรวมไว้ เมื่อครบเดือนก็แพคด้วยเชือกฟางนำไปให้ชมรม

ผลที่ได้คือ ขยะจากอาหารถูกบริหารจัดการเรียบร้อย ผลพลอยได้คือปุ๋ย ขยะจากพลาสติกสามารถบริหารจัดการแบบบ้านใครบ้านมัน ซึ่งทำให้ไม่เหลือทิ้ง ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเก็บขยะทำให้บ้านเมืองสะอาดน่าอยู่ สามารถอวดแขกได้ด้วยความภูมิใจ และการจัดการขยะถ้าช่วยกันทำแบบนี้ ไม่ได้เป็นงานหนัก เพราะทุกคนช่วยกัน

ผมได้ชมเชยวิทยากรว่า ใครที่สามารถ ORGANIZE งานนี้โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านอย่างดี (มาก) เช่นนี้ ผมว่าคนนั้นน่าจะได้ Phd เพราะการที่จะ CONVINCE คนหมู่มากให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม โดยตัวเองไม่ได้อะไรเลยที่เป็นสิ่งของ แต่ได้สิ่งที่สูงกว่าคือความสุข และความภูมิใจ

คุณคิดว่าคนที่ CREATE เรื่องนี้จนสำเร็จแบบนี้ควรให้ Phd. หรือ/ไม่

ผมถามเขาว่ามีวิธีอย่างไรถึงทำได้

1.ทุกคนรู้และยอมรับอย่างเห็นด้วย ว่าแต่ละคนคือผู้สร้างขยะทั้งนั้น ดังนั้น จึงให้ความร่วมมือถ้าทุกคนทำเองปริมาณก็น้อย

2.เป็น NON PROFIT ORGANIZATION ทุกคนทำงายด้วยจิตอาสา เพราะทุกคนอยากอยู่อาศัยในบ้านที่มีสภาวะแวดล้อมที่ดี ชาวบ้านช่วยกันทำมาหากิน ทำให้วางใจได้ว่าโจรผู้ร้ายไม่มี

มีเพื่อนส่งคลิปมาให้ดูว่า มีการจัดอันดับผู้ชายที่หล่อที่สุดของประเทศไทย ที่หนึ่งคือคนลำพูน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ อยากแถมว่านอกจากหล่อแล้วยังมีใจงามด้วย

อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่าไหนๆ ถือว่าการบริหารจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติแล้ว อยากให้ไปดูที่ลำพูนครับ แล้วจะตาสว่าง ไม่ต้องคิดค้นระบบอะไรให้มันวุ่นวาย จนดูแล้วยุ่งเหยิงไปหมดกระทั่งถอดใจว่าจะทำสำเร็จหรือไม่

ลำพูน คือ ตัวอย่าง ที่ดีและควรเอาเป็นแบบ ลองลดเงินซื้ออาวุธลงมาหน่อย แล้วเอาไปช่วยชุมชนเป็นค่าวิทยากร ประมาณ 70,000 หมู่บ้าน แล้วทำให้ชุมชนน่าอยู่ขึ้นไม่เสียหลายหรอกครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image