พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : 13 ปีที่ของเสีย

การครบรอบ 13 ปี ของการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นเรื่องที่น่าจะกลับมาทบทวนเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น

ในประการแรก ในฐานะที่เริ่มกลายเป็นคนสูงวัย ผมรู้สึกว่าเวลา 13 ปีนี้ไม่ใช่เวลาที่นานเอาเสียเลย เหตุการณ์ต่างๆ นั้นเหมือนกับว่าเพิ่งเกิดไปไม่กี่วันนี้เอง

มิหนำซ้ำ คนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวก็เหมือนกับว่าจะไม่ได้หายไปจากวงการการเมืองในวันนี้สักเท่าไหร่

ทีนี้มาพูดถึงความยาวนานของเหตุการณ์ในความทรงจำนั้น อีกด้านหนึ่งของมันก็คือ เด็กๆ ที่ถูกเรียกว่าเป็นคนรุ่นใหม่นั้น เอาแบบว่ามัธยมปลาย และเข้ามหาวิทยาลัย พวกเขาอายุยังไม่ถึงยี่สิบปี ก็พอจะเข้าใจได้ว่า พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้มากนัก เพราะอาจจะอายุได้สักห้าขวบเท่านั้น

Advertisement

เรื่องของความยาวนานของเหตุการณ์นั้นสามารถพูดกันได้อีกหลายประเด็น แต่ถ้าพลิกอีกมุมนั้น สิ่งที่เราเห็นก็คือความยาวนานต่อเนื่องของเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา ที่อาจนับถอยหลังไปก่อนหน้านั้นสักปีสองปี ในแง่ของการสะสมความไม่พอใจของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและระบอบทักษิณ

แต่อีกด้านหนึ่ง ความต่อเนื่องยาวนานของเหตุการณ์ในครั้งนั้นควรจะนับเนื่องมาจนถึงวันนี้ เพราะเหตุการณ์ในวันนั้นมันยังไม่จบลง ความพยายามรักษาอำนาจ และทวงคืนอำนาจกันยังดำรงอยู่ และผลสะเทือนของเหตุการณ์ในวันนั้นก็ยังปรากฏจนถึงวันนี้

ในทรรศนะของผม ถ้าไม่นับการต่อสู้อันยาวนานภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนถึง 2500 ผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่นับเนื่องมาตั้งแต่ 2549 ยังไม่มีวี่แววที่จะจบลงแต่อย่างใด

Advertisement

ในประการที่สอง การรัฐประหารในปี 2549 เป็นการรัฐประหารที่นอกจากจะมีความสำคัญในประเทศนี้ ทั้งในฐานะที่เป็นรัฐประหารที่ยังมีผลสะเทือนที่ยาวนานแล้ว การรัฐประหารดังกล่าวยังมีนัยสำคัญทางทฤษฎีและเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์สำคัญทางการเมืองในระดับโลก

นั่นก็คือเรื่องของการถดถอยของประชาธิปไตยในระดับสากล

การถดถอยของประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่นักรัฐศาสตร์นั้นให้ความสำคัญในการจับตาและวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้มาสักพักใหญ่ กล่าวคือ ความสนใจของนักรัฐศาสตร์ในช่วงก่อนนั้นคือในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นั้น ต่างสนใจสิ่งที่เรียกว่า “คลื่นลูกที่สามของประชาธิปไตย” ที่เห็นว่าประชาธิปไตยนั้นกำลังกลับมาอีกครั้ง

หลังจากที่ถดถอยมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นมา

ปรากฏการณ์สำคัญในช่วงปีสองพันเป็นต้นมาอาจจะเห็นปรากฏการณ์สำคัญในระดับโลกที่เกี่ยวเนื่องกับประชาธิปไตยอยู่สองมิติหลักๆ

หนึ่งคือ เห็นโอกาสของความเป็นไปได้ในการเกิดประชาธิปไตยใหม่ๆ จากการลุกฮือของประชาชนผ่านการเชื่อมโยงกันในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ตั้งแต่การรวมตัวกันต่อต้านทุนนิยมระดับโลก และการลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในตะวันออกกลาง

สองคือ เริ่มเห็นความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยจากเนื้อใน ผ่านการเกิดขึ้นของระบบลูกผสม หลากหลายรูปแบบ ซึ่งอธิบายง่ายๆ ว่า เกิดระบอบประชาธิปไตยที่กลายพันธุ์ เริ่มมีการละเมิดเงื่อนไขขั้นต่ำอื่นๆ ในการทำให้ประชาธิปไตยนั้นเป็นที่ยอมรับกันของทุกฝ่ายได้

คำว่าเงื่อนไขขั้นต่ำของประชาธิปไตยนั้น เป็นคำที่เข้ากันไม่ตรงกันนัก เราอาจพิจารณาเงื่อนไขขั้นต่ำของประชาธิปไตยเป็นสองมิติ

มิติแรกคือประชาธิปไตยมีเงื่อนไขขั้นต่ำที่การเลือกตั้ง กล่าวคือไม่มีประชาธิปไตยใดที่จะเป็นประชาธิปไตยโดยไม่มี “กระบวนการเลือกตั้ง”

มิติที่สองคือเรื่องที่ไม่ค่อยเข้าใจและสนใจนัก โดยเฉพาะบรรดานักประชาธิปไตยเอง กล่าวคือ เงื่อนไขขั้นต่ำของการมีประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาธิปไตยนั้นจะยั่งยืน จะต้องเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ ด้วย อาทิ หลักการเสรีนิยม หลักการสิทธิมนุษยชน หลักการเสมอภาคกันต่อหน้ากฏหมาย หลักการเคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อย หลักการเสรีภาพสื่อ และหลักการความโปร่งใสไม่คอร์รัปชั่น

เงื่อนไขขั้นต่ำในมิติที่สองนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกขับเน้นในประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง แต่ถ้าขาดเงื่อนไขเหล่านี้ ประชาธิปไตยเลือกตั้งนั้นจะไม่ยั่งยืนและไม่เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นกติกาเดียวในสังคมที่ไม่ควรออกไปเล่นกติกาอื่นเช่นการยึดอำนาจ

เงื่อนไขขั้นต่ำในมิติที่สองนี้ เมื่อไม่มีความขัดแย้งในสังคมนั้นก็เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะการแย่งชิงมวลชนกันระหว่างนักการเมืองที่ยึดกุมจิตใจผู้คนผ่านการเลือกตั้ง และชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆที่ไม่ได้ส่วนแย่งทางอำนาจ ในเครือข่ายกลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์และการเมืองใหม่นี้ย่อมรู้สึกว่าระบอบการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคมที่เขากำลังเจอนั้นไม่มีที่ทางให้กับพวกเขา

นั่นคือที่มาของการไม่ทำความเข้าใจว่า ประชาธิปไตยในเงื่อนไขที่แท้จริงไม่ได้มีเพียงแค่เสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย

แต่เสียงข้างน้อยอาจทรงพลังอำนาจและมีแหล่งอำนาจที่มาจากแหล่งอื่นมากกว่าอำนาจที่มาจากนโยบาย หรือ การเลือกตั้ง

การทำรัฐประหารในปี 2549 นั้นจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งในระดับโลกที่คนให้ความสนใจว่าประเทศของเรานั้นเดิมเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของการลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย และการมีระบบเศรษฐกิจที่เติบโต มาสู่การเป็นตัวอย่างของการถดถอยของประชาธิปไตย

โดยเฉพาะความสำคัญในเรื่องของการถดถอยของประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวรัฐบาลที่มีอยู่เดิมนั้นกลายเป็นเผด็จการผ่านการใช้กำลังทหารและการปราบปราม แต่เกิดจากการทำให้หลักการขั้นต่ำที่ค้ำยันคุณภาพของประชาธิปไตยนั้นอ่อนแอลง ด้วยเงื่อนไขของการผนึกประสานระบอบเข้ากับความนิยมของประชาชนผ่านการเลือกตั้งและนโยบายประชานิยม แต่ละเลยการสร้างพันธมิตร การได้รับการยอมรับ และ การแบ่งปันอำนาจกับชนชั้นนำทางอำนาจที่มีอยู่เดิม

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกก็คือ บรรดาชนชั้นกลางที่เคยถูกเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยนั้น กลับกลายเป็นพลังในการเป็นปฏิปักษ์ของประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยที่เน้นการเลือกตั้ง และกลายเป็นว่าชนชั้นกลางเหล่านั้นยินยอมที่จะแลกประชาธิปไตยกับการคงไว้ซึ่งอำนาจของพวกตนผ่านการสร้างกลุ่มก้อนทางอำนาจกับชนชั้นนำเก่าโดยเฉพาะกับทหารและระบบราชการ

การถดถอยของประชาธิปไตยในระดับโลกที่มีประเทศไทยเป็นหัวหอกนั้นจึงเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน เมื่อเทียบกับการถดถอยทั่วไปที่เกิดขึ้นผ่านการที่รัฐบาลเลือกตั้งนั้นสร้างความอ่อนแอให้กับหลักการขั้นต่ำอื่นๆ ที่กำกับคุณภาพของประชาธิปไตย ไปจนถึงขั้นที่ชนชั้นกลางและกลุ่มอำนาจเก่าสามารถผนึกกำลังกันโค่นล้มประชาธิปไตยด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 แล้ว ประเทศไทยเองกลับไม่สามารถกลับสู่หนทางประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพได้อีกเลย เพราะฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้งเองก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาโดยตลอด แม้จนถึงวันนี้จะเห็นได้ว่าต้องใช้สรรพกำลังขนาดไหนและตีความกันขนาดไหนเพื่อให้ผู้นำรัฐประหารในครั้งถัดมานั้นยังยืนอยู่ในอำนาจได้ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน

สิ่งที่จะต้องถามใหม่อาจจะไม่ใช่แค่มิติของคนชนบทตั้งรัฐบาล คนในเมืองล้มรัฐบาล เหมือนเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษที่ 1990

แต่อาจจะต้องถามใหม่ว่า เมื่อคนในเมืองตั้งรัฐบาลได้นั้น พวกเขาจะปกครองอย่างไรให้คนชนบทยอมรับ เพราะสิ่งที่เห็นก็คือกลไกเลือกตั้งในรอบนี้ที่ทำให้คนในเมืองชนะกลับอยู่ที่การต้องหันไปหาบริการเดิมๆ ของนักการเมืองบางกลุ่ม นโยบายประชานิยมที่พวกเขาโจมตี และการใช้กลไกความมั่นคงเดิมในการจัดการกับความสงบ

สิบสามปีที่ผ่านมา เราไม่เห็นนวัตกรรมทางนโยบายและการเมืองอะไรใหม่ไปกว่าการใช้ความกลัว และอคติ ความไม่แยแส และความไร้ประสิทธิภาพของผู้ปกครองที่ผลักคนที่เห็นต่างไปไว้อีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งพลังที่สนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความล้มเหลวของความพยายามที่จะสถาปนาอำนาจของตนเองโดยไม่เคารพความเท่าเทียมของคนอื่นๆ

การสร้างกำแพงแห่งความถูกต้องของพวกเขาจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน

แต่ไม่มีใครทราบได้ว่าสิ่งที่คิดเชื่อว่าแข็งแกร่งนั้นจะยั่งยืนไปได้แค่ไหน หรือแข็งแกร่งจริงไหม

และสุดท้ายความกลัวที่สร้างให้กับคนอื่นนั้นอาจจะน้อยกว่าความกลัวของพวกเขาเองที่พวกเขายังไม่ได้ตระหนักถึงว่ามันได้กัดกร่อนพวกเขาและระบอบของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image