ความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม ในสิ่งแวดล้อมอันเหลื่อมล้ำ : โดย กล้า สมุทวณิช

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันที่เด็กนักเรียนทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วยร่วมใจกันจัดกิจกรรม Climate Strike โดยการนัดหยุดเรียนเพื่อแสดงออกให้สังคมตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจของ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เยาวชนวัย 15 ปี ผู้ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน

นั่นเพราะหากจะมีใครที่จะได้รับผลกระทบและเดือดร้อนที่สุดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ก็คงได้แก่พวกเขาที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบเดิมนี้ต่อไป ดังนั้นเด็กๆ เหล่านี้จึงเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” คนสำคัญที่จะเรียกร้องเรื่องนี้ต่อผู้หลักผู้ใหญ่และรัฐบาลของแต่ละประเทศ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสิ่งแวดล้อมนั้นกำลังเป็นปัญหาสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในช่วงปีถึงสองปีนี้ส่งสัญญาณเตือนแรงขึ้นทุกครั้งว่า เรากำลังจะเข้าสู่หน้าแรกของบทสุดท้ายที่สิ่งแวดล้อมของโลกนั้นจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตของแทบทุกสรรพสิ่งมีชีวิต รวมถึงตัวเรา “มนุษย์เผ่าพันธุ์โฮโมเซเปี้ยนส์” ด้วย

เช่นนี้ การออกมาแสดงออกของเด็กๆ และเยาวชนจึงไม่มีใครเห็นต่างเท่าไรในวัตถุประสงค์

Advertisement

แต่กระนั้น สำหรับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงและยังอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนัก ก็ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เด็กและเยาวชนมีความตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องดีอยู่ แต่ความตื่นรู้นี้ก็มาพร้อมกับ “อภิสิทธิ์ทางสังคม” ซึ่งแสดงให้เห็นจากกลุ่มเด็กที่จัดกิจกรรมนี้ในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ จากโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนเอกชนที่มีการศึกษา (และต้นทุนค่าศึกษา) ในระดับที่สูง

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยผ่านตาข้อความหนึ่งที่มีผู้แชร์กันในฐานะ “มุมมองจากผู้คนอีกฝั่งหนึ่ง” ซึ่งถือว่ามีเหตุผลและต้องใคร่ครวญเพื่อหาคำตอบร่วมกันนี้

เจ้าของความเห็นในฐานะ “มิตรสหายท่านหนึ่ง” ให้เหตุผลว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมของเรามีชีวิตที่ยากลำบากและถูกกดขี่จากความเหลื่อมล้ำของระบบมากเกินกว่าจะมาสนใจเรื่องที่ไกลกว่าปากท้องของตัวเอง ความพยายามอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของอภิสิทธิ์ชน เกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมา นั่นคือเมื่อภาครัฐและเอกชนนั้นเหมือนจะเด้งตัวขึ้น “ขานรับ” กระแสที่ริเริ่มขึ้นจากบรรดาคนชั้นกลาง เช่น การที่พันธมิตรห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐได้ประกาศว่าจะเริ่ม “หักดิบ” ด้วยการงดแจกถุงพลาสติกให้ผู้ที่มาซื้อของ นับตั้งแต่ปีหน้า 2563 เป็นต้นไป

Advertisement

ซึ่งสร้างความรู้สึกหมั่นไส้หรือแม้แต่ความรู้สึกเหมือนถูก “รังแก” หรือ “กดดัน” ให้ต้องมายอมรับความไม่สะดวกสบายเพื่อเอาใจบรรดาคนกลุ่มที่สบายกว่าและมีอภิสิทธิ์กว่า เช่น พวกพ่อค้าแม่ค้าในตลาดซึ่งแจกถุงแจกหลอดราวกับไม่ตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม (หรือสังเกตจากความอึดอัดใจของมิตรสหายหลายท่านที่กล่าวให้เราเห็นในอีกมุมหนึ่งว่า คนที่จะสะดวกจ่ายตลาดหรือซื้อข้าวของโดยไม่รับถุงพลาสติกเลยนั้นก็คงได้แก่คนที่มีรถยนต์ขับไปห้างหรือแม้แต่ปากซอย ไม่ใช่คนที่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าต่อรถเมล์และมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าซอยอีก 3 กิโลเมตร)

ส่วนคนฝ่ายที่ถูกมองว่ามีอภิสิทธิ์นั้น ก็อาจจะมองคนถือถุงที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งว่า ทำไมช่างเป็นคนที่ “ดูดาย” ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราต้องอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะรวยจนเช่นนี้ การอ้างเรื่องความยากลำบากเพราะโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำ หรือการกดขี่นั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการอ้างว่าจนแล้วก็ขโมยของหรือโกงมิเตอร์แท็กซี่

การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงกลายเป็นปัญหาเชิงชนชั้น สังคม และการเมืองไป

ดังนั้น แม้เจ้าของความเห็นนี้จะยอมรับว่าความพยายามในระดับปัจเจกอย่างลดถุงหรืองดหลอดนั้นเป็นเรื่องดีอยู่ และถ้าทำได้ทุกคนก็ควรทำ แต่เขาก็เตือนให้เราไม่ลืมว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเกี่ยวพันอยู่กับปัญหาสังคมอื่นๆ อย่างใกล้ชิด และต้องตระหนักว่าความตื่นรู้ทางสิ่งแวดล้อม เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของความเป็นอภิสิทธิ์ชน และความอภิสิทธิ์นี่แหละเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ มากมายในประเทศนี้ และถ้าการเคลื่อนไหวหรือทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นต้องอาศัยการเสียสละ ผู้ที่มีทุนและอภิสิทธิ์มากเท่าไหร่ คนกลุ่มดังกล่าวก็ยิ่งต้องเสียสละมากเท่านั้น

ในส่วนอื่นๆ ของความเห็นนั้น ผมอาจจะไม่สู้เห็นด้วยเท่าไรนัก เช่น การยกถึงทุนใหญ่เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารและค้าปลีกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อเลี้ยงสัตว์ การบริโภคล้นหลามของการกินบุฟเฟต์ทำให้เกิดอุตสาหกรรมปศุสัตว์ขนาดยักษ์ การซื้อสินค้าแบรนด์เนมที่ได้หนังทำกระเป๋ามาจากการเลี้ยงวัวเพื่อฆ่า การใช้สมาร์ทโฟนที่จะต้องทำเหมืองเพื่อเอาแร่สำคัญ (Rare earth) มาใช้ผลิตชิ้นส่วน การคลั่งไคล้ศิลปินต่างชาติที่เขาจะต้องใช้เครื่องบินเดินทางมาเปิดคอนเสิร์ตซึ่งเป็นการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฯลฯ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าตัวอย่างที่ท่านผู้นั้นยกมามันจะเรียกว่าเป็น “กิจกรรมหรือธุรกิจ” เพื่อคนชั้นกลางนั้นก็เห็นจะไม่ใช่ไม่เชิงเสียทีเดียวนัก เอาง่ายๆ เรื่องธุรกิจยักษ์ด้านอาหารและค้าปลีกที่ท่านยกมา คนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกค้านั้นก็คือคนทั่วไป และคนชั้นกลางไม่ว่าจะกลางต่ำกลางสูงทั้งนั้นแหละ หรืออย่างโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือการคลั่งไคล้ศิลปินต่างประเทศก็ด้วย กิจกรรมและผลิตภัณฑ์เหล่านี้มิใช่ของผูกขาดเฉพาะคนชั้นกลางค่อนสูงหรือผู้มีอภิสิทธิ์เสียเท่าไร

ดังนั้นข้อที่ว่า คนชนชั้นกลางในเมืองที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแม่ค้าร้านตลาดที่แจกถุงแจกหลอดเพราะแม่ค้าเหล่านี้ไม่มีต้นทุนจะเข้าถึงสินค้าและบริการที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้มากเท่า นั่นก็อาจจะเป็นข้อสรุปที่ออกจะไม่ค่อยมีน้ำหนักต่อประเด็นนี้สักเท่าไรนัก

แต่ประเด็นที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งคือ “สาระ” ที่ว่าคนกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมจึงควรที่จะ “เสียสละให้มากกว่า” ในการละทิ้งวิถีเดิม ตามระบบการผลิตแบบเดิมๆ ได้หรือไม่ หรือถ้าเลิกไม่ได้ในทันทีก็ต้องพิจารณาหาความเป็นไปได้ในอนาคตว่าเราจะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตของเราสร้างมลภาวะน้อยลง ไม่ใช่เพียงการงดรับถุงพลาสติก ลดใช้หลอด แต่ใช้ชีวิตด้านอื่นเหมือนเดิม แล้วก็อิ่มใจว่าได้ช่วยเหลือ “ลดโลกร้อน” แล้ว

ซึ่งเรื่องนี้แม้แต่ความเห็นของเกรตา วัยรุ่นผู้เปลี่ยนโลกเองก็เรียกร้องให้ “ประเทศร่ำรวย” ได้แก่ ประเทศสวีเดนของเธอกับประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน และทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมก่อน เช่นที่เธอกล่าวว่า “ถ้าประเทศที่ร่ำรวยและมีทุกอย่างอย่างสวีเดนยังไม่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็น เราจะคาดหวังให้ประเทศกำลังพัฒนาเสียสละได้อย่างไร…”

อีกเรื่องหนึ่งที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีใครกล้าสื่อสารออกมาตรงๆ ขนาดนี้นั่นก็คือการรณรงค์หรือการทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องของจริตแบบคนชั้นกลางจริงๆ และหลายอย่างออกจะฉาบฉวยน่าหมั่นไส้โดยแท้ และยังไม่ต้องรวมในประเด็นที่ว่า ก่อนหน้านี้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเคยถูกบรรดาคนชั้นกลางนั้นอาศัยโหนฟรีเพื่อโจมตีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็มาทำเป็นลืมเลือนไม่หืออือในยุครัฐบาลเผด็จการทหารและยุคสมัยอำนาจซ่อนรูป สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพจำของการออกมาทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นกลายเป็น “กิจกรรมสลิ่มๆ” ของผู้ปรารถนาดีเหมือนจะมีความคิดได้ไม่ไกลไม่ยาว

และเรื่องจริงที่ยากปฏิเสธคือมาตรการ “เพื่อสิ่งแวดล้อม” ที่รณรงค์และจะมาบังคับใช้กันนั้น มันเพิ่มภาระให้แก่คนที่ปกติการใช้ชีวิตนั้นไม่ค่อยสบายอยู่แล้วให้ลำบากเกินกว่าปกติขึ้นไปอีก เรื่องนี้คงไม่มีใครเถียงว่าการพกถุงผ้ารักโลกร้อน หรือการเอาสินค้าที่ซื้อใส่ลังกระดาษยกไปใส่ท้ายรถและขับกลับบ้านนั้นมันสะดวกกว่าการที่ต้องทำอย่างนั้นแต่ต้องนั่งรถเมล์ไปต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือเดินเข้าซอยมากมายนัก

เช่นนี้สิ่งที่ผู้มีอภิสิทธิ์จะทำได้และควรจะทำนอกจากพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองนอกเหนือจากการงดรับถุงรับหลอด และลดการบริโภคอันเฟือฟายไม่จำเป็นลงแล้ว อีกสิ่งที่พวกท่านยังสามารถทำได้เพิ่มเติมก็คือการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อให้ทุกคนในสังคมสามารถค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆ กัน

ผมชอบคำตอบของคุณ รวิศ หาญอุตสาหะ ที่ตอบผู้ฟังรายการ Mission to the Moon ที่เขียนมาปรึกษาว่า ทำอย่างไรให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดหันมาตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม และใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

คุณรวิศตอบว่า เราต้องย้อนกลับมาพิจารณาดูว่าการให้พวกพ่อค้าแม่ค้านั้นปรับเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการสร้างภาระให้เขาเกินสมควร ไปเพิ่มต้นทุนหรือทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาลำบากขึ้นหรือไม่

ดังนั้นสิ่งที่เราจะช่วยกันได้ เราควรสร้างแรงจูงใจให้เขาเห็นประโยชน์ว่า การปรับเปลี่ยนนั้นจะเป็นประโยชน์กับพวกเขามากกว่า เช่น เราเองก็ต้องยอมซื้อสินค้าที่จัดมาในบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่ผลิตขึ้นโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในราคาที่สูงขึ้นบ้าง เพื่อให้ผู้ที่พยายามปรับตัวเห็นว่าการทำแบบนี้แล้ว มันอยู่ได้ ไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัว

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันทั้งสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นไหน มีอภิสิทธิ์หรือด้อยสิทธิอย่างไร แต่สุดท้ายโลกที่เราอยู่คือโลกใบเดียวกัน และหากจะกล่าวกันตรงๆ หากโลกนี้มีสภาพแย่ลงต่อการมีชีวิตอยู่ลงไปเท่าไร ผู้ที่มีโอกาสจะอยู่ในส่วนที่แย่น้อยที่สุด (เช่น ในอนาคตอาจจะมีโดมฟอกอากาศ หรือแม้แต่การอพยพไปอยู่ที่ดาวดวงอื่น) คนที่จะได้ลี้ไปอยู่ในที่เช่นนั้นก่อนก็คือผู้มีอภิสิทธิ์เหล่านั้นนั่นแหละ

เราอาจจะ “ทำความเข้าใจ” ในข้อจำกัดที่ว่า ทำไมคนที่ปากกัดตีนถีบหรือยังมีความไม่สะดวกสบายในสังคมนั้นไม่ตระหนักในปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ แต่ความเข้าใจนั้นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ต้องไปเรียกร้องให้พวกเขาต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหานี้ หรือเกี่ยงงอนว่าให้ภาครัฐหรือฝ่ายการเมืองหรือทุนใหญ่เปลี่ยนก่อนปัจเจกชนคนธรรมดา

เพราะเราทำไปพร้อมกันได้ เราสามารถแก้ปัญหาและปรับพฤติกรรมที่ตัวเราไปพร้อมกับการเรียกร้องเอาจากภาครัฐ หรือเรียกร้องประชาธิปไตยได้

และระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใส มีการตรวจสอบ มีการดุลการคานผลประโยชน์ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วมนี่แหละ จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงในระยะยาว อย่างน้อยก็มากกว่าระบบระบอบที่ทุนใหญ่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ และยังคงใช้อำนาจเช่นนั้นผ่านกลไกทั้งอ่อนทั้งแข็งอยู่

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image