เดินหน้าชน : ทรัพย์พิสดาร : โดย สัญญา รัตนสร้อย

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยเหมือนกับที่ผู้เขียนเองก็ข้องใจ เรื่องการรายงานทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง ส.ส. รัฐมนตรี ที่ถูกกำหนดให้ต้องสำแดงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

เป้าหมายก็เพื่อตรวจสอบ เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้วทรัพย์สินเงินทองเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ อย่างไร ส่อไปในทางใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่

บัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.รอบล่าสุด

หลายคนร่ำรวยอู้ฟู่ระดับหลายพันล้าน ซึ่งพอเข้าใจได้เมื่อดูปูมหลังอาชีพการงาน การทำธุรกิจก่อนเข้าสู่วงการเมือง

Advertisement

บางคนเป็นหนี้นับหมื่นล้านจากธุรกิจ

บางคนยังต้องอาศัยบ้านพ่อแม่อยู่ มีเงินติดบัญชีเพียง 5 พันบาท

นอกเหนือจากเงินสดในธนาคารที่ตรวจสอบไม่ยาก ลำพังทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ประเภทอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ห้องชุดคอนโดมิเนียม

Advertisement

หรือสังหาริมทรัพย์ เช่น กระเป๋าแบรนด์หรู รถยนต์ นาฬิกา แหวนเพชร

สิ่งของจำพวกนี้ก็ยังสามารถหาราคากลาง ราคาตลาด พอตรวจสอบกันได้

แต่ที่อยากจะชวนคิดก็คือ ทรัพย์สินประเภทคุณค่าราคาขึ้นอยู่กับค่านิยม

โคตรมหาเหล็กไหล มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท

มหาเหล็กไหล มูลค่า 300 ล้านบาท

อุกกาบาต 10 ล้านบาท

พระเครื่องต่าง ๆ อาทิ พระกริ่งปวเรศทองคำ 50 ล้านบาท พระสมเด็จวัดระฆัง 40 ล้านบาท พระสมเด็จไกเซอร์ 30 ล้านบาท

จะรู้ได้อย่างไร ทรัพย์สินสิ่งของเหล่านั้นมีมูลค่าตามที่แจ้งไว้จริง

จะไม่กลายเป็นช่องทางยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบระหว่างอยู่ในตำแหน่ง

สมมุติ ผู้เขียนลงเล่นการเมืองมีอำนาจวาสนาได้ไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง แล้วแจ้งว่ามีก้อนประหลาดอะไรสักก้อน สำแดงต่อ ป.ป.ช.มีมูลค่า 200 ล้านบาท

ครั้นพ้นจากตำแหน่งมีเงินงอกมา 200 ล้านบาท แต่ก้อนประหลาดที่ว่าหายไป แล้วอ้างต่อ ป.ป.ช.ว่าขายให้กับผู้มีรสนิยมเดียวกันไปเรียบร้อย

ป.ป.ช.ตรวจสอบอย่างไร ว่าเงินที่เพิ่มเข้ามาไม่ใช่จากการทุจริตคอร์รัปชั่น

หรืออ้างว่ามีพระเครื่องพิมพ์ยอดนิยมราคา 200 ล้าน ในข้อเท็จจริง ป.ป.ช.จะลงไปส่องพิสูจน์เชียวหรือ ว่าพระเครื่ององค์นั้นเป็นของจริงหรือปลอม หรือต่อให้เป็นของจริง ราคาค่างวดวิ่งไปไกลขนาดนั้นจริงหรือ พอถึงเวลาหนึ่งมีเงินสดเข้ามาแทนที่ในลักษณะเดียวกัน

ตรวจสอบอย่างไร ไม่ใช่ร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องของการฟอกเงิน

และดูเหมือนจะยังไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนพิสูจน์ในเรื่องนี้ อย่างที่ “วรวิทย์ สุขบุญ” เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุถึงหลักการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการที่มีหน้าที่ต้องยื่นสำแดง มี 2 ส่วนคือ ตรวจสอบการได้มาของทรัพย์สินนั้น ถูกต้องหรือไม่ และตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินว่า ที่ยื่นได้ครอบครองไว้จริงหรือไม่

แต่ด้านการตีมูลค่ายังเป็นความยากลำบาก เลขาฯป.ป.ช.เองก็ยอมรับเป็นมิติใหม่ของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อจากนี้ไปกลุ่มคนที่แจ้งมูลค่าสิ่งเหล่านี้ ป.ป.ช. จะจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ

ต่อไปต้องวางกฎเกณฑ์ป้องกันให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าหน้าตาจะออกมาอย่างไร และเมื่อไหร่

พูดง่ายๆ ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ ขอขู่เอาไว้ก่อน

เป็นตลกร้าย ที่ในเมื่อไปรับรองการมีอยู่ไว้แต่เบื้องต้นแล้ว บั้นปลายจะไปเอาผิดอย่างไร

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image