อย่างน้อยเราก็ยังได้ตอบ โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

“ข้อแข็ง” ที่สุดของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คือความที่มันได้ผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติของประชาชนมาแล้ว

จุดแข็งเรื่องการได้รับประชามติมานี้ถูกใช้เพื่อเป็นเกราะป้องกันมิให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกแก้ไขจากฝ่ายที่ไม่ได้รับอนุญาต ด้วยการอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากประชาชน มาจากอำนาจสถาปนาของประชาชน ดังนั้น “ฝ่ายสภา” จึงไม่มีสิทธิมาแก้ไข ไม่ว่าจะแก้แบบยกทิ้งทั้งฉบับ หรือขอแก้ไขบางเรื่องบางมาตรา เหตุผลข้ออ้างที่ว่านี้อาจจะพอฟังได้ ถ้าทำเป็นลืมๆ ไปว่า “ฝ่ายสภา” ก็มีที่มาจากความเห็นชอบของประชาชน หนำซ้ำยังชูประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นประเด็นหลักในการหาเสียงจนชนะการเลือกตั้งมาอีกต่างหาก

อาจจะเพราะเรื่องนี้ก็ได้ ที่ทำให้ฝ่ายผู้จัดต้องกัดฟันกลั้นใจเปิดให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐประหาร 2557 ไม่ว่าจะฉบับแรกของอาจารย์บวรศักดิ์ หรือฉบับนายมีชัยที่รอลงประชามติอีกสองเดือนข้างหน้า เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ก็จะได้เกราะศักดิ์สิทธิ์มากางป้องรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่ามาจากความเห็นชอบของประชาชน และใครอยากได้มาแตะเชียว

แถมเผลอๆ อาจจะมีบางฝ่ายบางคนตีขลุมตีความหมายรวมไปว่าเป็นการให้ “สัตยาบัน” ต่อการทำรัฐประหารเสียเลยก็ได้

Advertisement

การเปิดให้มีการทำประชามติ ถึงจะขู่ฟอดขู่ฟ่อไปด้วยเป็นซาวด์แทรกประกอบ แต่สุดท้ายแล้วก็อาจจะเป็นครั้งแรกหลังรัฐประหารเลยทีเดียว ที่ผู้จัดเขา “กล้า” ถามพวกเราอย่างเป็นทางการ และมีผลในทางกฎหมาย-พวกเราในความหมายของประชาชนทั่วไป ว่า “พอใจ” ในสิ่งที่เขาจัดหามาหรือไม่ แม้จะเป็นเรื่องที่นับว่ามีความเสี่ยง เพราะไม่ว่าจะขู่คำรามอย่างไร ถ้าไม่ถึงกับเอาปืนไปจ่อหัวกันในคูหาประชามติ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะ “ตอบ” อะไรกลับมาก็ได้ทั้งสิ้น ซึ่งจากการประเมินของหลายฝ่าย โอกาสที่ “คำตอบ” จะออกมาขัดใจเจ้าภาพนั้นมีความเป็นไปได้อยู่ไม่ใช่น้อย

เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้ประชามติจะเป็นการ “ถาม” ว่าจะเอาหรือไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เขาจัดมาให้ และโอเคไหมกับคำถามพ่วงที่เหมือนจะเป็นการแบะท่าประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่เอาเข้าจริง คนตอบอาจจะ “ตอบไม่ตรงคำถาม” ก็ได้

มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์โลก ว่าเอาเข้าจริงการทำประชามติ กลายเป็นเวทีในการ “สั่งสอน” รัฐบาลบ้าง วัดความนิยมของรัฐบาล หรือกลายเป็นเรื่องการแสดงความรู้สึกต่อนโยบายของรัฐบาลบ้าง เพราะประชามตินั้นเป็นช่องทางที่ให้ประชาชนได้แสดงออกต่อ “ผู้จัด” ในขณะนั้น โดยไม่ต้องรอการเลือกตั้งที่อาจจะอยู่ในอนาคตอันไกล หรือบางกรณีก็ในจินตนาการที่อาจจะไม่มาถึง

Advertisement

กระนั้น ในแวดวงของผู้ไม่เห็นชอบ ไม่สมาทานกับการรัฐประหาร ก็มีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้น เราควรไปร่วมหัวจมท้าย ลงคะแนนกับประชามตินี้หรือไม่ ในเมื่อเป็นกระบวนการอันสืบเนื่องมาจากการกระทำอันไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น การยอมเดินไปคูหาลงคะแนน จะไม่เป็นการเข้าไป “ยอมรับกติกา” สร้างความชอบธรรมให้พวกเขาหรือ ซ้ำร้าย นี่คือการทำประชามติภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรมเท่าไร เพราะฝ่ายที่ “อยากให้เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญมีช่องมีทางส่งเสียงได้มากกว่า ในขณะที่อีกฝ่ายใส่เสื้อมีคำว่าอะไร Noๆ เขาก็ขู่ว่าผิดกฎหมาย จะเอาคุกตารางมาให้เสียแล้ว

ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่า ในเมื่อเขาเปิดช่องให้เล่นได้และพอมีทางชนะ เราก็ควรเสี่ยงเล่นดู แม้กติกาจะไม่เป็นธรรมก็ให้รู้ว่าเราอาจจะชนะความไม่เป็นธรรมนั้นได้ หรือถึงจะแพ้ก็ไม่น่าเสียใจ เพราะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกันมาตั้งแต่ต้น ดังที่ท่านหนึ่งกล่าวเปรียบไว้ว่าเหมือนถูกส่งขึ้นไปชกมวยที่ถูกมัดมือไว้ข้างหนึ่ง ปิดตาอีกข้างหนึ่ง เช่นนี้ถึงจะแพ้ก็ไม่แปลกอะไร และความไม่เป็นธรรมของกติกาก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าเราจะเข้าร่วม “ชก” ด้วยหรือไม่ก็ตาม

โดยส่วนตัวแล้ว เป็นฝ่ายที่เห็นว่า ถึงแม้กระบวนการทั้งหมดจะไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น แต่ไหนๆ เขาก็ “ถาม” เราแล้ว และเปิดโอกาสให้เรา “เปิดปาก” (กา) ตอบเขาได้เป็นครั้งแรกอย่างที่ว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ก็น่าจะใช้โอกาสนี้ตอบเขาไปหน่อย ว่าเราเห็นอย่างไรกับทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาจัด เขาทำ เขาดัน จนมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งมาถามเรานี้

จริงอยู่ว่ากติกาในการ “ถาม” ออกจะไม่เป็นธรรมเท่าไรนัก เพราะมีฝ่ายหนึ่งพูดได้ข้างเดียว แต่กระนั้น หากกติกาไม่ยุติธรรมนั้นไม่ถึงกับว่าใครไปออกเสียงประชามติขัดใจท่านผู้จัดแล้วติดคุก หรือคะแนนเสียงฝ่ายที่ถูกใจท่านได้ 2 คะแนน ฝ่ายขัดใจให้นับเป็น 1 คะแนนขนาดนั้น การทำประชามติก็ยังถือว่าสะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ประมาณหนึ่งทีเดียว-ถ้าเรายอมรับว่าคนที่เขาชอบรัฐประหาร จะเอารัฐธรรมนูญปราบโกงเป็น “ประชาชน” ที่มีเสียงเท่าเทียมกับเรา และมีวิจารณญาณอันเป็นของเขา หากในที่สุดแล้วเสียงข้างมากของพวกเขาจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านไป ก็ควรจะต้องยอมรับว่า เสียงส่วนใหญ่ที่เรายัง “เอาชนะไม่ได้” เขาอาจจะยัง “โอเค” กับสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดสองปีนี้ ที่ต่อให้โอกาสฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญสามารถพูดได้เต็มที่ จะสามารถเปลี่ยนใจคนกลุ่มนี้ได้จริงหรือ หากจะบอกว่าเพียงกติกาและข้อจำกัดในการ “นำเสนอ” ทำให้ “แพ้” ก็คงต้องประเมินกันให้จริงจังว่า กติกาอันไม่ยุติธรรมในส่วนนั้น มันส่งผลต่อการออกเสียงของผู้คนได้ถึงขนาดนั้นจริงหรือเปล่า

ก็สุดแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน ใครคิดว่าจะบอยคอต หรือไปโหวตรับหรือไม่รับ แต่ส่วนตัวที่สุด ถ้าในที่สุดการจัดให้ลงประชามติมาตามนัดในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหา ไม่เลิก ไม่เลื่อนเสียแล้ว ไหนๆ เขาอุตส่าห์ “กล้าถาม” เราก็น่าจะลอง “กล้าตอบ” เขาดู อย่างน้อยที่สุดเขาจะได้เห็นว่ามีคนที่ “ขัดใจ” พวกเขาอยู่เท่าไรกัน ซึ่งนับรวมเราไปแล้วคนหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image