โอกาส อนาคต และบทบาทใหม่ ของพฤฒพลังในสังคมไทย โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ผู้สูงวัยคนไทยส่วนใหญ่มักมีความฝันว่าเมื่อถึงวัย 60 ปีไปแล้ว ก็จะได้เลิกหลังขดหลังแข็งทำงานเสียที แล้วก็จะได้พักผ่อน ได้ไปเที่ยวที่อยากเที่ยว ได้กินที่อยากกิน รวมทั้งมีเวลาพูดคุยกับเพื่อนและลูกหลาน แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือในสังคมไทยนั้น ผู้สูงวัยจำนวนมากไม่ได้มีชีวิตตามอย่างที่ฝันไว้

การศึกษาสถานภาพแรงงานของ ผศ.ดร.สุพรรณิกา ลือชารัศมี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำให้กับแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่าผู้สูงวัยหลังอายุ 60 ไปแล้ว จำนวนมากยังอยู่ในแรงงาน คือ ยังทำงานอยู่ถึงร้อยละ 35.34 ของประชากรอายุเกิน 60 ขึ้นไป ยังทำงานบ้านอยู่ร้อยละ 10.12 และมีปัญหาสุขภาพร้อยละ 4.38 ร้อยละ 42.9 มีสภาพร่างกายชราภาพจึงไม่สามารถประกอบอาชีพได้ร้อยละ 43 อื่นๆ ร้อยละ 1.28 และมีผู้สูงวัยที่พักผ่อนจริงๆ ประมาณร้อยละ 0.75 เท่านั้น หมายความว่าผู้สูงวัยของไทยส่วนหนึ่งยังมีความจำเป็นที่ต้องหารายได้เลี้ยงดูชีวิตของตัวเองอยู่ อีกส่วนหนึ่งก็คงยังทำงานต่อเพราะยังมีโอกาสและมีความสามารถที่จะทำงานได้

 

Advertisement

รูปที่ 1 กิจกรรมหลักของประชากรช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป

แต่สถิติข้างบนนี้เป็นตัวเลขรวมของผู้สูงวัยทั้งหมด หากพิจารณาดูระดับอายุทุก 5 ปีปรากฏว่าผู้สูงวัยระยะแรกคืออายุ 60 ถึง 64 ปีนั้น แรงงานสูงวัยชายยังอยู่ในกำลังแรงงานถึงร้อยละ 67 และแรงงานหญิงสูงวัยอยู่ร้อยละ 46 แต่กลุ่มที่อายุ 70 ถึง 74 ปี ผู้ชายอยู่ในกำลังแรงงานถึงร้อยละ 33 และแรงงานหญิงร้อยละ 16 ส่วนแรงงานสูงวัยรุ่นดึกคืออายุ 80 ปีขึ้นไป หากเป็นชายยังพยายามอยู่ในกำลังแรงงานถึงร้อยละ 7 และผู้หญิงร้อยละ 2 ผู้สูงอายุที่อยู่ในกำลังแรงงานนี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพของตนเองหรือเป็นเกษตรกรซึ่งจ้างตัวเอง เมื่อเห็นข้อมูลนี้แล้ว ผู้สูงวัยที่ยังอยากทำงานเริ่มมีความหวังไหมคะ

ส่วนข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งเสนอให้เห็นภาพว่าประเทศไทยต้องพึ่งพิงพลังผู้สูงอายุแทนกำลังเยาวชน กล่าวคือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แรงงานสูงวัยมีอัตราเพิ่มสูงที่สุด (ร้อยละ 49) เมื่อเทียบกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ ระหว่างปี 2551 ถึง 2560 แรงงานในกลุ่มสูงวัยเพิ่มขึ้นถึง 1.67 ล้านคน ในขณะที่แรงงานเยาวชนมีแนวโน้มและจำนวนลดลงถึง 1.41 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกัน

Advertisement

แรงงานสูงวัยเหล่านี้ทำงานอยู่ที่ใด คำตอบก็คืออยู่ในภาคเกษตร ซึ่งมีแรงงานสูงอายุอยู่ถึงร้อยละ 56 ของแรงงานทั้งหมด ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าหากปล่อยตามแนวโน้มภาคเกษตรโรยราไปตามอายุเกษตรกร ภาคเกษตรของไทยจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ แรงงานสูงวัยยังอยู่ในภาคค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 16 ของแรงงานในภาคนี้ และอยู่ในภาคโรงแรมและภัตตาคารถึงร้อยละ 6 ของแรงงานทั้งหมด ผู้สูงวัยที่ยังทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ซึ่งข้อมูลนี้น่าสนใจเพราะประเทศไทยกำลังที่จะขับเคลื่อนไปสู่การมีท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจหลัก ดังนั้นโอกาสของผู้สูงวัยก็น่าจะอยู่ในภาคท่องเที่ยวด้วย หากดูตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในญี่ปุ่นใช้แรงงานผู้สูงวัยเป็นหลัก แต่ที่ญี่ปุ่นแรงงาน

สูงวัยเป็นทั้งเจ้าของกิจการและแรงงาน เช่น ในโรงแรมแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าเรียวคัง หรือแม้แต่ในกิจกรรมบริการขนส่ง การขายตั๋ว การจัดระเบียบรถยนต์ในที่จอดรถ การดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยิ่งมีอุปกรณ์ที่มาใช้ลดการใช้แรงงานหนัก ผู้สูงวัยก็ยิ่งมีส่วนเข้ามาช่วยได้ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยเหล่านี้ยังจะเป็นกำลังเสริมสำคัญที่ดูแลมิให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมที่จะมีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนหนึ่งที่เราเอามาใช้ได้

แต่ในปัจจุบันทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงวัยเปลี่ยนไปมาก ซึ่งแต่เดิมอาจจะคิดว่าแรงงานสูงวัยนั้นมีภาพการผลิตต่ำ ทำงานด้วยยาก สอนยาก ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น และไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่ามีแรงงานสูงวัยบางกลุ่มที่มีทักษะ มีความรอบรู้และมีโลกทัศน์ และประสบการณ์ที่กว้างขวาง มีวุฒิภาวะที่จะทำให้การส่งต่อหรือการทำงานเป็นไปโดยราบรื่น หากมีการจัดหางานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความสามารถ รวมทั้งการจัดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรุ่นใหม่ แรงงานสูงวัยก็จะเป็นพลังที่มีค่าของสังคม จึงมีคำเรียกแรงงานสูงวัยที่ยังมีไฟว่า “พฤฒพลัง” การส่งเสริมพฤฒพลังจึงเป็นเรื่องที่จะช่วยสร้าง GDP สนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และมีรายได้

การเตรียมตัวสำหรับการเป็นผู้สูงวัย สำหรับคนที่เป็นหนุ่มสาว อยู่ก็คือการเตรียมเรื่องการออมสำหรับชีวิตหลังเกษียณ เพื่อให้มีชีวิตที่พอเพียงในวันข้างหน้า แต่สำหรับคนที่จะเกษียณในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ น่าจะเตรียมตัวรับชีวิตใหม่โดยการ Add skill, Upskill หรือ Reskill โดยผู้เขียนแนะนำว่าให้เน้นที่ทักษะคอมพิวเตอร์และไอที ซึ่งเป็น
ทักษะที่จะต่อชีวิตให้เราให้กว้างขวางและยาวไกลยิ่งขึ้น วิธีเพิ่มทักษะก็คือหาหรือจ้างคนรุ่นใหม่ให้มาสอนเราทีละเล็กทีละน้อย อย่าพยายามไปเข้าคอร์สจะเสียเงินเปล่า เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะตามกลุ่มอ่อนวัยไม่ทัน

เมื่อได้ทำการเพิ่มและปรับทักษะเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มมองหาโอกาสอนาคตและบทบาทใหม่ของเรา ทั้งนี้ เราไม่ควรเอาความฝัน ความหวัง และอนาคตของเราไปฝากไว้กับลูกหลานของเรา เพราะจะทำให้เรายึดติดเกินไปและรับเอาความทุกข์มามากขึ้น แต่เราควรเอาความฝัน ความหวัง และอนาคตของเราไปฝากไว้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานทั้งประเทศ เพราะจะทำให้อนาคตของเรามีโอกาสที่หลากหลาย สวยงาม และยาวไกลตามคนรุ่นใหม่ไปด้วย แล้วเราจะเริ่มเห็นอนาคตอันยาวไกลใหม่ ทำให้เรามีเป้าหมายในชีวิตใหม่ มีแรงบันดาลใจใหม่ หลังจากนั้นเราก็สามารถเตรียมตัวทำตัวให้มีประโยชน์เพื่อที่จะให้ถึงเป้าหมายนั้น จะทำอะไรก็แล้วแต่ตามความถนัดของส่วนบุคคล เช่น จะไปช่วยทาสีกำแพง สอนภาษาอังกฤษให้โรงเรียนก็ย่อมได้ ส่วนทักษะคอมพิวเตอร์นั้นแนะนำไว้ให้ผู้สูงอายุใช้เอง เพื่อจะให้เราสามารถติดตามโลกของคนรุ่นใหม่ได้และมีบทบาทใหม่ที่ทันโลก

ท่าน ส.ว.ทั้งหลายพร้อมหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วก็ลุยเลยค่ะ สุขสันต์ในวันและวัยเกษียณค่ะ!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image