พระพุทธศาสนากับอุลตร้าแมน โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารได้ประสูติชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย พระองค์ได้อุปสมบทและออกแสวงหาโมกขธรรม ภายหลังตรัสรู้แล้วได้ออกเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ พระธรรมคำสอนที่ได้เผยแผ่ 84,000 ขันธ์ จึงถือเป็นคุณูปการอันสูงส่งของชาวพุทธทั้งหลาย

ในอดีตชาติ พระองค์ได้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อบำเพ็ญทานบารมีและเมตตาบารมีมาแล้วหลายภพหลายชาติ ครั้นเมื่อบารมีแก่กล้าถึงที่สุด จึงได้ประสูติเป็นชาติสุดท้ายเป็นองค์พระศาสดาของพวกเราชาวพุทธทั้งหลาย

กว่าจะบรรลุธรรมสำเร็จอรหัตผลในชาติสุดท้าย พระพุทธองค์ได้ผ่านภพชาติ ผ่านการเวียนว่ายตายเกิดและความทุกข์ยากลำบากมาอย่างแสนสาหัส ในที่สุด จิตของพระองค์ได้รับการหล่อหลอมด้วยทานและเมตตาที่สั่งสมมาช้านาน จนเป็นเหตุปัจจัยส่งให้พระองค์มาเกิดเป็นพระตถาคตเจ้าของชาวพุทธโดยสมบูรณ์

การได้เกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะทำได้ หากไม่มีสัจจะและอธิษฐานบารมีอันเป็นพละปัจจัยนำส่งให้พระองค์มาเกิดและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย

Advertisement

แต่การ์ตูนอุลตร้าแมนเป็นเพียงภาพวาดที่เขียนขึ้นโดยใช้เวลาเพียงชั่วอึดใจ ผู้สร้างการ์ตูนเป็นเพียงปุถุชนที่หวังทำตัวละครให้ได้รับความนิยมชมชอบในหมู่เด็กและเยาวชน ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อความบันเทิงและเพื่อการค้าหาผลกำไรเป็นที่ตั้ง

การนำเอาพระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์ของทานและเมตตาบารมีขององค์พระศาสดาอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธมาใช้เทียบเคียงกับการ์ตูนอุลตร้าแมน จึงนับเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง นอกจากจะไม่เคารพองค์พระศาสดาที่ได้บำเพ็ญเมตตาบารมีมานับชาติไม่ถ้วนเพื่อพวกเราชาวพุทธแล้ว ยังเป็นการดึงพระพุทธศาสนาให้ตกต่ำลงอย่างน่าละอาย

เช่นเดียวกัน การสร้างพระพุทธรูปถือเป็นงานศิลป์ที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคนนับพันปี ตั้งแต่ยุคสมัยกรีกเรื่อยมาจนถึงทวารวดี เป็นงานประติมากรรมทางพุทธศิลป์ที่สวยงามล้ำค่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวพุทธ นับตั้งแต่งานปั้นในส่วนของพระเกศา พระเศียร ลำคอ ตา จมูก ปาก ทั้งหมดต้องอาศัยความรอบรู้ถึงลักษณะอย่างใดของร่างกายที่นับเป็นปุริสลักษณะของมหาบุรุษ

Advertisement

แต่การ์ตูนอุลตร้าแมนไม่ใช่งานศิลป์ เป็นเพียงรูปการ์ตูนที่วาดขึ้นเพื่อปลุกเร้าอารมณ์คึกคะนองและคลั่งไคล้ให้แก่เด็กและเยาวชน เป็นการ์ตูนที่แสดงความเก่งกล้าสามารถด้วยการใช้กำลังและอาวุธในการต่อสู้กับศัตรู แต่ในทางตรงข้าม องค์พระศาสดาของชาวพุทธไม่เคยใช้กำลังหรืออาวุธ ไม่เคยใช้การต่อสู้หรือแข่งขันเพื่อการเบียดเบียนผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงใช้แต่ความเมตตาและทานบารมีที่ทรงมีให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างหาประมาณมิได้

การนำเอาร่างอุลตร้าแมนไปสวมทับพระพุทธรูป แม้เพียงใช้สามัญสำนึกก็พอเข้าใจได้ว่าภาพที่ปรากฏออกมาเป็นความขัดแย้งและบาดตาบาดใจของชาวพุทธที่สัมผัสได้ทั้งทางสายตาและอารมณ์ความรู้สึก

ทุกศาสนาต่างมีรูปบุคคลหรือสัญลักษณ์ที่ผู้คนในแต่ละศาสนาให้ความเคารพนับถือ รูปเคารพในแต่ละศาสนาได้รับการปลูกฝังให้อยู่ในจิตใจ
และความศรัทธาของผู้คน รูปเคารพจึงเป็นตัวแทนของหลักธรรมคำสอนที่ผู้คนต่างกราบไหว้บูชา การดัดแปลงแก้ไขรูปเคารพจึงเท่ากับการเข้าไปขัดขวางและบิดเบือนศรัทธาที่ผู้คนทั้งหลายมีต่อศาสนาของเขา

เรื่องของความศรัทธาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอันอาจหมิ่นเหม่และสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายมาก ความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยหรือโดยไม่ตั้งใจ อาจนำไปสู่เป็นความสูญเสียอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ ผู้คนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย จึงพึงตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญและพลานุภาพอันยิ่งใหญ่ของสิ่งที่เรียกว่า “ศรัทธา” ที่ผู้คนมีต่อศาสนาของเขา และรูปเคารพของเขาคือความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของพวกเขานั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน การฝึกโยคะที่ผู้ปฏิบัตินำมาเทียบเคียงกับพระพุทธศาสนาเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีการก้าวล่วงเช่นเดียวกับเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ฝึกโยคะนำเอาการปฏิบัติและความเชื่อของตนมาใช้แอบอ้างเสมือนเป็นการปฏิบัติสมาธิภาวนาของชาวพุทธ จึงนับเป็นการไม่เหมาะสม เพราะการฝึกโยคะ ผู้ฝึกมีเป้าหมายมุ่งเน้นที่ร่างกายเป็นสำคัญยิ่งกว่าเรื่องความสงบทางด้านจิตใจ กล่าวคือเพื่อให้ผู้ปฏิบัติโยคะมีสุขภาพแข็งแรง มีเลือดลมไหลเวียนดี ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

แต่ในทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธไม่ได้ยึดถืออัตตาตัวตนหรือร่างกายเป็นสาระสำคัญ แม้ชาวพุทธพึงดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง ก็เพียงเพื่อใช้ร่างกายนี้เพื่อการปฏิบัติธรรม หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่กาย แต่อยู่ที่การปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา เพื่อขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด โดยมีเป้าหมายให้จิตที่ผ่องใสนั้นได้ไปสู่สุคติ ส่วนร่างกายนั้นมีแต่จะอ่อนแอและเสื่อมลงไปตามกาลเวลา จึงหาสาระอันใดกับร่างกายไม่ได้

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง และที่สำคัญคือสอนเรื่องความไม่มีอัตตาตัวตน เพื่อให้ชาวพุทธได้รู้แจ้งเห็นจริงในหลักธรรมอันว่าด้วยทุกข์ อนิจจัง อนัตตา ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ในโภคทรัพย์และบริษัทบริวารทั้งหลาย

การปฏิบัติโยคะมีเป้าหมายเพื่อมุ่งบำรุงรักษาร่างกาย ผู้ฝึกโยคะมีความภาคภูมิใจในความอ่อนช้อยแต่แข็งแกร่งของร่างกายและกล้ามเนื้อ รวมทั้งมีผลพลอยได้จากการฝึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก แต่เป็นลมหายใจที่มุ่งให้การปฏิบัติโยคะได้ผลดียิ่งขึ้น ให้จังหวะของลมหายใจเข้าออกช่วยผ่อนคลายร่างกาย ลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ แต่ลมหายใจของโยคะไม่อาจส่งผลถึงการขัดเกลาจิตใจ

การฝึกโยคะไม่ใช่เรื่องความสงบทางจิตใจ การเจริญสมาธิในทางพระพุทธศาสนาด้วยการตามดูลมหายใจ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งจิตออกนอก จิตที่ตั้งอยู่ในกาย อยู่ในลมหายใจเป็นจิตที่มีความสุขสงบ สาระสำคัญของการเจริญสมาธิคือจิต การใช้จิตตามดูลมหายใจ ใช้จิตพิจารณาดูอสุภะของเน่าเหม็นภายในกาย เพื่อขัดเกลาจิตให้ลดละจากกามราคะ แต่การฝึกโยคะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตและไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ดังนั้นหลักการ วิธีการและเป้าหมายของสมาธิภาวนากับโยคะจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้ปฏิบัติโยคะจึงไม่รู้จักกรรมฐานเพื่อการขัดเกลาจิตใจ เพื่อละกามราคะและความโลภ โกรธ หลง ชาวพุทธปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อความสงบของจิตใจและเจริญวิปัสสนาเพื่อเป็นหนทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏ การทำโยคะแม้จะหยุดกามราคะได้ แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะที่อยู่ระหว่างปฏิบัติโยคะเท่านั้น ขณะที่ไม่ได้ปฏิบัติ จิตที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลายังคงโผผวาเข้าสู่ราคะตัณหาเหมือนเดิม

ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธพึงปฏิบัติทาน ศีล ภาวนาไปพร้อมกัน ที่ต้องปฏิบัติไปด้วยกันเพราะหากไม่รู้จักให้ทานก็ยากที่จะรักษาศีลได้ หากรักษาศีลไม่ได้ก็ยากที่จะเจริญสมาธิภาวนา เพราะการไม่รู้จักให้ทาน ทำให้เป็นคนตระหนี่ไม่รู้จักเสียสละ ผู้ที่ตระหนี่มักเกิดความโลภได้ง่าย คนที่โลภมีโอกาสลักทรัพย์หรือโกหกได้ง่ายกว่าคนให้ทาน ดังนั้นการไม่รู้จักให้ทานย่อมทำให้เป็นคนรักษาศีลได้ยาก

แต่หากไม่มีศีลก็ยากที่จะภาวนาได้ เพราะเมื่อท่านดื่มเหล้าผิดศีลข้อ 5 ท่านอย่าได้หวังว่าจะปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ หากท่านโกหกหรือลักทรัพย์ จิตใจของท่านจะอยู่ไม่เป็นสุข จิตเช่นนี้จึงยากที่จะเจริญภาวนา ทาน ศีล ภาวนาจึงเป็นปัจจัยและบารมีที่ส่งผลถึงกันและกัน

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่ทานและศีลเพื่อนำไปสู่ภาวนา โดยไม่ได้กล่าวถึงการปฏิบัติโยคะเพื่อนำไปสู่ภาวนาแต่อย่างใด อีกทั้งชาวพุทธไม่เห็นด้วยกับการทรมานร่างกายหรือทำทุกรกิริยาเพื่อนำไปสู่การเจริญปัญญา การปฏิบัติทาน ศีล ภาวนาดังที่กล่าวมา ได้ผ่านการประพฤติปฏิบัติโดยองค์พระศาสดาจนได้บรรลุธรรมสำเร็จอรหัตผลมาแล้ว จึงได้นำมาเทศนาสั่งสอนแก่ชาวพุทธทั้งหลาย

พุทธศาสนิกชนจึงพึงปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา และไม่พึงนำตนไปสู่ลัทธิความเชื่ออื่นที่ไม่ตรงตามหลักธรรมคำสอนขององค์พระศาสดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image