การเมืองกับอัตลักษณ์ของเมือง โดย วิภาพ คัญทัพ

ปัจจุบันมีหลายพรรคการเมืองที่ออกตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ด้วยความสนใจจะไปหาเสียงพร้อมๆ กับหาแนวทางพัฒนาให้ถึงอกถึงใจคนในปริมาณมากที่สุด ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะลงพื้นที่อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย การลงพื้นที่มีความจำเป็นต้องเข้าใจอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ทั้งในแง่กายภาพและจิตใจ

อัตลักษณ์ (Identity) เป็นเรื่องหนึ่งที่คนให้ความสนใจพูดถึงบ่อยมาก เพราะหมายถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มชน เช่น อัตลักษณ์ของชาวไทย หรืออัตลักษณ์ของชาวเหนือของประเทศไทย เป็นต้น ทำนองเดียวกับเอกลักษณ์ (Uniqueness) ที่มีคนพูดถึงบ่อยเช่นกัน แต่เอกลักษณ์มักหมายถึงลักษณะเฉพาะของบุคคลคนเดียว เช่น เอกลักษณ์ของนายนั่น หรือนางนี่ เป็นต้น

นานมาแล้วมีโฆษณาสินค้าเสื้อผ้า ที่มีคำขวัญว่า “…เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ” หรือน้ำดื่มที่กล้าระบุว่า “…ดีที่สุด” พวกสินค้าเมื่อจะโฆษณาให้คนซื้อจึงมีหลักการว่าต้องประกาศเอกลักษณ์ให้ชัดเจนเหนือปรากฏการณ์ของสินค้าที่เป็นอยู่ในท้องตลาด

ในการใช้ชีวิตคนที่มีเอกลักษณ์ก็มักจะเป็นคนโดดเด่น โดยเฉพาะเอกลักษณ์ในหมู่ดารา ยิ่งทำให้ดาราคนนั้นเป็นที่สนใจเหนือดาราทั้งปวง

Advertisement

อัตลักษณ์ก็เช่นกัน ถ้าหากว่ากลุ่มชนใดมีอัตลักษณ์โดดเด่น เช่น ญี่ปุ่น จีน หรืออินเดีย ฯลฯ ก็ทำให้ชนชาตินั้นง่ายแก่การจดจำ พอเห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นชนชาติไหน เช่น สังเกตได้จากการแต่งกาย อาหารการกิน หรือภาษาที่ใช้พูดจา ตลอดจนบุคลิกท่าที ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ทำให้คนต่างกลุ่มยากที่จะปลอมแปลงตัวเองเข้าไปแทรกแซงได้ พอเข้าไปคนในกลุ่มก็รู้ทันทีว่ามาจากถิ่นอื่น การจะหล่อหลอมบุคลิกเพื่อเข้าไปแทรกแซง เป็นไปได้แต่ต้องใช้เวลามาก บางเรื่องก็ทำไม่ได้เลย เช่น สำเนียงของคนในท้องถิ่นนั้นๆ

อัตลักษณ์นอกจากจะเป็นลักษณะเฉพาะแล้ว ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น เช่น มีคำกล่าวว่า ชาวฝรั่งเศสแม้พูดภาษาต่างชาติได้ก็จะไม่ยอมพูดภาษาต่างชาติโดยไม่จำเป็น เป็นต้น แต่ความภาคภูมิใจอย่างมากนี้ต้องระวังด้วย เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหลงตน และเหยียดหยามคนอื่นที่มีความแตกต่างไปจากอัตลักษณ์ของตน

ความชื่นชมในอัตลักษณ์ของตนเอง แท้จริงควรทำให้เกิดความชื่นชมในอัตลักษณ์ของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ทำให้เกิดความคับแคบมองเห็นแต่ความดีงามของตนเอง

ในประเทศที่มีหลายกลุ่มชนมาอยู่รวมกัน เช่น ประเทศไทย จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่จริงเป็นข้อดีเพราะทำให้มีโอกาสได้ชื่นชมความดีความงามที่มีความหลากหลาย ดังนั้นการอยู่ร่วมกันต้องมีความใจกว้าง ไม่หลงใหลเฉพาะถิ่นหรือพวกพ้องตนเองเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากแต่ละถิ่นต่างหลงในอัตลักษณ์ของตัวเองจนดูถูกคนที่มาจากถิ่นต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดความแตกความสามัคคีได้ จากปัญหาที่มองข้ามกลายเป็นปัญหาระดับชาติขึ้นมาทันที ซ้ำร้ายเปิดโอกาสให้ผู้นำในประเทศเช่นนี้นำเรื่องความสามัคคีของชนในชาติมาอ้างความชอบธรรมในการปกครองของตน เช่น ถ้าไม่มีเขาความสามัคคีจะไม่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันเขาเองนั่นแหละที่อาจมีเบื้องหลังเป็นผู้สร้างความแตกสามัคคีเสียเองเพื่อหาเหตุเข้ามาปกครอง ประชากรในชาติที่มีความหลากหลายจึงควรอย่างยิ่งที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของการยุแยงจากคนประเภทนี้ ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่าต้องรู้จักชื่นชมอัตลักษณ์ของตัวเองไปพร้อมกับอัตลักษณ์ของผู้อื่น ความลำเอียงเข้าข้างตัวเอง รวมทั้งอคติที่จะเกิดแก่คนกลุ่มอื่นก็ไม่มี

อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือนักการเมืองที่นิยมใช้ฐานเสียงจากความเป็นท้องถิ่นนิยมมาสนับสนุนตนเองในฐานะที่เป็นคนในท้องถิ่นนั้น เพราะมีประชากรประเภทที่มีความเชื่อว่าคนในถิ่นของตนเองเท่านั้นที่จะช่วยเหลือท้องถิ่นของตน ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เกิดมุมมองคับแคบและปิดโอกาสที่จะได้คนดีจากถิ่นอื่นมาช่วยเหลือกัน

แท้จริงแล้วควรมุ่งมองว่า เราเป็นคนในชาติเดียวกันต้องเคารพซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือสนับสนุนกัน กว้างไปกว่านี้เราทุกคนก็คือคนในโลกเดียวกัน กว้างไปกว่านี้อีกเราและสรรพสิ่งต่างๆ ล้วนต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เรื่องนี้เวลาพูดฟังดูเป็นเรื่องเล็ก มองเห็นภาพในทางปฏิบัติไม่ชัดเจนเลย แต่แท้จริงเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลต่อสังคมและการเมืองอย่างละเอียดอ่อนในทุกวี่วัน

แต่ผู้นำที่มีความใจกว้างจะรู้จักใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาสร้างความโดดเด่นให้เกิดในสังคม ทำให้คนต่างถิ่นเกิดความนิยมชมชอบที่จะมาเยี่ยมชม เพราะวัฒนธรรมต่างๆ ได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกอย่างงดงาม ด้วยความภาคภูมิใจ และปราศจากอหัง
การ์ในทำนองเหยียบย่ำคนที่มาจากต่างถิ่น

อย่างไรก็ตาม โลกก้าวหน้ามาถึงวันนี้ ความชื่นชมตนและรังเกียจเดียดฉันท์ผู้อื่นยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แม้ประเทศมหาอำนาจก็ยังไม่แสดงความใจกว้างออกมาอย่างแท้จริง เช่น เน้นสนับสนุนแต่วัฒนธรรมของท้องถิ่นตน

ความจริงการสนับสนุนวัฒนธรรมในท้องถิ่นตนเป็นหน้าที่ของคนในท้องถิ่นนั้น เพราะเมื่อเกิดและเติบโตในวัฒนธรรมดังกล่าวย่อมน่าจะมีความเข้าใจดีกว่าคนต่างวัฒนธรรม แต่ถ้าหากมีวัฒนธรรมถิ่นที่น่าสนใจก็อาจรับเข้ามาศึกษาและพัฒนาชีวิตประจำวันของตนได้ พร้อมทั้งส่งเสริมได้ โดยไม่ทำให้อัตลักษณ์ของตนเองต้องเสียหายไปแต่อย่างใด ความสำคัญคือคนในท้องถิ่นนั้นต้องรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมของตนเสียก่อน การอ้าแขนรับวัฒนธรรมต่างถิ่นจึงรู้ว่าอะไรเป็นของเดิม และอะไรเป็นของที่รับเข้ามา กับส่วนที่พัฒนาสร้างสรรค์ใหม่ และส่วนที่พัฒนาสร้างสรรค์ใหม่นั้นก็อาจกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่สดใสงอกงามออกมา วัฒนธรรมจึงไม่ใช่เรื่องของการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว ความหวงแหนเอาใจใส่แต่ความเดิมก็กลับจะกลายเป็นอุปสรรคปิดกั้นความใหม่ในทางสร้างสรรค์เสียอีก

ประเทศที่มีปัญหาการเมืองและยังแก้ไขกันไม่ตก โดยมากส่งผลกระทบกับอัตลักษณ์แทนที่จะพัฒนาความโดดเด่นบนฐานเดิมต่อไป กลับเกิดความสับสนและยับยั้งความงอกงามอย่างที่ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ นอกจากนี้อัตลักษณ์ยังกลายเป็นวังวนให้นักการเมืองเอามาอ้างอิงหาประโยชน์ใส่ตน มากกว่าจะได้ทำอะไรจริงจังเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของบ้านเกิดเมืองนอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image