โง่เพราะกูเกิล หรือโง่จนกูเกิลก็ช่วยไม่ได้? : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

โง่เพราะกูเกิล หรือโง่จนกูเกิลก็ช่วยไม่ได้? : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

โง่เพราะกูเกิล หรือโง่จนกูเกิลก็ช่วยไม่ได้? : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์  [email protected]

ในวาระที่กูเกิลครบรอบ 21 ปี การย้อนกลับมาพูดถึงผลกระทบของกูเกิลต่อสังคมนั้นก็กลับมาอีกครั้ง

เรื่องที่หนึ่ง ความสำเร็จของกูเกิลในรอบ 21 ปีนี้ไม่ใช่ภาพที่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบไปเสียทั้งหมด ที่ล้มเหลวก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย โดยบริการของกูเกิลนี้เริ่มต้นขึ้นจากธุรกิจสตาร์ตอัพเล็กๆ ในปี ค.ศ.1998 โดยเริ่มแรกชื่อของกูเกิล google มาจากคำว่า googol ซึ่งแปลว่า สิบยกกำลังร้อย หรือความมากมายมหาศาลของมัน (เกร็ดก็คือตอนจดทะเบียนชื่อ google.com นั้นพวกเขาสะกดผิด)

หนึ่งปีถัดมา บริษัทขยายตัวจากบริษัทในโรงรถเล็กๆ มาสู่บริษัทจริง และในปีที่สองคือ ค.ศ.2000 กูเกิลกลายเป็นเครื่องมือ หรือบริการออนไลน์ในการค้นหาข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผมเองก็จำได้ถึงโลกก่อนกูเกิลที่ใช้เครื่องมือแบบ yahoo.com webcrawler.com หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่ค้นได้ช้ากว่าและน้อยกว่า

Advertisement

2001 กูเกิลเริ่มให้บริการการค้นหารูปภาพ หนึ่งปีต่อมากูเกิลให้บริการข่าว และในปีที่หกคือ 2004 บริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กูเกิลเริ่มให้บริหารจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเอง (gmail) ต่อมาอีกหนึ่งปีคือ 2005 กูเกิลก็เปิดบริการแผนที่และการนำทาง (google map) และซื้อกิจการของ android ที่ต่อมากลายเป็นระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์สมัยนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ความสำเร็จของกูเกิลที่มากกว่าธุรกิจและเทคโนโลยีนั้นถูกยอมรับในปี 2006 เมื่อพจนานุกรมออกซฟอร์ดใส่คำว่า google ลงไปในเล่มในฐานะคำกริยาของการค้นหาข้อมูลด้วยบริการกูเกิล (Search for information about (someone or something) on the Internet using the search engine Google.) และ 2008 กูเกิลมีโปรแกรม browser ของตัวเองคือ chrome โดยไม่ต้องพึ่งบริการของโปรแกรมอื่น เช่น netscape explorer firefox หรือ opera และก็เป็นปีเดียวกับที่กูเกิลซื้อกิจการของ youtube.com มาเป็นของตัวเอง

ใช่ว่ากูเกิลจะทำสำเร็จไปเสียทุกเรื่อง ผลิตภัณฑ์บางอย่างของกูเกิลก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก เช่น โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน หรือบริษัทเองก็ยังเจอคดีความมากมาย เช่น กรณีที่สหภาพยุโรปยื่นฟ้องกูเกิลเมื่อ 2017 ว่าเอาบริการซื้อของของตัวเองให้ปรากฏในการค้นหามากกว่าบริการของบริษัทอื่น

Advertisement

นอกเหนือจากเรื่องธุรกิจและเทคโนโลยีแล้ว ผลกระทบที่กูเกิลมีต่อสังคมก็เป็นเรื่องที่นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างมาก นอกเหนือจากบทความต่างๆ และการวิจัยที่ว่าด้วยผลกระทบของกูเกิลที่มีต่อการเรียนรู้และจิตวิทยา

ในการประชุมสัมมนา Global Education and Skills เมื่อปี 2018 มีการอภิปรายถกเถียงในที่ประชุมกันว่าการที่เราเอาแต่ค้นหาเรื่องราวต่างๆ จากกูเกิลนั้นทำให้เราโง่หรือเปล่า?

ฝ่ายที่เห็นว่าการที่เราเพียงแต่ค้นหาทุกอย่างจากกูเกิลจะทำให้เราโง่ขึ้นนั้น เขาให้เหตุผลว่าโดยตัวเทคโนโลยีเองไม่ได้มีปัญหา ปัญหาเกิดจากการที่เราพึ่งพากูเกิลมากจนเกินไป เพราะการพึ่งพาเทคโนโลยีเช่นกูเกิลอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อความทรงจำและความสนใจ (memory and attention) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อระบบสมองของเรา

ฝ่ายที่กังวลใจต่อผลกระทบของกูเกิลนี้เห็นว่า ความทรงจำในระยะยาว (long term memory) นั้นมีความสำคัญต่อความสามารถในการคิด เช่น การที่เราจะต้องรู้ตารางเวลาต่างๆ ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อไหร่อย่างไร สิ่งนี้จะทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นเมื่อข้อมูล (information) ถูกเก็บรักษาไว้ในส่วนของความทรงจำในระยะยาวซึ่งคนอื่นหรือสิ่งอื่นจะมาทำแทนเราไม่ได้

ส่วนเรื่องของความสนใจก็สำคัญเหมือนกับความทรงจำในระยะยาว ท่ามกลางกระแสของคนที่ให้ความสนใจแต่กับเรื่องของการเรียนรู้เรื่องนามธรรม (abstract learning) และทักษะ ซึ่งคนเหล่านี้จะสนับสนุนการใช้กูเกิล ขณะที่คนอีกกลุ่มเสนอว่าเด็กๆ นั้นต้องการการเรียนรู้ (learning) และการท่องจำข้อเท็จจริง (memorising facts) โดยมีหลักฐานสนับสนุนว่าประเทศที่มีการสอนกันแบบในชั้นเรียนกับครูจะมีคะแนน PISA ดีกว่าประเทศที่เน้นการเรียนแบบนามธรรมหรือผ่านเทคโนโลยีล้วนๆ รวมทั้งคะแนน SAT ซึ่งต้องใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

นอกจากนั้นผู้ที่ตั้งคำถามกับกูเกิลเชื่อว่าการสร้างสรรค์ที่แท้จริงจะต้องมาจากความเข้าใจที่ลึกซึ้งของเรื่องที่เราสนใจและความสนใจที่ลึกซึ้งไม่สามารถค้นหาได้จากกูเกิลอย่างเดียว

จะว่าไปแล้วการตั้งคำถามกับกูเกิลในฐานะเครื่องมือของการเรียนรู้นี้มีการพูดกันในวงกว้าง เช่น การพูดว่า “ผลกระทบของกูเกิล” หรือ google effect ซึ่งมีลักษณะเดียวกับเรื่องของ Dunning-Kruger effect ซึ่งเป็นชื่อของนักจิตวิทยาสองคนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ทำการทดลองกับเด็กสามกลุ่มให้ทำการทดสอบความรู้แล้วถามว่าพวกเขาคิดอย่างไร

ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ทำได้แย่ที่สุดกลับคิดว่าทำได้ดีที่สุด กลุ่มที่ทำได้กลางๆ นั้นเข้าใจตนเองมากที่สุดว่าพอทำได้ ขณะที่กลุ่มที่ทำได้ดีที่สุดกับคิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีเท่าไหร่

ผลการทดลองสรุปว่าคนที่ขาดความรู้และทักษะนั้นจะไม่สามารถที่จะเข้าใจว่าตนนั้นขาดอะไรไป

งานวิจัยของ Daniel Wegner จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าคนที่เชื่อว่าความรู้นั้นจะไม่ถูกเก็บเอาไว้หรือจะหายไปจะพยายามจดจำสิ่งที่เรียนรู้และไม่ลืมมันง่ายๆ ขณะที่คนที่เชื่อว่าทุกอย่างมันมีอยู่ แค่ไปค้นออกมาจากที่ใดที่หนึ่งจะมีแนวโน้มที่จะจำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะต้องพึ่งพาสิ่งอื่นและอาจจะทำให้เราคิดว่าเรารู้ทุกเรื่องทั้งที่ไม่รู้อะไรเลยเหมือนกับการทดลองของ Dunning และ Kruger

เรื่องแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ถ้าลองถามความรู้รอบตัวของคนอเมริกาสมัยนี้ ตามข้อค้นพบของหลายสถาบันวิจัยและสื่อก็พบว่าพวกเขาจำข้อมูลพื้นฐานหรือความรู้ทั่วๆ ไปไม่ได้ เช่น ประเทศที่สหรัฐทำสงครามด้วยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรืออดีตประเทศแม่ก่อนประกาศเอกราช หรือใบหน้าของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันทั้งที่ปรากฏอยู่บนเหรียญที่พวกเขาใช้ทุกวัน

เรื่องที่น่าตกใจต่อไปอีกก็คือความเริ่มไม่สนใจเรื่องแบบนี้มีความเชื่อมโยงกับทัศนคติและมุมมองทางการเมืองด้วย อย่างกรณีของการที่ประชาชนอเมริกาคนรุ่นใหม่นั้นเพียงหนึ่งในหกเท่านั้นที่รู้จักประเทศยูเครน และยิ่งไม่รู้จักประเทศยูเครนมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งสนับสนุนการแทรกแซงของสหรัฐต่อยูเครนมากขึ้นเท่านั้น

ลองนึกดูสิครับว่าถ้าเป็นประเทศอย่างเรา ยิ่งคนไม่รู้จักพื้นที่บางพื้นที่ เขาอาจจะมีแนวโน้มที่ไม่สนใจ หรือปล่อยให้รัฐบาลเข้าไปทำอะไรในพื้นที่นั้นได้

อีกข้อค้นพบก็คือ คนที่มีความรู้เช่นการคำนวณและความรู้คณิตศาสตร์จะมีความสามารถในการบริหารจัดการการเงินของตัวเองได้มากกว่า

กลับมาที่การถกเถียงเรื่องกูเกิลทำให้โง่ต่อนะครับ

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่ากูเกิลทำให้โง่นั้น เขามองว่ากูเกิลทำให้คนทำงานได้ฉลาดขึ้นและเร็วขึ้น และกูเกิลก็เป็นเพียงเครื่องมือในการเรียนรู้ เหมือนยุคที่มีเครื่องคิดเลขนั่นแหละครับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องการเรียนรู้ไม่ใช่ปัญหาจากกูเกิล แต่เป็นปัญหาจากครูหรือผู้สอน หรือการจัดการการเรียนการสอนต่างหาก

เช่น นักเรียนอาจจะค้นหาข้อมูลไม่ถูก ได้ข้อมูลมาผิด แต่ครูต่างหากที่จะคอยช่วยเด็กในการให้คำแนะนำและตีความข้อมูล ผู้ที่สนับสนุนประโยชน์ของกูเกิลมองว่าถ้าลูกของเราไปโรงเรียนแล้วเรียนหนังสือได้ เพราะแค่ค้นหาข้อมูลจากกูเกิล ผู้ปกครองก็ควรจะย้ายโรงเรียนให้ลูกได้แล้ว เพราะแปลว่าโรงเรียนไม่ได้สอนอะไรเลย

ข้อสรุปจากงานสัมมนาครั้งนั้นที่มีคนเข้าร่วมหลากหลายทั้งจากราชการ เอกชน และผู้นำทางสังคมจากภาคการศึกษาเห็นว่ากูเกิลไม่ได้ทำให้เราโง่ลงถึงร้อยละ 50 เห็นว่ากูเกิลทำให้เราโง่ลงถึงร้อยละ 32 และไม่สามารถตัดสินใจว่าจะเลือกฝ่ายไหน ร้อยละ 18

ในอเมริกา ข้อเสนอสำหรับทางออกของปัญหาทั้งหลายที่เกิดจากยุคสมัยที่หาอะไรก็เจอในกูเกิลนั้นก็คือให้ส่งเสริมการอ่านเรื่องของความรู้ทั่วไปมากกว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราสนใจเท่านั้น หรือเอาแต่เปลี่ยนช่องดูแต่อะไรที่เราสนใจ นอกจากนี้ควรดูข่าวทั่วไป อาทิ ข่าวโทรทัศน์ด้วย ไม่ใช่รับแต่สื่อที่ตนเองสนใจ อย่ามองว่าข่าวโทรทัศน์ช่องหลักไม่มีประโยชน์หรือล้าสมัย ซึ่งถ้าจะพยายามแปลความให้กว้างขึ้นก็คือ ให้รับข่าวในระดับของช่องทั่วไปด้วย ไม่ใช่การรับข่าวประเภทช่องที่มุ่งเน้นแต่ข่าวทั้งวันทั้งคืน หรือดูแต่ข่าวที่ฟีดมาจากสำนักข่าว หรืออย่ารับแต่ข่าวหนักๆ ตลอดเวลา (หัดดูข่าวทั่วๆ ไปในช่องที่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องข่าวทั้งวันทั้งคืนบ้าง) หรืออย่าค้นแต่ข้อมูลหรือรับข่าวแต่จากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก สื่อโซเชียลอื่นๆ หรือกูเกิลเท่านั้น เพราะข่าวเหล่านั้นจะเป็นข่าวที่ถูกเลือกสรรมาให้เราตามที่เราต้องการ (อาทิ ต้องถามว่า เราเคยตอบแบบสอบถาม หรือไปค้นเรื่องอะไรมาก เราก็จะได้แต่ข้อมูลเรื่องนั้นกลับมา) แต่ทั้งนี้เราจะต้องมีความเชื่อมั่นกับระบบของสื่อหลักด้วยนะครับว่าพวกเขามุ่งมั่นที่จะทำข่าวให้เราโดยปราศจากอคติมากที่สุดและมีความรู้รอบเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่เริ่มเป็นที่กังวลกันมากขึ้นก็คือ การรับสื่อในปัจจุบันไม่ได้มีแต่เรื่องของเนื้อหาในสื่อ แต่หมายถึงวิธีการรับสื่อด้วย เช่น ในยุคหนึ่งเรามีรีโมตเราก็เปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ โดยความสนใจสั้นลง ยิ่งมีเทคโนโลยีแบบอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน เขาก็พบกันว่าคนสมัยนี้มีวิธีการรับสื่อที่เปลี่ยนไป คือจะรู้อะไรผิวเผินใช้เวลาสั้นๆ ในการอ่าน อาจจะรู้เยอะขึ้นแต่ไม่ลึกซึ้ง หรือไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรืออาจไม่ได้เอาเรื่องที่รู้ไปคิดต่อเพราะเดี๋ยวก็ค้นเรื่องใหม่มาเรื่อยๆ ขาดการครุ่นคิดพิจารณาหรือเพิ่มและแบ่งปันความรู้ให้คนอื่น

เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ผู้นำสักประเทศหนึ่งออกมาป่าวประกาศเคล็ดลับระดับ “บาแรมยู” ว่าผู้บริหารประเทศนี้เขาบริหารประเทศกันด้วยการกูเกิล ซึ่งจะว่าไปแล้วผมกลับรู้สึกดีใจว่าการที่ผู้นำประเทศนั้นสามารถใช้กูเกิลเป็นนี่ถือเป็นบุญของประเทศกันเลยทีเดียว

เหตุผลของผมนั้นไม่ใช่เพราะผู้นำจะมี “ความรู้” เพิ่มขึ้น หรือมีทักษะเพิ่มขึ้น แต่ในบริบทของสังคมไทยการที่ผู้นำใช้กูเกิลได้เอง (ไม่ใช่ให้ลูกน้องไปค้นแล้วพรินต์มาให้อ่าน) น่าจะทำให้ผู้นำนั้นเข้าถึง “ความรู้สึก” ของประชาชนที่มีต่อผู้นำมากขึ้น

แต่ถ้าผู้นำของประเทศนั้นไม่มีทั้งความรู้ และไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกของประชาชนได้แล้ว นอกจากผู้นำจะไม่รู้ พวกเขายังจะไม่รับรู้เข้าไปอีก

อันนี้ก็ถือซะว่าเป็นคราวเคราะห์ของประชาชนในประเทศนี้แหละครับ

(หมายเหตุ พิจารณาเพิ่มเติมได้จาก N.O’Neill. Google turns 21: A Look back at the search engine giant’s iconic life. NyPost.com. 27/09/19. L.Getlen. How Google is making you stupid. NyPost.com. 17/07/16. N.Carr. Is Google making us stupid? Theatlantic.com. July/August 2008. Is “I can just Google it making us stupid?” Educationandskillforum.org.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image